Tag: ยึดมั่นถือมั่น
Demand & supply (มังสวิรัติ)
ดูรูปภาพขนาดใหญ่ : Click for enlarge
Demand & supply
ตัณหา & สนองตัณหา (ความอยาก & การสนองความอยาก)
ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่มีใครเดือดร้อน ทุกชีวิตก็จะสลับสับเปลี่ยนไปตามกระแสโลก ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็นคนเลี้ยงสัตว์ คนฆ่าสัตว์ หรือคนขายเนื้อสัตว์ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง”อาชีพ” ที่เปลี่ยนแปลงได้
ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่มีสัตว์เดือดร้อน ไม่ต้องใช้ชีวิตผิดธรรมชาติเพราะความอยากของใครหลายคน
ไม่กินเนื้อสัตว์เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะเราไม่อยากก็เลยไม่ต้องไปกินให้มันลำบาก ประหยัด สุขภาพดี สมรรถนะดีกว่าเดิม
…ที่ยังกินอยู่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความอยาก แม้เราจะปกปิดความอยากด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ก็เหมือน “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด” ความอยากกินเนื้อสัตว์ล้นปรี่ซะขนาดที่ว่าต้องกินเนื้อสัตว์เป็นหลักฐานชัดๆอยู่ทุกเมื่อทุกวัน การที่จะบอกว่า “ไม่อยาก” ก็คงจะตีมึนเกินไปหน่อย
ทางสายกลาง กับ ครึ่งๆกลางๆ นั้นต่างกันนะ …
…ถ้าเราคิดว่าทางสายกลางคือการกินเนื้อและผักและไม่ยึดมั่นถือมั่น … นี่มันก็ไม่ต่างกับคนทั่วไปที่ไม่ปฏิบัติธรรมสิ ก็ใช้ชีวิตปกติไปสิไม่ต้องปฏิบัติอะไร คนทั่วไปเขาก็ทำได้
สรุปว่าคิดแบบนี้มันก็ไม่ได้ปฏิบัติอะไร ไม่ได้ลดกิเลสอะไรเลย ไม่ได้ทำอะไรเลย แถมยังหลงว่าปฏิบัติถูกอีก …. นี่มันแย่กว่าคนทั่วไปอีกนะ
เคร่ง หรือ เครียด
เคร่ง หรือ เครียด
การที่คนเราจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยกินเนื้อ มาเรียนรู้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ ก็เป็นความคิดที่ผิดแปลกไปจากสังคมส่วนใหญ่ในทุกวันนี้อยู่แล้ว โดยส่วนมากก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนใจบุญ เคร่งศีล หรือเคร่งเครียด ก็ว่ากันไปตามแต่ใครจะแสดงท่าทีอย่างไรออกมา
ในสภาพความเป็นจริงนั้น ผู้ที่สามารถลดเนื้อกินผักได้บ้างแล้ว เขาจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ เคร่ง ” คือเคร่งครัดในวินัย ในศีล ในตบะที่ตัวเองถือ คือจะมีข้อจำกัดหลายๆอย่างที่จะไม่กลับไปเสพเนื้อสัตว์ให้ตัวเองได้เป็นทุกข์ ไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้ามันเริ่มจะเข้าสู่ความลำบากจนเริ่มที่จะ “ เครียด ” ก็อาจจะวนกลับไปกินเพื่อลดความเครียดนั้นบ้าง
เคร่ง…
คำว่า เคร่ง นั้น เป็นลักษณะของการ เคร่งในตัวเอง เอาจริงเอาจัง กวดขันในวินัยของตัวเอง เช่น พระที่เคร่งศีล คือ ท่านก็มีวินัย กวดขันในตัวของท่าน ตั้งใจตั้งมั่นในตัวเอง มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกสิ่งไม่ดี ลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนเท่าที่จะทำได้อย่างไม่ลดละความพยายาม แม้จะต้องแพ้กิเลสตัวเองกลับไปเสพบ้าง แต่ก็จะตั้งหลักกลับมาสู้กับความอยากนั้นๆต่อไป อย่างไม่ลดละ
ซึ่งตรงข้ามกับความเหลาะแหละ ความหละหลวม ความประมาท คือผู้ที่ไม่เคร่ง ก็จะไม่ใส่ใจ ไม่เอาจริงเอาจัง กินเนื้อบ้าง กินผักบ้าง ไม่จริงจัง พอใครถามก็มักจะบอกว่าไม่เคร่ง เป็นต้น
ผู้ที่ไม่เคร่งนั้น คือผู้ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ในการลดเนื้อกินผักเท่าใดนัก และยังไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการเบียดเบียนจนกระทั่งทุกข์ที่เกิดจากวิบากกรรมของกิเลสเหล่านั้น ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ประมาท เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ทำให้ชีวิตต้องได้รับวิบากกรรมจากการที่ยังเบียดเบียนอยู่ คือ มีโรคมาก อายุสั้น เป็นอยู่ไม่ผาสุก
เครียด…
ส่วนคำว่า เครียด นั้น เป็นลักษณะของความจริงจังจนเกินพอดี อาจจะมีผลแค่ภายในจิตใจตัวเอง คือ เคร่งจนเครียด จนเป็นทุกข์ เช่น เราตั้งใจจะลดเนื้อสัตว์ใหญ่คือเนื้อวัว และด้วยความที่เราชอบสเต็กมาก เรากินมาตลอด แต่หลังจากตั้งใจมาลดเนื้อกินผักแล้ว เราก็เลี่ยงมาตลอด จนกระทั่งความอยากที่อยู่ในใจมันถึงขีดจำกัด เราไม่มีพลังทนความอยากกินเนื้อวัวอีกต่อไป แต่เราก็ยังจะฝืนทน ก็จะทำให้เกิดความเครียด ความทุกข์ ความหดหู่ กระวนกระวายใจ ทรมาน เริ่มรู้สึกว่าทุกข์จากการอดเนื้อวัวนั้นจะมากกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเข้าไปทุกที สุดท้ายเมื่อวางความยึดมั่นถือมั่นไม่เป็น วางความยึดดีไม่เป็น ก็จะตบะแตก กลับไปกินเนื้อวัว โดยอาจไม่คิดที่จะกลับไปลดเนื้ออีกเลย เพราะขยาดกับความทรมานจากทุกข์ที่ได้รับเมื่อนึกถึงช่วงเวลาที่ต้องอดกลั้น ไม่ได้กิน
เมื่อเรามาลดเนื้อกินผักในช่วงเริ่มต้นนั้น เรามักจะใช้อุดมคติเป็นตัวตั้ง คือ เราไปเห็นเขาฆ่าสัตว์ เห็นความโหดร้ายในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เห็นความทรมาน เห็นความทุกข์จากโรคภัยที่เกิดจากเนื้อสัตว์ กระทั่งว่าเห็นความทุกข์ที่เกิดจากกิเลส พอเห็นดังนั้นก็คิดอยากจะเลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นไปเลย แต่แม้จะคิดได้เช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหลุดออกจากนรก คือความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ทันที อย่างที่ใจคิดฝัน
ผู้สนใจหันมาลดเนื้อกินผัก ต้องประมาณกำลังของตัวเองว่าเราจะสามารถลดได้ในระดับไหน ที่รู้สึกว่าตนเองพอทำไหว คือไม่ให้หย่อนจนไม่เจริญ และไม่ให้ตึงจนกระทั่งทำไม่ได้ ลำบาก ทรมานมากเกินไป เมื่อตั้งระดับในการลด ละ เลิกได้พอสมควรแล้วก็ให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมาย โดยพยายามประคองไม่ให้เครียดจนเกินไปนัก และเมื่อรู้สึกว่าสามารถเลิกกินสัตว์ใหญ่ได้แล้วก็ไม่รอช้า ปรับเข้ามาสู่การลดเนื้อสัตว์เล็กต่อ จนกระทั่งเลิกกินเนื้อสัตว์ เก่งขึ้นไปอีกก็กินจืด ลดมื้อของอาหารลง ลดชนิดของอาหารลง ตามลำดับ
เคร่งจนพากันเครียด…
บางครั้งความเคร่งหรือความเครียดก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวเราเท่านั้น ผู้ที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ บางท่านเมื่อทำได้บ้างแล้วก็จะมีความมั่นใจจึงมีความเคร่งในตัวเอง และยังเผื่อแผ่ความเคร่งของตัวเองไปเคร่งกับคนรอบข้างอีกด้วย
เช่น แม่บ้านไปเรียนรู้เรื่องมังสวิรัติมาเกิดปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อ และตัวเองก็มีกำลังในการตัดเนื้อสัตว์อยู่ด้วยเพราะไม่ได้ติดในรสชาติ หรือรสอะไร ก็กลับมาทำอาหารมังสวิรัติให้ที่บ้านกิน ทีนี้พ่อบ้านและลูกๆ ยังมีกิเลส อยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เขายังไม่ได้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อสัตว์ และไม่ได้เห็นทุกข์จากการยังกินเนื้อสัตว์ เขาจึงไม่เข้าใจว่ามังสวิรัติมีประโยชน์อย่างไร
แรกๆก็พอจะทนกันไปได้ด้วยความเกรงใจและเห็นดีกับแม่บ้านอยู่บ้าง เพราะแม่บ้านก็บอกว่าทำดี ทำบุญ ฯลฯ แต่ด้วยความอยากในจิตใจก็ทำให้เกิดความกดดัน ความเครียดขึ้นมา เพราะจริงๆก็ไม่ได้ชอบกินผักและยังอยากกินเนื้อทุกวัน เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์ให้เสพเหมือนเดิม ก็จะทำให้เกิดทุกข์ จนกระทั่งอาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจกันขึ้นมาก็ได้
ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเรามีความเคร่ง ก็ควรจะเคร่งคลุมอยู่ภายในตัวเองเท่านั้น ไม่ควรไปเคร่งกับคนอื่น เพราะถ้าเขาเห็นว่าดี เขาก็จะกินเอง ไม่ต้องไปบังคับหรือกดดันอะไรเลย เราก็กินของเราไป เคร่งของเราไปคนเดียว เครียดไปคนเดียว อย่าให้ความติดดี ยึดดี ถือดี ไปทำร้ายคนอื่น
เช่น เราเป็นคนทำอาหารหรือซื้ออาหารให้ครอบครัวกิน เราก็ยังทำหรือซื้อให้เขากินตามที่เขาชอบเหมือนเดิม แต่เราก็ทำหรือซื้อในแบบที่เรากินมาต่างหาก เราก็ได้นั่งร่วมโต๊ะกันเหมือนเดิม ครอบครัวก็ยังเป็นสุขอยู่เหมือนเดิม และยังได้ลดเนื้อกินผักอยู่เหมือนเดิม เพราะปากใครก็ปากใคร ท้องใครก็ท้องใคร กรรมใครก็กรรมใคร ก็แล้วแต่เขาจะเลือกเอง ถ้าเขาเห็นว่ามีประโยชน์ เขาก็จะบอกเองว่าอยากกินแบบเรา ให้เราทำอาหารมังสวิรัติให้ ให้เราแนะนำความรู้ให้ เป็นต้น
ึความคิดเห็นล่าสุด