Tag: อัตตา

ส้มตำหมู่บ้าน

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,312 views 0

ส้มตำหมู่บ้าน

ส้มตำหมู่บ้าน : กินในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากตัวเมือง เรียกว่าชนบทก็ได้ จานนี้ 20 บาทเท่านั้น

กว่าจะได้ส้มตำธรรมดานี้มา ต้องใช้เวลาให้แม่ค้าเรียนรู้มากอยู่เหมือนกัน ก็คงไม่ยากถ้าเราไม่รู้จักกัน แต่พอดีเป็นคนในพื้นที่ก็เลยให้เวลาเขาปรับตัวกับวิธีการกินของเราหน่อย

ไปสั่งครั้งที่ ๑ สั่งส้มตำไทย ไม่ใส่กุ้งแห้ง ได้ตำไทย ใส่ปูและปลาร้ามา เพราะคนที่นั่นเขาเข้าใจว่าใส่แบบนั้นจึงอร่อย นั่นคือส้มตำไทยของเขา ไม่ได้เข้าใจเหมือนกันกับเรา

ไปสั่งครั้งที่ ๒ บอกว่าไม่ใส่ปูและปลาร้า ระยะนี้แม่ค้าเริ่มกังวลถึงความอร่อยไม่อร่อยเพราะปกติของเขาคือต้องใส่ปูและปลาร้าจึงจะอร่อย เราก็ยืนยันว่าปกติเราไม่กินนะ ไม่อร่อยก็ไม่เป็นไร เอาถั่วเยอะๆแทนก็ได้ แล้วก็ได้ส้มตำไทยมา แต่ยังติดที่เผ็ดจัดจ้านตามรสมือของแม่ค้า

ไปสั่งครั้งที่ ๓ ขอลดพริกลงมาเหลือไม่กี่เม็ด เพราะกินเผ็ดอย่างชาวบ้านเขาไม่ค่อยได้

ครั้งต่อไปยังไม่มี แต่คิดว่าจะไปสั่งแบบไม่ใส่น้ำปลา หรือไม่ก็ให้ตัวเลือกเขาใส่เกลือแทนให้เรา เดี๋ยวค่อยๆลองดู ต้องใจเย็นๆ ปรับพฤติกรรมแม่ค้าไปพร้อมๆกับการลดอัตตาตัวตนของเรา

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

July 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,709 views 0

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตา เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบายและอบอุ่นไปทั้งใจเมื่อได้รับ มีคุณค่ามากมายเมื่อเมตตาได้งอกงามและเจริญในจิตใจ ชาวมังสวิรัติมักจะใช้เมตตาเป็นตัวนำในการพาตัวเองไปสู่ชีวิตมังสวิรัติ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ลด ละ เลิก การเบียดเบียนได้

เมตตากับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัติ

เมตตา สำหรับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้น การที่เราจะพัฒนาเมตตาได้นั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสัตว์ที่มาเป็นอาหารของเรานั้น เกิดมาทำไม ใช้ชีวิตแบบใด และจากโลกนี้ไปอย่างไร มีสื่อมากมายที่ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตเหล่านั้น หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยรับรู้ข้อมูล แต่เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกสงสาร เห็นใจ สลด หดหู่ ฯลฯ ใจที่มีเมตตาจะเริ่มเจริญงอกงามขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อรู้สึกสงสารแล้วก็เริ่มอยากจะช่วยเหลือ เริ่มที่จะรู้สึกว่าไม่อยากเบียดเบียน จึงเริ่มสนใจเข้าสู่การกินมังสวิรัติ อันคือ “ความกรุณา

ผู้คนมากมาย ที่รับรู้ความโหดร้าย ความทรมานในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตเมตตา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดกรุณา คือลงมือทำเพื่อลดการเบียดเบียน เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองมาสู่การ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ มาลดเนื้อกินผัก การจะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้น จำเป็นต้องมีเมตตาและกรุณาที่มีกำลังมากพอที่จะไปตัดความอยากเสพเนื้อสัตว์

ความอยากเสพ คือ ความหลงติด หลงยึด หลงผิดไปว่า ถ้าฉันได้สิ่งนี้มาฉันจะมีความสุข ถ้าฉันได้กินฉันจะอร่อย ทั้งหมดนี้คือ “ กิเลส ” ที่สร้างความสุขลวง สร้างรสอร่อยขึ้นมา การออกจากสภาพติดยึดเหล่านี้ต้องใช้เมตตาและกรุณา คือความรักความเห็นใจต่อสัตว์โลก และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเบียดเบียนชีวิตของเขา และยังใช้ความเกลียดสิ่งที่ชั่ว อันคือความโหดร้าย ทารุณ การเบียดเบียนต่างๆ เข้ามาเสริมความยึดดีในจิตใจเพื่อการออกจากนรกของการเสพ

การจะก้าวเข้าสู่ชีวิตนักมังสวิรัติได้ จำเป็นต้องใช้ “ความพยายาม ” มากกว่าการเจริญเมตตาและกรุณา คือต้องพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย จากการไปเสพเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งพิจารณาประโยชน์จากการเลิกเสพเนื้อสัตว์ ในด้านสุขภาพ การเงิน เวลา สังคม กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และพิจารณาหลักธรรมข้ออื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ ความเป็นทุกข์จากการเสพหรือไม่ได้เสพเนื้อสัตว์ ความไม่มีตัวตนแก่นสารสาระแท้ใดๆในการเสพเนื้อสัตว์ ก็จะสามารถทำให้ผู้กินมังสวิรัติมือใหม่ พัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุขและยั่งยืนได้

เมื่อพัฒนาจนเต็มที่จะพบว่า แม้จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีความสุขจากการเสพเหมือนเดิม ความอร่อยจากเนื้อสัตว์ที่เคยมีจะหายไป เหลือแต่ความอร่อยจากรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่จะได้ความสุขจากการไม่เสพขึ้นมาแทน  นักมังสวิรัติที่ไม่สามารถลด ละ เลิก ความอยากเสพ หรือ กามสุขลิกะ อันคือความสุดโต่งไปในด้านของการเสพ (กิเลสในมุมเสพวัตถุ) จะไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ยั่งยืน แม้จะกินมานาน 30-40 ปี ก็มีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อยู่ เพราะความอยากยังไม่ตาย กิเลสที่มีจะแค่ถูกกดข่ม ถูกลืมไป แต่กิเลสจะแอบพัฒนาตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ และส่งผลออกมาในภายหลัง ในลักษณะที่เรียกว่า “ตบะแตก

ดังนั้นจำนวนปีหรือช่วงเวลาที่ลด ละ เลิก ได้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าเราจะออกจาก ความอยากเสพได้ หากเรามุ่งเป้าหมายว่าจะเมตตาสัตว์โลก ลดการเบียดเบียน ความอยากเสพเป็นรากของกิเลสที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเป็นตัวอย่างของนักมังสวิรัติที่ไม่ดี ปากก็บอกคนอื่นว่ากินมังสวิรัติ แต่แล้วเวลาเผลอก็แอบไปกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ก็กดข่มจนสุดท้ายก็ตบะแตกไปกินเนื้อสัตว์ จึงเกิดมีคำถามจากผู้คนทั่วไปว่ากินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร? กินแล้วทรมานจากความอยากแล้วมันดีอย่างไร? แล้วชาวมังสวิรัติจะตอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ลดความอยากยังไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน และค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง ” ดังนั้นนักมังสวิรัติ พึงระวังไว้ด้วยว่าเรานี่แหละคือตัวอย่างของคนกินมังสวิรัติ แม้เราจะไม่ได้บอกใครว่ากินมังสวิรัติดีอย่างไร แต่เขาจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตวิถีชีวิตของเรา คือ การสอนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากสอน

 

เมตตาสำหรับนักมังสวิรัติ

ชาวมังสวิรัติที่สามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด แม้จะต้องไปอยู่ที่ต่างถิ่น ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถรักษาศีลไว้ได้ไม่ขาด มีศิลปะในการเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ หรือผู้ผ่านด่านความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว มีเมตตากรุณากับเหล่าสัตว์ผู้ที่เคยเป็นอาหาร มีความสุขแม้ว่าจะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เหมือนอย่างเคย

แต่ก็มักจะมาติดนรกอีกตัวคือ ความยึดดี ถือดี …เมื่อเมตตาไม่ได้เจริญครอบคลุมไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนที่เขายังไม่เข้าใจถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการเบียดเบียนชีวิตอื่น ก็มักจะไปเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าจิตใจไม่ดี ไม่เมตตา ไม่กรุณา ต่างๆนาๆ จนทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์

ลักษณะอาการ คือ เมื่อเห็นคนกินมังสวิรัติก็จะยินดี ดีใจ มีจิตมุทิตากับเขาได้โดยมีแต่ความสุข แต่เมื่อเห็นคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่เห็นคนที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ กลับไม่สามารถที่จะทำใจให้ยินดีกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ได้ จึงยินร้าย ขุ่นมัว ไม่พอใจ เพ่งโทษ ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็อาจจะมีคำพูด ลีลาท่าทาง หรือการสื่อสารที่แสดงอาการไม่พอใจออกมา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนติดดี ยึดดี ถือดี เป็น “นรกของคนดี” เป็นคนดีที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะมีแต่ความกดดัน จึงเป็นคนดีที่ไม่มีใครต้องการ สะสมแต่ “อัตตา” พอกพูนจนเกิดความทุกข์ทั้งตนเองและคนอื่น

เราใช้ อัตตา หรือการยึดดี ถือดี ในการก้าวข้าม ความอยากเสพเนื้อสัตว์มา แต่ในตอนสุดท้ายก็ต้องทำลายอัตตา คือความยึดดี ถือดี เหล่านั้นทิ้งด้วย “ อุเบกขา ” หรือการปล่อยวาง

เมื่อเรามีอัตตา เราจะอยากเสพดีจากคนอื่น คือ แต่ก่อนเราเคยอยากเสพเนื้อสัตว์ แต่พอหลุดจากการเสพเนื้อสัตว์ เราก็มาติดดี หลงว่าต้องเลิกเสพเนื้อสัตว์จึงจะดี จึงกลายเป็นอยากให้คนอื่นทำดีอย่างเรา ทำอย่างที่ใจเราคิด ทำอย่างที่เราทำได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ใครทำผิดกฎ ใครมาว่าคนกินมังสวิรัติ เราก็ทุกข์ ทั้งหมดนี่เป็นอาการอยากเสพสิ่งที่ดีจากคนอื่น เกิดดีสมใจจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีสมใจก็เป็นทุกข์

ถ้ามาถึงตรงนี้ต้อง พิจารณาความจริง ตามความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง “ความยึดมั่นถือมั่น”  คือ ให้เมตตาขยายไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส การที่เขายังเสพติดเนื้อสัตว์เพราะเขายังมีกิเลส เหมือนอย่างที่เราเคยมีเมื่อก่อน เขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้กิเลสอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ให้เข้าใจว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่สัตว์เหล่านั้นถูกฆ่าเพื่อกินก็เป็นกรรมที่พวกเขาทำมาเอง ถ้าพวกเขาไม่เคยเบียดเบียนก็ไม่มีทางที่จะถูกเบียดเบียน เราไปห้ามกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน ”ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้ทำมา สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่เขาทำมาแล้วทั้งนั้น” เป็นสัจจะที่ใช้พิจารณาความจริงได้ตลอดกาล

หากชาวมังสวิรัติมีโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมังสวิรัติ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ไม่ต้องใส่ความโกรธ ใส่การเปรียบเทียบ ใส่การยกตนข่มคนอื่น ใส่ความยึดดีถือดีลงไป เพราะแม้เราจะเป็นกินมังสวิรัติได้อย่างบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถเมตตาคนอื่นได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะปล่อยคำพูดที่เหน็บแนม ดูถูก เหยียดหยัน ประณาม กดดัน ฯลฯ ซึ่งก็คงยากที่จะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มได้ เพราะการสื่อสารที่มีอัตตาปน ผู้รับฟังจะสามารถรู้สึกได้ เช่น ไม่ระรื่นหู ไม่สบายใจที่จะฟัง ฟังแล้วอึดอัด กดดัน ฯลฯ แม้โดยรวมจะดูเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คำพูดสวยหรู เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเหตุทำให้การสื่อสารเหล่านั้นไร้ประสิทธิผลคือ เขาก็พูดดีนะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับฟัง

เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุปัจจัยของการเกิดสิ่งต่างๆด้วยปัญญาแล้ว จึงจะสามารถปล่อยวางความอยากเสพและความยึดดี ถือดี ทั้งหมดได้ กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สื่อสารด้วยเมตตา ไม่มีอัตตาปน มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย มีมุทิตาจิตได้ในทุกๆสถานการณ์ เมื่อได้ทำดีอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลอาจจะไม่เกิดดีตามที่ทำก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างด้วยใจที่เป็นสุข

คำว่า “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “วางเฉย” ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการนำเสนอประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกินมังสวิรัติแก่เพื่อนมนุษย์ แต่หมายถึง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ว่าดีต้องเกิด เกิดดีจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีแล้วทุกข์ งานเผยแพร่ข้อมูลมังสวิรัตินั้นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ในงานนั้นหายไป เพราะชาวมังสวิรัติได้กำจัดอัตตา คือความยึดดี ถือดี อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสสิ้นไปแล้ว

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ค้ำจุนโลก

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมวิหาร ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งความผาสุกที่ควรสร้าง พัฒนา ขยายขอบเขตให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป

ประสบการณ์กินมังสวิรัติ ที่ร้านอาหารญี่ปุ่น และการตอบคำถามเรื่องมังสวิรัติกับสังคม

July 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,682 views 0

ประสบการณ์กินมังสวิรัติ ที่ร้านอาหารญี่ปุ่น และการตอบคำถามเรื่องมังสวิรัติกับสังคม

วันก่อนมีนัดรวมญาติ เขาก็นัดเลี้ยงกันที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ชาวมังสวิรัติอย่างเราก็ไปด้วย เพราะการเข้าสังคมเป็นเรื่องสำคัญแต่การปรับตัวอยู่ในสังคมให้เกือบจะกลมกลืนสำคัญกว่า สำหรับครั้งนี้ พอจะมีเมนูในใจจากที่เคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง

ไปถึงร้านก่อนญาติสักหน่อย จองโต๊ะไว้ก่อน ใช้เวลาสำรวจเมนูอาหารสักพัก เวลาสั่งจะได้คล่อง ทบทวนให้ดีว่าจะกินอะไร เท่าไหร่ ถึงจะอิ่มพอดี ไม่หิวโหย ไม่ลำบากตัวเองจนต้องไปหากินเพิ่ม หรือกินอิ่มเกินไปจนเดินไม่ได้

เมนูแรกๆที่สั่งเลยคือหน่อไม้ฝรั่งผัด เมนูแบบบ้านๆ ใครคิดไม่ออกว่าจะกินอะไร ก็สั่งมากินก็ได้ ไม่ต่างกับผัดกินเองที่บ้านเท่าไหร่ ส่วนข้าว กับเครื่องเคียงนั้น ให้น้องที่สั่งอาหารอื่นๆที่สามารถรับเพิ่มเป็นชุด เอาชุดเครื่องเคียงมาด้วย ก็จะมีข้าว เต้าหู้ ซุปมิโซะ กิมจิ อะไรอีกสักอย่างสองอย่างนี่แหละ ของพวกนี้กินได้และทำให้อิ่มได้ด้วย

พอเริ่มมีคนมา มีคนช่วยกิน เราก็จะสั่งเพิ่ม ให้ญาติๆได้ลองชิมกันดูด้วย เมนูซ้ายบน คือ สเต็กเต้าหู้ กินง่ายราคาไม่แพงจำได้ว่าไม่ถึงร้อย มีเต้าหู้ เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง และต้นหอมหั่นโรยพองาม

ด้านขวาบนเป็น เต้าหู้ห่อข้าว (อินาริซูชิ) ร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมีขาย เมนูนี้เอาไว้เวลาหิวๆ อัดข้าวเข้าไป อิ่มไวดี จิ้มโชยุกับวาซาบิ ได้ตามที่ชอบ

ซ้ายล่างจะเป็นสลัดเห็ด มีเห็ดประมาณ 3 ชนิด กับผักสลัด เอามากินรองท้อง หรือเพื่อเพิ่มผักในมื้อนั้นๆ ก็ดีเหมือนกัน ในกรณีที่เราสั่งกินแต่ข้าว แล้วเกรงว่าจะมีแต่คาร์โบไฮเดรต จานนี้ก็อร่อย กินง่าย จะสลัดใส่อะไรก็เหมือนๆกัน ทุกอย่างจะถูกกลบด้วยรสของน้ำสลัดหมดเลยจานนี้น่าจะแพงสุดในเมนูมังสวิรัติที่สั่งมาในรอบนี้ ราวๆ ร้อยห้าสิบบาท

ขวาล่างจะเป็น ไข่หวานย่าง สำหรับคนที่ยังกินไข่อยู่ เมนูนี้เป็นอะไรที่กินง่าย หลายๆคนชอบ เพราะหวาน… กินกับข้าวก็ได้ กินเล่นก็ได้ ไม่แพงอีกเหมือนกัน เมนูเกี่ยวกับไข่หวานยังมีอีก เช่น ข้าวปั้นหน้าไข่หวาน

ด้านซ้ายบน เป็นยำสาหร่าย ใครชอบก็สามารถสั่งมาเป็นถ้วยๆ ราคาพอๆกับสเต็กเต้าหู้เลย แต่ถ้าชอบรูปแบบซูชิ ก็สามารถสั่ง ข้าวปั้นหน้ายำสาหร่าย แบบในรูปด้านขวาบนได้ มีขิงดองเป็นเครื่องเคียงแก้เลี่ยนได้เหมือนกัน สองคำก็ประมาณเกือบครึ่งร้อย

ถ้าเราไม่อยากกินข้าว หรือเบื่อข้าวปั้น เราก็สามารถเปลี่ยนมากินโซบะได้ อย่างในรูปด้านซ้ายล่างจะเป็นโซบะเย็น ที่เอาเส้นไปจุ่มน้ำซอสที่ผสมไปด้วย ต้นหอม วาซาบิ และใครชอบไข่นกกระทาก็ใส่ไปด้วยได้ เมนูนี้จำได้ว่า 100 บาท ถ้าสั่งมากินเดี่ยวๆก็ง่ายดี นั่งคุยกันไป กินโซบะไป เพลินกันไป

ส่วนขวาล่างนั้นคือเรือที่เต็มไปด้วยปลาดิบ อันนี้เอามาให้ศึกษากันว่า เราจะทำอย่างไรให้กลมกลืน ให้คนอื่นไม่ลำบากใจ ในกรณีที่ได้สังเกตและทดลอง เราสามารถกินยำสาหร่ายได้ กินหัวไชเท้าและแครอทฝอยๆได้ กินผักประดับได้ รสชาติจะคล้ายๆ สะระแหน่  เราสามารถมีส่วนร่วมไปได้โดยไม่ต้องไปกินแบบเขา แค่เรากินแบบของเราไปก็พอ

เมนูมังสวิรัติ ร้านอาหารญี่ปุ่น

4 เมนูด้านบนนี้ไปกินอีกที ที่ร้านเดิม แต่มีเมนูใหม่ ลำดับแรกด้านซ้ายบนคือ เส้นชิราตากิผัด  (80 บาท ) มีเส้นอารมณ์ประมาณเส้นบุก ผัดกับเห็ด และพริกหวาน ได้เยอะเหมือนกัน ราคาก็ไม่แพง

ขวาบนคือ ข้าวห่อสาหร่ายเต้าหู้ใส่ผัก ( 150 บาท ) แต่ละคำชิ้นใหญ่พอสมควร เป็นข้าวห่อสาหร่ายที่ชาวมังสวิรัติกินได้อย่างสบายใจเพราะมีแต่ผัก ราคาอาจจะสูงไปนิดเมื่อเทียบกับวัตถุดิบ แต่ถ้าคิดอะไรไม่ออกลองสั่งมากินเล่นก็ได้ น่าจะทำให้อิ่มได้เลย

ซ้ายล่าง คือ เห็ดออรินจิผัด ราวๆ 80-90 บาท จำไม่ได้ สั่งมากินขำๆได้ รู้สึกจะผัดน้ำมันหอย ก็แล้วแต่ใครจะพิจารณา แต่เมนูเห็ดแบบนี้ผัดกินเองที่บ้านก็อร่อยไม่แพ้กันเลยทีเดียว มานอกสถานที่เราก็มาลองของเขาบ้าง

ขวาล่าง คือ เต้าหู้ผัดเห็ด ( 110 บาท ) เป็นเต้าหู้อ่อน ที่เอาไปทอด? จนผิวแข็งๆ ทำให้กรอบพอดี ผัดกับเห็ดสองถึงสามชนิด ไม่แน่ใจ ใส่พริกหวานด้วย รสไม่จัดนัก กินกับข้าวน่าจะดี

มีเมนูอาหารที่ชาวมังสวิรัติสามารถกินได้ ที่ไม่ได้สั่งมาอีกเหมือนกัน เช่นพวก ชาบูเห็ด เทมปุระผัก ฯลฯ ใครมีโอกาสก็ลองกันได้…

การตอบคำถามเรื่องมังสวิรัติกับสังคม

ชาวมังสวิรัติต้องหัดมองประโยชน์ของสิ่งต่างๆให้เห็น หาทางออกของสถานการณ์ต่างๆให้ได้ เมื่อพบปะผู้คนที่หลากหลาย จะมีคำถามมากมายว่าทำไมเราถึงกินมังสวิรัติ,จะขาดสารอาหารไหม,จะแข็งแรงไหม,จะมีแรงทำงานไหม ฯลฯ คำตอบของเราสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนคนที่กินมังสวิรัติได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกพูดสิ่งไหน

ถ้าเราเลือกจะพูดในสิ่งดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ ขยายความในส่วนที่เขาสงสัย ให้เหมาะกับพื้นฐานความรู้ของเขา เขาก็อาจจะเห็นข้อดีของการกินมังสวิรัติ หรือจนกระทั่งสนใจมากินมังสวิรัติกับเราเลยก็ได้

แต่ถ้าเราเลือกพูดในเชิงไม่ดี การพูดข่มคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ การที่เรายังติดว่าต้องทำดี เรายังมีอัตตา ยังไม่เข้าใจว่าจริงๆ เขาเหล่านั้นยังไม่ได้รู้ทุกข์ โทษ ภัย ของการเบียดเบียน เขาไม่รู้ผลเสียของการมีกิเลสนี้ว่าเป็นอย่างไร เราก็อาจจะรีบไปยัดความรู้ บีบคั้น กดดัน พยายามให้เขาหันมา เห็นดี เห็นควร หรือมากินมังสวิรัติกับเรา ทั้งๆที่เขายังไม่มีความสนใจ ความรู้ ความเข้าใจ และยังไม่เต็มใจที่จะทดลองกินมังสวิรัติ  ถ้าเรายังฝืนพูดไป ก็อาจจะทำให้คนที่ฟังเข็ดขยาดกับมังสวิรัติก็ได้ เพราะฟังทีไรก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชั่ว

จริงอยู่ที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งไม่ดี แต่คนเราก็มักจะยอมรับมันไม่ได้ เพราะกิเลสนั้นหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาเหล่านั้นไปแล้ว การจะไปบอกว่ามันไม่ดี ไปดึงเขาออกมาทันทีนั้น ไม่สามารถที่จะทำได้ เราต้องค่อยๆทยอยให้ข้อมูล ที่ย่อย บด ละเอียด คัดสรร อย่างดีแล้วให้กับเขา เหมือนการป้อนอาหารให้เด็กอ่อน ก็ต้องบดเอาสิ่งที่มีคุณค่าพร้อมทั้งทำให้กินง่ายรวมไปในเวลาเดียวกันป้อนให้กับเขาแล้ววันหนึ่งที่เขาเห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติอย่างเต็มที่ เขาจะสนใจที่จะหันมากินเอง

การพูดของเราสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้มากมาย ในขณะเดียวกันก็สามารถทำลายสิ่งที่งดงามลงไปได้ในพริบตา การพิจารณาเลือกพูดสิ่งใด เลือกใช้ความรู้ใดๆ มาพูดจำเป็นต้องมีสติและปัญญาเป็นแก่นและสอดร้อยไปด้วยเมตตาในทุกๆคำพูดของเรา