Tag: การหลั่งน้ำย่อย

กินมังสวิรัติ กลัวขาดสารอาหาร

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,010 views 0

กินมังสวิรัติ กลัวขาดสารอาหาร

กินมังสวิรัติ กลัวขาดสารอาหาร

หลายคนที่คิดจะมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ หรือกินเจ มักจะมีความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องของสารอาหารที่อาจจะขาดไปหากไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เป็นความกังวลที่ทำให้ไม่มั่นใจในคุณค่าของการลดการเบียนเบียด ทำให้ลังเลสงสัย ซึ่งอาจจะกลายมาเป็นเหตุแห่งความกลัวที่กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

ความคลาดเคลื่อนของสารอาหารในหนึ่งจาน….

สารอาหารที่เราได้รับในแต่ละวันนั้น มีการคำนวณออกมาว่าต้องได้รับประมาณวันละเท่าไหร่ อาหารจานหนึ่งให้พลังงานเท่าไหร่ มีโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรตเท่าไหร่ ทั้งหมดนี้เป็นความรู้ที่อาจจะทำให้เราติดอยู่ในกับดักแห่งความกังวล

อาหารที่เรากินจานหนึ่งนั้น เขาคำนวณพลังงานมาจากปริมาณ แต่การที่เราจะได้พลังงานจากอาหารจานนั้นจริงๆ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการย่อยและการดูดซึมของร่างกายเรา ไม่ใช่ว่าเรากินอาหารที่เขาว่ามี 100 กิโลแคลอรี่ แล้วมันจะได้ทั้ง 100 กิโลแคลอรี่

แต่การได้มาซึ่งพลังงานเหล่านั้น ต้องผ่านตั้งแต่ปากของเรา เราเคี้ยวมันละเอียดไหม ถ้าเคี้ยวไม่ละเอียดก็ต้องไปเป็นภาระของกระเพาะอาหารต่อ ถ้ากระเพาะย่อยไม่ไหวก็ส่งต่อไปที่ลำไส้ทั้งก้อนแบบนั้น แล้วอาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์ คิดหรือว่าจะสามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างสมบูรณ์

นอกจากจะย่อยไม่เต็มที่แล้ว ยังเหลือกากอาหารที่เป็นชิ้นใหญ่ ส่งต่อไปสะสมเน่าในลำไส้ใหญ่อีก ทีนี้พอเริ่มเน่าก็เริ่มสร้างก๊าซ สร้างพิษ สร้างเชื้อโรคภายในร่างกายของเรานี่แหละ บางครั้งเราอาจจะเคยมีภาวะที่ขับถ่ายไม่ออกหลายวัน แล้วมีอาการครั่นเนื้อตัว ไม่สบายตัว ร้อน เป็นสิว ส่วนหนึ่งก็เกิดจากความเป็นพิษในของเสียที่ย่อยไม่ดี ทำให้เหลือเศษชิ้นเนื้อในกากอาหารเยอะจนหมักหมมกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย เป็นพิษในที่สุด

แทนที่ร่างกายจะเอาพลังงานที่ได้จากการกินอาหารในมื้อนั้นมาสร้างพลังงาน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เต็มที่ แต่กลับต้องเอาพลังงานไปย่อยมากขึ้น เอาพลังงานไปขับพิษมากขึ้น สรุปแล้ว อาหารที่เรากินไป 100% นั้นนอกจากจะไม่ได้คุณค่า 100% แล้วยังต้องเอาคุณค่าที่ได้ส่วนหนึ่งไปยับยั้งผลเสียของอาหารที่เกิดจากการกินที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะขาดสารอาหาร เพราะทุกวันนี้เราก็ไม่ได้ใช้สารอาหารที่เรากินอย่างเต็มที่กันอยู่แล้ว เรียกได้ว่ากินไป 100% แต่ใช้กันจริงก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกนั้นเสียไปเปล่าๆจากกระบวนการย่อยที่ไม่มีประสิทธิภาพและกระบวนการต่อต้านความเป็นพิษภายในร่างกาย

โปรตีนที่ทดแทน….

ปัญหาที่มากที่สุดในการกินมังสวิรัติคือเรื่องของโปรตีน เรามักจะกังวลว่าจะขาดโปรตีนที่พืชผักไม่มีแต่เนื้อสัตว์มี ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องมีทุกอย่างเราก็สามารถดำรงชีวิตอย่างแข็งแรงได้ มีคนหลายคนในโลกที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละยุคสมัยก็ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ แต่ชีวิตเขาก็ยังสร้างคุณค่าให้กับสังคมและโลกได้

การขาดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ได้หมายความว่าเราจะอ่อนแอ หรือเจ็บป่วยง่าย ในทางกลับกัน ผู้คนที่มากินโปรตีนจาก เต้าหู้ ถั่ว ธัญพืช กลับพบว่าสุขภาพของตนดีขึ้น แข็งแรงขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง

เราอาจจะถูกกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์หลอกเราอยู่ก็ได้ ว่าเนื้อสัตว์ดี เนื้อสัตว์มีประโยชน์ กินเนื้อสัตว์แล้วฉลาด ซึ่งขัดกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น ดังนั้น เราจะเชื่อใครก็ลองพิจารณาใคร่ครวญกันให้ดีๆ

ความหิวที่มาเยือน และแรงที่หายไป….

คนที่หันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ นั้นอาจจะเจอกับปัญหาเรื่องของพลังงานและความหิว ในส่วนของความหิวหรือการหลั่งน้ำย่อย ส่วนใหญ่เป็นสภาวะที่ร่างกายของเราจำได้ว่าเวลานั้นเวลานี้ควรหลั่งน้ำย่อยออกมา แต่ก่อนเราเคยกินเนื้อ เขาก็หลั่งน้ำย่อยมาให้พอย่อยเนื้อ แต่พอเราหันมากินผัก ร่างกายจะไม่สามารถปรับตัวตามเราได้ทันที เขาจะยังหลั่งน้ำย่อยออกมาในปริมาณที่ย่อยเนื้อเหมือนเดิม แต่ถ้าผ่านไปสักระยะหนึ่ง ร่างกายจะปรับตัวให้หลั่งน้ำย่อยให้พอดีกับอาหารที่เป็นผักที่เรากินเอง

ดังนั้นเมื่อเราอดทน บังคับจิตใจไม่ให้กินจุบจิบ กินแต่ในมื้อ ไม่กินนอกมื้อ จะทำให้ร่างกายของเราปรับตัวได้รวดเร็วขึ้น เพราะเราบังคับร่างกายไม่ได้ บังคับไม่ให้มันหลั่งหรือไม่หลั่งน้ำย่อยไม่ได้ แต่เราสามารถบังคับจิตใจของเราไม่ให้ไปกินได้ แม้น้ำย่อยจะหลั่งออกมา แต่ถ้าไม่ได้ถูกใช้ย่อยอะไร เขาก็จะมีกระบวนการดึงกลับของเขาเอง บางครั้งเราอาจจะเคยพบเหตุการณ์ในลักษณะที่ว่า หิวจนไม่หิวแล้ว นั่นคือร่างกายเขาดึงน้ำย่อยกลับไปแล้วนั่นเอง

สำหรับคนที่รู้สึกว่าลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ แล้วไม่มีแรง กินแล้วไม่อยู่ท้อง ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเคี้ยวไม่ละเอียดทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยและดึงคุณค่าไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และอาจจะเพราะเราขาดโปรตีนจากถั่วและธัญพืช ถ้าเราทำอาหารเอง เราก็อาจจะใช้ถั่วต้ม เป็นเมนูปิดท้าย โดยใช้ถั่วที่หาได้ง่าย เช่นถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ฯลฯ ก็จะสามารถทำให้อยู่ท้อง ไม่หิวง่าย และมีกำลังในการทำงานได้เหมือนคนปกติ

พยายามหลีกเลี่ยงถั่วทอด หรือถั่วที่ปรุงรสจัด เพราะบางครั้งเราอาจจะได้สารอาหารส่วนเกินที่ไม่จำเป็นเช่น ไขมัน เครื่องปรุงรสที่เป็นส่วนเกิน ทำให้ร่างกายต้องเสียพลังงานส่วนหนึ่งในการขับออก แทนที่จะได้พลังงาน กลับกลายเป็นเสียพลังงานแทนก็ได้