Tag: ยั่งยืน

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

September 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,000 views 0

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

ขึ้นชื่อว่าการลดเนื้อกินผักก็เป็นความคิดที่ค่อนข้างทวนกระแสโลกอยู่แล้ว การกินมังสวิรัติ กินเจ ในทุกวันนี้ เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่คิดจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างที่เขาเหล่านั้นคิดว่าเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น

การสวนกระแสโลก คือไม่ไปกินเนื้อสัตว์ตามเขา ไม่เสพสุขจากเนื้อสัตว์ตามเขา ก็ถือว่าเป็นการท้าทายต่อกิเลส สวนกระแสกิเลส ที่เราต้องใช้ทั้งกำลังใจในการหักห้าม ขัดขืนกับพลังแห่งความอยาก และใช้พลังปัญญาพิจารณาผลเสียของการกินเนื้อสัตว์ และพิจารณาผลดีของการกินผัก พิจารณาไปซ้ำๆ จนกว่าจะเกิดความเข้าใจ จนกว่าจะเกิดศรัทธา เชื่อมั่นในคุณค่าแห่งการลดเนื้อกินผัก

การสวนกระแสกิเลสนั้นยากยิ่งกว่าการเดินทวนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ดังนั้นการเดินคนเดียวอาจจะยากเกินไปสำหรับการเดินผ่ากระแสความอยากกินเนื้อสัตว์ที่หนักหน่วงรุนแรงและยังฝังรากลึกแน่นหนาในจิตใจ

คนที่หัดลดเนื้อกินผักจึงควรหาเพื่อน ครอบครัว หรือกลุ่มสังคมที่พากันกินมังสวิรัติ คอยแบ่งปันแนวคิด แบ่งปันเมนูอาหาร แบ่งปันวิธีการปรับตัว ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้เราสามารถที่จะลดเนื้อกินผักได้อย่างยาวนานและยั่งยืนจนกระทั้งสามารถกินได้อย่างสมบูรณ์

เราอาจจะเริ่มจากเพื่อนสักคน ลองชวนกันกินสัก 1 วันในหนึ่งสัปดาห์ก่อน แล้วมาคุยกันว่าดีอย่างไร มีเมนูอาหารอะไรที่กินได้ อาหารแบบไหนที่พอจะกินไหว ร้านแบบไหนที่ควรไป ถ้าอยู่ในงานเลี้ยงต้องทำตัวอย่างไร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะทำให้เกิดปัญญาใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งเพื่อนผู้หาทางออกร่วมกัน เพื่อนผู้ตรวจสอบกัน เพื่อนผู้ที่พากันเจริญ

แต่ถ้ามีเราอยู่คนเดียว และสังคมรอบข้างต่างไม่เอาด้วย ก็ไม่เป็นไร เพราะสมัยนี้มีชุมชนออนไลน์มากมายที่จับกลุ่มกันส่งเสริมการกินมังสวิรัติ กินเจ เราก็เพียงแค่เข้ากลุ่มเหล่านั้น คอยอ่าน ถาม เรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ในกลุ่มที่มีความคิดเห็นไปในทาง ลด ละ เลิกการเบียดเบียนเหมือนกัน ก็จะสามารถพาตัวเราให้เจริญได้เช่นกัน

และถ้าได้รู้จักกับผู้ที่ลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุข หรือผู้ที่รู้วิธีการที่จะสามารถเข้าสู่ชีวิตมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืนก็จะดีที่สุด เพราะสามารถที่จะศึกษาเรียนรู้กระบวนการ วิธี เคล็ดลับ ข้อปฏิบัติสู่การลดเนื้อสัตว์ ลดความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งไม่ใช่วิธีเพียงแค่กดข่มให้ความอยากผ่านพ้นไปเพียงวันข้ามวัน แต่เป็นวิธีที่จะลดความอยากได้อย่างยั่งยืน

ส่วนการฉายเดี่ยวกินคนเดียวนั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพลังของกิเลสมักจะหาเหตุผลมาเกลี้ยกล่อมให้เราล้มเลิกอยู่เสมอ พลังของการกดข่ม อดทน ฝืนทนนั้นจะสามารถทนได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายก็จะตบะแตก พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า “มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นในการบรรลุธรรม” การบรรลุธรรมนั้นก็หมายถึงการที่เราสามารถเข้าถึงการลดเนื้อกินผัก การกินมังสวิรัติ ได้อย่างมีความสุข มีความสบายใจ มีปัญญานั่นเอง

เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่าการรวมหมู่รวมกลุ่มจะทำให้เราเก่งขึ้น เจริญขึ้น เราก็ควรจะหาเพื่อนร่วมทาง ที่พร้อมจะพัฒนาไปสู่สิ่งดีๆร่วมกัน ไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ยอมให้ตรวจสอบกันได้ ยอมให้วิจารณ์กันได้ ยอมให้สั่งสอนกันได้ ก็จะพากันเจริญอย่างแน่นอน

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,176 views 0

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

ผู้ที่ลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก เมื่อปฏิบัติตามกระบวนการลด ละ เลิก ด้วยการพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่างๆ จากการกินเนื้อสัตว์จนสามารถลดการกินเนื้อสัตว์ได้ สามารถกินผักได้เพิ่มขึ้น สามารถละเนื้อสัตว์ได้เป็นช่วงเวลาที่นานมากขึ้น และเมื่อได้ลดละเนื้อสัตว์กินแต่ผักมาสักระยะหนึ่งจนเกิดความรู้สึกว่า แม้จะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ก็ไม่มีความทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ หรือความอยากกินใดๆ ก็ให้ลองตัดเนื้อสัตว์ชนิดนั้นออกไปได้

ยกตัวอย่างเช่น เราลด ละ เลิกเนื้อวัว เราไม่กินเนื้อวัวแล้ว ไม่ได้กินก็ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุกข์ใจอะไร เราก็ลองเลิกเนื้อวัวแบบตัดขาดจากชีวิตได้เลย ถ้าเลิกแล้วยังรู้สึกสบายดีก็ให้เลิกไปได้เลย

แต่ถ้าเลิกแล้วยังมีความรู้สึกคิดถึง ยังเห็นเมนูเนื้อวัวแล้วน้ำลายไหล อยากกินเนื้อวัวชิ้นนั้นๆ ก็ให้พิจารณาผลเสียไปเรื่อยๆ ความอยากกินนั้นจะลดลงเอง จนมั่นใจได้ว่าแม้จะมีเนื้อสเต็กราคาแพงมาอยู่ตรงหน้า ให้กินฟรีๆเลยนะ ฉันก็จะสั่งอย่างอื่นมากินโดยไม่ได้สนใจสเต็กเนื้อชิ้นนั้นเลย ปล่อยมันวางอยู่ข้างหน้าอย่างนั้นแหละ แต่ไม่กิน ไม่รู้สึกรำคาญ ไม่กระวนกระวาย ไม่รัก ไม่ชัง ไม่รู้สึกดึงดูด ไม่รู้สึกว่าผลักไส รู้สึกแค่ว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้น แล้วเราก็กินผักต่อไปได้ปกติ เลิกกินก็ไม่คิดฟุ้งซ่าน เพราะมั่นใจว่าที่ทำนั้นดีแล้ว

เมื่อเราเลิกเนื้อวัวได้ เราก็มาเลิกเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย ไข่ นมสัตว์ น้ำผึ้ง ฯลฯ โดยใช้กระบวนการลด ละ เลิก ตามลำดับเหมือนเดิม แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็งก็อาจจะสามารถเลิกพร้อมกันได้หลายชนิดก็ได้ ทั้งนี้ผู้ลดเนื้อกินผัก ควรประมาณกำลังของตัวเองให้เหมาะสม ไม่ให้หย่อนจนไม่เจริญ ไม่ให้ตึงจนทรมาน

ลดชนิดอาหาร…

เมื่อเลิกเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะเป็นชิ้นๆได้แล้ว เราก็จะมาลดอาหารที่ไม่มีรูปลักษณะของเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่น น้ำซุป น้ำมันหอยในผัดผัก น้ำปลาในน้ำแกง เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเรากินก๋วยเตี๋ยว ใส่เส้นกับผัก แต่ยังมีน้ำซุปที่มีกระดูกสัตว์เป็นส่วนประกอบอยู่ เราก็พิจารณาว่าการมีกระดูกสัตว์ก็ยังมีส่วนเบียดเบียนเขาอยู่ ยังเกิดทุกข์โทษภัยอยู่ เราก็จะลด ลงมาเป็นการสั่งก๋วยเตี๋ยวแห้ง คือให้เขาลวกเส้นกับผักให้เท่านั้น ถ้าทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบากจิตใจมากไปนัก ก็ลองเลิกกินแบบเดิมๆ หันมากินก๋วยเตี๋ยวแห้งใส่แต่เส้นกับผักดู ส่วนเขาจะมีสิ่งอื่นในประกอบให้อย่างไรก็ต้องพิจารณาไปเป็นครั้งๆเป็นรายๆไป ตามแต่สูตรของแต่ละร้าน เช่น ถ้าเขามีถั่วเราก็ขอรับ แต่ถ้าเขาเสนอกากหมูเราไม่รับ เป็นต้น

เมื่อเราพัฒนาการลด ละ เลิก ในรายละเอียดของชนิดอาหารนั้นๆได้แล้ว ก็ให้พัฒนาต่อเป็นการลด ละ เลิกชนิดอาหารนั้นๆต่อกันเลย

ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราชอบกินผักทอด ขนมทอด เราก็ลดปริมาณการกินลงมา จนสามารถละได้เป็นช่วงเวลานาน ก็ให้ทดลองเลิกของทอดนั้นๆไปเลย เช่นเลิกกินผักทอด เห็ดทอด เมนูชุบแป้งทอดทั้งหลาย โดยการพิจารณาโทษของการกินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป อาจจะทำให้อ้วน ทำให้มีโรคมาก ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรงเต็มที่ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ไม่กินเมนูทอดก็ไม่เป็นไร ไม่อยากกินเมนูทอดแล้วเพราะไม่ดีต่อสุขภาพ แม้จะมีมาวางอยู่ตรงหน้าก็ไม่กินเป็นอันดับแรก ไม่กระวนกระวายใจหากไม่ได้กิน ก็ให้เลิกกินของทอดไปได้เลย

แล้วค่อยลดชนิดอาหารอื่นๆ ที่มีรสจัดมาก มีการปรุงแต่งมาก มีราคาแพง หากินยาก มีขั้นตอนการทำยาก ฯลฯไปตามกำลังที่พอจะทำไหว

สุดท้ายแล้วเราก็จะลดเนื้อกินผักกันจนสามารถกินข้าวกับผักสดหรือผักต้มได้ น้ำพริกไม่ต้องมีก็ได้ ถ้าขาดธาตุอาหารใดก็ต้มกินเพิ่มได้ เช่น โปรตีนก็ใช้ถั่วต้ม ส่วนคาร์โบไฮเดรตเราได้จากข้าวอยู่แล้ว วิตามินได้จากผักนานาชนิดและข้าวกล้อง ที่เราเลือกกินให้เหมาะกับความสมดุลแข็งแรงของร่างกาย ส่วนไขมันถ้าขาดเราก็ใส่ในกระบวนการผัดก็ได้ จะกินพวกธัญพืชที่มีน้ำมันเช่น เมล็ดทานตะวัน แทนก็ได้ หรือจะกินเข้าไปตรงๆเลยก็ได้ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่าย มีอยู่ทั่วไป ราคาไม่แพง และไม่มีโทษ คือปลอดสารเคมี ไม่ทำให้ป่วย ไม่ทำให้เสียสุขภาพ

ทั้งนี้เพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมายคือการไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนชีวิตตนเองด้วยอาหารที่ทำลายสุขภาพ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความผาสุกในชีวิตอย่างยั่งยืน

กินมังสวิรัติ อยู่ในสังคมยาก?

August 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,967 views 0

กินมังสวิรัติ อยู่ในสังคมยาก?

กินมังสวิรัติ อยู่ในสังคมยาก?

การเข้าสังคมเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาหนึ่งของผู้ที่เริ่มต้นกินมังสวิรัติ ถึงแม้ว่าบางคนจะกินมานานแล้วก็อาจจะยังไม่สามารถผ่านพ้นปัญหานี้ได้

เมื่อเราสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หันมากินผักได้สักพักแล้ว จะเริ่มมีปฏิกิริยาจากสังคมรอบข้าง ทั้งในด้านคำชมและด้านทักท้วงนินทา เขาอาจจะชมเรามากมายว่าเป็นคนดี ดูดี สุขภาพดี สดใส ฯลฯ แต่ก็มักจะมีคำท้วงติงหรือนินทาเข้ามาพร้อมๆกัน เช่น ลำบากไปไหม ยุ่งยากไหม ผอมไปนะ โทรมไปนะ มันจะเกินไปนะ และอีกมากมายที่เราก็น่าจะเจอด้วยตัวเอง

ทั้งคำติชม สรรเสริญนินทาเหล่านั้น ล้วนเป็นพลังจากสิ่งรอบข้างที่เข้ามาสร้างความหวั่นไหวในจิตใจของเรา ถ้าเขาชมเราแล้วเราดีใจ ใจฟู เราก็ยังติดคำชมอยู่ ซึ่งทำให้ในขณะเดียวกันเมื่อเขาท้วงติงหรือพูดไม่ถูกใจเราก็อาจจะทำให้เราไขว้เขว หรือโกรธ ไม่พอใจเขาก็ได้

การหันมากินมังสวิรัติ ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดทางด้านร่างกายและสังคมไม่มากก็น้อย การกินมังสวิรัตินั้นไม่ได้ทำให้อยู่ในสังคมยาก แต่ความจริงคือมันยากที่จะสู้กับความอยากของตัวเองที่จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะในระหว่างที่เรายังข้ามไม่พ้นสะพานไปสู่ชีวิตมังสวิรัตินี้ ก็จะมีบางสิ่งคอยดึง ฉุดรั้งเราไว้ให้อยู่ฝั่งเนื้อสัตว์ ให้กลับไปกิน ไปเสพเนื้อสัตว์ ให้เรารู้สึกว่าการกินมังสวิรัตินั้นยากลำบาก ทรมานกาย ลำบากในการเข้าสังคม

ในความจริงแล้ว การกินมังสวิรัติ นั้นไม่ได้ทำให้สังคมลำบากเลย ถ้าเรากินอย่างมีปัญญารู้จักเอาตัวรอด ไม่สร้างปัญหาให้คนอื่น สังคมเขามีแต่จะยินดีกับเราด้วยที่เราละเว้นเนื้อสัตว์ เราทำเรื่องดี ใครเขาก็เห็นดีด้วยอยากส่งเสริมอยากสนับสนุน

มีแต่จิตใจของเราเองนั่นแหละที่คิดไปเองว่ามันจะลำบากใจ สร้างความลำบากให้กับคนอื่น ปรับตัวในสังคมยาก ใช้ชีวิตยาก เพราะเราไม่ได้ศึกษาหาวิธีการกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนและมีความสุข ไม่มีเพื่อนร่วมลดเนื้อกินผัก ไม่มีผู้รู้คอยแนะนำการใช้ชีวิตมังสวิรัติอย่างมีความสุข มีแต่ความรู้ว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะกินมังสวิรัติอย่างไรให้ยั่งยืน

ดังนั้นผู้ที่คิดจะกินมังสวิรัติจึงต้องคอยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการกินมังสวิรัติ การใช้ชีวิต การเอาตัวรอดในสังคม การอยู่ในสังคมอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จนกระทั่งสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีความสุข โดยที่ตัวเองก็สามารถละเว้นเนื้อกินแต่พืชผักได้อย่างไม่มีตกหล่น

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

July 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,028 views 0

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

เมื่อเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมังสวิรัติ มาลดเนื้อกินผัก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เมนูอาหารที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือกระทั่งสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนก็ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมี แต่เป็นแค่ช่วงเวลาที่สิ่งใหม่ (คือ การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผัก) กับสิ่งเก่า( คือ วิธีชีวิตเดิมของเรา) กำลังปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะพัฒนาเป็นชีวิตใหม่ที่มีความผาสุกยิ่งขึ้น

แต่การเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก สู่ชีวิตมังสวิรัติ หรือลดเนื้อกินผัก นั้นไม่ได้ง่ายขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น อาจจะกลายเป็นความเบียดเบียนตัวเราเองก็ได้

การเบียดเบียนในช่วงที่ยังพยายามลด ละ เลิกเนื้อสัตว์

เราเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ด้วยการไม่ส่งเสริมให้ฆ่า โดยการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ หรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่เมื่อทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะพบว่า ชีวิตเริ่มจะลำบาก รู้สึกว่าทรมาน รู้สึกว่าอยากกินเนื้อสัตว์ รู้สึกว่าเข้าสังคมยาก รู้สึกว่าไม่มีความสุข ในสภาพจิตใจเช่นนี้ จะเริ่มเข้าข่ายการเบียดเบียนตัวเอง“ หากเรายังฝืนทนกับความอยากที่เกินกำลังที่เราสามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งเราก็อาจจะทนได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีอาการตบะแตก หรือเลิกล้ม เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ เข็ดขยาดกับความทรมาน ที่ต้องอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งที่ความอยากเสพนั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

การเบียดเบียนตัวเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความตั้งใจเกินกำลัง ที่เราทำได้จริงเช่น เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งๆที่ยังอยากกินมากยังติดอยู่มาก หรือเลิกกินน้ำปลา น้ำซุป น้ำมันหอย ไข่ เนย ฯลฯ ทั้งๆที่ยังไม่เรียนรู้ที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ให้เรากินได้ ทำให้รู้สึกกดดันตัวเอง หาอะไรกินยาก แม้ว่าเราจะทำได้ ก็ทำได้แค่ระดับฝืนทน กดข่ม ยิ่งอดทนยิ่งทรมาน

ข้อเสียของการกินมังสวิรัติอย่างฝืนทน กดข่มนั้น คือความไม่สดใส ไม่ผ่องใส เครียด ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความสุข ฯลฯ เราควรที่จะกินมังสวิรัติด้วยการเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเห็นเป็นเรื่องดีที่คนนิยม การกินอย่างเข้าใจและมีปัญญาจะช่วยให้เกิดความยินดี พอใจ เต็มใจในการกินมังสวิรัติซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืน

หากขาดความยินดี เต็มใจ พอใจ ที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็อาจจะสามารถกินได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็มักจะล้มเลิกได้ง่าย แม้จะกินไปได้เป็นปี หลายปี แต่ถ้าไม่ได้เห็นและเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติก็อาจจะทำให้ไม่มีแรงใจ ไม่มีกำลังใจมากพอที่จะทำให้สมบูรณ์ได้

และเมื่อล้มเลิกก็จะมีคำถามมากมายจากคนอื่นและในจิตใจของตัวเองว่า กินมังสวิรัติแล้วดีจริงหรือ, ดีแล้วเลิกทำไม ,กินเนื้อสัตว์ไม่ดีแล้วกลับไปกินอีกทำไม เราจะตอบเขาหรือตอบตัวเองไม่ได้เลย หรือแม้จะตอบได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะเราเองก็ไม่รู้ประโยชน์แท้ๆในการกินมังสวิรัติเหมือนกัน เพราะคนที่รู้ประโยชน์แท้จะสามารถตัดเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืน  เพราะมีปัญญาจึงเลิกกินเนื้อสัตว์นั้น ในทางกลับกันเมื่อเราไม่รู้ประโยชน์แท้เราจึงไม่สามารถกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนได้ เราจึงต้องใช้การพิจารณาหาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์ ให้มากและบ่อยยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมความยินดี เต็มใจ พอใจ ให้เรามีแรงมีกำลังในการกินมังสวิรัติมากขึ้นนั่นเอง

การปฏิบัติสู่ชีวิตมังสวิรัติ จะต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าติดเนื้อสัตว์มากก็ให้ลด ติดบ้างก็ให้ละ ติดน้อยก็ให้เลิก โดยให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าลองเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเราจะทรมานจากความอยากเสพมากแค่ไหน ถ้าพอทนได้ก็ให้ตัดใจเลิกไปเลย แต่ถ้าโหยหา หงุดหงิด หิวกระหาย อยากกลับไปเสพ จนเริ่มเครียดมาก ทุกข์มากก็อย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นจนเบียดเบียนตัวเองเลย ให้วางความยึดดี วางความเป็นคนดีลงไปบ้าง แล้วกลับไปเสพเนื้อสัตว์บ้างเพื่อให้หายทรมาน แล้วค่อยกลับมาตั้งใจเริ่มปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาสู้กันใหม่อีกที

เมื่อเรากินมังสวิรัติอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นหนทางสู่การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผักได้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถพัฒนาการ ลด ละ เลิก การเบียดเบียนไปตามลำดับเพื่อพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป

การเบียดเบียนในช่วงที่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาดแล้ว

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลิกการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่กินมังสวิรัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการกินมังสวิรัติมากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกินมังสวิรัติ ซึ่งก็จะเริ่มทำหน้าที่ เผยแพร่คุณค่า ความดีงามของการกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะในสังคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือในสังคมใหญ่ต่างๆ

นั่นก็เพราะเมื่อเราได้รับสิ่งดี ค้นพบสิ่งดี เราก็มักอยากจะให้คนที่เรารัก เราห่วงใย รวมถึงเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนได้รับสิ่งที่ดี ได้รับความสุข ความสบายใจอย่างเราบ้าง เราจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งอาจจะไปกดดัน บีบคั้น ทำให้ผู้อื่นลำบากใจ “กลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในมุมของการยึดดี ถือดี“ เพราะเราอยากเสพเหตุการณ์ที่ว่า ทุกคนจะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้เหมือนเรา ทำดีได้เหมือนเรา โลกจะดีเมื่อทุกคนทำได้เหมือนเรา หากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้ความเข้าใจจากเรา ซึ่งการที่ผู้กินมังสวิรัติเข้าใจและกระทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเป็นความดีเป็นกุศล แต่บางครั้งก็มักจะเกินเลยข้ามเส้นที่เป็นกุศลไปเป็นอกุศล คือเริ่มทำให้เขาลำบากใจเข้าแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติได้โดยใช้องค์ความรู้เดียวกัน หรือเท่ากันเสมอไป เพราะแต่ลดคนมีความยึดติดมากน้อยไม่เท่ากัน เราอาจจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใจเราได้ดี แต่คนอีกกลุ่มหรือกระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเราได้เลย เรามักจะเข้าใจว่าเราทำได้ง่ายๆ ทำไมคนอื่นทำไม่ได้เหมือนเรา เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการเผยแพร่ของเราติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จ คนนั้นคิดไม่เหมือนเรา คนนี้ทำไม่เหมือนเรา เรายึดมั่นถือมั่นว่าการกินมังสวิรัติต้องปฏิบัติแบบเราถึงจะถูก เราจึงเลิกพูดกับคนบางกลุ่มด้วยอาการอึดอัด กดดันตัวเอง ยึดดี ถือดี คิดเอาเองว่าเขาไม่เข้าใจ เราเลยไม่ยินดีที่เขาไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยินดีที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ในตอนนี้เราก็เริ่มจะเข้าไปในขีดของ “การเบียดเบียนตัวเองในมุมของการยึดดี ถือดีแล้ว

เพราะใจจริงของเราก็อยากจะสอน อยากจะบอก อยากจะแนะนำสิ่งดีให้เขานั่นแหละ แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ปล่อยวางความดีเหล่านั้น แต่กลับยังยึดว่าต้องเกิดดีตามที่ตนมุ่งหมาย เอาความผิดพลาดมาคิด เอามาตีตัวเอง หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่นไปด้วย ตรงนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้คนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างดี ยังเกิดความทุกข์ในใจอยู่มาก

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราเองก็เรียนรู้มาแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง เราจึงมีปัญญาแค่ในมุมที่เราเรียนรู้มา ซึ่งก็มีอย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะนำไปใช้แนะนำให้กับคนที่มีกิเลสมากมายหลากหลายได้ทั้งหมด การปล่อยวางความยึดดีถือดี เมื่อเขาเหล่านั้นไม่เอาดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อผลดีไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปยึดดีปล่อยให้เป็นไปตามบาปบุญของเขา เพราะเราได้ทำดีที่สุด คือการแนะนำ อธิบาย บอกกล่าวไปตามความรู้ที่เรามีแล้วเขาจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะเห็นดีหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับกินมังสวิรัติได้อย่างไม่ยึดดีถือดี เราก็จะสามารถเรียนรู้ความอยากที่แตกต่างในแต่ละบุคคลด้วย เพราะเมื่อเราไม่ยึดว่าสิ่งที่เราบอกนั้นจะต้องเกิดดีขึ้นจริง เราจะมีพื้นที่ในใจว่างเผื่อไว้ให้เราใส่ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา เหมือนแก้วน้ำ ที่มีน้ำไม่เต็มแก้วก็จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ด้วย เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบนี้มีความอยากแบบไหน แล้วต่อไปจะต้องหาความรู้แบบใดไปบอก ไปแนะนำเขา เขาถึงจะเข้าใจได้ง่ายตอบคำถามในใจของเขาได้ โดยที่เรามุ่งความสำเร็จองค์รวมมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาความรู้เดิมหรือความรู้แรกที่เราใช้ผ่านการกินมังสวิรัติมาใช้กับทุกคน

และเมื่อเราผ่านการเบียดเบียนทั้งในมุมการเสพเนื้อสัตว์และการเสพดีทั้งหมดแล้ว เราก็จะพบกับความผาสุกที่แท้จริง ยั่งยืน มีความรู้ มีปัญญาเข้าใจคนอื่น ทำให้คำพูด คำแนะนำ คำสอนของเรามีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น