Tag: อุตสาหกรรม

น้ำซุปกินได้ไหม?

September 8, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,763 views 0

น้ำซุปกินได้ไหม?

น้ำซุปกินได้ไหม?

น้ำซุปกับชาวมังฯ นั้นดูจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ที่หลายคนสงสัยว่ากินได้ไหม? แน่นอนว่าน้ำซุปส่วนมากประกอบด้วยกระดูกสัตว์ และส่วนประกอบอื่นๆของสัตว์ต่างๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เรา “ รู้กันดี ” อยู่แล้ว ดังนั้นหากจะบอกว่ามันเป็นมังสวิรัติไหม ก็คงไม่ แต่ก็ต้องดูรายละเอียดกันหน่อย

การกินมังสวิรัติได้ทันทีนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถลบบาปที่เคยทำมาตั้งแต่อดีตก่อนที่จะมากินมังสวิรัติได้ และน้อยคนนักที่จะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้อย่างเต็มตัวในทันที การกินมังสวิรัตินั้นต้องค่อยๆพัฒนา เหมือนเด็กทารก หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน จนกระทั่งวิ่งได้ ดังนั้นเราจึงมีกระบวนการที่เรียกว่า การลด ละ เลิก คือลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก

ลองจินตนาการดูว่าถ้าทุกคนในบ้าน ชุมชน ประเทศ หรือในโลก เลิกกินเนื้อเป็นชิ้นๆ แล้วอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์จะเป็นอย่างไร? ในเมื่อไม่มีการกินเนื้อเป็นชิ้นๆ แล้วยังจะมีการกินน้ำซุปจากกระดูกอีกหรือ? ในทำนองเดียวกันนั้นเอง เราจึงควรมุ่งเน้นในการลดการเบียดเบียนที่มากเสียก่อน แล้วค่อยมาทำสิ่งที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น คือลดเป็นลำดับๆไป

คนที่ตั้งใจกินมังสวิรัตินั้นเขาอาจจะไม่ได้อยากจะกินเนื้อสัตว์ แต่เพราะติดรสชาติของน้ำซุป หรืออยากมีน้ำซุปบ้าง อาจจะไม่รู้ว่าต้องสั่งอย่างไรบ้าง แต่ถ้าลดเนื้อเหลือแต่น้ำซุป ตรงนี้ก็เป็นการลดในขั้นที่ละเอียดกว่าในรูปแบบของชิ้นเนื้อทั่วไป เนื้อเป็นชิ้นๆเขาไม่กินแล้ว แต่เขายังเลิกบางอย่างไม่ได้เช่น น้ำซุป น้ำปลา กะปิ ไข่ ที่ประกอบอยู่ในอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาก็กำลังเพียรพยายามหาทาง ลด ละ เลิกต่อไป

ทีนี้คนที่มีความคิดในเชิงสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist หรือเรียกง่ายๆ ว่าติดดี ก็จะมีความรู้สึกว่ามันไม่ดี ไม่งาม ไม่สมบูรณ์พร้อม จนตัวเองนั้นเป็นทุกข์เมื่อได้เห็นคนที่บอกว่ากินมังสวิรัติกินน้ำซุปที่ประกอบด้วยกระดูกสัตว์ น้ำปลา กะปิ ไข่ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดนรก คือความเดือดเนื้อร้อนใจในจิตใจของตัวเอง เพราะคิดว่าตนเองทำได้แล้ว คนอื่นเขาจะต้องทำได้เหมือนตนเองมังสวิรัติมันต้องแบบนั้น มันต้องแบบนี้ถึงจะเรียกว่ามังสวิรัติ …สุดท้ายก็ทุกข์ไปคนเดียวนั่นแหละ

ซึ่งในความจริงมันเป็นแบบนั้นไม่ได้ หลายคนไม่ได้มีเหตุปัจจัยเอื้อให้กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์แบบ ทั้งสังคม สภาพแวดล้อม และกิเลสของเขาเอง เขาก็มีกรรมเป็นของเขา แล้วเราไปยุ่งกับเขา เราก็มาทุกข์ อันนี้มันก็หาเรื่องให้ตัวเองปวดหัวกับเรื่องคนอื่นมากเกินไปหน่อย ดังนั้นใครเขาจะลดเนื้อกินผักลีลาไหนก็เรื่องของเขาเถอะ เอาเราให้สมบูรณ์ก็พอ อย่าไปหวังความสมบูรณ์แบบอะไรกับคนอื่นเลย

เพราะจากวันนี้จนถึงวันที่โลกแตกก็ยังมีคนกินเนื้ออยู่ดีนั่นแหละ แล้วเราจะไปเพ่งโทษคนที่เขาพยายามจะลดเนื้อกินผัก หรือไปเพ่งโทษคนที่พยายามจะทำดี แบบนี้ไม่เรียกหาเหาใส่หัวหรือ? เขาพยายามทำดีเท่าที่เขาจะทำได้ก็ดีแล้วนี่ ดีกว่าเขาหันไปกินเนื้อ ไม่สนใจที่จะลด ละ เลิกเลย

ความติดดีนี่แหละ จะทำให้คนหัดกินมังสวิรัติด้วยกันเอือมระอาต่อความสมบูรณ์แบบของเรา กลายเป็นเขาเลิกกินมังสวิรัติเพราะรำคาญความสมบูรณ์แบบที่เขายังไม่พร้อมจะทำ ปล่อยให้คนเก่งอย่างเรากินไปคนเดียว แล้วทีนี้เราทำลายคนที่ตั้งใจจะลดเนื้อกินผักไป มันจะมีค่าอะไร กับแค่คนเก่งคนเดียวที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์แบบจะมีค่าอะไร เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่สามารถทำแค่ลดเนื้อแบบเป็นชิ้นๆได้ ผลรวมมันก็เบียดเบียนน้อยกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้นข้อสรุปที่ว่า น้ำซุปกินได้ไหม? ก็จะให้ความคิดเห็นว่า ถ้ามันลำบากใจ มากอยากกินมาก ก็กินไปเถอะ แต่ก็ให้พิจารณาโทษของมันไปเรื่อยๆ ว่ามีข้อเสียอย่างไร เบียดเบียนอย่างไร ถ้าวันหนึ่งมีกำลังใจ ตั้งใจจะเลิกเบียดเบียน ก็ลอง ลด ละ เลิกไปตามลำดับดู ให้แต่ละคนประมาณเอาเองว่าตัวเองไหวที่ระดับไหน ระดับไหนที่พอทำได้ ระดับไหนที่ฝืน ระดับไหนที่ทรมานมากเกินไป ก็ให้ประมาณกันให้พอดี ให้เหมาะกับพื้นฐานของแต่ละคน

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

July 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,008 views 0

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

บทความนี้จะเหมาะกับชาวมังสวิรัติผู้เลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว อยากพัฒนาขึ้นในขั้นต่อไปเพื่อลดการเบียดเบียนผู้อื่นลง ซึ่งอาจจะทำได้ยากสำหรับผู้หัดกินมังสวิรัติ แต่ก็สามารถที่จะทำได้หากมีเจตนาที่จะลดการเบียดเบียนอย่างตั้งมั่น

เมื่อชาวมังสวิรัติมีพัฒนาการ ในการลด ละ เลิกมาได้ถึงระดับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา อาหารทะเลและอื่นๆ ที่เป็นรูปแบบเนื้อสัตว์ที่ต้องพรากชีวิตมา ถึงจะได้กินก็ยังคงรู้สึกว่ามีความสุขอย่างปกติ ไม่มีการพลั้งเผลออยากกลับไปกินเนื้อเป็นชิ้นๆอีก เราก็จะมาลดการเบียดเบียนในขั้นต่อไปคือ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ

การกิน หรือใช้ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ ไม่ได้เกี่ยวกับการฆ่าโดยตรง แต่ก็มีผลโดยอ้อมซึ่งอาจจะมีผลไปถึงการฆ่าก็เป็นได้ และยังเป็นการเบียดเบียนซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ความลำบากมากมายต่อชีวิตสัตว์

เราอาจจะคิดไปว่า เราไม่ได้ฆ่า เราก็ไม่บาป แต่การคิดเช่นนั้นเป็นการคิดที่ยังไม่รอบคอบเท่าใดนัก เพราะว่าการที่เราไปกักขัง แย่งเอาของรักของเขา คือการเบียดเบียนเมื่อมีการเบียดเบียนก็ทำให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อชีวิตเราเอง เพราะการเบียดเบียนผู้อื่นทำให้เรามีโรคมาก มีอายุสั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้นำสิ่งนั้นมาเอง แต่ก็มีส่วนในการบริโภคสิ่งที่เบียดเบียน แล้ววิบากกรรมนี้จะไปไหนเสีย เราก็ได้รับไปเต็มๆพร้อมกับตอนที่เราคิดจะเสพนั่นเอง

นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง เบียดเบียนอย่างไร

จะลองยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพของการเบียดเบียนเหล่านี้ เช่น นม  นมในที่นี้จะเป็นนมจากสัตว์ จะขอยกตัวอย่างเป็นนมวัว

นมวัว เราต้องเลี้ยงวัว กักขังวัว ให้อยู่ในเขตที่เรากำหนดไว้ อาจจะเน่าเหม็น ร้อน อับชื้น แม้จะมีอาหารมาป้อนให้ แต่ก็ต้องถูกรีดนมด้วย เหมือนพนักงานบริษัทที่ถูกให้อยู่แต่ในออฟฟิศ นอนในออฟฟิศ มีอาหารให้ แต่ไม่ให้ออกไปไหน ทำงานตั้งแต่เด็กจนแก่อยู่ในนั้น ยิ่งเราบริโภค นมวัว มากขึ้นเท่าไหร่ รูปแบบการเบียดเบียนจะยิ่งหลากหลาย ยิ่งมากขึ้นไปตามละดับ เพราะผู้ผลิตก็ต้องหาวิธี ที่จะทำให้ได้มาซึ่งน้ำนมมากๆ แต่ใช้ต้นทุนน้อยลง สุดท้ายภาระก็จะตกไปที่วัวนั่นเอง เราสามารถหาสิ่งทดแทนนมวัวได้ เช่น นมถั่วเหลือง นมจากพืชต่างๆ เพื่อลดการเบียดเบียนวัว แพะ ฯลฯ และลดผลกระทบอีกมากมายในอุตสาหกรรมการผลิตนมจากสัตว์

เนย คือ ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมาจากนม ไม่ว่าจะเนยเหลว หรือเนยแข็งจำพวกชีส ในกระบวนการสร้างเนยไม่ได้เป็นการเบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ก็ยังมีที่มาจากนม ซึ่งหากเรายังต้องการใช้เนย ก็สามารถใช้เนยเทียม เช่น มาการีน ทดแทนได้ แน่นอนว่า กลิ่น รส อาจจะต่างไปบ้าง และแน่นอนเหมือนกันว่าผลของการเบียดเบียนก็ต่างไปด้วย

ไข่ จะยกตัวอย่างเป็นไข่ไก่ เวลาเรานึกถึงไข่ไก่ ภาพก็อาจจะออกมาเป็นภาพของไก่ที่เดินเล่นอยู่ในสวนหลังบ้าน กินอยู่อย่างธรรมชาติและออกไข่อย่างธรรมชาติ อย่างมากก็มีกรงใหญ่ๆกันไว้ไม่ให้ไก่ได้รับอันตรายจากหมาหรืองู เป็นภาพการเลี้ยงไก่ที่เห็นโดยทั่วไปในชนบท

แต่การผลิตไข่ไก่ เพื่อคนจำนวนมากใช้วิธีดังกล่าวไม่ได้ ฟาร์มไก่เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ในปัจจุบัน แม้จะมีมาตรฐานมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับไก่ที่ถูกขังอยู่ในช่องแคบๆ ทำได้แค่กินหัวอาหาร และน้ำ แล้วออกไข่ เป็นงานประจำที่น่าเบื่อ ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องทำงานอยู่แค่โต๊ะคอมพิวเตอร์ตรงหน้า ทำได้อย่างมากแค่ลุกขึ้นยืน แต่บิดขี้เกียจไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่ มีอาหารให้กิน ขับถ่ายลงบ่อข้างล่าง และนอนตรงนั้น ทำอย่างนี้ไปตั้งแต่เกิดจนแก่ พอแก่เกษียณอายุงานแล้วเขาก็ไม่ได้ปล่อยไปแบบดีๆ  เหมือนกับไก่ไข่ที่หมดศักยภาพในการออกไข่ ความตายจะไปไหนเสีย เพราะถ้าเลี้ยงไว้ก็จะเปลืองอาหาร เขาก็จะเปลี่ยนไก่ตัวนั้นเป็นสินทรัพย์ นั่นคือเอาไปฆ่าแล้วขายให้เรากินนั่นเอง

การที่เรายังกินไข่ไก่ เราก็ยังมีส่วนกักขัง ทรมาน จนถึงมีผลต่อการฆ่า ครบองค์ประกอบแบบนี้ไม่ต้องห่วงอีกเหมือนกันว่าจะต้องรับกรรมไหม โดนเต็มๆแน่นอน และแม้ว่าเราจะบอกว่าเราบริโภคไข่ออแกนิค เป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงอย่างธรรมชาติ ให้อาการตามธรรมชาติ ไม่ใช่หัวอาหารที่สังเคราะห์มา เราก็ยังต้องรับส่วนแห่งบาปอันคือการเบียดเบียนนั้นอยู่ มีไก่ตัวไหนที่ไข่แล้วไม่ไปกกไข่บ้าง โดยสัญญาติญาณแล้วไก่ก็จะรับรู้ได้ว่าเมื่อไข่แล้วก็ต้องไปกกไข่ การไปกกไข่คือความรับผิดชอบ ความรัก ความห่วงใยของแม่ไก่ การที่เราไปนำไข่ออกมาก็เหมือนไปแย่งชิงของรักของไก่มา ไก่มันไม่รู้หรอกว่าไข่ฟองนั้นจะฟักหรือไม่ฟัก มันรู้แค่ว่าไข่ออกมาแล้วมันต้องกก มันทำตามธรรมชาติของไก่ ไม่ได้ทำตามความคิดของคนที่ว่าไก่ต้องไข่ให้เรากิน ดังนั้นการไปแย่งชิงของรักของเขา ของที่เขาไม่ยินดีให้ จะไม่ถือเป็นการผิดศีลข้อ ๒ คือการลักขโมย หรือเอาของที่ผู้อื่นไม่ยินดีให้ได้อย่างไร

เราไม่จำเป็นต้องหาสิ่งทดแทนไข่ไก่ เพราะไม่ว่าจะเป็นไข่เป็ด ไข่นกอะไรก็ตาม ก็ถือเป็นการแย่งชิง เบียดเบียนเช่นกัน เราสามารถหาธาตุอาหารทดแทนได้จากธัญพืช แน่นอนว่าอาจจะไม่เหมือน ไม่ครบถ้วน แต่จริงๆแล้วชีวิตเราไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทุกอย่าง เราก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เพราะการไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อย ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการได้รับธาตุอาหารมากแต่ก็มีโรคมาก

น้ำผึ้ง วัตถุดิบที่ถูกใช้อย่างมากในอาหารจำพวกของหวาน หรือแม้แต่การเสริมความงาม การที่จะได้น้ำผึ้งมา ก็จะแบ่งง่ายๆ เป็นสองแหล่ง หนึ่งคือไปแย่งชิงจากธรรมชาติมา สองคือสร้างธรรมชาติจำลองมาแล้วให้ผึ้งทำงานสร้างรังในที่ของเรา สุดท้ายก็เก็บค่าเช่าเป็นรังผึ้งที่เขาสร้าง อาจจะลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ว่า เราทำงานเอาเงินทั้งหมดมาซื้อบ้าน ค่อยๆแต่งบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งต่อเติมจนยิ่งใหญ่ สวยงามน่าอยู่ สะดวกสบาย เมื่อวันที่ใกล้จะผ่อนบ้านหมดก็เกิดวิกฤตทางการเงิน สุดท้ายก็โดนธนาคารมายึดบ้านไป เรื่องนี้ก็คงจะคล้ายๆกับเรื่องของผึ้งที่สร้างรังจนยิ่งใหญ่ สุดท้ายก็โดนคนมาพราก มาขโมยเอาไป ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าการลักขโมย การเบียดเบียนนั้นไม่ผิด

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นการเบียดเบียนที่น้อยกว่าการเสพเนื้อสัตว์โดยตรง อาจจะหลุดจากแนวคิดมังสวิรัติไปบ้าง แต่จุดประสงค์ของเราคือการลดการเบียดเบียน ซึ่งคงต้องพัฒนาให้เบียดเบียนน้อยลงเรื่อยๆจนถึงวันหนึ่งที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด แต่กลับสร้างประโยชน์ ช่วยคนอื่น ช่วยอนุเคราะห์โลก เป็นประโยชน์ สร้างความสุขแก่โลกนี้ได้มากที่สุด

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

July 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,692 views 0

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตา เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบายและอบอุ่นไปทั้งใจเมื่อได้รับ มีคุณค่ามากมายเมื่อเมตตาได้งอกงามและเจริญในจิตใจ ชาวมังสวิรัติมักจะใช้เมตตาเป็นตัวนำในการพาตัวเองไปสู่ชีวิตมังสวิรัติ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ลด ละ เลิก การเบียดเบียนได้

เมตตากับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัติ

เมตตา สำหรับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้น การที่เราจะพัฒนาเมตตาได้นั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสัตว์ที่มาเป็นอาหารของเรานั้น เกิดมาทำไม ใช้ชีวิตแบบใด และจากโลกนี้ไปอย่างไร มีสื่อมากมายที่ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตเหล่านั้น หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยรับรู้ข้อมูล แต่เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกสงสาร เห็นใจ สลด หดหู่ ฯลฯ ใจที่มีเมตตาจะเริ่มเจริญงอกงามขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อรู้สึกสงสารแล้วก็เริ่มอยากจะช่วยเหลือ เริ่มที่จะรู้สึกว่าไม่อยากเบียดเบียน จึงเริ่มสนใจเข้าสู่การกินมังสวิรัติ อันคือ “ความกรุณา

ผู้คนมากมาย ที่รับรู้ความโหดร้าย ความทรมานในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตเมตตา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดกรุณา คือลงมือทำเพื่อลดการเบียดเบียน เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองมาสู่การ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ มาลดเนื้อกินผัก การจะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้น จำเป็นต้องมีเมตตาและกรุณาที่มีกำลังมากพอที่จะไปตัดความอยากเสพเนื้อสัตว์

ความอยากเสพ คือ ความหลงติด หลงยึด หลงผิดไปว่า ถ้าฉันได้สิ่งนี้มาฉันจะมีความสุข ถ้าฉันได้กินฉันจะอร่อย ทั้งหมดนี้คือ “ กิเลส ” ที่สร้างความสุขลวง สร้างรสอร่อยขึ้นมา การออกจากสภาพติดยึดเหล่านี้ต้องใช้เมตตาและกรุณา คือความรักความเห็นใจต่อสัตว์โลก และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเบียดเบียนชีวิตของเขา และยังใช้ความเกลียดสิ่งที่ชั่ว อันคือความโหดร้าย ทารุณ การเบียดเบียนต่างๆ เข้ามาเสริมความยึดดีในจิตใจเพื่อการออกจากนรกของการเสพ

การจะก้าวเข้าสู่ชีวิตนักมังสวิรัติได้ จำเป็นต้องใช้ “ความพยายาม ” มากกว่าการเจริญเมตตาและกรุณา คือต้องพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย จากการไปเสพเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งพิจารณาประโยชน์จากการเลิกเสพเนื้อสัตว์ ในด้านสุขภาพ การเงิน เวลา สังคม กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และพิจารณาหลักธรรมข้ออื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ ความเป็นทุกข์จากการเสพหรือไม่ได้เสพเนื้อสัตว์ ความไม่มีตัวตนแก่นสารสาระแท้ใดๆในการเสพเนื้อสัตว์ ก็จะสามารถทำให้ผู้กินมังสวิรัติมือใหม่ พัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุขและยั่งยืนได้

เมื่อพัฒนาจนเต็มที่จะพบว่า แม้จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีความสุขจากการเสพเหมือนเดิม ความอร่อยจากเนื้อสัตว์ที่เคยมีจะหายไป เหลือแต่ความอร่อยจากรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่จะได้ความสุขจากการไม่เสพขึ้นมาแทน  นักมังสวิรัติที่ไม่สามารถลด ละ เลิก ความอยากเสพ หรือ กามสุขลิกะ อันคือความสุดโต่งไปในด้านของการเสพ (กิเลสในมุมเสพวัตถุ) จะไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ยั่งยืน แม้จะกินมานาน 30-40 ปี ก็มีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อยู่ เพราะความอยากยังไม่ตาย กิเลสที่มีจะแค่ถูกกดข่ม ถูกลืมไป แต่กิเลสจะแอบพัฒนาตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ และส่งผลออกมาในภายหลัง ในลักษณะที่เรียกว่า “ตบะแตก

ดังนั้นจำนวนปีหรือช่วงเวลาที่ลด ละ เลิก ได้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าเราจะออกจาก ความอยากเสพได้ หากเรามุ่งเป้าหมายว่าจะเมตตาสัตว์โลก ลดการเบียดเบียน ความอยากเสพเป็นรากของกิเลสที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเป็นตัวอย่างของนักมังสวิรัติที่ไม่ดี ปากก็บอกคนอื่นว่ากินมังสวิรัติ แต่แล้วเวลาเผลอก็แอบไปกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ก็กดข่มจนสุดท้ายก็ตบะแตกไปกินเนื้อสัตว์ จึงเกิดมีคำถามจากผู้คนทั่วไปว่ากินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร? กินแล้วทรมานจากความอยากแล้วมันดีอย่างไร? แล้วชาวมังสวิรัติจะตอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ลดความอยากยังไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน และค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง ” ดังนั้นนักมังสวิรัติ พึงระวังไว้ด้วยว่าเรานี่แหละคือตัวอย่างของคนกินมังสวิรัติ แม้เราจะไม่ได้บอกใครว่ากินมังสวิรัติดีอย่างไร แต่เขาจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตวิถีชีวิตของเรา คือ การสอนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากสอน

 

เมตตาสำหรับนักมังสวิรัติ

ชาวมังสวิรัติที่สามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด แม้จะต้องไปอยู่ที่ต่างถิ่น ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถรักษาศีลไว้ได้ไม่ขาด มีศิลปะในการเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ หรือผู้ผ่านด่านความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว มีเมตตากรุณากับเหล่าสัตว์ผู้ที่เคยเป็นอาหาร มีความสุขแม้ว่าจะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เหมือนอย่างเคย

แต่ก็มักจะมาติดนรกอีกตัวคือ ความยึดดี ถือดี …เมื่อเมตตาไม่ได้เจริญครอบคลุมไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนที่เขายังไม่เข้าใจถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการเบียดเบียนชีวิตอื่น ก็มักจะไปเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าจิตใจไม่ดี ไม่เมตตา ไม่กรุณา ต่างๆนาๆ จนทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์

ลักษณะอาการ คือ เมื่อเห็นคนกินมังสวิรัติก็จะยินดี ดีใจ มีจิตมุทิตากับเขาได้โดยมีแต่ความสุข แต่เมื่อเห็นคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่เห็นคนที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ กลับไม่สามารถที่จะทำใจให้ยินดีกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ได้ จึงยินร้าย ขุ่นมัว ไม่พอใจ เพ่งโทษ ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็อาจจะมีคำพูด ลีลาท่าทาง หรือการสื่อสารที่แสดงอาการไม่พอใจออกมา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนติดดี ยึดดี ถือดี เป็น “นรกของคนดี” เป็นคนดีที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะมีแต่ความกดดัน จึงเป็นคนดีที่ไม่มีใครต้องการ สะสมแต่ “อัตตา” พอกพูนจนเกิดความทุกข์ทั้งตนเองและคนอื่น

เราใช้ อัตตา หรือการยึดดี ถือดี ในการก้าวข้าม ความอยากเสพเนื้อสัตว์มา แต่ในตอนสุดท้ายก็ต้องทำลายอัตตา คือความยึดดี ถือดี เหล่านั้นทิ้งด้วย “ อุเบกขา ” หรือการปล่อยวาง

เมื่อเรามีอัตตา เราจะอยากเสพดีจากคนอื่น คือ แต่ก่อนเราเคยอยากเสพเนื้อสัตว์ แต่พอหลุดจากการเสพเนื้อสัตว์ เราก็มาติดดี หลงว่าต้องเลิกเสพเนื้อสัตว์จึงจะดี จึงกลายเป็นอยากให้คนอื่นทำดีอย่างเรา ทำอย่างที่ใจเราคิด ทำอย่างที่เราทำได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ใครทำผิดกฎ ใครมาว่าคนกินมังสวิรัติ เราก็ทุกข์ ทั้งหมดนี่เป็นอาการอยากเสพสิ่งที่ดีจากคนอื่น เกิดดีสมใจจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีสมใจก็เป็นทุกข์

ถ้ามาถึงตรงนี้ต้อง พิจารณาความจริง ตามความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง “ความยึดมั่นถือมั่น”  คือ ให้เมตตาขยายไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส การที่เขายังเสพติดเนื้อสัตว์เพราะเขายังมีกิเลส เหมือนอย่างที่เราเคยมีเมื่อก่อน เขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้กิเลสอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ให้เข้าใจว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่สัตว์เหล่านั้นถูกฆ่าเพื่อกินก็เป็นกรรมที่พวกเขาทำมาเอง ถ้าพวกเขาไม่เคยเบียดเบียนก็ไม่มีทางที่จะถูกเบียดเบียน เราไปห้ามกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน ”ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้ทำมา สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่เขาทำมาแล้วทั้งนั้น” เป็นสัจจะที่ใช้พิจารณาความจริงได้ตลอดกาล

หากชาวมังสวิรัติมีโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมังสวิรัติ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ไม่ต้องใส่ความโกรธ ใส่การเปรียบเทียบ ใส่การยกตนข่มคนอื่น ใส่ความยึดดีถือดีลงไป เพราะแม้เราจะเป็นกินมังสวิรัติได้อย่างบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถเมตตาคนอื่นได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะปล่อยคำพูดที่เหน็บแนม ดูถูก เหยียดหยัน ประณาม กดดัน ฯลฯ ซึ่งก็คงยากที่จะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มได้ เพราะการสื่อสารที่มีอัตตาปน ผู้รับฟังจะสามารถรู้สึกได้ เช่น ไม่ระรื่นหู ไม่สบายใจที่จะฟัง ฟังแล้วอึดอัด กดดัน ฯลฯ แม้โดยรวมจะดูเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คำพูดสวยหรู เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเหตุทำให้การสื่อสารเหล่านั้นไร้ประสิทธิผลคือ เขาก็พูดดีนะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับฟัง

เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุปัจจัยของการเกิดสิ่งต่างๆด้วยปัญญาแล้ว จึงจะสามารถปล่อยวางความอยากเสพและความยึดดี ถือดี ทั้งหมดได้ กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สื่อสารด้วยเมตตา ไม่มีอัตตาปน มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย มีมุทิตาจิตได้ในทุกๆสถานการณ์ เมื่อได้ทำดีอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลอาจจะไม่เกิดดีตามที่ทำก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างด้วยใจที่เป็นสุข

คำว่า “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “วางเฉย” ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการนำเสนอประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกินมังสวิรัติแก่เพื่อนมนุษย์ แต่หมายถึง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ว่าดีต้องเกิด เกิดดีจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีแล้วทุกข์ งานเผยแพร่ข้อมูลมังสวิรัตินั้นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ในงานนั้นหายไป เพราะชาวมังสวิรัติได้กำจัดอัตตา คือความยึดดี ถือดี อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสสิ้นไปแล้ว

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ค้ำจุนโลก

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมวิหาร ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งความผาสุกที่ควรสร้าง พัฒนา ขยายขอบเขตให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป