Tag: ความอยาก

Demand & supply (มังสวิรัติ)

January 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,834 views 0

Demand & supply (มังสวิรัติ)

ดูรูปภาพขนาดใหญ่ : Click for enlarge

Demand & supply
ตัณหา & สนองตัณหา (ความอยาก & การสนองความอยาก)

ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่มีใครเดือดร้อน ทุกชีวิตก็จะสลับสับเปลี่ยนไปตามกระแสโลก ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นคนเลี้ยงสัตว์ คนฆ่าสัตว์ หรือคนขายเนื้อสัตว์ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง”อาชีพ” ที่เปลี่ยนแปลงได้

ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่มีสัตว์เดือดร้อน ไม่ต้องใช้ชีวิตผิดธรรมชาติเพราะความอยากของใครหลายคน

ไม่กินเนื้อสัตว์เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่อยากก็เลยไม่ต้องไปกินให้มันลำบาก ประหยัด สุขภาพดี สมรรถนะดีกว่าเดิม

…ที่ยังกินอยู่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความอยาก แม้เราจะปกปิดความอยากด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ก็เหมือน “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด” ความอยากกินเนื้อสัตว์ล้นปรี่ซะขนาดที่ว่าต้องกินเนื้อสัตว์เป็นหลักฐานชัดๆอยู่ทุกเมื่อทุกวัน การที่จะบอกว่า “ไม่อยาก” ก็คงจะตีมึนเกินไปหน่อย

ทางสายกลาง กับ ครึ่งๆกลางๆ นั้นต่างกันนะ …

…ถ้าเราคิดว่าทางสายกลางคือการกินเนื้อและผักและไม่ยึดมั่นถือมั่น … นี่มันก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่ไม่ปฏิบัติธรรมสิ ก็ใช้ชีวิตปกติไปสิไม่ต้องปฏิบัติอะไร คนทั่วไปเขาก็ทำได้

สรุปว่าคิดแบบนี้มันก็ไม่ได้ปฏิบัติอะไร ไม่ได้ลดกิเลสอะไรเลย ไม่ได้ทำอะไรเลย แถมยังหลงว่าปฏิบัติถูกอีก …. นี่มันแย่กว่าคนทั่วไปอีกนะ

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

September 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,998 views 0

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

ขึ้นชื่อว่าการลดเนื้อกินผักก็เป็นความคิดที่ค่อนข้างทวนกระแสโลกอยู่แล้ว การกินมังสวิรัติ กินเจ ในทุกวันนี้ เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่คิดจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างที่เขาเหล่านั้นคิดว่าเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น

การสวนกระแสโลก คือไม่ไปกินเนื้อสัตว์ตามเขา ไม่เสพสุขจากเนื้อสัตว์ตามเขา ก็ถือว่าเป็นการท้าทายต่อกิเลส สวนกระแสกิเลส ที่เราต้องใช้ทั้งกำลังใจในการหักห้าม ขัดขืนกับพลังแห่งความอยาก และใช้พลังปัญญาพิจารณาผลเสียของการกินเนื้อสัตว์ และพิจารณาผลดีของการกินผัก พิจารณาไปซ้ำๆ จนกว่าจะเกิดความเข้าใจ จนกว่าจะเกิดศรัทธา เชื่อมั่นในคุณค่าแห่งการลดเนื้อกินผัก

การสวนกระแสกิเลสนั้นยากยิ่งกว่าการเดินทวนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ดังนั้นการเดินคนเดียวอาจจะยากเกินไปสำหรับการเดินผ่ากระแสความอยากกินเนื้อสัตว์ที่หนักหน่วงรุนแรงและยังฝังรากลึกแน่นหนาในจิตใจ

คนที่หัดลดเนื้อกินผักจึงควรหาเพื่อน ครอบครัว หรือกลุ่มสังคมที่พากันกินมังสวิรัติ คอยแบ่งปันแนวคิด แบ่งปันเมนูอาหาร แบ่งปันวิธีการปรับตัว ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้เราสามารถที่จะลดเนื้อกินผักได้อย่างยาวนานและยั่งยืนจนกระทั้งสามารถกินได้อย่างสมบูรณ์

เราอาจจะเริ่มจากเพื่อนสักคน ลองชวนกันกินสัก 1 วันในหนึ่งสัปดาห์ก่อน แล้วมาคุยกันว่าดีอย่างไร มีเมนูอาหารอะไรที่กินได้ อาหารแบบไหนที่พอจะกินไหว ร้านแบบไหนที่ควรไป ถ้าอยู่ในงานเลี้ยงต้องทำตัวอย่างไร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะทำให้เกิดปัญญาใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งเพื่อนผู้หาทางออกร่วมกัน เพื่อนผู้ตรวจสอบกัน เพื่อนผู้ที่พากันเจริญ

แต่ถ้ามีเราอยู่คนเดียว และสังคมรอบข้างต่างไม่เอาด้วย ก็ไม่เป็นไร เพราะสมัยนี้มีชุมชนออนไลน์มากมายที่จับกลุ่มกันส่งเสริมการกินมังสวิรัติ กินเจ เราก็เพียงแค่เข้ากลุ่มเหล่านั้น คอยอ่าน ถาม เรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ในกลุ่มที่มีความคิดเห็นไปในทาง ลด ละ เลิกการเบียดเบียนเหมือนกัน ก็จะสามารถพาตัวเราให้เจริญได้เช่นกัน

และถ้าได้รู้จักกับผู้ที่ลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุข หรือผู้ที่รู้วิธีการที่จะสามารถเข้าสู่ชีวิตมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืนก็จะดีที่สุด เพราะสามารถที่จะศึกษาเรียนรู้กระบวนการ วิธี เคล็ดลับ ข้อปฏิบัติสู่การลดเนื้อสัตว์ ลดความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งไม่ใช่วิธีเพียงแค่กดข่มให้ความอยากผ่านพ้นไปเพียงวันข้ามวัน แต่เป็นวิธีที่จะลดความอยากได้อย่างยั่งยืน

ส่วนการฉายเดี่ยวกินคนเดียวนั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพลังของกิเลสมักจะหาเหตุผลมาเกลี้ยกล่อมให้เราล้มเลิกอยู่เสมอ พลังของการกดข่ม อดทน ฝืนทนนั้นจะสามารถทนได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายก็จะตบะแตก พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า “มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นในการบรรลุธรรม” การบรรลุธรรมนั้นก็หมายถึงการที่เราสามารถเข้าถึงการลดเนื้อกินผัก การกินมังสวิรัติ ได้อย่างมีความสุข มีความสบายใจ มีปัญญานั่นเอง

เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่าการรวมหมู่รวมกลุ่มจะทำให้เราเก่งขึ้น เจริญขึ้น เราก็ควรจะหาเพื่อนร่วมทาง ที่พร้อมจะพัฒนาไปสู่สิ่งดีๆร่วมกัน ไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ยอมให้ตรวจสอบกันได้ ยอมให้วิจารณ์กันได้ ยอมให้สั่งสอนกันได้ ก็จะพากันเจริญอย่างแน่นอน

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,172 views 0

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

ผู้ที่ลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก เมื่อปฏิบัติตามกระบวนการลด ละ เลิก ด้วยการพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่างๆ จากการกินเนื้อสัตว์จนสามารถลดการกินเนื้อสัตว์ได้ สามารถกินผักได้เพิ่มขึ้น สามารถละเนื้อสัตว์ได้เป็นช่วงเวลาที่นานมากขึ้น และเมื่อได้ลดละเนื้อสัตว์กินแต่ผักมาสักระยะหนึ่งจนเกิดความรู้สึกว่า แม้จะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ก็ไม่มีความทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ หรือความอยากกินใดๆ ก็ให้ลองตัดเนื้อสัตว์ชนิดนั้นออกไปได้

ยกตัวอย่างเช่น เราลด ละ เลิกเนื้อวัว เราไม่กินเนื้อวัวแล้ว ไม่ได้กินก็ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุกข์ใจอะไร เราก็ลองเลิกเนื้อวัวแบบตัดขาดจากชีวิตได้เลย ถ้าเลิกแล้วยังรู้สึกสบายดีก็ให้เลิกไปได้เลย

แต่ถ้าเลิกแล้วยังมีความรู้สึกคิดถึง ยังเห็นเมนูเนื้อวัวแล้วน้ำลายไหล อยากกินเนื้อวัวชิ้นนั้นๆ ก็ให้พิจารณาผลเสียไปเรื่อยๆ ความอยากกินนั้นจะลดลงเอง จนมั่นใจได้ว่าแม้จะมีเนื้อสเต็กราคาแพงมาอยู่ตรงหน้า ให้กินฟรีๆเลยนะ ฉันก็จะสั่งอย่างอื่นมากินโดยไม่ได้สนใจสเต็กเนื้อชิ้นนั้นเลย ปล่อยมันวางอยู่ข้างหน้าอย่างนั้นแหละ แต่ไม่กิน ไม่รู้สึกรำคาญ ไม่กระวนกระวาย ไม่รัก ไม่ชัง ไม่รู้สึกดึงดูด ไม่รู้สึกว่าผลักไส รู้สึกแค่ว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้น แล้วเราก็กินผักต่อไปได้ปกติ เลิกกินก็ไม่คิดฟุ้งซ่าน เพราะมั่นใจว่าที่ทำนั้นดีแล้ว

เมื่อเราเลิกเนื้อวัวได้ เราก็มาเลิกเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย ไข่ นมสัตว์ น้ำผึ้ง ฯลฯ โดยใช้กระบวนการลด ละ เลิก ตามลำดับเหมือนเดิม แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็งก็อาจจะสามารถเลิกพร้อมกันได้หลายชนิดก็ได้ ทั้งนี้ผู้ลดเนื้อกินผัก ควรประมาณกำลังของตัวเองให้เหมาะสม ไม่ให้หย่อนจนไม่เจริญ ไม่ให้ตึงจนทรมาน

ลดชนิดอาหาร…

เมื่อเลิกเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะเป็นชิ้นๆได้แล้ว เราก็จะมาลดอาหารที่ไม่มีรูปลักษณะของเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่น น้ำซุป น้ำมันหอยในผัดผัก น้ำปลาในน้ำแกง เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเรากินก๋วยเตี๋ยว ใส่เส้นกับผัก แต่ยังมีน้ำซุปที่มีกระดูกสัตว์เป็นส่วนประกอบอยู่ เราก็พิจารณาว่าการมีกระดูกสัตว์ก็ยังมีส่วนเบียดเบียนเขาอยู่ ยังเกิดทุกข์โทษภัยอยู่ เราก็จะลด ลงมาเป็นการสั่งก๋วยเตี๋ยวแห้ง คือให้เขาลวกเส้นกับผักให้เท่านั้น ถ้าทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบากจิตใจมากไปนัก ก็ลองเลิกกินแบบเดิมๆ หันมากินก๋วยเตี๋ยวแห้งใส่แต่เส้นกับผักดู ส่วนเขาจะมีสิ่งอื่นในประกอบให้อย่างไรก็ต้องพิจารณาไปเป็นครั้งๆเป็นรายๆไป ตามแต่สูตรของแต่ละร้าน เช่น ถ้าเขามีถั่วเราก็ขอรับ แต่ถ้าเขาเสนอกากหมูเราไม่รับ เป็นต้น

เมื่อเราพัฒนาการลด ละ เลิก ในรายละเอียดของชนิดอาหารนั้นๆได้แล้ว ก็ให้พัฒนาต่อเป็นการลด ละ เลิกชนิดอาหารนั้นๆต่อกันเลย

ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราชอบกินผักทอด ขนมทอด เราก็ลดปริมาณการกินลงมา จนสามารถละได้เป็นช่วงเวลานาน ก็ให้ทดลองเลิกของทอดนั้นๆไปเลย เช่นเลิกกินผักทอด เห็ดทอด เมนูชุบแป้งทอดทั้งหลาย โดยการพิจารณาโทษของการกินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป อาจจะทำให้อ้วน ทำให้มีโรคมาก ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรงเต็มที่ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ไม่กินเมนูทอดก็ไม่เป็นไร ไม่อยากกินเมนูทอดแล้วเพราะไม่ดีต่อสุขภาพ แม้จะมีมาวางอยู่ตรงหน้าก็ไม่กินเป็นอันดับแรก ไม่กระวนกระวายใจหากไม่ได้กิน ก็ให้เลิกกินของทอดไปได้เลย

แล้วค่อยลดชนิดอาหารอื่นๆ ที่มีรสจัดมาก มีการปรุงแต่งมาก มีราคาแพง หากินยาก มีขั้นตอนการทำยาก ฯลฯไปตามกำลังที่พอจะทำไหว

สุดท้ายแล้วเราก็จะลดเนื้อกินผักกันจนสามารถกินข้าวกับผักสดหรือผักต้มได้ น้ำพริกไม่ต้องมีก็ได้ ถ้าขาดธาตุอาหารใดก็ต้มกินเพิ่มได้ เช่น โปรตีนก็ใช้ถั่วต้ม ส่วนคาร์โบไฮเดรตเราได้จากข้าวอยู่แล้ว วิตามินได้จากผักนานาชนิดและข้าวกล้อง ที่เราเลือกกินให้เหมาะกับความสมดุลแข็งแรงของร่างกาย ส่วนไขมันถ้าขาดเราก็ใส่ในกระบวนการผัดก็ได้ จะกินพวกธัญพืชที่มีน้ำมันเช่น เมล็ดทานตะวัน แทนก็ได้ หรือจะกินเข้าไปตรงๆเลยก็ได้ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่าย มีอยู่ทั่วไป ราคาไม่แพง และไม่มีโทษ คือปลอดสารเคมี ไม่ทำให้ป่วย ไม่ทำให้เสียสุขภาพ

ทั้งนี้เพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมายคือการไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนชีวิตตนเองด้วยอาหารที่ทำลายสุขภาพ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความผาสุกในชีวิตอย่างยั่งยืน

อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

September 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,472 views 0

 อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

อย่างที่เราได้เรียนรู้กันแล้วว่า ความเสียดายนั้น ทำให้เราไม่สามารถที่จะลดเนื้อกินผักได้อย่างราบรื่น เมื่อมีความเสียดายเกิดขึ้น ด้วยเหตุแห่งความอยากนั้น ก็จะทำให้เราวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะพยายามหนีออกมาเท่าไหร่ แต่เมื่อใจยังเสียดายชิ้นเนื้อที่อยู่ตรงหน้า ก็ยากจะผ่านแบบทดสอบนี้ไปได้

ในตอนนี้จะขอเล่าไปถึงเรื่องราวของคนที่ใช้ชีวิตในเมืองคนหนึ่ง ในสมัยที่เธอยังหัดกินมังสวิรัติใหม่ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนเที่ยงวันหนึ่ง ณ ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เธอตั้งใจจะลดเนื้อกินผัก แต่ก็ยังไม่ข้ามพ้นด่านของความเกรงใจ จึงกังวลใจไปเองว่า ถ้าสั่งแต่เส้นกับผักทางร้านจะไม่ได้กำไร จึงสั่งก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นมา

ในชามก๋วยเตี๋ยวมีลูกชิ้นอยู่ 6 ลูก เธอแบ่งลูกชิ้นให้กับเพื่อนร่วมโต๊ะ เพราะตั้งใจจะ “ลด” การเสพเนื้อสัตว์ โดยแบ่งออกไปให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่ยังกินเนื้อสัตว์ 4 ลูก จึงเหลือในชามของเธอเอง 2 ลูก

ในขณะนั้นเอง ด้วยเหตุที่เธอได้ศึกษาศาสนาพุทธมาบ้าง ฟังธรรมบ้าง ทบทวนธรรมบ้าง ตรึกตรองใคร่ครวญธรรมบ้าง จึงได้เกิดระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ บาปแม้น้อยนิด อย่าทำเสียเลยดีกว่า ” เมื่อนึกได้ดังนั้นแล้ว ใจจึงเกิด หิริ คือความละอายต่อบาป และ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาปนั้น

เมื่อเกิดความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เวรภัย ของการครองความอยากหรือกิเลสนั้นอยู่ ก็ได้มีความคิดขึ้นว่า แบ่งลูกชิ้นให้เพื่อนหมดเลยเสียดีกว่า ว่าแล้วเธอก็ได้สละลูกชิ้นทั้งหมดให้เพื่อนไป จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาจากฐานของการ ”ลด” มาเป็นฐานของการ “ละ” ซึ่งเกิดได้จากการที่เธอนำเอาธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมในชีวิตประจำวันด้วย จึงทำให้การกินมังสวิรัติพัฒนาและเจริญขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

และเมื่อตกเย็น เธอก็ได้ไปซื้อของที่ตลาดสด ตั้งใจไว้ว่าจะซื้อแค่ถั่วลันเตา แต่พอซื้อแม่ค้าก็แถมเห็ดให้ด้วย เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นถึงอานิสงส์ของการสละลูกชิ้นได้อย่างชัดเจน เมื่อสละกิเลส คือความอยากกินลูกชิ้นนั้นออกจากใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับลูกชิ้นกลับมาเสมอไป อาจจะเป็นเห็ดก็ได้ อาจจะเป็นรอยยิ้มก็ได้ อาจจะเป็นความรู้สึกดีๆก็ได้ อาจจะเป็นอะไรก็ได้ เพราะผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตยคาดเดาไม่ได้ แต่เรื่องที่รู้ได้แน่ชัดคือ เธอข้ามผ่านด่านของกิเลสไปอีกขั้น เจริญขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเราข้ามพ้นความเสียดายเนื้อสัตว์เหล่านั้น ก็จะมีสิ่งที่ดีกว่าอยู่ข้างหน้าเสมอ อย่างน้อยๆก็จะไม่ต้องเจอกับความทุกข์ใจที่ต้องแบกความอยาก ความเสียดายเหล่านั้นเอาไว้อีกต่อไป เพียงแค่นั้นก็สุขมากพอที่จะยอมทิ้งความเสียดายเหล่านั้นแล้ว

อย่าเสียดาย

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,660 views 0

อย่าเสียดาย

อย่าเสียดาย

เมื่อเราเริ่มต้นหัดกินมังสวิรัติ ในระหว่างขั้นตอนของการ ลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ เราก็มักจะเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องกลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่บ่อยครั้ง

จนบางครั้ง ความอยากกินกับความเสียดายนั้นกลายเป็นความรู้สึกที่ปนกันจนแยกไม่ออก ว่าเราหยิบเนื้อสัตว์ชิ้นนั้นกินเพราะเราอยากกินหรือเราเสียดายกันแน่

ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเป้าหมายปลายทางที่เราจะทำลายทิ้ง แต่มักถูกบดบังด้วยความเสียดาย ดังนั้นเพื่อการทำให้ทุกอย่างชัดเจน “จงอย่าเสียดาย” แม้ว่าเนื้อชิ้นนั้นจะต้องถูกทิ้งลงถังขยะไป

ในความเป็นจริงแล้ว ความเสียดายมีภาพใหญ่กว่าการละเว้นชิ้นเนื้อที่เหลืออยู่ในจาน แต่บางครั้งเราอาจจะเสียดายโอกาสที่จะได้กิน เช่นเวลามีคนเลี้ยงอาหารดีๆ มีเนื้อสัตว์ชั้นดี เราก็จะเสียดายโอกาสที่จะไม่ได้กินเนื้อเหล่านั้น และเราก็มักจะมองว่าเป็นสิทธิ์ของเราที่จะได้กิน ถ้าไม่กินจะเสียดาย เสียโอกาส

หรือแม้กระทั่งเราไปกินอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีเนื้อสัตว์เป็นหลักมีผักเป็นรอง เรากลับรู้สึกเสียดาย เมื่อคิดที่จะกินแต่ผัก เสียดายเงินส่วนต่างที่ต้องจ่ายไปกับเนื้อสัตว์ เสียดายสิทธิ์เหล่านั้นๆ ทั้งๆที่จริงแล้ว ไม่มีใครมีสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่มีความจริงข้อใดเคยบอกไว้ว่าโลหะหรือกระดาษเหล่านี้จะนำมาแลกชีวิตได้ ไม่เคยมีสัตว์ตัวไหนยินดีที่จะตายเพื่อแลกกับของที่ไม่มีค่าสำหรับมัน หรือที่มนุษย์อย่างเราเรียกกันว่า เงิน

เราใช้เงินในการเข้าไปมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของวัตถุสิ่งของต่างๆ รวมถึงชีวิตสัตว์จนเคยชิน ทั้งที่จริงแล้วเรื่องทุกอย่าง หรือสิทธิ์ในการครอบครอง เราอุปโลกน์ขึ้นมาเองทั้งนั้น ไม่มีวัตถุสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตใดเป็นของเราเลย แม้แต่ชีวิตของเราเอง ก็ยังไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง เรายังถูกขับเคลื่อนด้วยความอยาก คือกิเลสเป็นตัวบงการอีกทีหนึ่ง

ดังนั้นการจะหลุดจากวงจรการเบียดเบียนผู้อื่นและตัวเองก็จงอย่าเสียดายกิเลสเหล่านั้น ยอมปล่อยยอมคลายให้กิเลสนั้นจางคลายจากเรา พรากมันไปอย่างช้าๆ จนจากกันตลอดกาล

มังเขี่ย : ข้าวผัดหมู

July 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,085 views 0

มังเขี่ย : ข้าวผัดหมู

มังเขี่ย~ (ข้าวผัดหมู)

วันก่อนได้กินมังเขี่ย (ปกติกินที่บ้านก็ไม่ต้องเขี่ย) แต่ครั้งนี้มาบ้านเขา เราก็มังเขี่ย!! หน้าตาก่อนจะมาเป็นรูปนี้คือข้าวผัดหมู ที่มีแตงกวา มะเขือเทศ และข้าวผัดหมูหน้าตาดี แต่ลืมถ่ายรูปไว้

มังเขี่ย นี่เป็นอะไรที่พูดกันได้ง่ายๆ แต่ทำจริงๆยาก เพราะนอกจากต้องสู้กับความอยากของตัวเองแล้ว ยังต้องสู้กับคำพูดทดสอบความตั้งใจของเราซึ่งเป็นของขวัญจากผู้อื่นด้วย ว่าเราจะยังเกรงใจอยู่ไหม ยังกังวลว่าเขาจะลำบากใจอยู่ไหม ไม่ใช่บอกว่าเรามังเขี่ย แต่เวลาไปกินกับชาวบ้าน เราก็กินตามเขาหมด อันนี้ก็ให้เพียรพิจารณาว่าจริงๆ แล้ว…

…เรากินตามปากเราหรือปากชาวบ้าน

…จริงๆเราอยากกินเนื้อสัตว์ แล้วเอาคำว่าเกรงใจมากลบเกลื่อนรึเปล่า

…เราไปกังวลกับเรื่องที่เขาพูด หรือเรื่องที่เขาคิดไหม?

…เราไม่กินเนื้อสัตว์นี้ คนอื่นเขาก็ไม่เดือดร้อนนี่?

…แล้วถึงเขาจะเดือดร้อน แล้วมันเรื่องอะไรที่เราต้องไปเดือดร้อนตามล่ะ?

…ถึงจะเขี่ยทิ้งแล้วเป็นของเหลือ แล้วมันยังไงล่ะ เดี๋ยวมันก็มีที่ไปของมันเองแหละ

สุดท้ายแล้ว ถ้าเราตัดความอยากกินเนื้อสัตว์และความกังวลเกี่ยวกับสังคมได้ ก็กินมังเขี่ยได้สบายเลยล่ะ

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

July 15, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,870 views 0

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

จนถึงตอนนี้ก็ครบ 1 เดือนกันแล้วกับ Veggie Kitchen ในเฟสบุค ในตอนแรกนั้นก็ไม่ได้คิดจะตั้งเพจนี้ขึ้นมา เริ่มมาจากลงรูปเมนูอาหารมังสวิรัติในหน้าของตัวเองก่อน ทำไปทำมามันก็เริ่มจะเยอะ และเริ่มคิดได้ว่ามันน่าจะเอามาทำประโยชน์อะไรได้มากกว่าแค่โชว์รูปอาหารมังสวิรัติที่ทำเอง รวมกับมีงานออกแบบส่วนหนึ่งที่เคยทำค้างคาไว้อยู่แล้ว เลยผสมทุกอย่างออกมาลงตัว เป็นอย่างที่เห็นนี่เอง

Veggie Kitchen เหมาะกับใครบ้าง?

  1. ผู้เริ่มต้นเรียนรู้และหัดกินมังสวิรัติ หัดลดเนื้อกินผัก แสวงหาข้อมูลทางเลือกในการพึ่งตนเองเพื่อจะได้มาซึ่งอาหารมังสวิรัติ และหาวิธีปรับตัวเมื่อต้องกินมังสวิรัติกับสังคมเดิม
  2. ผู้ที่กินมังสวิรัติมาสักระยะหนึ่งแต่ยังตกหล่น พร่องอยู่เป็นประจำ ที่บ้านที่ทำงานก็กินได้ แต่พอไปในสถานที่ไม่คุ้น เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมาย ก็กลับไปกินเนื้อสัตว์ทุกที
  3. ผู้ที่กินมังสวิรัติได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ยังมีความทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เห็นเขาฆ่าสัตว์ เห็นเขาทรมานสัตว์ ยังไม่สามารถปล่อยวางความยึดดี ถือดีได้
  4. ผู้ที่กินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และอยู่กับสังคมที่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีความสุข สามารถเข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการออกจากนรกของการเสพติดเนื้อสัตว์และการยึดดีให้กับเพื่อนๆ

วัตถุประสงค์ของ Veggie Kitchen

  • เพื่อให้ผู้กินมังสวิรัติ ได้มีทางเลือกที่มากกว่าการทำอาหารเอง หรือหาซื้ออาหารจากร้านมังสวิรัติ
  • เพื่อให้ผู้กินมังสวิรัติได้เห็นความหลากหลายในวิธีการหากินอาหารมังสวิรัติ
  • เพื่อลดการเบียดเบียนชีวิตอื่นด้วยการเสพ เช่น การกินเนื้อสัตว์ การไปแย่งชิงของรักของสัตว์อื่น
  • เพื่อลดการเบียดเบียนตัวเอง โดยการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ถือดี เสพดี ทำให้อึดอัดจนเกิดความทุกข์
  • เพื่อการกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนและมีความสุขจากการไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ยึดดีถือดี
  • เพื่อสุขภาพที่ดี เพราะการไม่เบียดเบียน ทำให้มีอายุยืน และมีโรคน้อย
  • เพื่อลดความอยากในการกิน คือ กิเลส อันเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาทั้งปวง
  • เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการ ร่วมเรียนรู้ วิธีปฏิบัติ แบ่งปันประสบการณ์ในการกินมังสวิรัติ

วิถีทางปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนของ Veggie Kitchen

วิธีที่เราจะใช้เป็นหลักในการกินมังสวิรัติ คือ การ ลด ละ เลิก การบริโภคเนื้อสัตว์ให้เหมาะสมกับพื้นฐานของแต่ละบุคคล ติดมากก็ให้ลดบ้าง ติดปานกลางก็ให้ละบ้าง ติดน้อยก็ให้ตั้งใจเลิกไปเลย และเรายังใช้การ ลดละเลิก ในลดการเบียดเบียนชีวิตอื่นและตนเองในส่วนอื่นๆของการกินและการใช้อีกด้วย