Tag: การกินมังสวิรัติ

น้ำซุปกินได้ไหม?

September 8, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,784 views 0

น้ำซุปกินได้ไหม?

น้ำซุปกินได้ไหม?

น้ำซุปกับชาวมังฯ นั้นดูจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ที่หลายคนสงสัยว่ากินได้ไหม? แน่นอนว่าน้ำซุปส่วนมากประกอบด้วยกระดูกสัตว์ และส่วนประกอบอื่นๆของสัตว์ต่างๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เรา “ รู้กันดี ” อยู่แล้ว ดังนั้นหากจะบอกว่ามันเป็นมังสวิรัติไหม ก็คงไม่ แต่ก็ต้องดูรายละเอียดกันหน่อย

การกินมังสวิรัติได้ทันทีนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถลบบาปที่เคยทำมาตั้งแต่อดีตก่อนที่จะมากินมังสวิรัติได้ และน้อยคนนักที่จะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้อย่างเต็มตัวในทันที การกินมังสวิรัตินั้นต้องค่อยๆพัฒนา เหมือนเด็กทารก หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน จนกระทั่งวิ่งได้ ดังนั้นเราจึงมีกระบวนการที่เรียกว่า การลด ละ เลิก คือลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก

ลองจินตนาการดูว่าถ้าทุกคนในบ้าน ชุมชน ประเทศ หรือในโลก เลิกกินเนื้อเป็นชิ้นๆ แล้วอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์จะเป็นอย่างไร? ในเมื่อไม่มีการกินเนื้อเป็นชิ้นๆ แล้วยังจะมีการกินน้ำซุปจากกระดูกอีกหรือ? ในทำนองเดียวกันนั้นเอง เราจึงควรมุ่งเน้นในการลดการเบียดเบียนที่มากเสียก่อน แล้วค่อยมาทำสิ่งที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น คือลดเป็นลำดับๆไป

คนที่ตั้งใจกินมังสวิรัตินั้นเขาอาจจะไม่ได้อยากจะกินเนื้อสัตว์ แต่เพราะติดรสชาติของน้ำซุป หรืออยากมีน้ำซุปบ้าง อาจจะไม่รู้ว่าต้องสั่งอย่างไรบ้าง แต่ถ้าลดเนื้อเหลือแต่น้ำซุป ตรงนี้ก็เป็นการลดในขั้นที่ละเอียดกว่าในรูปแบบของชิ้นเนื้อทั่วไป เนื้อเป็นชิ้นๆเขาไม่กินแล้ว แต่เขายังเลิกบางอย่างไม่ได้เช่น น้ำซุป น้ำปลา กะปิ ไข่ ที่ประกอบอยู่ในอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาก็กำลังเพียรพยายามหาทาง ลด ละ เลิกต่อไป

ทีนี้คนที่มีความคิดในเชิงสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist หรือเรียกง่ายๆ ว่าติดดี ก็จะมีความรู้สึกว่ามันไม่ดี ไม่งาม ไม่สมบูรณ์พร้อม จนตัวเองนั้นเป็นทุกข์เมื่อได้เห็นคนที่บอกว่ากินมังสวิรัติกินน้ำซุปที่ประกอบด้วยกระดูกสัตว์ น้ำปลา กะปิ ไข่ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดนรก คือความเดือดเนื้อร้อนใจในจิตใจของตัวเอง เพราะคิดว่าตนเองทำได้แล้ว คนอื่นเขาจะต้องทำได้เหมือนตนเองมังสวิรัติมันต้องแบบนั้น มันต้องแบบนี้ถึงจะเรียกว่ามังสวิรัติ …สุดท้ายก็ทุกข์ไปคนเดียวนั่นแหละ

ซึ่งในความจริงมันเป็นแบบนั้นไม่ได้ หลายคนไม่ได้มีเหตุปัจจัยเอื้อให้กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์แบบ ทั้งสังคม สภาพแวดล้อม และกิเลสของเขาเอง เขาก็มีกรรมเป็นของเขา แล้วเราไปยุ่งกับเขา เราก็มาทุกข์ อันนี้มันก็หาเรื่องให้ตัวเองปวดหัวกับเรื่องคนอื่นมากเกินไปหน่อย ดังนั้นใครเขาจะลดเนื้อกินผักลีลาไหนก็เรื่องของเขาเถอะ เอาเราให้สมบูรณ์ก็พอ อย่าไปหวังความสมบูรณ์แบบอะไรกับคนอื่นเลย

เพราะจากวันนี้จนถึงวันที่โลกแตกก็ยังมีคนกินเนื้ออยู่ดีนั่นแหละ แล้วเราจะไปเพ่งโทษคนที่เขาพยายามจะลดเนื้อกินผัก หรือไปเพ่งโทษคนที่พยายามจะทำดี แบบนี้ไม่เรียกหาเหาใส่หัวหรือ? เขาพยายามทำดีเท่าที่เขาจะทำได้ก็ดีแล้วนี่ ดีกว่าเขาหันไปกินเนื้อ ไม่สนใจที่จะลด ละ เลิกเลย

ความติดดีนี่แหละ จะทำให้คนหัดกินมังสวิรัติด้วยกันเอือมระอาต่อความสมบูรณ์แบบของเรา กลายเป็นเขาเลิกกินมังสวิรัติเพราะรำคาญความสมบูรณ์แบบที่เขายังไม่พร้อมจะทำ ปล่อยให้คนเก่งอย่างเรากินไปคนเดียว แล้วทีนี้เราทำลายคนที่ตั้งใจจะลดเนื้อกินผักไป มันจะมีค่าอะไร กับแค่คนเก่งคนเดียวที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์แบบจะมีค่าอะไร เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่สามารถทำแค่ลดเนื้อแบบเป็นชิ้นๆได้ ผลรวมมันก็เบียดเบียนน้อยกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้นข้อสรุปที่ว่า น้ำซุปกินได้ไหม? ก็จะให้ความคิดเห็นว่า ถ้ามันลำบากใจ มากอยากกินมาก ก็กินไปเถอะ แต่ก็ให้พิจารณาโทษของมันไปเรื่อยๆ ว่ามีข้อเสียอย่างไร เบียดเบียนอย่างไร ถ้าวันหนึ่งมีกำลังใจ ตั้งใจจะเลิกเบียดเบียน ก็ลอง ลด ละ เลิกไปตามลำดับดู ให้แต่ละคนประมาณเอาเองว่าตัวเองไหวที่ระดับไหน ระดับไหนที่พอทำได้ ระดับไหนที่ฝืน ระดับไหนที่ทรมานมากเกินไป ก็ให้ประมาณกันให้พอดี ให้เหมาะกับพื้นฐานของแต่ละคน

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

July 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,041 views 0

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

เมื่อเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมังสวิรัติ มาลดเนื้อกินผัก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เมนูอาหารที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือกระทั่งสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนก็ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมี แต่เป็นแค่ช่วงเวลาที่สิ่งใหม่ (คือ การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผัก) กับสิ่งเก่า( คือ วิธีชีวิตเดิมของเรา) กำลังปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะพัฒนาเป็นชีวิตใหม่ที่มีความผาสุกยิ่งขึ้น

แต่การเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก สู่ชีวิตมังสวิรัติ หรือลดเนื้อกินผัก นั้นไม่ได้ง่ายขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น อาจจะกลายเป็นความเบียดเบียนตัวเราเองก็ได้

การเบียดเบียนในช่วงที่ยังพยายามลด ละ เลิกเนื้อสัตว์

เราเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ด้วยการไม่ส่งเสริมให้ฆ่า โดยการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ หรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่เมื่อทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะพบว่า ชีวิตเริ่มจะลำบาก รู้สึกว่าทรมาน รู้สึกว่าอยากกินเนื้อสัตว์ รู้สึกว่าเข้าสังคมยาก รู้สึกว่าไม่มีความสุข ในสภาพจิตใจเช่นนี้ จะเริ่มเข้าข่ายการเบียดเบียนตัวเอง“ หากเรายังฝืนทนกับความอยากที่เกินกำลังที่เราสามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งเราก็อาจจะทนได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีอาการตบะแตก หรือเลิกล้ม เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ เข็ดขยาดกับความทรมาน ที่ต้องอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งที่ความอยากเสพนั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

การเบียดเบียนตัวเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความตั้งใจเกินกำลัง ที่เราทำได้จริงเช่น เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งๆที่ยังอยากกินมากยังติดอยู่มาก หรือเลิกกินน้ำปลา น้ำซุป น้ำมันหอย ไข่ เนย ฯลฯ ทั้งๆที่ยังไม่เรียนรู้ที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ให้เรากินได้ ทำให้รู้สึกกดดันตัวเอง หาอะไรกินยาก แม้ว่าเราจะทำได้ ก็ทำได้แค่ระดับฝืนทน กดข่ม ยิ่งอดทนยิ่งทรมาน

ข้อเสียของการกินมังสวิรัติอย่างฝืนทน กดข่มนั้น คือความไม่สดใส ไม่ผ่องใส เครียด ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความสุข ฯลฯ เราควรที่จะกินมังสวิรัติด้วยการเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเห็นเป็นเรื่องดีที่คนนิยม การกินอย่างเข้าใจและมีปัญญาจะช่วยให้เกิดความยินดี พอใจ เต็มใจในการกินมังสวิรัติซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืน

หากขาดความยินดี เต็มใจ พอใจ ที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็อาจจะสามารถกินได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็มักจะล้มเลิกได้ง่าย แม้จะกินไปได้เป็นปี หลายปี แต่ถ้าไม่ได้เห็นและเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติก็อาจจะทำให้ไม่มีแรงใจ ไม่มีกำลังใจมากพอที่จะทำให้สมบูรณ์ได้

และเมื่อล้มเลิกก็จะมีคำถามมากมายจากคนอื่นและในจิตใจของตัวเองว่า กินมังสวิรัติแล้วดีจริงหรือ, ดีแล้วเลิกทำไม ,กินเนื้อสัตว์ไม่ดีแล้วกลับไปกินอีกทำไม เราจะตอบเขาหรือตอบตัวเองไม่ได้เลย หรือแม้จะตอบได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะเราเองก็ไม่รู้ประโยชน์แท้ๆในการกินมังสวิรัติเหมือนกัน เพราะคนที่รู้ประโยชน์แท้จะสามารถตัดเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืน  เพราะมีปัญญาจึงเลิกกินเนื้อสัตว์นั้น ในทางกลับกันเมื่อเราไม่รู้ประโยชน์แท้เราจึงไม่สามารถกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนได้ เราจึงต้องใช้การพิจารณาหาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์ ให้มากและบ่อยยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมความยินดี เต็มใจ พอใจ ให้เรามีแรงมีกำลังในการกินมังสวิรัติมากขึ้นนั่นเอง

การปฏิบัติสู่ชีวิตมังสวิรัติ จะต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าติดเนื้อสัตว์มากก็ให้ลด ติดบ้างก็ให้ละ ติดน้อยก็ให้เลิก โดยให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าลองเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเราจะทรมานจากความอยากเสพมากแค่ไหน ถ้าพอทนได้ก็ให้ตัดใจเลิกไปเลย แต่ถ้าโหยหา หงุดหงิด หิวกระหาย อยากกลับไปเสพ จนเริ่มเครียดมาก ทุกข์มากก็อย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นจนเบียดเบียนตัวเองเลย ให้วางความยึดดี วางความเป็นคนดีลงไปบ้าง แล้วกลับไปเสพเนื้อสัตว์บ้างเพื่อให้หายทรมาน แล้วค่อยกลับมาตั้งใจเริ่มปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาสู้กันใหม่อีกที

เมื่อเรากินมังสวิรัติอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นหนทางสู่การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผักได้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถพัฒนาการ ลด ละ เลิก การเบียดเบียนไปตามลำดับเพื่อพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป

การเบียดเบียนในช่วงที่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาดแล้ว

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลิกการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่กินมังสวิรัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการกินมังสวิรัติมากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกินมังสวิรัติ ซึ่งก็จะเริ่มทำหน้าที่ เผยแพร่คุณค่า ความดีงามของการกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะในสังคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือในสังคมใหญ่ต่างๆ

นั่นก็เพราะเมื่อเราได้รับสิ่งดี ค้นพบสิ่งดี เราก็มักอยากจะให้คนที่เรารัก เราห่วงใย รวมถึงเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนได้รับสิ่งที่ดี ได้รับความสุข ความสบายใจอย่างเราบ้าง เราจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งอาจจะไปกดดัน บีบคั้น ทำให้ผู้อื่นลำบากใจ “กลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในมุมของการยึดดี ถือดี“ เพราะเราอยากเสพเหตุการณ์ที่ว่า ทุกคนจะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้เหมือนเรา ทำดีได้เหมือนเรา โลกจะดีเมื่อทุกคนทำได้เหมือนเรา หากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้ความเข้าใจจากเรา ซึ่งการที่ผู้กินมังสวิรัติเข้าใจและกระทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเป็นความดีเป็นกุศล แต่บางครั้งก็มักจะเกินเลยข้ามเส้นที่เป็นกุศลไปเป็นอกุศล คือเริ่มทำให้เขาลำบากใจเข้าแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติได้โดยใช้องค์ความรู้เดียวกัน หรือเท่ากันเสมอไป เพราะแต่ลดคนมีความยึดติดมากน้อยไม่เท่ากัน เราอาจจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใจเราได้ดี แต่คนอีกกลุ่มหรือกระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเราได้เลย เรามักจะเข้าใจว่าเราทำได้ง่ายๆ ทำไมคนอื่นทำไม่ได้เหมือนเรา เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการเผยแพร่ของเราติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จ คนนั้นคิดไม่เหมือนเรา คนนี้ทำไม่เหมือนเรา เรายึดมั่นถือมั่นว่าการกินมังสวิรัติต้องปฏิบัติแบบเราถึงจะถูก เราจึงเลิกพูดกับคนบางกลุ่มด้วยอาการอึดอัด กดดันตัวเอง ยึดดี ถือดี คิดเอาเองว่าเขาไม่เข้าใจ เราเลยไม่ยินดีที่เขาไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยินดีที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ในตอนนี้เราก็เริ่มจะเข้าไปในขีดของ “การเบียดเบียนตัวเองในมุมของการยึดดี ถือดีแล้ว

เพราะใจจริงของเราก็อยากจะสอน อยากจะบอก อยากจะแนะนำสิ่งดีให้เขานั่นแหละ แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ปล่อยวางความดีเหล่านั้น แต่กลับยังยึดว่าต้องเกิดดีตามที่ตนมุ่งหมาย เอาความผิดพลาดมาคิด เอามาตีตัวเอง หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่นไปด้วย ตรงนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้คนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างดี ยังเกิดความทุกข์ในใจอยู่มาก

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราเองก็เรียนรู้มาแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง เราจึงมีปัญญาแค่ในมุมที่เราเรียนรู้มา ซึ่งก็มีอย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะนำไปใช้แนะนำให้กับคนที่มีกิเลสมากมายหลากหลายได้ทั้งหมด การปล่อยวางความยึดดีถือดี เมื่อเขาเหล่านั้นไม่เอาดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อผลดีไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปยึดดีปล่อยให้เป็นไปตามบาปบุญของเขา เพราะเราได้ทำดีที่สุด คือการแนะนำ อธิบาย บอกกล่าวไปตามความรู้ที่เรามีแล้วเขาจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะเห็นดีหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับกินมังสวิรัติได้อย่างไม่ยึดดีถือดี เราก็จะสามารถเรียนรู้ความอยากที่แตกต่างในแต่ละบุคคลด้วย เพราะเมื่อเราไม่ยึดว่าสิ่งที่เราบอกนั้นจะต้องเกิดดีขึ้นจริง เราจะมีพื้นที่ในใจว่างเผื่อไว้ให้เราใส่ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา เหมือนแก้วน้ำ ที่มีน้ำไม่เต็มแก้วก็จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ด้วย เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบนี้มีความอยากแบบไหน แล้วต่อไปจะต้องหาความรู้แบบใดไปบอก ไปแนะนำเขา เขาถึงจะเข้าใจได้ง่ายตอบคำถามในใจของเขาได้ โดยที่เรามุ่งความสำเร็จองค์รวมมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาความรู้เดิมหรือความรู้แรกที่เราใช้ผ่านการกินมังสวิรัติมาใช้กับทุกคน

และเมื่อเราผ่านการเบียดเบียนทั้งในมุมการเสพเนื้อสัตว์และการเสพดีทั้งหมดแล้ว เราก็จะพบกับความผาสุกที่แท้จริง ยั่งยืน มีความรู้ มีปัญญาเข้าใจคนอื่น ทำให้คำพูด คำแนะนำ คำสอนของเรามีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

July 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,709 views 0

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตา เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบายและอบอุ่นไปทั้งใจเมื่อได้รับ มีคุณค่ามากมายเมื่อเมตตาได้งอกงามและเจริญในจิตใจ ชาวมังสวิรัติมักจะใช้เมตตาเป็นตัวนำในการพาตัวเองไปสู่ชีวิตมังสวิรัติ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ลด ละ เลิก การเบียดเบียนได้

เมตตากับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัติ

เมตตา สำหรับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้น การที่เราจะพัฒนาเมตตาได้นั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสัตว์ที่มาเป็นอาหารของเรานั้น เกิดมาทำไม ใช้ชีวิตแบบใด และจากโลกนี้ไปอย่างไร มีสื่อมากมายที่ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตเหล่านั้น หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยรับรู้ข้อมูล แต่เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกสงสาร เห็นใจ สลด หดหู่ ฯลฯ ใจที่มีเมตตาจะเริ่มเจริญงอกงามขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อรู้สึกสงสารแล้วก็เริ่มอยากจะช่วยเหลือ เริ่มที่จะรู้สึกว่าไม่อยากเบียดเบียน จึงเริ่มสนใจเข้าสู่การกินมังสวิรัติ อันคือ “ความกรุณา

ผู้คนมากมาย ที่รับรู้ความโหดร้าย ความทรมานในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตเมตตา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดกรุณา คือลงมือทำเพื่อลดการเบียดเบียน เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองมาสู่การ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ มาลดเนื้อกินผัก การจะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้น จำเป็นต้องมีเมตตาและกรุณาที่มีกำลังมากพอที่จะไปตัดความอยากเสพเนื้อสัตว์

ความอยากเสพ คือ ความหลงติด หลงยึด หลงผิดไปว่า ถ้าฉันได้สิ่งนี้มาฉันจะมีความสุข ถ้าฉันได้กินฉันจะอร่อย ทั้งหมดนี้คือ “ กิเลส ” ที่สร้างความสุขลวง สร้างรสอร่อยขึ้นมา การออกจากสภาพติดยึดเหล่านี้ต้องใช้เมตตาและกรุณา คือความรักความเห็นใจต่อสัตว์โลก และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเบียดเบียนชีวิตของเขา และยังใช้ความเกลียดสิ่งที่ชั่ว อันคือความโหดร้าย ทารุณ การเบียดเบียนต่างๆ เข้ามาเสริมความยึดดีในจิตใจเพื่อการออกจากนรกของการเสพ

การจะก้าวเข้าสู่ชีวิตนักมังสวิรัติได้ จำเป็นต้องใช้ “ความพยายาม ” มากกว่าการเจริญเมตตาและกรุณา คือต้องพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย จากการไปเสพเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งพิจารณาประโยชน์จากการเลิกเสพเนื้อสัตว์ ในด้านสุขภาพ การเงิน เวลา สังคม กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และพิจารณาหลักธรรมข้ออื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ ความเป็นทุกข์จากการเสพหรือไม่ได้เสพเนื้อสัตว์ ความไม่มีตัวตนแก่นสารสาระแท้ใดๆในการเสพเนื้อสัตว์ ก็จะสามารถทำให้ผู้กินมังสวิรัติมือใหม่ พัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุขและยั่งยืนได้

เมื่อพัฒนาจนเต็มที่จะพบว่า แม้จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีความสุขจากการเสพเหมือนเดิม ความอร่อยจากเนื้อสัตว์ที่เคยมีจะหายไป เหลือแต่ความอร่อยจากรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่จะได้ความสุขจากการไม่เสพขึ้นมาแทน  นักมังสวิรัติที่ไม่สามารถลด ละ เลิก ความอยากเสพ หรือ กามสุขลิกะ อันคือความสุดโต่งไปในด้านของการเสพ (กิเลสในมุมเสพวัตถุ) จะไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ยั่งยืน แม้จะกินมานาน 30-40 ปี ก็มีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อยู่ เพราะความอยากยังไม่ตาย กิเลสที่มีจะแค่ถูกกดข่ม ถูกลืมไป แต่กิเลสจะแอบพัฒนาตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ และส่งผลออกมาในภายหลัง ในลักษณะที่เรียกว่า “ตบะแตก

ดังนั้นจำนวนปีหรือช่วงเวลาที่ลด ละ เลิก ได้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าเราจะออกจาก ความอยากเสพได้ หากเรามุ่งเป้าหมายว่าจะเมตตาสัตว์โลก ลดการเบียดเบียน ความอยากเสพเป็นรากของกิเลสที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเป็นตัวอย่างของนักมังสวิรัติที่ไม่ดี ปากก็บอกคนอื่นว่ากินมังสวิรัติ แต่แล้วเวลาเผลอก็แอบไปกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ก็กดข่มจนสุดท้ายก็ตบะแตกไปกินเนื้อสัตว์ จึงเกิดมีคำถามจากผู้คนทั่วไปว่ากินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร? กินแล้วทรมานจากความอยากแล้วมันดีอย่างไร? แล้วชาวมังสวิรัติจะตอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ลดความอยากยังไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน และค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง ” ดังนั้นนักมังสวิรัติ พึงระวังไว้ด้วยว่าเรานี่แหละคือตัวอย่างของคนกินมังสวิรัติ แม้เราจะไม่ได้บอกใครว่ากินมังสวิรัติดีอย่างไร แต่เขาจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตวิถีชีวิตของเรา คือ การสอนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากสอน

 

เมตตาสำหรับนักมังสวิรัติ

ชาวมังสวิรัติที่สามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด แม้จะต้องไปอยู่ที่ต่างถิ่น ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถรักษาศีลไว้ได้ไม่ขาด มีศิลปะในการเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ หรือผู้ผ่านด่านความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว มีเมตตากรุณากับเหล่าสัตว์ผู้ที่เคยเป็นอาหาร มีความสุขแม้ว่าจะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เหมือนอย่างเคย

แต่ก็มักจะมาติดนรกอีกตัวคือ ความยึดดี ถือดี …เมื่อเมตตาไม่ได้เจริญครอบคลุมไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนที่เขายังไม่เข้าใจถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการเบียดเบียนชีวิตอื่น ก็มักจะไปเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าจิตใจไม่ดี ไม่เมตตา ไม่กรุณา ต่างๆนาๆ จนทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์

ลักษณะอาการ คือ เมื่อเห็นคนกินมังสวิรัติก็จะยินดี ดีใจ มีจิตมุทิตากับเขาได้โดยมีแต่ความสุข แต่เมื่อเห็นคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่เห็นคนที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ กลับไม่สามารถที่จะทำใจให้ยินดีกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ได้ จึงยินร้าย ขุ่นมัว ไม่พอใจ เพ่งโทษ ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็อาจจะมีคำพูด ลีลาท่าทาง หรือการสื่อสารที่แสดงอาการไม่พอใจออกมา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนติดดี ยึดดี ถือดี เป็น “นรกของคนดี” เป็นคนดีที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะมีแต่ความกดดัน จึงเป็นคนดีที่ไม่มีใครต้องการ สะสมแต่ “อัตตา” พอกพูนจนเกิดความทุกข์ทั้งตนเองและคนอื่น

เราใช้ อัตตา หรือการยึดดี ถือดี ในการก้าวข้าม ความอยากเสพเนื้อสัตว์มา แต่ในตอนสุดท้ายก็ต้องทำลายอัตตา คือความยึดดี ถือดี เหล่านั้นทิ้งด้วย “ อุเบกขา ” หรือการปล่อยวาง

เมื่อเรามีอัตตา เราจะอยากเสพดีจากคนอื่น คือ แต่ก่อนเราเคยอยากเสพเนื้อสัตว์ แต่พอหลุดจากการเสพเนื้อสัตว์ เราก็มาติดดี หลงว่าต้องเลิกเสพเนื้อสัตว์จึงจะดี จึงกลายเป็นอยากให้คนอื่นทำดีอย่างเรา ทำอย่างที่ใจเราคิด ทำอย่างที่เราทำได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ใครทำผิดกฎ ใครมาว่าคนกินมังสวิรัติ เราก็ทุกข์ ทั้งหมดนี่เป็นอาการอยากเสพสิ่งที่ดีจากคนอื่น เกิดดีสมใจจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีสมใจก็เป็นทุกข์

ถ้ามาถึงตรงนี้ต้อง พิจารณาความจริง ตามความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง “ความยึดมั่นถือมั่น”  คือ ให้เมตตาขยายไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส การที่เขายังเสพติดเนื้อสัตว์เพราะเขายังมีกิเลส เหมือนอย่างที่เราเคยมีเมื่อก่อน เขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้กิเลสอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ให้เข้าใจว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่สัตว์เหล่านั้นถูกฆ่าเพื่อกินก็เป็นกรรมที่พวกเขาทำมาเอง ถ้าพวกเขาไม่เคยเบียดเบียนก็ไม่มีทางที่จะถูกเบียดเบียน เราไปห้ามกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน ”ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้ทำมา สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่เขาทำมาแล้วทั้งนั้น” เป็นสัจจะที่ใช้พิจารณาความจริงได้ตลอดกาล

หากชาวมังสวิรัติมีโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมังสวิรัติ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ไม่ต้องใส่ความโกรธ ใส่การเปรียบเทียบ ใส่การยกตนข่มคนอื่น ใส่ความยึดดีถือดีลงไป เพราะแม้เราจะเป็นกินมังสวิรัติได้อย่างบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถเมตตาคนอื่นได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะปล่อยคำพูดที่เหน็บแนม ดูถูก เหยียดหยัน ประณาม กดดัน ฯลฯ ซึ่งก็คงยากที่จะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มได้ เพราะการสื่อสารที่มีอัตตาปน ผู้รับฟังจะสามารถรู้สึกได้ เช่น ไม่ระรื่นหู ไม่สบายใจที่จะฟัง ฟังแล้วอึดอัด กดดัน ฯลฯ แม้โดยรวมจะดูเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คำพูดสวยหรู เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเหตุทำให้การสื่อสารเหล่านั้นไร้ประสิทธิผลคือ เขาก็พูดดีนะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับฟัง

เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุปัจจัยของการเกิดสิ่งต่างๆด้วยปัญญาแล้ว จึงจะสามารถปล่อยวางความอยากเสพและความยึดดี ถือดี ทั้งหมดได้ กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สื่อสารด้วยเมตตา ไม่มีอัตตาปน มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย มีมุทิตาจิตได้ในทุกๆสถานการณ์ เมื่อได้ทำดีอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลอาจจะไม่เกิดดีตามที่ทำก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างด้วยใจที่เป็นสุข

คำว่า “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “วางเฉย” ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการนำเสนอประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกินมังสวิรัติแก่เพื่อนมนุษย์ แต่หมายถึง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ว่าดีต้องเกิด เกิดดีจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีแล้วทุกข์ งานเผยแพร่ข้อมูลมังสวิรัตินั้นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ในงานนั้นหายไป เพราะชาวมังสวิรัติได้กำจัดอัตตา คือความยึดดี ถือดี อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสสิ้นไปแล้ว

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ค้ำจุนโลก

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมวิหาร ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งความผาสุกที่ควรสร้าง พัฒนา ขยายขอบเขตให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป

มังเขี่ย

July 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,564 views 0

มังเขี่ย

การใช้ชีวิตมังสวิรัติในสังคมปัจจุบันนั้น เราอาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการกินมังสวิรัติสักเท่าไรนัก คงมีหลายครั้งที่เราต้องเข้าไปร่วมโต๊ะอาหารกับผู้ที่ไม่ได้กินมังสวิรัติ จะทำอย่างไรให้เรากินมังสวิรัติได้อย่างสบายใจ ไม่เบียดเบียนทั้งตัวเอง ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ไม่ทำให้คนอื่นลำบากใจ

มังเขี่ย คือกลยุทธ์หนึ่งในการกินมังสวิรัติ เมื่อเราต้องกินอาหารร่วมโต๊ะกับผู้คนที่หลากหลาย ก็ย่อมมีอาหารที่หลากหลายตามไปด้วยมีทั้งเนื้อสัตว์ทั้งผักปนเปกันไป เมื่อเห็นเช่นนั้น เราจึงใช้การกินมังสวิรัติแบบเขี่ย คือเขี่ยเอาเนื้อสัตว์ออกไป และเขี่ยผักเข้ามา เมื่อเรามีจิตใจที่ตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติ เราย่อมไม่หวั่นไหวต่อเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า ยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์และพยายามเอาตัวรอดโดยการกินแต่ผัก

และแม้ว่าอาหารที่เราสั่งนั้นจะมีเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบร่วม เราก็สามารถเขี่ยเนื้อออกไป โดยยกให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่ยังกินเนื้ออยู่ หรือจะเลือกละเว้นไว้ก็ได้ ถ้าให้ดีที่สุดก็เลือกที่จะสั่งอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ และถึงแม้เราว่าจะไม่กินเนื้อเหล่านั้น สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นอาหารของใครสักคนแน่ๆ ถึงไม่ใช่ใครสักคนก็อาจจะเป็นสัตว์สักตัว หรือไม่ก็กลายเป็นอาหารจุลินทรีย์ไป ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ยังยินดี ที่เราจะไม่ไปเสพผลของการเบียดเบียน ซึ่งจะกลับกลายมาเป็นวิบากกรรมของเราเองในวันใดวันหนึ่ง

มังเขี่ย ในอีกนัยหนึ่ง คือการเขี่ยเนื้อออกไปจากชีวิต และเขี่ยผักเข้ามาในชีวิต เราเลิกที่จะต้อนรับเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ไปโดยลำดับ เริ่มเรียนรู้การทดแทนอาหารต่างๆด้วยพืชผัก จนกระทั่งเราสามารถที่จะดำรงชีวิตด้วยพืชผักได้อย่างลงตัว มีความสุขกาย เบากาย มีกำลัง มีความยินดีในการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์และการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นโดยไม่มีความโหยหา คิดถึง ในเนื้อสัตว์ที่เคยยึดติดอีกต่อไป

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มังเขี่ยนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายอย่างใจคิด ทุกครั้งที่เราจะเขี่ยเนื้อออกไป เขี่ยผักเข้ามา เราต้องสู้กับกิเลสที่เราผูกมานานแสนนาน เรากินเนื้อสัตว์มาทั้งชีวิต โตขึ้นมาก็เพราะกินเนื้อสัตว์ ความทรงจำในชีวิตมีแต่เนื้อสัตว์ หิวทีไรก็นึกถึงแต่เนื้อสัตว์ ดังนั้นในทุกๆคำที่เราจะเขี่ยผักเข้ามาแทนที่เนื้อ เราต้องสู้กับกิเลสของเราอย่างแน่นอน จะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ไม่เป็นไร ให้เราตั้งใจพิจารณาโทษของการกินเนื้อ ความทุกข์ โรค ภัยที่เกิดกับร่างกายของเรา กรรมชั่วที่เราจะได้รับจากการมีส่วนเบียดเบียนในชีวิตอื่น จนกระทั่งวันหนึ่งเราเข้าใจถ่องแท้แล้วว่าการกินมังสวิรัตินี่แหละดีที่สุด วันนั้นเราจึงจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องโหยหาเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์อีกต่อไป

คนที่กินมังสวิรัติหลายๆคน ต่างก็เคยเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์ เคยเสพติดความอร่อยจากเนื้อสัตว์ ชีวิตประจำวันมีแต่อาหารที่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ แต่ทำไมวันนี้พวกเขาเหล่านั้นกลับเลือกที่จะเขี่ยเนื้อสัตว์ออกจากชีวิต และหันมาเขี่ยผักเข้าปากแทน มันน่าสนใจไหม ว่าทำไมเขาถึงยอมทิ้งสิ่งที่เคยคิดว่าดี คิดว่าสุขเหล่านั้น หรือเป็นเพราะว่า พวกเขาเจอสิ่งที่ดีกว่า?

ก๋วยเตี๋ยวมะระ

February 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,644 views 0

เวลาชาวมังสวิรัติจะไปหาของกินนอกบ้านนี่ต้องอาศัยการสังเกตุและไหวพริบกันหน่อยนะครับ แต่เรื่องทั้งหมดนี้สามารถผ่านได้ง่ายๆ แค่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กันเท่านั้น เราก็จะสามารถเรียนรู้หนทางการกินมังสวิรัตินอกสถานที่ได้

สำหรับคนเคร่งๆ อาจจะคิดมาก เช่น น้ำซุปต้มเนื้อนะ ต้มกระดูกสัตว์นะ ก็แล้วแต่นะครับ ในบางเวลาเราจะพิจารณาลดเท่าที่จะลดได้โดยไม่ลำบากใจตัวเอง เพราะการกินมังสวิรัติที่แท้นั้นกินด้วยอารมณ์ที่ไม่มีความอยาก ไม่ใช่กินด้วยการกดข่มหรือทำรูปให้ดูดี ซึ่งจุดประสงค์หลักคือการเอาใจออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างยั่งยืน