Tag: ทรมาน

น้ำซุปกินได้ไหม?

September 8, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,784 views 0

น้ำซุปกินได้ไหม?

น้ำซุปกินได้ไหม?

น้ำซุปกับชาวมังฯ นั้นดูจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ที่หลายคนสงสัยว่ากินได้ไหม? แน่นอนว่าน้ำซุปส่วนมากประกอบด้วยกระดูกสัตว์ และส่วนประกอบอื่นๆของสัตว์ต่างๆอีกมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เรา “ รู้กันดี ” อยู่แล้ว ดังนั้นหากจะบอกว่ามันเป็นมังสวิรัติไหม ก็คงไม่ แต่ก็ต้องดูรายละเอียดกันหน่อย

การกินมังสวิรัติได้ทันทีนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถลบบาปที่เคยทำมาตั้งแต่อดีตก่อนที่จะมากินมังสวิรัติได้ และน้อยคนนักที่จะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้อย่างเต็มตัวในทันที การกินมังสวิรัตินั้นต้องค่อยๆพัฒนา เหมือนเด็กทารก หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน จนกระทั่งวิ่งได้ ดังนั้นเราจึงมีกระบวนการที่เรียกว่า การลด ละ เลิก คือลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก

ลองจินตนาการดูว่าถ้าทุกคนในบ้าน ชุมชน ประเทศ หรือในโลก เลิกกินเนื้อเป็นชิ้นๆ แล้วอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์จะเป็นอย่างไร? ในเมื่อไม่มีการกินเนื้อเป็นชิ้นๆ แล้วยังจะมีการกินน้ำซุปจากกระดูกอีกหรือ? ในทำนองเดียวกันนั้นเอง เราจึงควรมุ่งเน้นในการลดการเบียดเบียนที่มากเสียก่อน แล้วค่อยมาทำสิ่งที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น คือลดเป็นลำดับๆไป

คนที่ตั้งใจกินมังสวิรัตินั้นเขาอาจจะไม่ได้อยากจะกินเนื้อสัตว์ แต่เพราะติดรสชาติของน้ำซุป หรืออยากมีน้ำซุปบ้าง อาจจะไม่รู้ว่าต้องสั่งอย่างไรบ้าง แต่ถ้าลดเนื้อเหลือแต่น้ำซุป ตรงนี้ก็เป็นการลดในขั้นที่ละเอียดกว่าในรูปแบบของชิ้นเนื้อทั่วไป เนื้อเป็นชิ้นๆเขาไม่กินแล้ว แต่เขายังเลิกบางอย่างไม่ได้เช่น น้ำซุป น้ำปลา กะปิ ไข่ ที่ประกอบอยู่ในอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาก็กำลังเพียรพยายามหาทาง ลด ละ เลิกต่อไป

ทีนี้คนที่มีความคิดในเชิงสมบูรณ์แบบ หรือ Perfectionist หรือเรียกง่ายๆ ว่าติดดี ก็จะมีความรู้สึกว่ามันไม่ดี ไม่งาม ไม่สมบูรณ์พร้อม จนตัวเองนั้นเป็นทุกข์เมื่อได้เห็นคนที่บอกว่ากินมังสวิรัติกินน้ำซุปที่ประกอบด้วยกระดูกสัตว์ น้ำปลา กะปิ ไข่ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดนรก คือความเดือดเนื้อร้อนใจในจิตใจของตัวเอง เพราะคิดว่าตนเองทำได้แล้ว คนอื่นเขาจะต้องทำได้เหมือนตนเองมังสวิรัติมันต้องแบบนั้น มันต้องแบบนี้ถึงจะเรียกว่ามังสวิรัติ …สุดท้ายก็ทุกข์ไปคนเดียวนั่นแหละ

ซึ่งในความจริงมันเป็นแบบนั้นไม่ได้ หลายคนไม่ได้มีเหตุปัจจัยเอื้อให้กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์แบบ ทั้งสังคม สภาพแวดล้อม และกิเลสของเขาเอง เขาก็มีกรรมเป็นของเขา แล้วเราไปยุ่งกับเขา เราก็มาทุกข์ อันนี้มันก็หาเรื่องให้ตัวเองปวดหัวกับเรื่องคนอื่นมากเกินไปหน่อย ดังนั้นใครเขาจะลดเนื้อกินผักลีลาไหนก็เรื่องของเขาเถอะ เอาเราให้สมบูรณ์ก็พอ อย่าไปหวังความสมบูรณ์แบบอะไรกับคนอื่นเลย

เพราะจากวันนี้จนถึงวันที่โลกแตกก็ยังมีคนกินเนื้ออยู่ดีนั่นแหละ แล้วเราจะไปเพ่งโทษคนที่เขาพยายามจะลดเนื้อกินผัก หรือไปเพ่งโทษคนที่พยายามจะทำดี แบบนี้ไม่เรียกหาเหาใส่หัวหรือ? เขาพยายามทำดีเท่าที่เขาจะทำได้ก็ดีแล้วนี่ ดีกว่าเขาหันไปกินเนื้อ ไม่สนใจที่จะลด ละ เลิกเลย

ความติดดีนี่แหละ จะทำให้คนหัดกินมังสวิรัติด้วยกันเอือมระอาต่อความสมบูรณ์แบบของเรา กลายเป็นเขาเลิกกินมังสวิรัติเพราะรำคาญความสมบูรณ์แบบที่เขายังไม่พร้อมจะทำ ปล่อยให้คนเก่งอย่างเรากินไปคนเดียว แล้วทีนี้เราทำลายคนที่ตั้งใจจะลดเนื้อกินผักไป มันจะมีค่าอะไร กับแค่คนเก่งคนเดียวที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์แบบจะมีค่าอะไร เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่สามารถทำแค่ลดเนื้อแบบเป็นชิ้นๆได้ ผลรวมมันก็เบียดเบียนน้อยกว่าอยู่แล้ว

ดังนั้นข้อสรุปที่ว่า น้ำซุปกินได้ไหม? ก็จะให้ความคิดเห็นว่า ถ้ามันลำบากใจ มากอยากกินมาก ก็กินไปเถอะ แต่ก็ให้พิจารณาโทษของมันไปเรื่อยๆ ว่ามีข้อเสียอย่างไร เบียดเบียนอย่างไร ถ้าวันหนึ่งมีกำลังใจ ตั้งใจจะเลิกเบียดเบียน ก็ลอง ลด ละ เลิกไปตามลำดับดู ให้แต่ละคนประมาณเอาเองว่าตัวเองไหวที่ระดับไหน ระดับไหนที่พอทำได้ ระดับไหนที่ฝืน ระดับไหนที่ทรมานมากเกินไป ก็ให้ประมาณกันให้พอดี ให้เหมาะกับพื้นฐานของแต่ละคน

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

July 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,025 views 0

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

บทความนี้จะเหมาะกับชาวมังสวิรัติผู้เลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว อยากพัฒนาขึ้นในขั้นต่อไปเพื่อลดการเบียดเบียนผู้อื่นลง ซึ่งอาจจะทำได้ยากสำหรับผู้หัดกินมังสวิรัติ แต่ก็สามารถที่จะทำได้หากมีเจตนาที่จะลดการเบียดเบียนอย่างตั้งมั่น

เมื่อชาวมังสวิรัติมีพัฒนาการ ในการลด ละ เลิกมาได้ถึงระดับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา อาหารทะเลและอื่นๆ ที่เป็นรูปแบบเนื้อสัตว์ที่ต้องพรากชีวิตมา ถึงจะได้กินก็ยังคงรู้สึกว่ามีความสุขอย่างปกติ ไม่มีการพลั้งเผลออยากกลับไปกินเนื้อเป็นชิ้นๆอีก เราก็จะมาลดการเบียดเบียนในขั้นต่อไปคือ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ

การกิน หรือใช้ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ ไม่ได้เกี่ยวกับการฆ่าโดยตรง แต่ก็มีผลโดยอ้อมซึ่งอาจจะมีผลไปถึงการฆ่าก็เป็นได้ และยังเป็นการเบียดเบียนซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ความลำบากมากมายต่อชีวิตสัตว์

เราอาจจะคิดไปว่า เราไม่ได้ฆ่า เราก็ไม่บาป แต่การคิดเช่นนั้นเป็นการคิดที่ยังไม่รอบคอบเท่าใดนัก เพราะว่าการที่เราไปกักขัง แย่งเอาของรักของเขา คือการเบียดเบียนเมื่อมีการเบียดเบียนก็ทำให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อชีวิตเราเอง เพราะการเบียดเบียนผู้อื่นทำให้เรามีโรคมาก มีอายุสั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้นำสิ่งนั้นมาเอง แต่ก็มีส่วนในการบริโภคสิ่งที่เบียดเบียน แล้ววิบากกรรมนี้จะไปไหนเสีย เราก็ได้รับไปเต็มๆพร้อมกับตอนที่เราคิดจะเสพนั่นเอง

นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง เบียดเบียนอย่างไร

จะลองยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพของการเบียดเบียนเหล่านี้ เช่น นม  นมในที่นี้จะเป็นนมจากสัตว์ จะขอยกตัวอย่างเป็นนมวัว

นมวัว เราต้องเลี้ยงวัว กักขังวัว ให้อยู่ในเขตที่เรากำหนดไว้ อาจจะเน่าเหม็น ร้อน อับชื้น แม้จะมีอาหารมาป้อนให้ แต่ก็ต้องถูกรีดนมด้วย เหมือนพนักงานบริษัทที่ถูกให้อยู่แต่ในออฟฟิศ นอนในออฟฟิศ มีอาหารให้ แต่ไม่ให้ออกไปไหน ทำงานตั้งแต่เด็กจนแก่อยู่ในนั้น ยิ่งเราบริโภค นมวัว มากขึ้นเท่าไหร่ รูปแบบการเบียดเบียนจะยิ่งหลากหลาย ยิ่งมากขึ้นไปตามละดับ เพราะผู้ผลิตก็ต้องหาวิธี ที่จะทำให้ได้มาซึ่งน้ำนมมากๆ แต่ใช้ต้นทุนน้อยลง สุดท้ายภาระก็จะตกไปที่วัวนั่นเอง เราสามารถหาสิ่งทดแทนนมวัวได้ เช่น นมถั่วเหลือง นมจากพืชต่างๆ เพื่อลดการเบียดเบียนวัว แพะ ฯลฯ และลดผลกระทบอีกมากมายในอุตสาหกรรมการผลิตนมจากสัตว์

เนย คือ ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมาจากนม ไม่ว่าจะเนยเหลว หรือเนยแข็งจำพวกชีส ในกระบวนการสร้างเนยไม่ได้เป็นการเบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ก็ยังมีที่มาจากนม ซึ่งหากเรายังต้องการใช้เนย ก็สามารถใช้เนยเทียม เช่น มาการีน ทดแทนได้ แน่นอนว่า กลิ่น รส อาจจะต่างไปบ้าง และแน่นอนเหมือนกันว่าผลของการเบียดเบียนก็ต่างไปด้วย

ไข่ จะยกตัวอย่างเป็นไข่ไก่ เวลาเรานึกถึงไข่ไก่ ภาพก็อาจจะออกมาเป็นภาพของไก่ที่เดินเล่นอยู่ในสวนหลังบ้าน กินอยู่อย่างธรรมชาติและออกไข่อย่างธรรมชาติ อย่างมากก็มีกรงใหญ่ๆกันไว้ไม่ให้ไก่ได้รับอันตรายจากหมาหรืองู เป็นภาพการเลี้ยงไก่ที่เห็นโดยทั่วไปในชนบท

แต่การผลิตไข่ไก่ เพื่อคนจำนวนมากใช้วิธีดังกล่าวไม่ได้ ฟาร์มไก่เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ในปัจจุบัน แม้จะมีมาตรฐานมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับไก่ที่ถูกขังอยู่ในช่องแคบๆ ทำได้แค่กินหัวอาหาร และน้ำ แล้วออกไข่ เป็นงานประจำที่น่าเบื่อ ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องทำงานอยู่แค่โต๊ะคอมพิวเตอร์ตรงหน้า ทำได้อย่างมากแค่ลุกขึ้นยืน แต่บิดขี้เกียจไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่ มีอาหารให้กิน ขับถ่ายลงบ่อข้างล่าง และนอนตรงนั้น ทำอย่างนี้ไปตั้งแต่เกิดจนแก่ พอแก่เกษียณอายุงานแล้วเขาก็ไม่ได้ปล่อยไปแบบดีๆ  เหมือนกับไก่ไข่ที่หมดศักยภาพในการออกไข่ ความตายจะไปไหนเสีย เพราะถ้าเลี้ยงไว้ก็จะเปลืองอาหาร เขาก็จะเปลี่ยนไก่ตัวนั้นเป็นสินทรัพย์ นั่นคือเอาไปฆ่าแล้วขายให้เรากินนั่นเอง

การที่เรายังกินไข่ไก่ เราก็ยังมีส่วนกักขัง ทรมาน จนถึงมีผลต่อการฆ่า ครบองค์ประกอบแบบนี้ไม่ต้องห่วงอีกเหมือนกันว่าจะต้องรับกรรมไหม โดนเต็มๆแน่นอน และแม้ว่าเราจะบอกว่าเราบริโภคไข่ออแกนิค เป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงอย่างธรรมชาติ ให้อาการตามธรรมชาติ ไม่ใช่หัวอาหารที่สังเคราะห์มา เราก็ยังต้องรับส่วนแห่งบาปอันคือการเบียดเบียนนั้นอยู่ มีไก่ตัวไหนที่ไข่แล้วไม่ไปกกไข่บ้าง โดยสัญญาติญาณแล้วไก่ก็จะรับรู้ได้ว่าเมื่อไข่แล้วก็ต้องไปกกไข่ การไปกกไข่คือความรับผิดชอบ ความรัก ความห่วงใยของแม่ไก่ การที่เราไปนำไข่ออกมาก็เหมือนไปแย่งชิงของรักของไก่มา ไก่มันไม่รู้หรอกว่าไข่ฟองนั้นจะฟักหรือไม่ฟัก มันรู้แค่ว่าไข่ออกมาแล้วมันต้องกก มันทำตามธรรมชาติของไก่ ไม่ได้ทำตามความคิดของคนที่ว่าไก่ต้องไข่ให้เรากิน ดังนั้นการไปแย่งชิงของรักของเขา ของที่เขาไม่ยินดีให้ จะไม่ถือเป็นการผิดศีลข้อ ๒ คือการลักขโมย หรือเอาของที่ผู้อื่นไม่ยินดีให้ได้อย่างไร

เราไม่จำเป็นต้องหาสิ่งทดแทนไข่ไก่ เพราะไม่ว่าจะเป็นไข่เป็ด ไข่นกอะไรก็ตาม ก็ถือเป็นการแย่งชิง เบียดเบียนเช่นกัน เราสามารถหาธาตุอาหารทดแทนได้จากธัญพืช แน่นอนว่าอาจจะไม่เหมือน ไม่ครบถ้วน แต่จริงๆแล้วชีวิตเราไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทุกอย่าง เราก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เพราะการไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อย ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการได้รับธาตุอาหารมากแต่ก็มีโรคมาก

น้ำผึ้ง วัตถุดิบที่ถูกใช้อย่างมากในอาหารจำพวกของหวาน หรือแม้แต่การเสริมความงาม การที่จะได้น้ำผึ้งมา ก็จะแบ่งง่ายๆ เป็นสองแหล่ง หนึ่งคือไปแย่งชิงจากธรรมชาติมา สองคือสร้างธรรมชาติจำลองมาแล้วให้ผึ้งทำงานสร้างรังในที่ของเรา สุดท้ายก็เก็บค่าเช่าเป็นรังผึ้งที่เขาสร้าง อาจจะลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ว่า เราทำงานเอาเงินทั้งหมดมาซื้อบ้าน ค่อยๆแต่งบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งต่อเติมจนยิ่งใหญ่ สวยงามน่าอยู่ สะดวกสบาย เมื่อวันที่ใกล้จะผ่อนบ้านหมดก็เกิดวิกฤตทางการเงิน สุดท้ายก็โดนธนาคารมายึดบ้านไป เรื่องนี้ก็คงจะคล้ายๆกับเรื่องของผึ้งที่สร้างรังจนยิ่งใหญ่ สุดท้ายก็โดนคนมาพราก มาขโมยเอาไป ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าการลักขโมย การเบียดเบียนนั้นไม่ผิด

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นการเบียดเบียนที่น้อยกว่าการเสพเนื้อสัตว์โดยตรง อาจจะหลุดจากแนวคิดมังสวิรัติไปบ้าง แต่จุดประสงค์ของเราคือการลดการเบียดเบียน ซึ่งคงต้องพัฒนาให้เบียดเบียนน้อยลงเรื่อยๆจนถึงวันหนึ่งที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด แต่กลับสร้างประโยชน์ ช่วยคนอื่น ช่วยอนุเคราะห์โลก เป็นประโยชน์ สร้างความสุขแก่โลกนี้ได้มากที่สุด

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

July 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,041 views 0

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

เมื่อเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมังสวิรัติ มาลดเนื้อกินผัก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เมนูอาหารที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือกระทั่งสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนก็ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมี แต่เป็นแค่ช่วงเวลาที่สิ่งใหม่ (คือ การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผัก) กับสิ่งเก่า( คือ วิธีชีวิตเดิมของเรา) กำลังปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะพัฒนาเป็นชีวิตใหม่ที่มีความผาสุกยิ่งขึ้น

แต่การเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก สู่ชีวิตมังสวิรัติ หรือลดเนื้อกินผัก นั้นไม่ได้ง่ายขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น อาจจะกลายเป็นความเบียดเบียนตัวเราเองก็ได้

การเบียดเบียนในช่วงที่ยังพยายามลด ละ เลิกเนื้อสัตว์

เราเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ด้วยการไม่ส่งเสริมให้ฆ่า โดยการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ หรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่เมื่อทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะพบว่า ชีวิตเริ่มจะลำบาก รู้สึกว่าทรมาน รู้สึกว่าอยากกินเนื้อสัตว์ รู้สึกว่าเข้าสังคมยาก รู้สึกว่าไม่มีความสุข ในสภาพจิตใจเช่นนี้ จะเริ่มเข้าข่ายการเบียดเบียนตัวเอง“ หากเรายังฝืนทนกับความอยากที่เกินกำลังที่เราสามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งเราก็อาจจะทนได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีอาการตบะแตก หรือเลิกล้ม เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ เข็ดขยาดกับความทรมาน ที่ต้องอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งที่ความอยากเสพนั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

การเบียดเบียนตัวเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความตั้งใจเกินกำลัง ที่เราทำได้จริงเช่น เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งๆที่ยังอยากกินมากยังติดอยู่มาก หรือเลิกกินน้ำปลา น้ำซุป น้ำมันหอย ไข่ เนย ฯลฯ ทั้งๆที่ยังไม่เรียนรู้ที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ให้เรากินได้ ทำให้รู้สึกกดดันตัวเอง หาอะไรกินยาก แม้ว่าเราจะทำได้ ก็ทำได้แค่ระดับฝืนทน กดข่ม ยิ่งอดทนยิ่งทรมาน

ข้อเสียของการกินมังสวิรัติอย่างฝืนทน กดข่มนั้น คือความไม่สดใส ไม่ผ่องใส เครียด ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความสุข ฯลฯ เราควรที่จะกินมังสวิรัติด้วยการเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเห็นเป็นเรื่องดีที่คนนิยม การกินอย่างเข้าใจและมีปัญญาจะช่วยให้เกิดความยินดี พอใจ เต็มใจในการกินมังสวิรัติซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืน

หากขาดความยินดี เต็มใจ พอใจ ที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็อาจจะสามารถกินได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็มักจะล้มเลิกได้ง่าย แม้จะกินไปได้เป็นปี หลายปี แต่ถ้าไม่ได้เห็นและเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติก็อาจจะทำให้ไม่มีแรงใจ ไม่มีกำลังใจมากพอที่จะทำให้สมบูรณ์ได้

และเมื่อล้มเลิกก็จะมีคำถามมากมายจากคนอื่นและในจิตใจของตัวเองว่า กินมังสวิรัติแล้วดีจริงหรือ, ดีแล้วเลิกทำไม ,กินเนื้อสัตว์ไม่ดีแล้วกลับไปกินอีกทำไม เราจะตอบเขาหรือตอบตัวเองไม่ได้เลย หรือแม้จะตอบได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะเราเองก็ไม่รู้ประโยชน์แท้ๆในการกินมังสวิรัติเหมือนกัน เพราะคนที่รู้ประโยชน์แท้จะสามารถตัดเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืน  เพราะมีปัญญาจึงเลิกกินเนื้อสัตว์นั้น ในทางกลับกันเมื่อเราไม่รู้ประโยชน์แท้เราจึงไม่สามารถกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนได้ เราจึงต้องใช้การพิจารณาหาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์ ให้มากและบ่อยยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมความยินดี เต็มใจ พอใจ ให้เรามีแรงมีกำลังในการกินมังสวิรัติมากขึ้นนั่นเอง

การปฏิบัติสู่ชีวิตมังสวิรัติ จะต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าติดเนื้อสัตว์มากก็ให้ลด ติดบ้างก็ให้ละ ติดน้อยก็ให้เลิก โดยให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าลองเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเราจะทรมานจากความอยากเสพมากแค่ไหน ถ้าพอทนได้ก็ให้ตัดใจเลิกไปเลย แต่ถ้าโหยหา หงุดหงิด หิวกระหาย อยากกลับไปเสพ จนเริ่มเครียดมาก ทุกข์มากก็อย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นจนเบียดเบียนตัวเองเลย ให้วางความยึดดี วางความเป็นคนดีลงไปบ้าง แล้วกลับไปเสพเนื้อสัตว์บ้างเพื่อให้หายทรมาน แล้วค่อยกลับมาตั้งใจเริ่มปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาสู้กันใหม่อีกที

เมื่อเรากินมังสวิรัติอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นหนทางสู่การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผักได้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถพัฒนาการ ลด ละ เลิก การเบียดเบียนไปตามลำดับเพื่อพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป

การเบียดเบียนในช่วงที่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาดแล้ว

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลิกการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่กินมังสวิรัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการกินมังสวิรัติมากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกินมังสวิรัติ ซึ่งก็จะเริ่มทำหน้าที่ เผยแพร่คุณค่า ความดีงามของการกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะในสังคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือในสังคมใหญ่ต่างๆ

นั่นก็เพราะเมื่อเราได้รับสิ่งดี ค้นพบสิ่งดี เราก็มักอยากจะให้คนที่เรารัก เราห่วงใย รวมถึงเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนได้รับสิ่งที่ดี ได้รับความสุข ความสบายใจอย่างเราบ้าง เราจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งอาจจะไปกดดัน บีบคั้น ทำให้ผู้อื่นลำบากใจ “กลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในมุมของการยึดดี ถือดี“ เพราะเราอยากเสพเหตุการณ์ที่ว่า ทุกคนจะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้เหมือนเรา ทำดีได้เหมือนเรา โลกจะดีเมื่อทุกคนทำได้เหมือนเรา หากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้ความเข้าใจจากเรา ซึ่งการที่ผู้กินมังสวิรัติเข้าใจและกระทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเป็นความดีเป็นกุศล แต่บางครั้งก็มักจะเกินเลยข้ามเส้นที่เป็นกุศลไปเป็นอกุศล คือเริ่มทำให้เขาลำบากใจเข้าแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติได้โดยใช้องค์ความรู้เดียวกัน หรือเท่ากันเสมอไป เพราะแต่ลดคนมีความยึดติดมากน้อยไม่เท่ากัน เราอาจจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใจเราได้ดี แต่คนอีกกลุ่มหรือกระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเราได้เลย เรามักจะเข้าใจว่าเราทำได้ง่ายๆ ทำไมคนอื่นทำไม่ได้เหมือนเรา เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการเผยแพร่ของเราติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จ คนนั้นคิดไม่เหมือนเรา คนนี้ทำไม่เหมือนเรา เรายึดมั่นถือมั่นว่าการกินมังสวิรัติต้องปฏิบัติแบบเราถึงจะถูก เราจึงเลิกพูดกับคนบางกลุ่มด้วยอาการอึดอัด กดดันตัวเอง ยึดดี ถือดี คิดเอาเองว่าเขาไม่เข้าใจ เราเลยไม่ยินดีที่เขาไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยินดีที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ในตอนนี้เราก็เริ่มจะเข้าไปในขีดของ “การเบียดเบียนตัวเองในมุมของการยึดดี ถือดีแล้ว

เพราะใจจริงของเราก็อยากจะสอน อยากจะบอก อยากจะแนะนำสิ่งดีให้เขานั่นแหละ แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ปล่อยวางความดีเหล่านั้น แต่กลับยังยึดว่าต้องเกิดดีตามที่ตนมุ่งหมาย เอาความผิดพลาดมาคิด เอามาตีตัวเอง หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่นไปด้วย ตรงนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้คนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างดี ยังเกิดความทุกข์ในใจอยู่มาก

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราเองก็เรียนรู้มาแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง เราจึงมีปัญญาแค่ในมุมที่เราเรียนรู้มา ซึ่งก็มีอย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะนำไปใช้แนะนำให้กับคนที่มีกิเลสมากมายหลากหลายได้ทั้งหมด การปล่อยวางความยึดดีถือดี เมื่อเขาเหล่านั้นไม่เอาดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อผลดีไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปยึดดีปล่อยให้เป็นไปตามบาปบุญของเขา เพราะเราได้ทำดีที่สุด คือการแนะนำ อธิบาย บอกกล่าวไปตามความรู้ที่เรามีแล้วเขาจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะเห็นดีหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับกินมังสวิรัติได้อย่างไม่ยึดดีถือดี เราก็จะสามารถเรียนรู้ความอยากที่แตกต่างในแต่ละบุคคลด้วย เพราะเมื่อเราไม่ยึดว่าสิ่งที่เราบอกนั้นจะต้องเกิดดีขึ้นจริง เราจะมีพื้นที่ในใจว่างเผื่อไว้ให้เราใส่ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา เหมือนแก้วน้ำ ที่มีน้ำไม่เต็มแก้วก็จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ด้วย เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบนี้มีความอยากแบบไหน แล้วต่อไปจะต้องหาความรู้แบบใดไปบอก ไปแนะนำเขา เขาถึงจะเข้าใจได้ง่ายตอบคำถามในใจของเขาได้ โดยที่เรามุ่งความสำเร็จองค์รวมมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาความรู้เดิมหรือความรู้แรกที่เราใช้ผ่านการกินมังสวิรัติมาใช้กับทุกคน

และเมื่อเราผ่านการเบียดเบียนทั้งในมุมการเสพเนื้อสัตว์และการเสพดีทั้งหมดแล้ว เราก็จะพบกับความผาสุกที่แท้จริง ยั่งยืน มีความรู้ มีปัญญาเข้าใจคนอื่น ทำให้คำพูด คำแนะนำ คำสอนของเรามีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น