Tag: เรียนรู้

ส้มตำหมู่บ้าน

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,312 views 0

ส้มตำหมู่บ้าน

ส้มตำหมู่บ้าน : กินในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากตัวเมือง เรียกว่าชนบทก็ได้ จานนี้ 20 บาทเท่านั้น

กว่าจะได้ส้มตำธรรมดานี้มา ต้องใช้เวลาให้แม่ค้าเรียนรู้มากอยู่เหมือนกัน ก็คงไม่ยากถ้าเราไม่รู้จักกัน แต่พอดีเป็นคนในพื้นที่ก็เลยให้เวลาเขาปรับตัวกับวิธีการกินของเราหน่อย

ไปสั่งครั้งที่ ๑ สั่งส้มตำไทย ไม่ใส่กุ้งแห้ง ได้ตำไทย ใส่ปูและปลาร้ามา เพราะคนที่นั่นเขาเข้าใจว่าใส่แบบนั้นจึงอร่อย นั่นคือส้มตำไทยของเขา ไม่ได้เข้าใจเหมือนกันกับเรา

ไปสั่งครั้งที่ ๒ บอกว่าไม่ใส่ปูและปลาร้า ระยะนี้แม่ค้าเริ่มกังวลถึงความอร่อยไม่อร่อยเพราะปกติของเขาคือต้องใส่ปูและปลาร้าจึงจะอร่อย เราก็ยืนยันว่าปกติเราไม่กินนะ ไม่อร่อยก็ไม่เป็นไร เอาถั่วเยอะๆแทนก็ได้ แล้วก็ได้ส้มตำไทยมา แต่ยังติดที่เผ็ดจัดจ้านตามรสมือของแม่ค้า

ไปสั่งครั้งที่ ๓ ขอลดพริกลงมาเหลือไม่กี่เม็ด เพราะกินเผ็ดอย่างชาวบ้านเขาไม่ค่อยได้

ครั้งต่อไปยังไม่มี แต่คิดว่าจะไปสั่งแบบไม่ใส่น้ำปลา หรือไม่ก็ให้ตัวเลือกเขาใส่เกลือแทนให้เรา เดี๋ยวค่อยๆลองดู ต้องใจเย็นๆ ปรับพฤติกรรมแม่ค้าไปพร้อมๆกับการลดอัตตาตัวตนของเรา

มังเขี่ย

July 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,566 views 0

มังเขี่ย

การใช้ชีวิตมังสวิรัติในสังคมปัจจุบันนั้น เราอาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการกินมังสวิรัติสักเท่าไรนัก คงมีหลายครั้งที่เราต้องเข้าไปร่วมโต๊ะอาหารกับผู้ที่ไม่ได้กินมังสวิรัติ จะทำอย่างไรให้เรากินมังสวิรัติได้อย่างสบายใจ ไม่เบียดเบียนทั้งตัวเอง ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ไม่ทำให้คนอื่นลำบากใจ

มังเขี่ย คือกลยุทธ์หนึ่งในการกินมังสวิรัติ เมื่อเราต้องกินอาหารร่วมโต๊ะกับผู้คนที่หลากหลาย ก็ย่อมมีอาหารที่หลากหลายตามไปด้วยมีทั้งเนื้อสัตว์ทั้งผักปนเปกันไป เมื่อเห็นเช่นนั้น เราจึงใช้การกินมังสวิรัติแบบเขี่ย คือเขี่ยเอาเนื้อสัตว์ออกไป และเขี่ยผักเข้ามา เมื่อเรามีจิตใจที่ตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติ เราย่อมไม่หวั่นไหวต่อเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า ยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์และพยายามเอาตัวรอดโดยการกินแต่ผัก

และแม้ว่าอาหารที่เราสั่งนั้นจะมีเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบร่วม เราก็สามารถเขี่ยเนื้อออกไป โดยยกให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่ยังกินเนื้ออยู่ หรือจะเลือกละเว้นไว้ก็ได้ ถ้าให้ดีที่สุดก็เลือกที่จะสั่งอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ และถึงแม้เราว่าจะไม่กินเนื้อเหล่านั้น สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นอาหารของใครสักคนแน่ๆ ถึงไม่ใช่ใครสักคนก็อาจจะเป็นสัตว์สักตัว หรือไม่ก็กลายเป็นอาหารจุลินทรีย์ไป ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ยังยินดี ที่เราจะไม่ไปเสพผลของการเบียดเบียน ซึ่งจะกลับกลายมาเป็นวิบากกรรมของเราเองในวันใดวันหนึ่ง

มังเขี่ย ในอีกนัยหนึ่ง คือการเขี่ยเนื้อออกไปจากชีวิต และเขี่ยผักเข้ามาในชีวิต เราเลิกที่จะต้อนรับเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ไปโดยลำดับ เริ่มเรียนรู้การทดแทนอาหารต่างๆด้วยพืชผัก จนกระทั่งเราสามารถที่จะดำรงชีวิตด้วยพืชผักได้อย่างลงตัว มีความสุขกาย เบากาย มีกำลัง มีความยินดีในการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์และการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นโดยไม่มีความโหยหา คิดถึง ในเนื้อสัตว์ที่เคยยึดติดอีกต่อไป

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มังเขี่ยนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายอย่างใจคิด ทุกครั้งที่เราจะเขี่ยเนื้อออกไป เขี่ยผักเข้ามา เราต้องสู้กับกิเลสที่เราผูกมานานแสนนาน เรากินเนื้อสัตว์มาทั้งชีวิต โตขึ้นมาก็เพราะกินเนื้อสัตว์ ความทรงจำในชีวิตมีแต่เนื้อสัตว์ หิวทีไรก็นึกถึงแต่เนื้อสัตว์ ดังนั้นในทุกๆคำที่เราจะเขี่ยผักเข้ามาแทนที่เนื้อ เราต้องสู้กับกิเลสของเราอย่างแน่นอน จะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ไม่เป็นไร ให้เราตั้งใจพิจารณาโทษของการกินเนื้อ ความทุกข์ โรค ภัยที่เกิดกับร่างกายของเรา กรรมชั่วที่เราจะได้รับจากการมีส่วนเบียดเบียนในชีวิตอื่น จนกระทั่งวันหนึ่งเราเข้าใจถ่องแท้แล้วว่าการกินมังสวิรัตินี่แหละดีที่สุด วันนั้นเราจึงจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องโหยหาเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์อีกต่อไป

คนที่กินมังสวิรัติหลายๆคน ต่างก็เคยเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์ เคยเสพติดความอร่อยจากเนื้อสัตว์ ชีวิตประจำวันมีแต่อาหารที่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ แต่ทำไมวันนี้พวกเขาเหล่านั้นกลับเลือกที่จะเขี่ยเนื้อสัตว์ออกจากชีวิต และหันมาเขี่ยผักเข้าปากแทน มันน่าสนใจไหม ว่าทำไมเขาถึงยอมทิ้งสิ่งที่เคยคิดว่าดี คิดว่าสุขเหล่านั้น หรือเป็นเพราะว่า พวกเขาเจอสิ่งที่ดีกว่า?

มังสวิรัติ ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป

July 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,702 views 0

มังสวิรัติ ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป

การเริ่มต้นคิดจะลองกินมังสวิรัติสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะมีร้านอาหารที่ขายอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารเจอยู่มากมายแต่การที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติอย่างจริงจังนั้นไม่ง่าย เพราะการจะพึ่งพาร้านอาหาร หรือสถานที่ที่เราคุ้นเคยนั้นจะทำให้เราไม่ได้เรียนรู้การปรับตัวเมื่อปัจจัยเปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อต้องเดินทางออกไปในสถานที่ที่ไม่รู้จัก เมื่อต้องทานอาหารร่วมกับผู้อื่น  เป็นต้น

จุดประสงค์หรือปลายทางของผู้ที่คิดจะกินมังสวิรัตินั้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือต้องการจะลดการเบียดเบียนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป หากเราได้มีการวางแผน ลำดับการเรียนรู้และพัฒนาการกินมังสวิรัติของเราให้ได้สมบูรณ์ขึ้นไปเรื่อยๆ  ค่อยๆ ลด ละ เลิก การกินเนื้อสัตว์ไปตามลำดับ โดยที่ไม่บีบบังคับให้ตัวเองเกิดความทุกข์ ทรมานจากความโหยหาอยากกินเนื้อสัตว์จนเกินไป  และไม่เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เป็นประจำอย่างเดิมเพราะทนความอยากไม่ไหว

ถ้าเราไม่เคยเรียนรู้การกินมังสวิรัติ เราอาจจะพบปัญหา กินได้ไม่นานก็เลิก, กินตามคนอื่นเขาไปโดยไม่รู้ว่ามันดีอย่างไร, ทนกินไปเพราะคนอื่นเขาว่ามันดูดี, กินไปก็ไม่มีความสุข, กินไปก็ทรมาน เพราะใจจริงก็ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ สุดท้ายก็กลับไปกินเนื้อสัตว์ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดเลย ถ้าเราพยายามเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก ไปตามลำดับที่เราทำไหว โดยตั้งใจที่จะพัฒนาสู่ความเบียดเบียนที่น้อยลงเรื่อยๆ อย่างมีความสุข

…การเริ่มต้นโดยลำดับ ลด ละ เลิก

ลด…. ผู้ที่สนใจหรือต้องการเริ่มต้นกินมังสวิรัติ ควรจะทดลองลดการกินเนื้อสัตว์ดูก่อน ลดในรูปแบบชนิดของสัตว์ ลดจากสัตว์ใหญ่ไปหาสัตว์เล็ก เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา อาหารทะเล แมลง ไข่ นมสัตว์ เป็นการลดการฆ่าและการเบียดเบียนไปตามลำดับ และเรายังสามารถลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ด้วยก็ได้ เช่น การปรับเปลี่ยนเมนูอาหารสู่การลดการใช้เนื้อสัตว์ เปลี่ยนวัตถุดิบจากเนื้อสัตว์กลายเป็นผัก กินอาหารที่ผสมผักในอัตราส่วนที่มากขึ้น เพิ่มผักในแต่ละมื้อให้มากขึ้น ลดการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลงไป ค่อยๆลดไป จนรู้สึกว่าสามารถทำได้มากกว่า การลด

ละ…. เมื่อมีกำลังใจมากพอ จนรู้สึกว่าสามารถลดการกินเนื้อสัตว์ได้มากแล้ว ให้ลองละเว้นการกินเนื้อสัตว์ เป็นช่วงเวลา เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ในมื้อเย็น, ไม่กินเนื้อสัตว์วันเสาร์อาทิตย์, ไม่กินเนื้อสัตว์สัปดาห์แรกของเดือน, ไม่กินเนื้อสัตว์ในเดือนเกิด, ไม่กินเนื้อสัตว์ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน ในการละนี้ อาจจะละเป็นชนิด เช่น ละเนื้อวัวช่วงเวลาหนึ่ง เนื้อวัวหมูไก่ช่วงเวลาหนึ่ง หรืออาจจะละเว้นการเบียดเบียนใดๆก็ตามในช่วงเวลาหนึ่งก็ได้ ละเท่าที่สามารถทำได้ในขีดที่ไม่ทรมานร่างกายและจิตใจตนเองมากเกินไปจนรู้สึกทุกข์ จนเข็ดขยาดกับการกินอาหารมังสวิรัติ โดยให้เพิ่มช่วงเวลาและชนิดของการละเว้นให้มากขึ้น มากขึ้นจนมั่นใจว่าเราละได้อย่างสบายใจ และรู้สึกยินดีที่ได้ละเว้น

เลิก…. เมื่อเราเรียนรู้ที่จะกินมังสวิรัติได้มากพอที่จะมั่นใจว่า สามารถเลิกได้แล้ว อาจจะมีอารมณ์คิดถึง อยากกินอยู่บ้าง เผลอไปกินอยู่บ้าง ทั้งๆที่ใจนั้นไม่ได้อยากกิน หรืออยากเสพรสในเนื้อสัตว์นั้นแล้ว ก็ให้ตั้งใจที่จะเลิก เลิกกินเนื้อสัตว์นั้นๆไปเลย เลิกให้มันออกจากชีวิตไปเลย ไม่มีการอนุโลมว่าจะไปกินในกรณีใดๆ ใครชวนก็ไม่เอา ให้ฟรีก็ไม่เอา พาไปเลี้ยงแถมเงินให้ก็ไม่เอา แม้คนที่เคารพ มีบุญคุณ มีผลประโยชน์ จะหว่านล้อมให้เรากิน เราก็ไม่กิน

ในด่านของการเลิก เรามักจะเจอเหตุการณ์ที่พาให้เราหลงกลับไปกินได้อยู่บ่อยครั้ง อาจจะเป็นเพราะเรากลัวคนอื่นลำบากใจ กลัวคนนินทา โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องเข้ากลุ่มสังคม หรือแม้กระทั่งในใจลึกๆก็ยังอยากกินอยู่ และเรามักจะใช้เหตุอื่นๆเป็นข้ออ้างในการกลับไปกินเนื้อสัตว์ มีข้ออ้างมากมายทำให้กลับไปกินเนื้อสัตว์ ความคิดที่ว่ากินไปเถอะอย่าคิดมากเลย เริ่มไม่จริงจัง ปล่อยวางก่อนเวลาอันควร กลายเป็นเหยาะแหยะ ครึ่งๆกลางๆ นั่นแหละตัวกิเลส กิเลสคือนักหาเหตุผลที่จะทำให้กลับไปเสพที่เก่งที่สุดในโลก (ของแต่ละคน)  ณ จุดที่ตัดสินใจจะเลิก จะต้องเด็ดขาด จริงจัง ยอมถวายชีวิตกันไปเลย ไหนๆ วัว หมู ไก่ ปลา กุ้ง ปลาหมึก ฯลฯ มันก็เคยตายเพื่อ(กิเลส)เรามาเยอะแล้ว ในครั้งนี้เราจะยอมจริงจังเพื่อมันบ้าง

การ ลด ละ เลิก จะไม่สามารถพัฒนาได้เลย หากขาดการเรียนรู้และพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง การหาข้อมูลเกี่ยวกับมังสวิรัติ ความจริงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ทุกครั้งที่เราคิดจะกินหรือไปกินเนื้อสัตว์มาแล้ว ให้พึงระลึกไว้ว่าเราได้มีส่วนสร้างกรรม อันคือความเบียดเบียนให้แก่สัตว์อื่นแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะเวียนกลับมาเป็น ทุกข์ โทษ ภัยสู่ตัวเราเอง พิจารณาโทษของการกินเนื้อสัตว์ ความไม่สบายร่างกาย อึดอัดแน่นท้อง ปวดเมื่อย โรคภัยไข้เจ็บ พิษและสารเคมีตกค้าง ความสิ้นเปลือง ฯลฯ โดยให้รู้ว่าความอยากกินเนื้อสัตว์มันไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป เราไปหาอะไรกินให้อิ่มเดี๋ยวมันก็จะลืมไปเอง แท้จริงแล้วความอยากในการกินเนื้อสัตว์มันก็ไม่ใช่สาระอะไรของชีวิตเลย ซ้ำยังเป็นเหตุแห่งทุกข์ให้เราเกิดความอยาก จนต้องลำบากหาเนื้อสัตว์มากินอีก ทั้งที่จริงก็ได้มีการพิสูจน์กันมากมายแล้วว่า การกินมังสวิรัติก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างแข็งแรง มีกำลัง เหมือนอย่างคนทั่วไปและที่เหนือกว่าคนทั่วไปก็มี และประโยชน์ในการเปลี่ยนเข้ามาสู่การกินมังสวิรัติ ไม่ว่าจะเป็นความสบายใจ สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ประหยัด บุญและกุศล พยายามหาข้อดี หาประโยชน์ที่ชวนให้เห็นข้อดีตามจริงของการกินมังสวิรัติ หาความรู้กันไปพิจารณาทบทวนกันไปสักวันหนึ่งก็จะเจริญขึ้นเอง

สุดท้าย…. เมื่อเราเลิกได้แล้ว เมื่อเห็นก็รู้สึกว่าไม่อยากกินแล้ว มีโอกาสที่จะได้กิน ก็ยินดีที่จะไม่กินอย่างมีความสุข สบายใจ ไม่โหยหา ไม่เสียดาย ไม่คิดถึง ไม่กังวล ที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์เหล่านั้น แม้จะลองกลับไปทดลองกินก็ไม่ได้เกิดความสุขอย่างที่เคยมีในสมัยยังเสพติดเนื้อสัตว์อีกแล้ว ความสุขจากการเสพมันหายไปจนรู้สึกได้ว่ามันไม่มีอะไรเลย เป็นรสสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีรสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ที่เป็นไปตามการปรุงแต่งธรรมดาของอาหาร กลับกลายเป็นว่าเมื่อไม่กินจะมีความสุขมากกว่า ยินดีที่จะสละเนื้อสัตว์ สละการเบียดเบียนออกไปจะดีกว่าที่ต้องไปกิน เมื่อนั้นแหละ ที่เราได้รางวัลมาแล้ว คือความสุขที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องดีใจหรือเสียใจเมื่อได้เสพหรือไม่ได้เสพอีกต่อไป เป็นอิสระจากความอยากกินเนื้อสัตว์ อย่างแท้จริง

และเราก็สามารถที่จะมองสัตว์เหล่านั้นได้อย่างเต็มตา แม้ว่าจะต้องเห็นภาพพวกมันถูกทรมาน หรือถูกฆ่า ก็ไม่ต้องแบกความรู้สึกละอายต่อบาป เพราะเราเลิกเบียดเบียน ไม่มีส่วนแห่งบาปนั้นอีกต่อไป

จะเห็นได้ว่าการกินมังสวิรัติที่เบียดเบียนน้อยที่สุดนั้นทำได้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินความพยายามของเรา…