Tag: ชีวิตมังสวิรัติ

กินมังสวิรัติ อยู่ในสังคมยาก?

August 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,958 views 0

กินมังสวิรัติ อยู่ในสังคมยาก?

กินมังสวิรัติ อยู่ในสังคมยาก?

การเข้าสังคมเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาหนึ่งของผู้ที่เริ่มต้นกินมังสวิรัติ ถึงแม้ว่าบางคนจะกินมานานแล้วก็อาจจะยังไม่สามารถผ่านพ้นปัญหานี้ได้

เมื่อเราสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หันมากินผักได้สักพักแล้ว จะเริ่มมีปฏิกิริยาจากสังคมรอบข้าง ทั้งในด้านคำชมและด้านทักท้วงนินทา เขาอาจจะชมเรามากมายว่าเป็นคนดี ดูดี สุขภาพดี สดใส ฯลฯ แต่ก็มักจะมีคำท้วงติงหรือนินทาเข้ามาพร้อมๆกัน เช่น ลำบากไปไหม ยุ่งยากไหม ผอมไปนะ โทรมไปนะ มันจะเกินไปนะ และอีกมากมายที่เราก็น่าจะเจอด้วยตัวเอง

ทั้งคำติชม สรรเสริญนินทาเหล่านั้น ล้วนเป็นพลังจากสิ่งรอบข้างที่เข้ามาสร้างความหวั่นไหวในจิตใจของเรา ถ้าเขาชมเราแล้วเราดีใจ ใจฟู เราก็ยังติดคำชมอยู่ ซึ่งทำให้ในขณะเดียวกันเมื่อเขาท้วงติงหรือพูดไม่ถูกใจเราก็อาจจะทำให้เราไขว้เขว หรือโกรธ ไม่พอใจเขาก็ได้

การหันมากินมังสวิรัติ ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดทางด้านร่างกายและสังคมไม่มากก็น้อย การกินมังสวิรัตินั้นไม่ได้ทำให้อยู่ในสังคมยาก แต่ความจริงคือมันยากที่จะสู้กับความอยากของตัวเองที่จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะในระหว่างที่เรายังข้ามไม่พ้นสะพานไปสู่ชีวิตมังสวิรัตินี้ ก็จะมีบางสิ่งคอยดึง ฉุดรั้งเราไว้ให้อยู่ฝั่งเนื้อสัตว์ ให้กลับไปกิน ไปเสพเนื้อสัตว์ ให้เรารู้สึกว่าการกินมังสวิรัตินั้นยากลำบาก ทรมานกาย ลำบากในการเข้าสังคม

ในความจริงแล้ว การกินมังสวิรัติ นั้นไม่ได้ทำให้สังคมลำบากเลย ถ้าเรากินอย่างมีปัญญารู้จักเอาตัวรอด ไม่สร้างปัญหาให้คนอื่น สังคมเขามีแต่จะยินดีกับเราด้วยที่เราละเว้นเนื้อสัตว์ เราทำเรื่องดี ใครเขาก็เห็นดีด้วยอยากส่งเสริมอยากสนับสนุน

มีแต่จิตใจของเราเองนั่นแหละที่คิดไปเองว่ามันจะลำบากใจ สร้างความลำบากให้กับคนอื่น ปรับตัวในสังคมยาก ใช้ชีวิตยาก เพราะเราไม่ได้ศึกษาหาวิธีการกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนและมีความสุข ไม่มีเพื่อนร่วมลดเนื้อกินผัก ไม่มีผู้รู้คอยแนะนำการใช้ชีวิตมังสวิรัติอย่างมีความสุข มีแต่ความรู้ว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะกินมังสวิรัติอย่างไรให้ยั่งยืน

ดังนั้นผู้ที่คิดจะกินมังสวิรัติจึงต้องคอยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการกินมังสวิรัติ การใช้ชีวิต การเอาตัวรอดในสังคม การอยู่ในสังคมอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จนกระทั่งสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีความสุข โดยที่ตัวเองก็สามารถละเว้นเนื้อกินแต่พืชผักได้อย่างไม่มีตกหล่น

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

July 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,023 views 0

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

เมื่อเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมังสวิรัติ มาลดเนื้อกินผัก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เมนูอาหารที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือกระทั่งสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนก็ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมี แต่เป็นแค่ช่วงเวลาที่สิ่งใหม่ (คือ การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผัก) กับสิ่งเก่า( คือ วิธีชีวิตเดิมของเรา) กำลังปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะพัฒนาเป็นชีวิตใหม่ที่มีความผาสุกยิ่งขึ้น

แต่การเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก สู่ชีวิตมังสวิรัติ หรือลดเนื้อกินผัก นั้นไม่ได้ง่ายขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น อาจจะกลายเป็นความเบียดเบียนตัวเราเองก็ได้

การเบียดเบียนในช่วงที่ยังพยายามลด ละ เลิกเนื้อสัตว์

เราเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ด้วยการไม่ส่งเสริมให้ฆ่า โดยการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ หรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่เมื่อทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะพบว่า ชีวิตเริ่มจะลำบาก รู้สึกว่าทรมาน รู้สึกว่าอยากกินเนื้อสัตว์ รู้สึกว่าเข้าสังคมยาก รู้สึกว่าไม่มีความสุข ในสภาพจิตใจเช่นนี้ จะเริ่มเข้าข่ายการเบียดเบียนตัวเอง“ หากเรายังฝืนทนกับความอยากที่เกินกำลังที่เราสามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งเราก็อาจจะทนได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีอาการตบะแตก หรือเลิกล้ม เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ เข็ดขยาดกับความทรมาน ที่ต้องอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งที่ความอยากเสพนั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

การเบียดเบียนตัวเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความตั้งใจเกินกำลัง ที่เราทำได้จริงเช่น เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งๆที่ยังอยากกินมากยังติดอยู่มาก หรือเลิกกินน้ำปลา น้ำซุป น้ำมันหอย ไข่ เนย ฯลฯ ทั้งๆที่ยังไม่เรียนรู้ที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ให้เรากินได้ ทำให้รู้สึกกดดันตัวเอง หาอะไรกินยาก แม้ว่าเราจะทำได้ ก็ทำได้แค่ระดับฝืนทน กดข่ม ยิ่งอดทนยิ่งทรมาน

ข้อเสียของการกินมังสวิรัติอย่างฝืนทน กดข่มนั้น คือความไม่สดใส ไม่ผ่องใส เครียด ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความสุข ฯลฯ เราควรที่จะกินมังสวิรัติด้วยการเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเห็นเป็นเรื่องดีที่คนนิยม การกินอย่างเข้าใจและมีปัญญาจะช่วยให้เกิดความยินดี พอใจ เต็มใจในการกินมังสวิรัติซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืน

หากขาดความยินดี เต็มใจ พอใจ ที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็อาจจะสามารถกินได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็มักจะล้มเลิกได้ง่าย แม้จะกินไปได้เป็นปี หลายปี แต่ถ้าไม่ได้เห็นและเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติก็อาจจะทำให้ไม่มีแรงใจ ไม่มีกำลังใจมากพอที่จะทำให้สมบูรณ์ได้

และเมื่อล้มเลิกก็จะมีคำถามมากมายจากคนอื่นและในจิตใจของตัวเองว่า กินมังสวิรัติแล้วดีจริงหรือ, ดีแล้วเลิกทำไม ,กินเนื้อสัตว์ไม่ดีแล้วกลับไปกินอีกทำไม เราจะตอบเขาหรือตอบตัวเองไม่ได้เลย หรือแม้จะตอบได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะเราเองก็ไม่รู้ประโยชน์แท้ๆในการกินมังสวิรัติเหมือนกัน เพราะคนที่รู้ประโยชน์แท้จะสามารถตัดเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืน  เพราะมีปัญญาจึงเลิกกินเนื้อสัตว์นั้น ในทางกลับกันเมื่อเราไม่รู้ประโยชน์แท้เราจึงไม่สามารถกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนได้ เราจึงต้องใช้การพิจารณาหาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์ ให้มากและบ่อยยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมความยินดี เต็มใจ พอใจ ให้เรามีแรงมีกำลังในการกินมังสวิรัติมากขึ้นนั่นเอง

การปฏิบัติสู่ชีวิตมังสวิรัติ จะต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าติดเนื้อสัตว์มากก็ให้ลด ติดบ้างก็ให้ละ ติดน้อยก็ให้เลิก โดยให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าลองเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเราจะทรมานจากความอยากเสพมากแค่ไหน ถ้าพอทนได้ก็ให้ตัดใจเลิกไปเลย แต่ถ้าโหยหา หงุดหงิด หิวกระหาย อยากกลับไปเสพ จนเริ่มเครียดมาก ทุกข์มากก็อย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นจนเบียดเบียนตัวเองเลย ให้วางความยึดดี วางความเป็นคนดีลงไปบ้าง แล้วกลับไปเสพเนื้อสัตว์บ้างเพื่อให้หายทรมาน แล้วค่อยกลับมาตั้งใจเริ่มปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาสู้กันใหม่อีกที

เมื่อเรากินมังสวิรัติอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นหนทางสู่การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผักได้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถพัฒนาการ ลด ละ เลิก การเบียดเบียนไปตามลำดับเพื่อพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป

การเบียดเบียนในช่วงที่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาดแล้ว

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลิกการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่กินมังสวิรัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการกินมังสวิรัติมากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกินมังสวิรัติ ซึ่งก็จะเริ่มทำหน้าที่ เผยแพร่คุณค่า ความดีงามของการกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะในสังคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือในสังคมใหญ่ต่างๆ

นั่นก็เพราะเมื่อเราได้รับสิ่งดี ค้นพบสิ่งดี เราก็มักอยากจะให้คนที่เรารัก เราห่วงใย รวมถึงเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนได้รับสิ่งที่ดี ได้รับความสุข ความสบายใจอย่างเราบ้าง เราจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งอาจจะไปกดดัน บีบคั้น ทำให้ผู้อื่นลำบากใจ “กลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในมุมของการยึดดี ถือดี“ เพราะเราอยากเสพเหตุการณ์ที่ว่า ทุกคนจะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้เหมือนเรา ทำดีได้เหมือนเรา โลกจะดีเมื่อทุกคนทำได้เหมือนเรา หากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้ความเข้าใจจากเรา ซึ่งการที่ผู้กินมังสวิรัติเข้าใจและกระทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเป็นความดีเป็นกุศล แต่บางครั้งก็มักจะเกินเลยข้ามเส้นที่เป็นกุศลไปเป็นอกุศล คือเริ่มทำให้เขาลำบากใจเข้าแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติได้โดยใช้องค์ความรู้เดียวกัน หรือเท่ากันเสมอไป เพราะแต่ลดคนมีความยึดติดมากน้อยไม่เท่ากัน เราอาจจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใจเราได้ดี แต่คนอีกกลุ่มหรือกระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเราได้เลย เรามักจะเข้าใจว่าเราทำได้ง่ายๆ ทำไมคนอื่นทำไม่ได้เหมือนเรา เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการเผยแพร่ของเราติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จ คนนั้นคิดไม่เหมือนเรา คนนี้ทำไม่เหมือนเรา เรายึดมั่นถือมั่นว่าการกินมังสวิรัติต้องปฏิบัติแบบเราถึงจะถูก เราจึงเลิกพูดกับคนบางกลุ่มด้วยอาการอึดอัด กดดันตัวเอง ยึดดี ถือดี คิดเอาเองว่าเขาไม่เข้าใจ เราเลยไม่ยินดีที่เขาไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยินดีที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ในตอนนี้เราก็เริ่มจะเข้าไปในขีดของ “การเบียดเบียนตัวเองในมุมของการยึดดี ถือดีแล้ว

เพราะใจจริงของเราก็อยากจะสอน อยากจะบอก อยากจะแนะนำสิ่งดีให้เขานั่นแหละ แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ปล่อยวางความดีเหล่านั้น แต่กลับยังยึดว่าต้องเกิดดีตามที่ตนมุ่งหมาย เอาความผิดพลาดมาคิด เอามาตีตัวเอง หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่นไปด้วย ตรงนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้คนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างดี ยังเกิดความทุกข์ในใจอยู่มาก

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราเองก็เรียนรู้มาแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง เราจึงมีปัญญาแค่ในมุมที่เราเรียนรู้มา ซึ่งก็มีอย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะนำไปใช้แนะนำให้กับคนที่มีกิเลสมากมายหลากหลายได้ทั้งหมด การปล่อยวางความยึดดีถือดี เมื่อเขาเหล่านั้นไม่เอาดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อผลดีไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปยึดดีปล่อยให้เป็นไปตามบาปบุญของเขา เพราะเราได้ทำดีที่สุด คือการแนะนำ อธิบาย บอกกล่าวไปตามความรู้ที่เรามีแล้วเขาจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะเห็นดีหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับกินมังสวิรัติได้อย่างไม่ยึดดีถือดี เราก็จะสามารถเรียนรู้ความอยากที่แตกต่างในแต่ละบุคคลด้วย เพราะเมื่อเราไม่ยึดว่าสิ่งที่เราบอกนั้นจะต้องเกิดดีขึ้นจริง เราจะมีพื้นที่ในใจว่างเผื่อไว้ให้เราใส่ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา เหมือนแก้วน้ำ ที่มีน้ำไม่เต็มแก้วก็จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ด้วย เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบนี้มีความอยากแบบไหน แล้วต่อไปจะต้องหาความรู้แบบใดไปบอก ไปแนะนำเขา เขาถึงจะเข้าใจได้ง่ายตอบคำถามในใจของเขาได้ โดยที่เรามุ่งความสำเร็จองค์รวมมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาความรู้เดิมหรือความรู้แรกที่เราใช้ผ่านการกินมังสวิรัติมาใช้กับทุกคน

และเมื่อเราผ่านการเบียดเบียนทั้งในมุมการเสพเนื้อสัตว์และการเสพดีทั้งหมดแล้ว เราก็จะพบกับความผาสุกที่แท้จริง ยั่งยืน มีความรู้ มีปัญญาเข้าใจคนอื่น ทำให้คำพูด คำแนะนำ คำสอนของเรามีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

July 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,686 views 0

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตา เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบายและอบอุ่นไปทั้งใจเมื่อได้รับ มีคุณค่ามากมายเมื่อเมตตาได้งอกงามและเจริญในจิตใจ ชาวมังสวิรัติมักจะใช้เมตตาเป็นตัวนำในการพาตัวเองไปสู่ชีวิตมังสวิรัติ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ลด ละ เลิก การเบียดเบียนได้

เมตตากับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัติ

เมตตา สำหรับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้น การที่เราจะพัฒนาเมตตาได้นั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสัตว์ที่มาเป็นอาหารของเรานั้น เกิดมาทำไม ใช้ชีวิตแบบใด และจากโลกนี้ไปอย่างไร มีสื่อมากมายที่ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตเหล่านั้น หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยรับรู้ข้อมูล แต่เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกสงสาร เห็นใจ สลด หดหู่ ฯลฯ ใจที่มีเมตตาจะเริ่มเจริญงอกงามขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อรู้สึกสงสารแล้วก็เริ่มอยากจะช่วยเหลือ เริ่มที่จะรู้สึกว่าไม่อยากเบียดเบียน จึงเริ่มสนใจเข้าสู่การกินมังสวิรัติ อันคือ “ความกรุณา

ผู้คนมากมาย ที่รับรู้ความโหดร้าย ความทรมานในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตเมตตา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดกรุณา คือลงมือทำเพื่อลดการเบียดเบียน เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองมาสู่การ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ มาลดเนื้อกินผัก การจะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้น จำเป็นต้องมีเมตตาและกรุณาที่มีกำลังมากพอที่จะไปตัดความอยากเสพเนื้อสัตว์

ความอยากเสพ คือ ความหลงติด หลงยึด หลงผิดไปว่า ถ้าฉันได้สิ่งนี้มาฉันจะมีความสุข ถ้าฉันได้กินฉันจะอร่อย ทั้งหมดนี้คือ “ กิเลส ” ที่สร้างความสุขลวง สร้างรสอร่อยขึ้นมา การออกจากสภาพติดยึดเหล่านี้ต้องใช้เมตตาและกรุณา คือความรักความเห็นใจต่อสัตว์โลก และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเบียดเบียนชีวิตของเขา และยังใช้ความเกลียดสิ่งที่ชั่ว อันคือความโหดร้าย ทารุณ การเบียดเบียนต่างๆ เข้ามาเสริมความยึดดีในจิตใจเพื่อการออกจากนรกของการเสพ

การจะก้าวเข้าสู่ชีวิตนักมังสวิรัติได้ จำเป็นต้องใช้ “ความพยายาม ” มากกว่าการเจริญเมตตาและกรุณา คือต้องพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย จากการไปเสพเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งพิจารณาประโยชน์จากการเลิกเสพเนื้อสัตว์ ในด้านสุขภาพ การเงิน เวลา สังคม กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และพิจารณาหลักธรรมข้ออื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ ความเป็นทุกข์จากการเสพหรือไม่ได้เสพเนื้อสัตว์ ความไม่มีตัวตนแก่นสารสาระแท้ใดๆในการเสพเนื้อสัตว์ ก็จะสามารถทำให้ผู้กินมังสวิรัติมือใหม่ พัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุขและยั่งยืนได้

เมื่อพัฒนาจนเต็มที่จะพบว่า แม้จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีความสุขจากการเสพเหมือนเดิม ความอร่อยจากเนื้อสัตว์ที่เคยมีจะหายไป เหลือแต่ความอร่อยจากรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่จะได้ความสุขจากการไม่เสพขึ้นมาแทน  นักมังสวิรัติที่ไม่สามารถลด ละ เลิก ความอยากเสพ หรือ กามสุขลิกะ อันคือความสุดโต่งไปในด้านของการเสพ (กิเลสในมุมเสพวัตถุ) จะไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ยั่งยืน แม้จะกินมานาน 30-40 ปี ก็มีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อยู่ เพราะความอยากยังไม่ตาย กิเลสที่มีจะแค่ถูกกดข่ม ถูกลืมไป แต่กิเลสจะแอบพัฒนาตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ และส่งผลออกมาในภายหลัง ในลักษณะที่เรียกว่า “ตบะแตก

ดังนั้นจำนวนปีหรือช่วงเวลาที่ลด ละ เลิก ได้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าเราจะออกจาก ความอยากเสพได้ หากเรามุ่งเป้าหมายว่าจะเมตตาสัตว์โลก ลดการเบียดเบียน ความอยากเสพเป็นรากของกิเลสที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเป็นตัวอย่างของนักมังสวิรัติที่ไม่ดี ปากก็บอกคนอื่นว่ากินมังสวิรัติ แต่แล้วเวลาเผลอก็แอบไปกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ก็กดข่มจนสุดท้ายก็ตบะแตกไปกินเนื้อสัตว์ จึงเกิดมีคำถามจากผู้คนทั่วไปว่ากินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร? กินแล้วทรมานจากความอยากแล้วมันดีอย่างไร? แล้วชาวมังสวิรัติจะตอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ลดความอยากยังไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน และค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง ” ดังนั้นนักมังสวิรัติ พึงระวังไว้ด้วยว่าเรานี่แหละคือตัวอย่างของคนกินมังสวิรัติ แม้เราจะไม่ได้บอกใครว่ากินมังสวิรัติดีอย่างไร แต่เขาจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตวิถีชีวิตของเรา คือ การสอนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากสอน

 

เมตตาสำหรับนักมังสวิรัติ

ชาวมังสวิรัติที่สามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด แม้จะต้องไปอยู่ที่ต่างถิ่น ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถรักษาศีลไว้ได้ไม่ขาด มีศิลปะในการเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ หรือผู้ผ่านด่านความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว มีเมตตากรุณากับเหล่าสัตว์ผู้ที่เคยเป็นอาหาร มีความสุขแม้ว่าจะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เหมือนอย่างเคย

แต่ก็มักจะมาติดนรกอีกตัวคือ ความยึดดี ถือดี …เมื่อเมตตาไม่ได้เจริญครอบคลุมไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนที่เขายังไม่เข้าใจถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการเบียดเบียนชีวิตอื่น ก็มักจะไปเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าจิตใจไม่ดี ไม่เมตตา ไม่กรุณา ต่างๆนาๆ จนทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์

ลักษณะอาการ คือ เมื่อเห็นคนกินมังสวิรัติก็จะยินดี ดีใจ มีจิตมุทิตากับเขาได้โดยมีแต่ความสุข แต่เมื่อเห็นคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่เห็นคนที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ กลับไม่สามารถที่จะทำใจให้ยินดีกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ได้ จึงยินร้าย ขุ่นมัว ไม่พอใจ เพ่งโทษ ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็อาจจะมีคำพูด ลีลาท่าทาง หรือการสื่อสารที่แสดงอาการไม่พอใจออกมา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนติดดี ยึดดี ถือดี เป็น “นรกของคนดี” เป็นคนดีที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะมีแต่ความกดดัน จึงเป็นคนดีที่ไม่มีใครต้องการ สะสมแต่ “อัตตา” พอกพูนจนเกิดความทุกข์ทั้งตนเองและคนอื่น

เราใช้ อัตตา หรือการยึดดี ถือดี ในการก้าวข้าม ความอยากเสพเนื้อสัตว์มา แต่ในตอนสุดท้ายก็ต้องทำลายอัตตา คือความยึดดี ถือดี เหล่านั้นทิ้งด้วย “ อุเบกขา ” หรือการปล่อยวาง

เมื่อเรามีอัตตา เราจะอยากเสพดีจากคนอื่น คือ แต่ก่อนเราเคยอยากเสพเนื้อสัตว์ แต่พอหลุดจากการเสพเนื้อสัตว์ เราก็มาติดดี หลงว่าต้องเลิกเสพเนื้อสัตว์จึงจะดี จึงกลายเป็นอยากให้คนอื่นทำดีอย่างเรา ทำอย่างที่ใจเราคิด ทำอย่างที่เราทำได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ใครทำผิดกฎ ใครมาว่าคนกินมังสวิรัติ เราก็ทุกข์ ทั้งหมดนี่เป็นอาการอยากเสพสิ่งที่ดีจากคนอื่น เกิดดีสมใจจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีสมใจก็เป็นทุกข์

ถ้ามาถึงตรงนี้ต้อง พิจารณาความจริง ตามความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง “ความยึดมั่นถือมั่น”  คือ ให้เมตตาขยายไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส การที่เขายังเสพติดเนื้อสัตว์เพราะเขายังมีกิเลส เหมือนอย่างที่เราเคยมีเมื่อก่อน เขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้กิเลสอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ให้เข้าใจว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่สัตว์เหล่านั้นถูกฆ่าเพื่อกินก็เป็นกรรมที่พวกเขาทำมาเอง ถ้าพวกเขาไม่เคยเบียดเบียนก็ไม่มีทางที่จะถูกเบียดเบียน เราไปห้ามกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน ”ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้ทำมา สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่เขาทำมาแล้วทั้งนั้น” เป็นสัจจะที่ใช้พิจารณาความจริงได้ตลอดกาล

หากชาวมังสวิรัติมีโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมังสวิรัติ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ไม่ต้องใส่ความโกรธ ใส่การเปรียบเทียบ ใส่การยกตนข่มคนอื่น ใส่ความยึดดีถือดีลงไป เพราะแม้เราจะเป็นกินมังสวิรัติได้อย่างบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถเมตตาคนอื่นได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะปล่อยคำพูดที่เหน็บแนม ดูถูก เหยียดหยัน ประณาม กดดัน ฯลฯ ซึ่งก็คงยากที่จะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มได้ เพราะการสื่อสารที่มีอัตตาปน ผู้รับฟังจะสามารถรู้สึกได้ เช่น ไม่ระรื่นหู ไม่สบายใจที่จะฟัง ฟังแล้วอึดอัด กดดัน ฯลฯ แม้โดยรวมจะดูเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คำพูดสวยหรู เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเหตุทำให้การสื่อสารเหล่านั้นไร้ประสิทธิผลคือ เขาก็พูดดีนะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับฟัง

เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุปัจจัยของการเกิดสิ่งต่างๆด้วยปัญญาแล้ว จึงจะสามารถปล่อยวางความอยากเสพและความยึดดี ถือดี ทั้งหมดได้ กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สื่อสารด้วยเมตตา ไม่มีอัตตาปน มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย มีมุทิตาจิตได้ในทุกๆสถานการณ์ เมื่อได้ทำดีอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลอาจจะไม่เกิดดีตามที่ทำก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างด้วยใจที่เป็นสุข

คำว่า “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “วางเฉย” ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการนำเสนอประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกินมังสวิรัติแก่เพื่อนมนุษย์ แต่หมายถึง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ว่าดีต้องเกิด เกิดดีจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีแล้วทุกข์ งานเผยแพร่ข้อมูลมังสวิรัตินั้นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ในงานนั้นหายไป เพราะชาวมังสวิรัติได้กำจัดอัตตา คือความยึดดี ถือดี อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสสิ้นไปแล้ว

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ค้ำจุนโลก

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมวิหาร ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งความผาสุกที่ควรสร้าง พัฒนา ขยายขอบเขตให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป

วิธีสั่งอาหารมังสวิรัติ ตามร้านอาหารทั่วไป

July 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 9,503 views 0

วิธีสั่งอาหารมังสวิรัติ ตามร้านอาหารทั่วไป

วิธีสั่งอาหารมังสวิรัติ ตามร้านอาหารทั่วไป

กรณีร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านอื่นๆในศูนย์อาหารทั่วไป

สำหรับคนที่หัดกิน หรือหาทางกินมังสวิรัติในช่วงเริ่มต้น อาจจะลำบากสักนิดในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าโชคดีก็อาจจะมีแหล่งหรือร้าน ขายอาหารมังสวิรัติ-เจ ใกล้ๆที่อยู่ ที่ทำงาน ก็สามารถที่จะดำรงชีวิตมังสวิรัติได้ไม่ยากไม่ลำบาก

ในความเป็นจริงแล้ว ร้านอาหารมังสวิรัตินั้นไม่ได้มีมากนัก อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับความสะดวก ที่เอื้อให้ตัวเองได้กินมังสวิรัติง่ายๆ และยังมีข้อจำกัดหลายๆอย่างในการทำอาหารเอง ซึ่งในบทความเนื้อเราจะมาแบ่งปันเกี่ยวกับการหาทางลดเนื้อกินผักให้ได้ แม้ในสภาวะที่มีตัวเลือกน้อย

ร้านอาหารที่เรามักจะพบได้บ่อยคือร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง หรือไม่ก็ร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งถ้าเราสั่งอาหารแบบปกติก็คงจะไม่มีอะไร แต่เรากำลังจะสั่งอาหารที่แปลก ซึ่งอาจจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่คุ้นเคยรู้สึกลำบากใจ ดังนั้นความนอบน้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราควรใช้ การวอนขอ , ขอร้อง, ขอความกรุณา ให้เขาช่วยทำให้เรา

เช่น ร้านข้าวแกง เราอาจจะบอกเขาประมาณว่า “ จะสะดวกไหมถ้าจะช่วยตักแต่ผักให้ ” , “อยากได้แค่ผัก พอจะตักให้ได้ไหม ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ” ตัวอย่างที่เคยใช้จริงกับแกงมัสมั่น ในศูนย์อาหารแห่งหนึ่ง คือ “แกงมัสมั่นนี่ถ้าจะเอาแต่มันฝรั่ง พอจะขายให้ได้หรือไม่ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ “ สุดท้ายเขาก็ตักมาให้ด้วยความยินดี

ร้านอาหารตามสั่ง เช่น “เอากะเพราใส่เห็ดนะ ใส่แต่เห็ดกับใบกะเพราหรือผัก*อื่นๆ* พอจะทำให้ได้ไหม” จากที่เคยพบมา อาจจะเจอปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ตรงนี้เราต้องมีตัวเลือกสำรองไว้เสนอให้เขาทำให้ เช่น ถ้าเห็ดหมด เราก็ถามว่า “ถ้าเป็นกะเพราดอกกะหล่ำ พอจะได้ไหม” เป็นต้น

ร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็อาจจะบอกเขาว่า “ เอาแค่เส้นกับผัก พอจะได้ไหม ใส่แค่เส้นกับผักนั่นแหละ “ เคยเจอกรณีเขากังวลว่าจะคิดเงินไม่ถูก เราก็บอกเขาว่า “ ใส่แค่เส้นกับผักนั่นแหละ คิดเงินตามปกติก็ได้นะ” ส่วนใหญ่ร้านก๋วยเตี๋ยวจะสื่อสารไม่ค่อยยากเท่าไรนัก

ในส่วนของร้านอาหารอื่นๆ เช่น ร้านราดหน้า ร้านส้มตำ ฯลฯ ให้ทำในแนวทางเดียวกัน คือ ให้เราลอง โยนหินถามทาง ดูก่อนว่า เขาพอจะสะดวกทำให้เราหรือไม่ เขาสบายใจที่จะทำให้เราหรือไม่ เขายินดีที่จะทำให้เราหรือไม่ โดยให้เราแสดงท่าทีที่นอบน้อมให้มากที่สุด เพราะเราเองเป็นคนที่ทำให้เขาลำบาก ผิดไปจากกระบวนการที่เขาเคยทำ เป็นการรบกวนเขา ดังนั้นความนอบน้อมจึงเป็นคุณสมบัติที่ชาวมังสวิรัติควรจะมีหรือพัฒนาให้มากขึ้น หากจะต้องการลดเนื้อกินผักในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

จะสังเกตได้ว่า เราจะไม่ไปใช้การ “สั่ง” บังคับ หรือการกดดันใดๆ กับพ่อค้าแม่ค้า เราเพียงแค่ไปขอความเห็นใจ ให้เขาช่วยให้เราได้กินมังสวิรัติหรือลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุดตามความเหมาะสม เขาจะยินดีทำหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ถ้าเขายินดีเราก็ได้กิน  ถ้าเขาไม่ยินดี เราก็ไปกินร้านอื่น หรือถ้าไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็ให้เขาทำเท่าที่เขาสะดวก เราก็กินแบบ “มังเขี่ย” ของเราไป หรือถ้ามีวิธีที่ดีกว่านั้นก็ทำไป

ชาวมังสวิรัติควรจะทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีความรู้สึกที่ดีกับผู้ที่กินมังสวิรัติ หากเราไปสั่งทุกอย่างตามใจเรา เช่น น้ำมันหอยไม่ใส่ น้ำปลาไปไม่ใส่ ใส่เกลือแทน กระเทียมไม่ใส่ ปรุงรสอ่อนๆ ไอ้นั้น ไอ้นี่ เยอะไปหมดตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน โดยที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ยินดีทำ เราอาจจะได้กินมังสวิรัติหนึ่งมื้อ รักษาความสมบูรณ์ของศีลไปได้อีกวัน แต่อาจจะสร้างคนที่เกลียดคนกินมังสวิรัติเพิ่มขึ้นมาแทนก็ได้

นั่นหมายความว่าแทนที่จะสร้างคนที่กินมังสวิรัติมาช่วยลดเนื้อกินผัก กลับสร้างศัตรูหรือผู้เสื่อมศรัทธาในนิสัยเรื่องมาก ยุ่งยากของคนกินมังสวิรัติ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะขายอาหารแลกเงิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปสั่งให้เขาทำทุกอย่างตามใจเราได้เสมอไป ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป ไม่จำเป็นด้วยว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องเห็นดีเห็นด้วยตามเรา การกินมังสวิรัติไม่ได้หมายความว่าเราจะดูเป็นคนดี น่าเคารพ น่าช่วยเหลือขนาดนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับความร่วมมือทุกอย่าง การปฏิบัติตัวให้ดี เพื่อให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อคนที่กินมังสวิรัติทั้งหมด เป็นเรื่องที่สมควรทำ

เราต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า การกินมังสวิรัติคนเดียวได้อย่างสมบูรณ์นั้น แม้จะสมบูรณ์แบบเพียงใดก็อาจจะไม่ได้มีผลต่อการเบียดเบียนองค์รวมเลย แต่การที่จะสร้างคนที่หัดกินมังสวิรัติเพิ่มขึ้นมาทีละคนต่างหากที่จะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้นได้ หากเราเป็นผู้นอบน้อม ถือศีลกินมังฯ อย่างเคร่งครัด และพร้อมจะปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ให้เสียประโยชน์ตนเอง (คือ ยังสามารถกินลดเนื้อสัตว์กินผักได้ทุกสถานการณ์) และ ยังสามารถรักษาใจคนอื่นไว้ได้ด้วย (คือ คนรอบข้าง ผู้ร่วมโต๊ะ พ่อครัวแม่ครัว ฯลฯ ไม่ลำบากใจที่ต้องกินร่วมกับเรา หรือทำอาหารให้เรา) วันหนึ่งก็จะมีคนศรัทธาตามที่เราปฏิบัติ จนนำมาสู่ความสนใจในการกินมังสวิรัติของเขาเหล่านั้นด้วย

ประสบการณ์การกินมังสวิรัติในร้านสุกี้ และการเปลี่ยนแปลงจากสุกี้เนื้อสัตว์มาสู่สุกี้มังสวิรัติ

July 4, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,223 views 0

mk suki มังสวิรัติ - กินมังสวิรัติ ร้านสุกี้

การกินมังสวิรัติในร้านสุกี้ ถือเป็นด่านที่ค่อนข้างง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่หัดกินมังสวิรัติใหม่ๆ หากมีเพื่อนหรือครอบครัวนัดกันไปกินสุกี้ เราก็สบายใจได้เลยว่ามื้อนี้จะรอดไปแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เราจะมาลองแชร์ประสบการณ์กินมังสวิรัติในร้านสุกี้กัน

ไปครั้งนี้สั่งไม่เยอะ ไม่หลากหลายเท่าไรนัก เพราะไปกับพ่อสองคน ร้านสุกี้มักจะเป็นร้านที่เรานั่งกินกันตามประสาพ่อลูกเป็นประจำ กินกันมาตั้งแต่ยังไม่กินมังสวิรัติจนตอนนี้เปลี่ยนมากินมังสวิรัติ …ก็จะขอแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการสั่งอาหารไว้ในบทความนี้ด้วย

mk suki มังสวิรัติ - กินมังสวิรัติ ร้านสุกี้

เมื่อมาถึงร้านสุกี้ เราก็มักจะเปิดเมนูสั่งผักกันก่อน ถ้าเราไม่คิดมากก็กินแต่ผักก็ได้ มีผักให้เลือกมากมายหลายหน้าตา มีรสชาติและรสสัมผัสต่างกันไป เราสามารถสั่งผักแยกตามที่ชอบกิน หรือจะสั่งเป็นชุดรวมก็ได้หากมาเป็นกลุ่มใหญ่ ขึ้นชื่อว่าผักมาเท่าไหร่เราก็กินเรียบ

วิธีการกินผักให้มีความสุข คือ เราควรจะหาข้อมูลเกี่ยวกับผักแต่ละชนิดว่ามีประโยชน์อย่างไรบ้าง มีวิตามิน มีคุณค่าทางอาหารแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งการรู้ประโยชน์นั้นจะทำให้เรากินผักอย่างมีความสุข เพราะรู้ถึงคุณค่าในผักแต่ละชนิดที่กิน และยังสามารถรู้ไว้ประเมินธาตุอาหารที่จะได้รับได้อีกด้วย เมนูผักที่สั่งเป็นประจำก็จะมี ผักบุ้ง ผักกาดขาว สาหร่ายวากาเมะ ส่วนรูปทางขวาบน คือ ปวยเล้ง ไม่ได้สั่งประจำสักเท่าไรนัก

ด้านขวาล่างคือ คะน้าฮ่องกงผัดน้ำมันหอย ชาวมังสวิรัติอาจจะคิดไปว่า เอ๊ะ! จานนี้มีน้ำมันหอยนี่นา …อย่าเพิ่งใจร้อนตัดสินกันไป เพราะกว่าจะมาถึงจานนี้มันมีที่มาที่ไป ลองมาอ่านกันเลย….

แต่ก่อนเวลากินกับพ่อจะสั่งเป็ดย่างเป็นประจำ แต่เมื่อเราหันมากินมังสวิรัติ ในช่วงแรกนั้นก็ยังสั่งเป็ดย่างมากิน แต่กินโดยที่ใจไม่ได้อยากกิน ไม่อร่อยแล้ว กินเป็นเพื่อนพ่อไป ต่อมาตั้งใจ ละเว้นเด็ดขาด แม้สั่งเป็ดย่างมาแต่ก็ไม่กิน สั่งเพื่อให้พ่อกินคนเดียว สุดท้ายก็ไม่หมด และเราก็ไม่ได้ช่วยกิน ปล่อยมันเหลือไว้อย่างนั้น จนพ่อบอกว่าครั้งหน้าไม่ต้องสั่งก็ได้ เราก็เลยเสนอว่า “ ครั้งหน้าเอาเป็น คะน้าฮ่องกงผัดน้ำมันหอย ดีไหม?” เพราะว่าเรามักจะกินเป็ดย่างกับบะหมี่หยกกันเป็นประจำ ถ้ามันขาดไปคงจะเหงาไปหน่อย ซึ่งในตอนนี้ คะน้าฮ่องกงผัดน้ำมันหอย เลยเป็นตัวแทนเป็ดย่างนั่นเอง เข้าสูตรการลด การกินเนื้อสัตว์แล้ว ส่วนจะพัฒนาไปอย่างไร ก็รอดูกันต่อไป

ถ้าเราสามารถละเว้นเนื้อสัตว์ได้สมบูรณ์แล้ว เราอาจจะอนุโลมเป็นกรณีไป ซึ่งต้องประมาณให้เกิดกุศล อย่าบ่อยจนเกินไป อย่างกรณีนี้เป็นคนในครอบครัว ซึ่งเราก็ไม่เคยไปบอกให้เขาหันมากินมังสวิรัติเหมือนเรานะ แค่ทำให้ดู กินให้ดู ไม่หันกลับไปอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ทำตัวไม่มั่นคง ให้เขาไขว้เขวว่ามังสวิรัติดีจริงรึเปล่า? ให้เขาสับสนว่าเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วมีความสุขจริงหรือ? เราจะพูดแต่เรื่องดีๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ได้จากการกินมังสวิรัติ โดยไม่ต้องไปกดดัน บีบคั้น หรือไปบอกว่าคนกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนอย่างไรให้เขาลำบากใจ

เชื่อไหมว่าเดี๋ยวเขาก็ตามมากินแบบเราเองนั่นแหละ อย่างน้อยเขาก็เห็นดีเห็นควรตามเรา แม้ว่าเขาจะสามารถกินมังสวิรัติได้เฉพาะเวลาร่วมโต๊ะกับเราก็ตาม แต่นั่นหมายถึงเราเปิดประตูและเชิญเขา เข้ามาสู่ชีวิตมังสวิรัติได้บ้างแล้ว เป็นกุศลมากพอแล้ว เพราะเรามีโอกาสจะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มอีกหนึ่งคน ในทางกลับกันถ้าเราไปกดดัน บีบคั้น รังเกียจคนกินเนื้อสัตว์ อาจจะเผลอไปพูดทำร้ายจิตใจเขา จนเสียโอกาสที่จะเพิ่มชาวมังสวิรัติไปอีกคนหรือหลายคนเลยก็ได้ เพราะจริงๆแล้วคนเราติดยึดไม่เท่ากัน กว่าเราจะออกจากการเบียดเบียน กว่าจะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ก็ใช้เวลากันนานพอสมควร …ดังนั้นการที่คนอื่นจะติดยึดในการกินเนื้อสัตว์ จะใช้เวลานานกว่าจะรู้ถึงผลเสีย จนถึงเนิ่นนานไปอีกกว่าจะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก

mk suki มังสวิรัติ - กินมังสวิรัติ ร้านสุกี้

มาต่อกันที่เมนูสุกี้มังสวิรัติ เราจะเพิ่มโปรตีนกันด้วยเต้าหู้ มีเต้าหู้มากมายให้เลือกสั่ง ที่ร้านสุกี้มักจะมีให้เลือกระหว่างเต้าหู้ไข่ กับเต้าหู้ธรรมดา ซึ่งน่าจะทำจากถั่วเป็นหลัก ใครอยากลองลดไข่ก็เริ่มจากสั่งเต้าหู้ถั่วเขียวไปก็ได้ เพราะกินไปก็ไม่ต่างกันเท่าไรนัก

ต่อกันที่เมนูเห็ด เลือกเห็ดมาสามชนิด คือ เห็ดฟาง เห็ดชิเมจิดำ เห็ดชิเมจิขาว คิดอะไรไม่ออกก็สั่งเห็ดนี่แหละ รวมๆแล้วแค่สั่งสามอย่างคือ ผัก เต้าหู้ เห็ด ให้หลากหลาย ก็มีของให้กินเต็มหม้อสุกี้แล้ว ไม่ต้องกลัวเลยว่าชาวมังสวิรัติจะต้องลำบากในร้านสุกี้ แม้ว่าเพื่อนๆ หรือผู้ร่วมโต๊ะจะกินเนื้อ เราก็กินมังสวิรัติของเราไปได้อย่างสบายใจ เพราะจิตใจเราไม่ได้อยากกินเนื้อ และไม่ได้รังเกียจคนที่กินเนื้อ เพราะเข้าใจดีว่าการเลิกกินเนื้อนั้นยาก ต้องใช้เวลา เราเข้าใจและเห็นใจ พร้อมทั้งยังให้อภัยที่พวกเขากินเนื้ออันมีส่วนในการเบียดเบียน และสุดท้ายเรานี่แหละคือตัวอย่างที่จะทำให้เขาเห็นว่ากินมังสวิรัติแล้วชีวิตดีขึ้นอย่างไร

mk suki มังสวิรัติ - กินมังสวิรัติ ร้านสุกี้

มาถึงสุดท้าย คือ แป้ง เป็นธาตุอาหารที่ขาดไม่ได้ของชาวมังสวิรัติ ตั้งแต่กินมังสวิรัติมา ไม่เคยลดแป้งเลย ไม่เคยงดข้าว ไม่เคยกินสลัดแทนข้าว (ยกเว้นว่าไปร้านสลัด) ข้าวนี่แหละจะทำให้เรามีแรง มีกำลัง ดังนั้นมากินสุกี้เราจึงสั่ง ข้าวสวย มาด้วยหนึ่งถ้วย เท่านั้นยังไม่พอ เรายังสั่ง เส้นอุด้ง มาด้วย เพื่อความหลากหลายในหม้อสุกี้ และที่ยังขาดไม่ได้คือ บะหมี่หยกราดน้ำเป็ด

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ เรากำลังจะปรับสู่ การลด ละ เลิก ในระดับสังคม ดังนั้นการเอื้อให้ผู้อื่นบ้าง ให้เขาได้ทดลองกินมังสวิรัติด้วยความรู้สึกไม่ลำบากจนเกินไป เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าเราไปบีบคั้น ด้วยข้อมูลมากมายว่ายังเหลือการเบียดเบียน กินเนื้อสัตว์ไม่ดี ฯลฯ อาจจะเรียกได้ว่าตึงจนเกินไป ซึ่งจริงๆแล้ว เราควรจะตึง หรือเคร่งกับตัวเองเท่านั้น และให้หย่อนกับคนอื่น ให้เมตตากับคนอื่นมากๆ มันไม่ใช่ความผิดของเขาเลย ที่เขาจะไม่รู้ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากการเบียดเบียน เรามีหน้าที่เพียงแค่บอกข้อมูลด้วยเมตตา บอกไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ บอกเนื้อหาให้เหมาะกับเขา พอที่เขาจะรับได้ เข้าใจได้ ไม่ลำบากใจจนเกินไปเขารับได้ เขาสนใจก็ยินดีกับเขา เขาไม่รับไม่สนใจ เราก็วางใจ ปล่อยวางไป

วิธีการเพิ่มชาวมังสวิรัติก็ไม่ได้ยากอะไร แค่ทำตัวเองให้มั่นคงกับการกินมังสวิรัติ ไม่ย่อหย่อน หาข้ออ้างมากมายเพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์อย่างสบายใจ ตัดเนื้อสัตว์ให้เด็ดขาด อย่าให้หลงเหลือแม้ความอยากในจิตใจ ให้เขาได้สงสัยในความตั้งใจของเรา ให้เขาเห็นสิ่งดีที่เกิดขึ้นจริงๆด้วยตัวเขาเอง ถ้าเราเชื่อในสัจจะว่าการไม่เบียดเบียนนำสุขมาให้ วันหนึ่งสิ่งนั้นจะแสดงผลของมันเอง และเมื่อเขาเห็นผล เข้าใจเหตุที่มาว่าทำไมจึงเกิดผลขึ้น ถึงวันนั้นเขาสนใจ เขาก็จะมากินมังสวิรัติตามเราเอง

มังเขี่ย

July 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,542 views 0

มังเขี่ย

การใช้ชีวิตมังสวิรัติในสังคมปัจจุบันนั้น เราอาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการกินมังสวิรัติสักเท่าไรนัก คงมีหลายครั้งที่เราต้องเข้าไปร่วมโต๊ะอาหารกับผู้ที่ไม่ได้กินมังสวิรัติ จะทำอย่างไรให้เรากินมังสวิรัติได้อย่างสบายใจ ไม่เบียดเบียนทั้งตัวเอง ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ไม่ทำให้คนอื่นลำบากใจ

มังเขี่ย คือกลยุทธ์หนึ่งในการกินมังสวิรัติ เมื่อเราต้องกินอาหารร่วมโต๊ะกับผู้คนที่หลากหลาย ก็ย่อมมีอาหารที่หลากหลายตามไปด้วยมีทั้งเนื้อสัตว์ทั้งผักปนเปกันไป เมื่อเห็นเช่นนั้น เราจึงใช้การกินมังสวิรัติแบบเขี่ย คือเขี่ยเอาเนื้อสัตว์ออกไป และเขี่ยผักเข้ามา เมื่อเรามีจิตใจที่ตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติ เราย่อมไม่หวั่นไหวต่อเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า ยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์และพยายามเอาตัวรอดโดยการกินแต่ผัก

และแม้ว่าอาหารที่เราสั่งนั้นจะมีเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบร่วม เราก็สามารถเขี่ยเนื้อออกไป โดยยกให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่ยังกินเนื้ออยู่ หรือจะเลือกละเว้นไว้ก็ได้ ถ้าให้ดีที่สุดก็เลือกที่จะสั่งอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ และถึงแม้เราว่าจะไม่กินเนื้อเหล่านั้น สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นอาหารของใครสักคนแน่ๆ ถึงไม่ใช่ใครสักคนก็อาจจะเป็นสัตว์สักตัว หรือไม่ก็กลายเป็นอาหารจุลินทรีย์ไป ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ยังยินดี ที่เราจะไม่ไปเสพผลของการเบียดเบียน ซึ่งจะกลับกลายมาเป็นวิบากกรรมของเราเองในวันใดวันหนึ่ง

มังเขี่ย ในอีกนัยหนึ่ง คือการเขี่ยเนื้อออกไปจากชีวิต และเขี่ยผักเข้ามาในชีวิต เราเลิกที่จะต้อนรับเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ไปโดยลำดับ เริ่มเรียนรู้การทดแทนอาหารต่างๆด้วยพืชผัก จนกระทั่งเราสามารถที่จะดำรงชีวิตด้วยพืชผักได้อย่างลงตัว มีความสุขกาย เบากาย มีกำลัง มีความยินดีในการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์และการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นโดยไม่มีความโหยหา คิดถึง ในเนื้อสัตว์ที่เคยยึดติดอีกต่อไป

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มังเขี่ยนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายอย่างใจคิด ทุกครั้งที่เราจะเขี่ยเนื้อออกไป เขี่ยผักเข้ามา เราต้องสู้กับกิเลสที่เราผูกมานานแสนนาน เรากินเนื้อสัตว์มาทั้งชีวิต โตขึ้นมาก็เพราะกินเนื้อสัตว์ ความทรงจำในชีวิตมีแต่เนื้อสัตว์ หิวทีไรก็นึกถึงแต่เนื้อสัตว์ ดังนั้นในทุกๆคำที่เราจะเขี่ยผักเข้ามาแทนที่เนื้อ เราต้องสู้กับกิเลสของเราอย่างแน่นอน จะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ไม่เป็นไร ให้เราตั้งใจพิจารณาโทษของการกินเนื้อ ความทุกข์ โรค ภัยที่เกิดกับร่างกายของเรา กรรมชั่วที่เราจะได้รับจากการมีส่วนเบียดเบียนในชีวิตอื่น จนกระทั่งวันหนึ่งเราเข้าใจถ่องแท้แล้วว่าการกินมังสวิรัตินี่แหละดีที่สุด วันนั้นเราจึงจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องโหยหาเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์อีกต่อไป

คนที่กินมังสวิรัติหลายๆคน ต่างก็เคยเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์ เคยเสพติดความอร่อยจากเนื้อสัตว์ ชีวิตประจำวันมีแต่อาหารที่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ แต่ทำไมวันนี้พวกเขาเหล่านั้นกลับเลือกที่จะเขี่ยเนื้อสัตว์ออกจากชีวิต และหันมาเขี่ยผักเข้าปากแทน มันน่าสนใจไหม ว่าทำไมเขาถึงยอมทิ้งสิ่งที่เคยคิดว่าดี คิดว่าสุขเหล่านั้น หรือเป็นเพราะว่า พวกเขาเจอสิ่งที่ดีกว่า?