Tag: การพัฒนา

อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

September 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,490 views 0

 อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

อย่างที่เราได้เรียนรู้กันแล้วว่า ความเสียดายนั้น ทำให้เราไม่สามารถที่จะลดเนื้อกินผักได้อย่างราบรื่น เมื่อมีความเสียดายเกิดขึ้น ด้วยเหตุแห่งความอยากนั้น ก็จะทำให้เราวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะพยายามหนีออกมาเท่าไหร่ แต่เมื่อใจยังเสียดายชิ้นเนื้อที่อยู่ตรงหน้า ก็ยากจะผ่านแบบทดสอบนี้ไปได้

ในตอนนี้จะขอเล่าไปถึงเรื่องราวของคนที่ใช้ชีวิตในเมืองคนหนึ่ง ในสมัยที่เธอยังหัดกินมังสวิรัติใหม่ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนเที่ยงวันหนึ่ง ณ ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เธอตั้งใจจะลดเนื้อกินผัก แต่ก็ยังไม่ข้ามพ้นด่านของความเกรงใจ จึงกังวลใจไปเองว่า ถ้าสั่งแต่เส้นกับผักทางร้านจะไม่ได้กำไร จึงสั่งก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นมา

ในชามก๋วยเตี๋ยวมีลูกชิ้นอยู่ 6 ลูก เธอแบ่งลูกชิ้นให้กับเพื่อนร่วมโต๊ะ เพราะตั้งใจจะ “ลด” การเสพเนื้อสัตว์ โดยแบ่งออกไปให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่ยังกินเนื้อสัตว์ 4 ลูก จึงเหลือในชามของเธอเอง 2 ลูก

ในขณะนั้นเอง ด้วยเหตุที่เธอได้ศึกษาศาสนาพุทธมาบ้าง ฟังธรรมบ้าง ทบทวนธรรมบ้าง ตรึกตรองใคร่ครวญธรรมบ้าง จึงได้เกิดระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ บาปแม้น้อยนิด อย่าทำเสียเลยดีกว่า ” เมื่อนึกได้ดังนั้นแล้ว ใจจึงเกิด หิริ คือความละอายต่อบาป และ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาปนั้น

เมื่อเกิดความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เวรภัย ของการครองความอยากหรือกิเลสนั้นอยู่ ก็ได้มีความคิดขึ้นว่า แบ่งลูกชิ้นให้เพื่อนหมดเลยเสียดีกว่า ว่าแล้วเธอก็ได้สละลูกชิ้นทั้งหมดให้เพื่อนไป จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาจากฐานของการ ”ลด” มาเป็นฐานของการ “ละ” ซึ่งเกิดได้จากการที่เธอนำเอาธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมในชีวิตประจำวันด้วย จึงทำให้การกินมังสวิรัติพัฒนาและเจริญขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

และเมื่อตกเย็น เธอก็ได้ไปซื้อของที่ตลาดสด ตั้งใจไว้ว่าจะซื้อแค่ถั่วลันเตา แต่พอซื้อแม่ค้าก็แถมเห็ดให้ด้วย เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นถึงอานิสงส์ของการสละลูกชิ้นได้อย่างชัดเจน เมื่อสละกิเลส คือความอยากกินลูกชิ้นนั้นออกจากใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับลูกชิ้นกลับมาเสมอไป อาจจะเป็นเห็ดก็ได้ อาจจะเป็นรอยยิ้มก็ได้ อาจจะเป็นความรู้สึกดีๆก็ได้ อาจจะเป็นอะไรก็ได้ เพราะผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตยคาดเดาไม่ได้ แต่เรื่องที่รู้ได้แน่ชัดคือ เธอข้ามผ่านด่านของกิเลสไปอีกขั้น เจริญขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเราข้ามพ้นความเสียดายเนื้อสัตว์เหล่านั้น ก็จะมีสิ่งที่ดีกว่าอยู่ข้างหน้าเสมอ อย่างน้อยๆก็จะไม่ต้องเจอกับความทุกข์ใจที่ต้องแบกความอยาก ความเสียดายเหล่านั้นเอาไว้อีกต่อไป เพียงแค่นั้นก็สุขมากพอที่จะยอมทิ้งความเสียดายเหล่านั้นแล้ว

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

July 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,042 views 0

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

เมื่อเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมังสวิรัติ มาลดเนื้อกินผัก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เมนูอาหารที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือกระทั่งสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนก็ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมี แต่เป็นแค่ช่วงเวลาที่สิ่งใหม่ (คือ การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผัก) กับสิ่งเก่า( คือ วิธีชีวิตเดิมของเรา) กำลังปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะพัฒนาเป็นชีวิตใหม่ที่มีความผาสุกยิ่งขึ้น

แต่การเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก สู่ชีวิตมังสวิรัติ หรือลดเนื้อกินผัก นั้นไม่ได้ง่ายขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น อาจจะกลายเป็นความเบียดเบียนตัวเราเองก็ได้

การเบียดเบียนในช่วงที่ยังพยายามลด ละ เลิกเนื้อสัตว์

เราเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ด้วยการไม่ส่งเสริมให้ฆ่า โดยการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ หรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่เมื่อทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะพบว่า ชีวิตเริ่มจะลำบาก รู้สึกว่าทรมาน รู้สึกว่าอยากกินเนื้อสัตว์ รู้สึกว่าเข้าสังคมยาก รู้สึกว่าไม่มีความสุข ในสภาพจิตใจเช่นนี้ จะเริ่มเข้าข่ายการเบียดเบียนตัวเอง“ หากเรายังฝืนทนกับความอยากที่เกินกำลังที่เราสามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งเราก็อาจจะทนได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีอาการตบะแตก หรือเลิกล้ม เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ เข็ดขยาดกับความทรมาน ที่ต้องอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งที่ความอยากเสพนั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

การเบียดเบียนตัวเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความตั้งใจเกินกำลัง ที่เราทำได้จริงเช่น เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งๆที่ยังอยากกินมากยังติดอยู่มาก หรือเลิกกินน้ำปลา น้ำซุป น้ำมันหอย ไข่ เนย ฯลฯ ทั้งๆที่ยังไม่เรียนรู้ที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ให้เรากินได้ ทำให้รู้สึกกดดันตัวเอง หาอะไรกินยาก แม้ว่าเราจะทำได้ ก็ทำได้แค่ระดับฝืนทน กดข่ม ยิ่งอดทนยิ่งทรมาน

ข้อเสียของการกินมังสวิรัติอย่างฝืนทน กดข่มนั้น คือความไม่สดใส ไม่ผ่องใส เครียด ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความสุข ฯลฯ เราควรที่จะกินมังสวิรัติด้วยการเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเห็นเป็นเรื่องดีที่คนนิยม การกินอย่างเข้าใจและมีปัญญาจะช่วยให้เกิดความยินดี พอใจ เต็มใจในการกินมังสวิรัติซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืน

หากขาดความยินดี เต็มใจ พอใจ ที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็อาจจะสามารถกินได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็มักจะล้มเลิกได้ง่าย แม้จะกินไปได้เป็นปี หลายปี แต่ถ้าไม่ได้เห็นและเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติก็อาจจะทำให้ไม่มีแรงใจ ไม่มีกำลังใจมากพอที่จะทำให้สมบูรณ์ได้

และเมื่อล้มเลิกก็จะมีคำถามมากมายจากคนอื่นและในจิตใจของตัวเองว่า กินมังสวิรัติแล้วดีจริงหรือ, ดีแล้วเลิกทำไม ,กินเนื้อสัตว์ไม่ดีแล้วกลับไปกินอีกทำไม เราจะตอบเขาหรือตอบตัวเองไม่ได้เลย หรือแม้จะตอบได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะเราเองก็ไม่รู้ประโยชน์แท้ๆในการกินมังสวิรัติเหมือนกัน เพราะคนที่รู้ประโยชน์แท้จะสามารถตัดเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืน  เพราะมีปัญญาจึงเลิกกินเนื้อสัตว์นั้น ในทางกลับกันเมื่อเราไม่รู้ประโยชน์แท้เราจึงไม่สามารถกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนได้ เราจึงต้องใช้การพิจารณาหาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์ ให้มากและบ่อยยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมความยินดี เต็มใจ พอใจ ให้เรามีแรงมีกำลังในการกินมังสวิรัติมากขึ้นนั่นเอง

การปฏิบัติสู่ชีวิตมังสวิรัติ จะต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าติดเนื้อสัตว์มากก็ให้ลด ติดบ้างก็ให้ละ ติดน้อยก็ให้เลิก โดยให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าลองเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเราจะทรมานจากความอยากเสพมากแค่ไหน ถ้าพอทนได้ก็ให้ตัดใจเลิกไปเลย แต่ถ้าโหยหา หงุดหงิด หิวกระหาย อยากกลับไปเสพ จนเริ่มเครียดมาก ทุกข์มากก็อย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นจนเบียดเบียนตัวเองเลย ให้วางความยึดดี วางความเป็นคนดีลงไปบ้าง แล้วกลับไปเสพเนื้อสัตว์บ้างเพื่อให้หายทรมาน แล้วค่อยกลับมาตั้งใจเริ่มปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาสู้กันใหม่อีกที

เมื่อเรากินมังสวิรัติอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นหนทางสู่การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผักได้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถพัฒนาการ ลด ละ เลิก การเบียดเบียนไปตามลำดับเพื่อพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป

การเบียดเบียนในช่วงที่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาดแล้ว

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลิกการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่กินมังสวิรัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการกินมังสวิรัติมากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกินมังสวิรัติ ซึ่งก็จะเริ่มทำหน้าที่ เผยแพร่คุณค่า ความดีงามของการกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะในสังคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือในสังคมใหญ่ต่างๆ

นั่นก็เพราะเมื่อเราได้รับสิ่งดี ค้นพบสิ่งดี เราก็มักอยากจะให้คนที่เรารัก เราห่วงใย รวมถึงเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนได้รับสิ่งที่ดี ได้รับความสุข ความสบายใจอย่างเราบ้าง เราจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งอาจจะไปกดดัน บีบคั้น ทำให้ผู้อื่นลำบากใจ “กลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในมุมของการยึดดี ถือดี“ เพราะเราอยากเสพเหตุการณ์ที่ว่า ทุกคนจะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้เหมือนเรา ทำดีได้เหมือนเรา โลกจะดีเมื่อทุกคนทำได้เหมือนเรา หากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้ความเข้าใจจากเรา ซึ่งการที่ผู้กินมังสวิรัติเข้าใจและกระทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเป็นความดีเป็นกุศล แต่บางครั้งก็มักจะเกินเลยข้ามเส้นที่เป็นกุศลไปเป็นอกุศล คือเริ่มทำให้เขาลำบากใจเข้าแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติได้โดยใช้องค์ความรู้เดียวกัน หรือเท่ากันเสมอไป เพราะแต่ลดคนมีความยึดติดมากน้อยไม่เท่ากัน เราอาจจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใจเราได้ดี แต่คนอีกกลุ่มหรือกระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเราได้เลย เรามักจะเข้าใจว่าเราทำได้ง่ายๆ ทำไมคนอื่นทำไม่ได้เหมือนเรา เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการเผยแพร่ของเราติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จ คนนั้นคิดไม่เหมือนเรา คนนี้ทำไม่เหมือนเรา เรายึดมั่นถือมั่นว่าการกินมังสวิรัติต้องปฏิบัติแบบเราถึงจะถูก เราจึงเลิกพูดกับคนบางกลุ่มด้วยอาการอึดอัด กดดันตัวเอง ยึดดี ถือดี คิดเอาเองว่าเขาไม่เข้าใจ เราเลยไม่ยินดีที่เขาไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยินดีที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ในตอนนี้เราก็เริ่มจะเข้าไปในขีดของ “การเบียดเบียนตัวเองในมุมของการยึดดี ถือดีแล้ว

เพราะใจจริงของเราก็อยากจะสอน อยากจะบอก อยากจะแนะนำสิ่งดีให้เขานั่นแหละ แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ปล่อยวางความดีเหล่านั้น แต่กลับยังยึดว่าต้องเกิดดีตามที่ตนมุ่งหมาย เอาความผิดพลาดมาคิด เอามาตีตัวเอง หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่นไปด้วย ตรงนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้คนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างดี ยังเกิดความทุกข์ในใจอยู่มาก

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราเองก็เรียนรู้มาแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง เราจึงมีปัญญาแค่ในมุมที่เราเรียนรู้มา ซึ่งก็มีอย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะนำไปใช้แนะนำให้กับคนที่มีกิเลสมากมายหลากหลายได้ทั้งหมด การปล่อยวางความยึดดีถือดี เมื่อเขาเหล่านั้นไม่เอาดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อผลดีไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปยึดดีปล่อยให้เป็นไปตามบาปบุญของเขา เพราะเราได้ทำดีที่สุด คือการแนะนำ อธิบาย บอกกล่าวไปตามความรู้ที่เรามีแล้วเขาจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะเห็นดีหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับกินมังสวิรัติได้อย่างไม่ยึดดีถือดี เราก็จะสามารถเรียนรู้ความอยากที่แตกต่างในแต่ละบุคคลด้วย เพราะเมื่อเราไม่ยึดว่าสิ่งที่เราบอกนั้นจะต้องเกิดดีขึ้นจริง เราจะมีพื้นที่ในใจว่างเผื่อไว้ให้เราใส่ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา เหมือนแก้วน้ำ ที่มีน้ำไม่เต็มแก้วก็จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ด้วย เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบนี้มีความอยากแบบไหน แล้วต่อไปจะต้องหาความรู้แบบใดไปบอก ไปแนะนำเขา เขาถึงจะเข้าใจได้ง่ายตอบคำถามในใจของเขาได้ โดยที่เรามุ่งความสำเร็จองค์รวมมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาความรู้เดิมหรือความรู้แรกที่เราใช้ผ่านการกินมังสวิรัติมาใช้กับทุกคน

และเมื่อเราผ่านการเบียดเบียนทั้งในมุมการเสพเนื้อสัตว์และการเสพดีทั้งหมดแล้ว เราก็จะพบกับความผาสุกที่แท้จริง ยั่งยืน มีความรู้ มีปัญญาเข้าใจคนอื่น ทำให้คำพูด คำแนะนำ คำสอนของเรามีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น