Tag: ความยึดดี

เคร่ง หรือ เครียด

September 10, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,791 views 0

เคร่ง หรือ เครียด

เคร่ง หรือ เครียด

การที่คนเราจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยกินเนื้อ มาเรียนรู้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ ก็เป็นความคิดที่ผิดแปลกไปจากสังคมส่วนใหญ่ในทุกวันนี้อยู่แล้ว โดยส่วนมากก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนใจบุญ เคร่งศีล หรือเคร่งเครียด ก็ว่ากันไปตามแต่ใครจะแสดงท่าทีอย่างไรออกมา

ในสภาพความเป็นจริงนั้น ผู้ที่สามารถลดเนื้อกินผักได้บ้างแล้ว เขาจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ เคร่ง ” คือเคร่งครัดในวินัย ในศีล ในตบะที่ตัวเองถือ คือจะมีข้อจำกัดหลายๆอย่างที่จะไม่กลับไปเสพเนื้อสัตว์ให้ตัวเองได้เป็นทุกข์ ไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้ามันเริ่มจะเข้าสู่ความลำบากจนเริ่มที่จะ “ เครียด ” ก็อาจจะวนกลับไปกินเพื่อลดความเครียดนั้นบ้าง

เคร่ง…

คำว่า เคร่ง นั้น เป็นลักษณะของการ เคร่งในตัวเอง เอาจริงเอาจัง กวดขันในวินัยของตัวเอง เช่น พระที่เคร่งศีล คือ ท่านก็มีวินัย กวดขันในตัวของท่าน ตั้งใจตั้งมั่นในตัวเอง มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกสิ่งไม่ดี ลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนเท่าที่จะทำได้อย่างไม่ลดละความพยายาม แม้จะต้องแพ้กิเลสตัวเองกลับไปเสพบ้าง แต่ก็จะตั้งหลักกลับมาสู้กับความอยากนั้นๆต่อไป อย่างไม่ลดละ

ซึ่งตรงข้ามกับความเหลาะแหละ ความหละหลวม ความประมาท คือผู้ที่ไม่เคร่ง ก็จะไม่ใส่ใจ ไม่เอาจริงเอาจัง กินเนื้อบ้าง กินผักบ้าง ไม่จริงจัง พอใครถามก็มักจะบอกว่าไม่เคร่ง เป็นต้น

ผู้ที่ไม่เคร่งนั้น คือผู้ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ในการลดเนื้อกินผักเท่าใดนัก และยังไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการเบียดเบียนจนกระทั่งทุกข์ที่เกิดจากวิบากกรรมของกิเลสเหล่านั้น ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ประมาท เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ทำให้ชีวิตต้องได้รับวิบากกรรมจากการที่ยังเบียดเบียนอยู่ คือ มีโรคมาก อายุสั้น เป็นอยู่ไม่ผาสุก

เครียด…

ส่วนคำว่า เครียด นั้น เป็นลักษณะของความจริงจังจนเกินพอดี อาจจะมีผลแค่ภายในจิตใจตัวเอง คือ เคร่งจนเครียด จนเป็นทุกข์ เช่น เราตั้งใจจะลดเนื้อสัตว์ใหญ่คือเนื้อวัว และด้วยความที่เราชอบสเต็กมาก เรากินมาตลอด แต่หลังจากตั้งใจมาลดเนื้อกินผักแล้ว เราก็เลี่ยงมาตลอด จนกระทั่งความอยากที่อยู่ในใจมันถึงขีดจำกัด เราไม่มีพลังทนความอยากกินเนื้อวัวอีกต่อไป แต่เราก็ยังจะฝืนทน ก็จะทำให้เกิดความเครียด ความทุกข์ ความหดหู่ กระวนกระวายใจ ทรมาน เริ่มรู้สึกว่าทุกข์จากการอดเนื้อวัวนั้นจะมากกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเข้าไปทุกที สุดท้ายเมื่อวางความยึดมั่นถือมั่นไม่เป็น วางความยึดดีไม่เป็น ก็จะตบะแตก กลับไปกินเนื้อวัว โดยอาจไม่คิดที่จะกลับไปลดเนื้ออีกเลย เพราะขยาดกับความทรมานจากทุกข์ที่ได้รับเมื่อนึกถึงช่วงเวลาที่ต้องอดกลั้น ไม่ได้กิน

เมื่อเรามาลดเนื้อกินผักในช่วงเริ่มต้นนั้น เรามักจะใช้อุดมคติเป็นตัวตั้ง คือ เราไปเห็นเขาฆ่าสัตว์ เห็นความโหดร้ายในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เห็นความทรมาน เห็นความทุกข์จากโรคภัยที่เกิดจากเนื้อสัตว์ กระทั่งว่าเห็นความทุกข์ที่เกิดจากกิเลส พอเห็นดังนั้นก็คิดอยากจะเลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นไปเลย แต่แม้จะคิดได้เช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหลุดออกจากนรก คือความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ทันที อย่างที่ใจคิดฝัน

ผู้สนใจหันมาลดเนื้อกินผัก ต้องประมาณกำลังของตัวเองว่าเราจะสามารถลดได้ในระดับไหน ที่รู้สึกว่าตนเองพอทำไหว คือไม่ให้หย่อนจนไม่เจริญ และไม่ให้ตึงจนกระทั่งทำไม่ได้ ลำบาก ทรมานมากเกินไป เมื่อตั้งระดับในการลด ละ เลิกได้พอสมควรแล้วก็ให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมาย โดยพยายามประคองไม่ให้เครียดจนเกินไปนัก และเมื่อรู้สึกว่าสามารถเลิกกินสัตว์ใหญ่ได้แล้วก็ไม่รอช้า ปรับเข้ามาสู่การลดเนื้อสัตว์เล็กต่อ จนกระทั่งเลิกกินเนื้อสัตว์ เก่งขึ้นไปอีกก็กินจืด ลดมื้อของอาหารลง ลดชนิดของอาหารลง ตามลำดับ

เคร่งจนพากันเครียด…

บางครั้งความเคร่งหรือความเครียดก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวเราเท่านั้น ผู้ที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ บางท่านเมื่อทำได้บ้างแล้วก็จะมีความมั่นใจจึงมีความเคร่งในตัวเอง และยังเผื่อแผ่ความเคร่งของตัวเองไปเคร่งกับคนรอบข้างอีกด้วย

เช่น แม่บ้านไปเรียนรู้เรื่องมังสวิรัติมาเกิดปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อ และตัวเองก็มีกำลังในการตัดเนื้อสัตว์อยู่ด้วยเพราะไม่ได้ติดในรสชาติ หรือรสอะไร ก็กลับมาทำอาหารมังสวิรัติให้ที่บ้านกิน ทีนี้พ่อบ้านและลูกๆ ยังมีกิเลส อยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เขายังไม่ได้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อสัตว์ และไม่ได้เห็นทุกข์จากการยังกินเนื้อสัตว์ เขาจึงไม่เข้าใจว่ามังสวิรัติมีประโยชน์อย่างไร

แรกๆก็พอจะทนกันไปได้ด้วยความเกรงใจและเห็นดีกับแม่บ้านอยู่บ้าง เพราะแม่บ้านก็บอกว่าทำดี ทำบุญ ฯลฯ แต่ด้วยความอยากในจิตใจก็ทำให้เกิดความกดดัน ความเครียดขึ้นมา เพราะจริงๆก็ไม่ได้ชอบกินผักและยังอยากกินเนื้อทุกวัน เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์ให้เสพเหมือนเดิม ก็จะทำให้เกิดทุกข์ จนกระทั่งอาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจกันขึ้นมาก็ได้

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเรามีความเคร่ง ก็ควรจะเคร่งคลุมอยู่ภายในตัวเองเท่านั้น ไม่ควรไปเคร่งกับคนอื่น เพราะถ้าเขาเห็นว่าดี เขาก็จะกินเอง ไม่ต้องไปบังคับหรือกดดันอะไรเลย เราก็กินของเราไป เคร่งของเราไปคนเดียว เครียดไปคนเดียว อย่าให้ความติดดี ยึดดี ถือดี ไปทำร้ายคนอื่น

เช่น เราเป็นคนทำอาหารหรือซื้ออาหารให้ครอบครัวกิน เราก็ยังทำหรือซื้อให้เขากินตามที่เขาชอบเหมือนเดิม แต่เราก็ทำหรือซื้อในแบบที่เรากินมาต่างหาก เราก็ได้นั่งร่วมโต๊ะกันเหมือนเดิม ครอบครัวก็ยังเป็นสุขอยู่เหมือนเดิม และยังได้ลดเนื้อกินผักอยู่เหมือนเดิม เพราะปากใครก็ปากใคร ท้องใครก็ท้องใคร กรรมใครก็กรรมใคร ก็แล้วแต่เขาจะเลือกเอง ถ้าเขาเห็นว่ามีประโยชน์ เขาก็จะบอกเองว่าอยากกินแบบเรา ให้เราทำอาหารมังสวิรัติให้ ให้เราแนะนำความรู้ให้ เป็นต้น

เนื้อสัตว์ พืชผัก ความรู้สึกหลังจากกินมังสวิรัติแล้ว

July 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,416 views 0

เนื้อสัตว์ พืชผัก ความรู้สึกหลังจากกินมังสวิรัติแล้ว

ความแตกต่างระหว่างกินเนื้อกับกินผัก

หลายๆคนที่หันมาลองกินมังสวิรัติคงจะรับรู้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเราเปลี่ยนมากินมังสวิรัติการรับรู้ที่เคยมีก็เปลี่ยนไป ทั้งๆที่เนื้อสัตว์กับผักยังมีรสชาติและคุณค่าเหมือนอย่างที่มันเคยเป็นไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นตัวเราเองที่เปลี่ยนไป เราจะมาแบ่งปันความความรู้สึกระหว่างการกินเนื้อสัตว์กับผักในสามช่วงเวลาคือ 1. ยังไม่กินมังสวิรัติ 2. กินมังสวิรัติได้เป็นประจำ 3.กินมังสวิรัติได้อย่างเป็นสุข… ลองมาอ่านกัน

1.เมื่อสมัยยังไม่กินมังสวิรัติ

ชาวมังสวิรัติส่วนใหญ่นั้นก็เคยเป็นผู้บริโภคเนื้อสัตว์กันมาทั้งนั้น สมัยยังกินเนื้อสัตว์อยู่ ก็รู้สึกว่ามันอร่อย เลือกหาร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ มีความหลากหลาย มีชื่อเสียง พืชผักนี่แทบจะไม่อยู่ในสายตา แม้จะอยู่ในจานก็ไม่เคยสนใจ เรามักจะกินเนื้อสัตว์ก่อนเสมอ ส่วนผักจะเหลือทิ้งไว้ก็ไม่มีใครใส่ใจ เนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในทุกมื้ออาหาร ขาดไปเมื่อไหร่เหมือนชีวิตช่างดูอับจน ต้องมากินแต่ผัก ส่วนผักจะมีหรือไม่มีก็ได้เห็นคุณค่าเป็นเพียงแค่วิตามินส่วนเสริม ไม่ได้จำเป็นอะไรนัก มองไปยังคนที่กินมังสวิรัติว่า อยู่กันได้ยังไง ใช้ชีวิตมังสวิรัติกันไปได้อย่างไร กินเนื้อมีความสุขจะตาย จะเลิกกินไปทำไม

ในช่วงนี้เราจะลำเอียงไปทางเนื้อสัตว์ เพราะเราชอบ เราอยากกินเนื้อสัตว์ จากความเคยชิน รสอร่อยที่เราติดยึด กินเนื้อจะอร่อย กินผักก็เฉยๆ ก็แค่พืชผัก ในตอนนี้ เนื้อสัตว์จะเป็นพระเอก พืชผักจะเป็นตัวประกอบ

2. เมื่อเรียนรู้และสามารถกินมังสวิรัติได้เป็นประจำ

วันหนึ่งคนทั่วไปที่เคยหลงติด หลงเข้าใจไปว่าเนื้อสัตว์อร่อยมีคุณค่าจำเป็นต่อชีวิต ก็ได้รับความรู้ใหม่ คือโทษจากการกินเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การเบียดเบียน กระทั่งเรื่องของกิเลสและกรรม หรือความรู้อื่นๆ ก็ทำให้เขาตัดสินใจ ลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ จนสามารถปฏิบัติได้อย่างดีเยี่ยม กินมังสวิรัติได้เป็นเวลานานและติดต่อกัน โดยไม่กลับไปแตะต้องเนื้อสัตว์เลย พบกับความสุขที่ไม่ต้องไปกินเนื้อสัตว์แล้ว มองไปยังคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ว่า กินเนื้อสัตว์กันไปได้อย่างไร มันทั้งเบียดเบียน และทำให้เสียสุขภาพ ฯลฯ

ในช่วงการเปลี่ยนแปลงจากการกินเนื้อสัตว์มาสู่มังสวิรัตินี้ เราจะเริ่มลำเอียงไปทางพืชผัก น้ำหนักที่เคยเอียงไปทางด้านเนื้อสัตว์จะค่อยๆลดลงและพืชผักจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราชอบพืชผักด้วยที่มันมีประโยชน์ ไม่เบียดเบียน และเราเกลียดการกินเนื้อสัตว์ ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ เพราะมันเบียดเบียนกินพืชผักจะอร่อย กินเนื้อสัตว์จะไม่อร่อย ในตอนนี้ พืชผักจะเป็นพระเอก เนื้อสัตว์จะเป็นผู้ร้าย

3. เมื่อเรากินมังสวิรัติได้อย่างเป็นสุข

เมื่อเรากินมังสวิรัติเป็นประจำ และสามารถลด ละ เลิก ความยึดดี ถือดี ถือตัวถือตน ความติดดีในการกินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็จะสามารถมองเนื้อสัตว์และพืชผัก เป็นอย่างที่มันเป็นตามความเป็นจริง โดยไม่มีความลำเอียงไปในด้านรักเนื้อสัตว์ไม่สนพืชผัก หรือรักพืชผักเกลียดเนื้อสัตว์เพราะเข้าใจเหตุปัจจัยที่ส่งผลแก่กันและกัน ในคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และสัตว์ที่ต้องตายไปเพื่อคนที่กินเนื้อสัตว์

เราจะเลือกกินแต่สิ่งที่มีคุณค่าแท้ต่อร่างกายและจิตใจ จะเข้าใจถึงโทษและประโยชน์โดยปราศจากความลำเอียง ความรักชอบ เกลียดชังใดๆ เป็นเสมือนตราชั่งที่ตั้งไว้เสมอกันไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่เมื่อวางเนื้อสัตว์กับผักลงไปในแต่ละฝั่งแล้ว ตราชั่งจะเอียงไปในด้านที่มีคุณค่าที่มากกว่า ซึ่งเป็นคุณค่าต่อตนเอง ต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ต่อสังคมและโลก

ในช่วงนี้เราไม่ได้ลำเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เราเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์แท้ เราจึงกินอร่อยด้วยคุณค่า ไม่ใช่ด้วยความอยากหรือไม่อยาก ในตอนนี้ ผักจะเป็นตัวเลือกแรก และเนื้อสัตว์จะเป็นตัวเลือกสุดท้ายหรืออาจจะไม่ใช่ตัวเลือกเลยก็ได้ แล้วแต่ว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ เป็นกุศลสูงสุดในขณะนั้น

เมื่อกินมังสวิรัติอย่างมั่นคงมาได้แล้ว ทดลองกลับไปกินเนื้อ จะรู้สึกถึงความแตกต่างชัดเจนขึ้นโดยจะให้คุณค่าในทางมังสวิรัติมากกว่า เพราะการกินผัก จะทำให้ร่างกายเบา สบาย ย่อยง่าย ขับถ่ายง่าย ต่างจากตอนกินเนื้อ ซึ่งทำให้รู้สึกอึดอัด แน่น ท้องตึง ย่อยยาก รวมถึงขับถ่ายยาก ผู้กินสามารถใช้ร่างกายของตัวเองเป็นห้องทดลองได้ เราจะได้รู้ข้อดีของการกินมังสวิรัติ และข้อเสียของการกินเนื้อสัตว์ด้วยร่างกายของเราเองโดยไม่มีความลำเอียงไปในด้านใดด้านหนึ่ง แต่รับรู้ด้วยร่างกายตามที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่แค่ได้ยินได้ฟังเขามา

อ่านมาจนถึงตรงนี้ แล้วคุณล่ะ รู้สึกอย่างไรกับเนื้อสัตว์ รู้สึกอย่างไรกับผักหรือการกินมังสวิรัติ ? กินแล้วมีความสุขอยู่ไหม? เห็นคนกินเนื้อแล้วยังอยากกินกับเขาอยู่ไหม? หรือรู้สึกไม่ชอบ ยังชัง ยังรู้สึกไม่ดีที่เขายังกินเนื้อบ้างไหม? เลือกแบ่งปันประสบการณ์กันได้ตามสะดวกเลย

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

July 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,042 views 0

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

เมื่อเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมังสวิรัติ มาลดเนื้อกินผัก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เมนูอาหารที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือกระทั่งสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนก็ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมี แต่เป็นแค่ช่วงเวลาที่สิ่งใหม่ (คือ การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผัก) กับสิ่งเก่า( คือ วิธีชีวิตเดิมของเรา) กำลังปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะพัฒนาเป็นชีวิตใหม่ที่มีความผาสุกยิ่งขึ้น

แต่การเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก สู่ชีวิตมังสวิรัติ หรือลดเนื้อกินผัก นั้นไม่ได้ง่ายขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น อาจจะกลายเป็นความเบียดเบียนตัวเราเองก็ได้

การเบียดเบียนในช่วงที่ยังพยายามลด ละ เลิกเนื้อสัตว์

เราเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ด้วยการไม่ส่งเสริมให้ฆ่า โดยการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ หรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่เมื่อทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะพบว่า ชีวิตเริ่มจะลำบาก รู้สึกว่าทรมาน รู้สึกว่าอยากกินเนื้อสัตว์ รู้สึกว่าเข้าสังคมยาก รู้สึกว่าไม่มีความสุข ในสภาพจิตใจเช่นนี้ จะเริ่มเข้าข่ายการเบียดเบียนตัวเอง“ หากเรายังฝืนทนกับความอยากที่เกินกำลังที่เราสามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งเราก็อาจจะทนได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีอาการตบะแตก หรือเลิกล้ม เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ เข็ดขยาดกับความทรมาน ที่ต้องอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งที่ความอยากเสพนั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

การเบียดเบียนตัวเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความตั้งใจเกินกำลัง ที่เราทำได้จริงเช่น เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งๆที่ยังอยากกินมากยังติดอยู่มาก หรือเลิกกินน้ำปลา น้ำซุป น้ำมันหอย ไข่ เนย ฯลฯ ทั้งๆที่ยังไม่เรียนรู้ที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ให้เรากินได้ ทำให้รู้สึกกดดันตัวเอง หาอะไรกินยาก แม้ว่าเราจะทำได้ ก็ทำได้แค่ระดับฝืนทน กดข่ม ยิ่งอดทนยิ่งทรมาน

ข้อเสียของการกินมังสวิรัติอย่างฝืนทน กดข่มนั้น คือความไม่สดใส ไม่ผ่องใส เครียด ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความสุข ฯลฯ เราควรที่จะกินมังสวิรัติด้วยการเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเห็นเป็นเรื่องดีที่คนนิยม การกินอย่างเข้าใจและมีปัญญาจะช่วยให้เกิดความยินดี พอใจ เต็มใจในการกินมังสวิรัติซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืน

หากขาดความยินดี เต็มใจ พอใจ ที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็อาจจะสามารถกินได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็มักจะล้มเลิกได้ง่าย แม้จะกินไปได้เป็นปี หลายปี แต่ถ้าไม่ได้เห็นและเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติก็อาจจะทำให้ไม่มีแรงใจ ไม่มีกำลังใจมากพอที่จะทำให้สมบูรณ์ได้

และเมื่อล้มเลิกก็จะมีคำถามมากมายจากคนอื่นและในจิตใจของตัวเองว่า กินมังสวิรัติแล้วดีจริงหรือ, ดีแล้วเลิกทำไม ,กินเนื้อสัตว์ไม่ดีแล้วกลับไปกินอีกทำไม เราจะตอบเขาหรือตอบตัวเองไม่ได้เลย หรือแม้จะตอบได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะเราเองก็ไม่รู้ประโยชน์แท้ๆในการกินมังสวิรัติเหมือนกัน เพราะคนที่รู้ประโยชน์แท้จะสามารถตัดเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืน  เพราะมีปัญญาจึงเลิกกินเนื้อสัตว์นั้น ในทางกลับกันเมื่อเราไม่รู้ประโยชน์แท้เราจึงไม่สามารถกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนได้ เราจึงต้องใช้การพิจารณาหาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์ ให้มากและบ่อยยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมความยินดี เต็มใจ พอใจ ให้เรามีแรงมีกำลังในการกินมังสวิรัติมากขึ้นนั่นเอง

การปฏิบัติสู่ชีวิตมังสวิรัติ จะต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าติดเนื้อสัตว์มากก็ให้ลด ติดบ้างก็ให้ละ ติดน้อยก็ให้เลิก โดยให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าลองเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเราจะทรมานจากความอยากเสพมากแค่ไหน ถ้าพอทนได้ก็ให้ตัดใจเลิกไปเลย แต่ถ้าโหยหา หงุดหงิด หิวกระหาย อยากกลับไปเสพ จนเริ่มเครียดมาก ทุกข์มากก็อย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นจนเบียดเบียนตัวเองเลย ให้วางความยึดดี วางความเป็นคนดีลงไปบ้าง แล้วกลับไปเสพเนื้อสัตว์บ้างเพื่อให้หายทรมาน แล้วค่อยกลับมาตั้งใจเริ่มปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาสู้กันใหม่อีกที

เมื่อเรากินมังสวิรัติอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นหนทางสู่การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผักได้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถพัฒนาการ ลด ละ เลิก การเบียดเบียนไปตามลำดับเพื่อพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป

การเบียดเบียนในช่วงที่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาดแล้ว

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลิกการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่กินมังสวิรัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการกินมังสวิรัติมากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกินมังสวิรัติ ซึ่งก็จะเริ่มทำหน้าที่ เผยแพร่คุณค่า ความดีงามของการกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะในสังคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือในสังคมใหญ่ต่างๆ

นั่นก็เพราะเมื่อเราได้รับสิ่งดี ค้นพบสิ่งดี เราก็มักอยากจะให้คนที่เรารัก เราห่วงใย รวมถึงเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนได้รับสิ่งที่ดี ได้รับความสุข ความสบายใจอย่างเราบ้าง เราจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งอาจจะไปกดดัน บีบคั้น ทำให้ผู้อื่นลำบากใจ “กลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในมุมของการยึดดี ถือดี“ เพราะเราอยากเสพเหตุการณ์ที่ว่า ทุกคนจะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้เหมือนเรา ทำดีได้เหมือนเรา โลกจะดีเมื่อทุกคนทำได้เหมือนเรา หากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้ความเข้าใจจากเรา ซึ่งการที่ผู้กินมังสวิรัติเข้าใจและกระทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเป็นความดีเป็นกุศล แต่บางครั้งก็มักจะเกินเลยข้ามเส้นที่เป็นกุศลไปเป็นอกุศล คือเริ่มทำให้เขาลำบากใจเข้าแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติได้โดยใช้องค์ความรู้เดียวกัน หรือเท่ากันเสมอไป เพราะแต่ลดคนมีความยึดติดมากน้อยไม่เท่ากัน เราอาจจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใจเราได้ดี แต่คนอีกกลุ่มหรือกระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเราได้เลย เรามักจะเข้าใจว่าเราทำได้ง่ายๆ ทำไมคนอื่นทำไม่ได้เหมือนเรา เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการเผยแพร่ของเราติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จ คนนั้นคิดไม่เหมือนเรา คนนี้ทำไม่เหมือนเรา เรายึดมั่นถือมั่นว่าการกินมังสวิรัติต้องปฏิบัติแบบเราถึงจะถูก เราจึงเลิกพูดกับคนบางกลุ่มด้วยอาการอึดอัด กดดันตัวเอง ยึดดี ถือดี คิดเอาเองว่าเขาไม่เข้าใจ เราเลยไม่ยินดีที่เขาไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยินดีที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ในตอนนี้เราก็เริ่มจะเข้าไปในขีดของ “การเบียดเบียนตัวเองในมุมของการยึดดี ถือดีแล้ว

เพราะใจจริงของเราก็อยากจะสอน อยากจะบอก อยากจะแนะนำสิ่งดีให้เขานั่นแหละ แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ปล่อยวางความดีเหล่านั้น แต่กลับยังยึดว่าต้องเกิดดีตามที่ตนมุ่งหมาย เอาความผิดพลาดมาคิด เอามาตีตัวเอง หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่นไปด้วย ตรงนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้คนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างดี ยังเกิดความทุกข์ในใจอยู่มาก

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราเองก็เรียนรู้มาแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง เราจึงมีปัญญาแค่ในมุมที่เราเรียนรู้มา ซึ่งก็มีอย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะนำไปใช้แนะนำให้กับคนที่มีกิเลสมากมายหลากหลายได้ทั้งหมด การปล่อยวางความยึดดีถือดี เมื่อเขาเหล่านั้นไม่เอาดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อผลดีไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปยึดดีปล่อยให้เป็นไปตามบาปบุญของเขา เพราะเราได้ทำดีที่สุด คือการแนะนำ อธิบาย บอกกล่าวไปตามความรู้ที่เรามีแล้วเขาจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะเห็นดีหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับกินมังสวิรัติได้อย่างไม่ยึดดีถือดี เราก็จะสามารถเรียนรู้ความอยากที่แตกต่างในแต่ละบุคคลด้วย เพราะเมื่อเราไม่ยึดว่าสิ่งที่เราบอกนั้นจะต้องเกิดดีขึ้นจริง เราจะมีพื้นที่ในใจว่างเผื่อไว้ให้เราใส่ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา เหมือนแก้วน้ำ ที่มีน้ำไม่เต็มแก้วก็จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ด้วย เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบนี้มีความอยากแบบไหน แล้วต่อไปจะต้องหาความรู้แบบใดไปบอก ไปแนะนำเขา เขาถึงจะเข้าใจได้ง่ายตอบคำถามในใจของเขาได้ โดยที่เรามุ่งความสำเร็จองค์รวมมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาความรู้เดิมหรือความรู้แรกที่เราใช้ผ่านการกินมังสวิรัติมาใช้กับทุกคน

และเมื่อเราผ่านการเบียดเบียนทั้งในมุมการเสพเนื้อสัตว์และการเสพดีทั้งหมดแล้ว เราก็จะพบกับความผาสุกที่แท้จริง ยั่งยืน มีความรู้ มีปัญญาเข้าใจคนอื่น ทำให้คำพูด คำแนะนำ คำสอนของเรามีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

July 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,709 views 0

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตา เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบายและอบอุ่นไปทั้งใจเมื่อได้รับ มีคุณค่ามากมายเมื่อเมตตาได้งอกงามและเจริญในจิตใจ ชาวมังสวิรัติมักจะใช้เมตตาเป็นตัวนำในการพาตัวเองไปสู่ชีวิตมังสวิรัติ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ลด ละ เลิก การเบียดเบียนได้

เมตตากับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัติ

เมตตา สำหรับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้น การที่เราจะพัฒนาเมตตาได้นั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสัตว์ที่มาเป็นอาหารของเรานั้น เกิดมาทำไม ใช้ชีวิตแบบใด และจากโลกนี้ไปอย่างไร มีสื่อมากมายที่ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตเหล่านั้น หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยรับรู้ข้อมูล แต่เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกสงสาร เห็นใจ สลด หดหู่ ฯลฯ ใจที่มีเมตตาจะเริ่มเจริญงอกงามขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อรู้สึกสงสารแล้วก็เริ่มอยากจะช่วยเหลือ เริ่มที่จะรู้สึกว่าไม่อยากเบียดเบียน จึงเริ่มสนใจเข้าสู่การกินมังสวิรัติ อันคือ “ความกรุณา

ผู้คนมากมาย ที่รับรู้ความโหดร้าย ความทรมานในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตเมตตา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดกรุณา คือลงมือทำเพื่อลดการเบียดเบียน เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองมาสู่การ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ มาลดเนื้อกินผัก การจะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้น จำเป็นต้องมีเมตตาและกรุณาที่มีกำลังมากพอที่จะไปตัดความอยากเสพเนื้อสัตว์

ความอยากเสพ คือ ความหลงติด หลงยึด หลงผิดไปว่า ถ้าฉันได้สิ่งนี้มาฉันจะมีความสุข ถ้าฉันได้กินฉันจะอร่อย ทั้งหมดนี้คือ “ กิเลส ” ที่สร้างความสุขลวง สร้างรสอร่อยขึ้นมา การออกจากสภาพติดยึดเหล่านี้ต้องใช้เมตตาและกรุณา คือความรักความเห็นใจต่อสัตว์โลก และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเบียดเบียนชีวิตของเขา และยังใช้ความเกลียดสิ่งที่ชั่ว อันคือความโหดร้าย ทารุณ การเบียดเบียนต่างๆ เข้ามาเสริมความยึดดีในจิตใจเพื่อการออกจากนรกของการเสพ

การจะก้าวเข้าสู่ชีวิตนักมังสวิรัติได้ จำเป็นต้องใช้ “ความพยายาม ” มากกว่าการเจริญเมตตาและกรุณา คือต้องพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย จากการไปเสพเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งพิจารณาประโยชน์จากการเลิกเสพเนื้อสัตว์ ในด้านสุขภาพ การเงิน เวลา สังคม กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และพิจารณาหลักธรรมข้ออื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ ความเป็นทุกข์จากการเสพหรือไม่ได้เสพเนื้อสัตว์ ความไม่มีตัวตนแก่นสารสาระแท้ใดๆในการเสพเนื้อสัตว์ ก็จะสามารถทำให้ผู้กินมังสวิรัติมือใหม่ พัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุขและยั่งยืนได้

เมื่อพัฒนาจนเต็มที่จะพบว่า แม้จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีความสุขจากการเสพเหมือนเดิม ความอร่อยจากเนื้อสัตว์ที่เคยมีจะหายไป เหลือแต่ความอร่อยจากรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่จะได้ความสุขจากการไม่เสพขึ้นมาแทน  นักมังสวิรัติที่ไม่สามารถลด ละ เลิก ความอยากเสพ หรือ กามสุขลิกะ อันคือความสุดโต่งไปในด้านของการเสพ (กิเลสในมุมเสพวัตถุ) จะไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ยั่งยืน แม้จะกินมานาน 30-40 ปี ก็มีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อยู่ เพราะความอยากยังไม่ตาย กิเลสที่มีจะแค่ถูกกดข่ม ถูกลืมไป แต่กิเลสจะแอบพัฒนาตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ และส่งผลออกมาในภายหลัง ในลักษณะที่เรียกว่า “ตบะแตก

ดังนั้นจำนวนปีหรือช่วงเวลาที่ลด ละ เลิก ได้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าเราจะออกจาก ความอยากเสพได้ หากเรามุ่งเป้าหมายว่าจะเมตตาสัตว์โลก ลดการเบียดเบียน ความอยากเสพเป็นรากของกิเลสที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเป็นตัวอย่างของนักมังสวิรัติที่ไม่ดี ปากก็บอกคนอื่นว่ากินมังสวิรัติ แต่แล้วเวลาเผลอก็แอบไปกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ก็กดข่มจนสุดท้ายก็ตบะแตกไปกินเนื้อสัตว์ จึงเกิดมีคำถามจากผู้คนทั่วไปว่ากินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร? กินแล้วทรมานจากความอยากแล้วมันดีอย่างไร? แล้วชาวมังสวิรัติจะตอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ลดความอยากยังไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน และค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง ” ดังนั้นนักมังสวิรัติ พึงระวังไว้ด้วยว่าเรานี่แหละคือตัวอย่างของคนกินมังสวิรัติ แม้เราจะไม่ได้บอกใครว่ากินมังสวิรัติดีอย่างไร แต่เขาจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตวิถีชีวิตของเรา คือ การสอนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากสอน

 

เมตตาสำหรับนักมังสวิรัติ

ชาวมังสวิรัติที่สามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด แม้จะต้องไปอยู่ที่ต่างถิ่น ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถรักษาศีลไว้ได้ไม่ขาด มีศิลปะในการเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ หรือผู้ผ่านด่านความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว มีเมตตากรุณากับเหล่าสัตว์ผู้ที่เคยเป็นอาหาร มีความสุขแม้ว่าจะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เหมือนอย่างเคย

แต่ก็มักจะมาติดนรกอีกตัวคือ ความยึดดี ถือดี …เมื่อเมตตาไม่ได้เจริญครอบคลุมไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนที่เขายังไม่เข้าใจถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการเบียดเบียนชีวิตอื่น ก็มักจะไปเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าจิตใจไม่ดี ไม่เมตตา ไม่กรุณา ต่างๆนาๆ จนทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์

ลักษณะอาการ คือ เมื่อเห็นคนกินมังสวิรัติก็จะยินดี ดีใจ มีจิตมุทิตากับเขาได้โดยมีแต่ความสุข แต่เมื่อเห็นคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่เห็นคนที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ กลับไม่สามารถที่จะทำใจให้ยินดีกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ได้ จึงยินร้าย ขุ่นมัว ไม่พอใจ เพ่งโทษ ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็อาจจะมีคำพูด ลีลาท่าทาง หรือการสื่อสารที่แสดงอาการไม่พอใจออกมา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนติดดี ยึดดี ถือดี เป็น “นรกของคนดี” เป็นคนดีที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะมีแต่ความกดดัน จึงเป็นคนดีที่ไม่มีใครต้องการ สะสมแต่ “อัตตา” พอกพูนจนเกิดความทุกข์ทั้งตนเองและคนอื่น

เราใช้ อัตตา หรือการยึดดี ถือดี ในการก้าวข้าม ความอยากเสพเนื้อสัตว์มา แต่ในตอนสุดท้ายก็ต้องทำลายอัตตา คือความยึดดี ถือดี เหล่านั้นทิ้งด้วย “ อุเบกขา ” หรือการปล่อยวาง

เมื่อเรามีอัตตา เราจะอยากเสพดีจากคนอื่น คือ แต่ก่อนเราเคยอยากเสพเนื้อสัตว์ แต่พอหลุดจากการเสพเนื้อสัตว์ เราก็มาติดดี หลงว่าต้องเลิกเสพเนื้อสัตว์จึงจะดี จึงกลายเป็นอยากให้คนอื่นทำดีอย่างเรา ทำอย่างที่ใจเราคิด ทำอย่างที่เราทำได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ใครทำผิดกฎ ใครมาว่าคนกินมังสวิรัติ เราก็ทุกข์ ทั้งหมดนี่เป็นอาการอยากเสพสิ่งที่ดีจากคนอื่น เกิดดีสมใจจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีสมใจก็เป็นทุกข์

ถ้ามาถึงตรงนี้ต้อง พิจารณาความจริง ตามความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง “ความยึดมั่นถือมั่น”  คือ ให้เมตตาขยายไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส การที่เขายังเสพติดเนื้อสัตว์เพราะเขายังมีกิเลส เหมือนอย่างที่เราเคยมีเมื่อก่อน เขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้กิเลสอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ให้เข้าใจว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่สัตว์เหล่านั้นถูกฆ่าเพื่อกินก็เป็นกรรมที่พวกเขาทำมาเอง ถ้าพวกเขาไม่เคยเบียดเบียนก็ไม่มีทางที่จะถูกเบียดเบียน เราไปห้ามกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน ”ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้ทำมา สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่เขาทำมาแล้วทั้งนั้น” เป็นสัจจะที่ใช้พิจารณาความจริงได้ตลอดกาล

หากชาวมังสวิรัติมีโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมังสวิรัติ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ไม่ต้องใส่ความโกรธ ใส่การเปรียบเทียบ ใส่การยกตนข่มคนอื่น ใส่ความยึดดีถือดีลงไป เพราะแม้เราจะเป็นกินมังสวิรัติได้อย่างบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถเมตตาคนอื่นได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะปล่อยคำพูดที่เหน็บแนม ดูถูก เหยียดหยัน ประณาม กดดัน ฯลฯ ซึ่งก็คงยากที่จะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มได้ เพราะการสื่อสารที่มีอัตตาปน ผู้รับฟังจะสามารถรู้สึกได้ เช่น ไม่ระรื่นหู ไม่สบายใจที่จะฟัง ฟังแล้วอึดอัด กดดัน ฯลฯ แม้โดยรวมจะดูเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คำพูดสวยหรู เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเหตุทำให้การสื่อสารเหล่านั้นไร้ประสิทธิผลคือ เขาก็พูดดีนะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับฟัง

เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุปัจจัยของการเกิดสิ่งต่างๆด้วยปัญญาแล้ว จึงจะสามารถปล่อยวางความอยากเสพและความยึดดี ถือดี ทั้งหมดได้ กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สื่อสารด้วยเมตตา ไม่มีอัตตาปน มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย มีมุทิตาจิตได้ในทุกๆสถานการณ์ เมื่อได้ทำดีอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลอาจจะไม่เกิดดีตามที่ทำก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างด้วยใจที่เป็นสุข

คำว่า “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “วางเฉย” ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการนำเสนอประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกินมังสวิรัติแก่เพื่อนมนุษย์ แต่หมายถึง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ว่าดีต้องเกิด เกิดดีจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีแล้วทุกข์ งานเผยแพร่ข้อมูลมังสวิรัตินั้นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ในงานนั้นหายไป เพราะชาวมังสวิรัติได้กำจัดอัตตา คือความยึดดี ถือดี อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสสิ้นไปแล้ว

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ค้ำจุนโลก

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมวิหาร ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งความผาสุกที่ควรสร้าง พัฒนา ขยายขอบเขตให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป