Tag: หัดกินมังสวิรัติ

อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

September 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,569 views 0

 อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

อย่างที่เราได้เรียนรู้กันแล้วว่า ความเสียดายนั้น ทำให้เราไม่สามารถที่จะลดเนื้อกินผักได้อย่างราบรื่น เมื่อมีความเสียดายเกิดขึ้น ด้วยเหตุแห่งความอยากนั้น ก็จะทำให้เราวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะพยายามหนีออกมาเท่าไหร่ แต่เมื่อใจยังเสียดายชิ้นเนื้อที่อยู่ตรงหน้า ก็ยากจะผ่านแบบทดสอบนี้ไปได้

ในตอนนี้จะขอเล่าไปถึงเรื่องราวของคนที่ใช้ชีวิตในเมืองคนหนึ่ง ในสมัยที่เธอยังหัดกินมังสวิรัติใหม่ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนเที่ยงวันหนึ่ง ณ ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เธอตั้งใจจะลดเนื้อกินผัก แต่ก็ยังไม่ข้ามพ้นด่านของความเกรงใจ จึงกังวลใจไปเองว่า ถ้าสั่งแต่เส้นกับผักทางร้านจะไม่ได้กำไร จึงสั่งก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นมา

ในชามก๋วยเตี๋ยวมีลูกชิ้นอยู่ 6 ลูก เธอแบ่งลูกชิ้นให้กับเพื่อนร่วมโต๊ะ เพราะตั้งใจจะ “ลด” การเสพเนื้อสัตว์ โดยแบ่งออกไปให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่ยังกินเนื้อสัตว์ 4 ลูก จึงเหลือในชามของเธอเอง 2 ลูก

ในขณะนั้นเอง ด้วยเหตุที่เธอได้ศึกษาศาสนาพุทธมาบ้าง ฟังธรรมบ้าง ทบทวนธรรมบ้าง ตรึกตรองใคร่ครวญธรรมบ้าง จึงได้เกิดระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ บาปแม้น้อยนิด อย่าทำเสียเลยดีกว่า ” เมื่อนึกได้ดังนั้นแล้ว ใจจึงเกิด หิริ คือความละอายต่อบาป และ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาปนั้น

เมื่อเกิดความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เวรภัย ของการครองความอยากหรือกิเลสนั้นอยู่ ก็ได้มีความคิดขึ้นว่า แบ่งลูกชิ้นให้เพื่อนหมดเลยเสียดีกว่า ว่าแล้วเธอก็ได้สละลูกชิ้นทั้งหมดให้เพื่อนไป จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาจากฐานของการ ”ลด” มาเป็นฐานของการ “ละ” ซึ่งเกิดได้จากการที่เธอนำเอาธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมในชีวิตประจำวันด้วย จึงทำให้การกินมังสวิรัติพัฒนาและเจริญขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

และเมื่อตกเย็น เธอก็ได้ไปซื้อของที่ตลาดสด ตั้งใจไว้ว่าจะซื้อแค่ถั่วลันเตา แต่พอซื้อแม่ค้าก็แถมเห็ดให้ด้วย เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นถึงอานิสงส์ของการสละลูกชิ้นได้อย่างชัดเจน เมื่อสละกิเลส คือความอยากกินลูกชิ้นนั้นออกจากใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับลูกชิ้นกลับมาเสมอไป อาจจะเป็นเห็ดก็ได้ อาจจะเป็นรอยยิ้มก็ได้ อาจจะเป็นความรู้สึกดีๆก็ได้ อาจจะเป็นอะไรก็ได้ เพราะผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตยคาดเดาไม่ได้ แต่เรื่องที่รู้ได้แน่ชัดคือ เธอข้ามผ่านด่านของกิเลสไปอีกขั้น เจริญขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเราข้ามพ้นความเสียดายเนื้อสัตว์เหล่านั้น ก็จะมีสิ่งที่ดีกว่าอยู่ข้างหน้าเสมอ อย่างน้อยๆก็จะไม่ต้องเจอกับความทุกข์ใจที่ต้องแบกความอยาก ความเสียดายเหล่านั้นเอาไว้อีกต่อไป เพียงแค่นั้นก็สุขมากพอที่จะยอมทิ้งความเสียดายเหล่านั้นแล้ว

อย่าเสียดาย

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,760 views 0

อย่าเสียดาย

อย่าเสียดาย

เมื่อเราเริ่มต้นหัดกินมังสวิรัติ ในระหว่างขั้นตอนของการ ลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ เราก็มักจะเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องกลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่บ่อยครั้ง

จนบางครั้ง ความอยากกินกับความเสียดายนั้นกลายเป็นความรู้สึกที่ปนกันจนแยกไม่ออก ว่าเราหยิบเนื้อสัตว์ชิ้นนั้นกินเพราะเราอยากกินหรือเราเสียดายกันแน่

ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเป้าหมายปลายทางที่เราจะทำลายทิ้ง แต่มักถูกบดบังด้วยความเสียดาย ดังนั้นเพื่อการทำให้ทุกอย่างชัดเจน “จงอย่าเสียดาย” แม้ว่าเนื้อชิ้นนั้นจะต้องถูกทิ้งลงถังขยะไป

ในความเป็นจริงแล้ว ความเสียดายมีภาพใหญ่กว่าการละเว้นชิ้นเนื้อที่เหลืออยู่ในจาน แต่บางครั้งเราอาจจะเสียดายโอกาสที่จะได้กิน เช่นเวลามีคนเลี้ยงอาหารดีๆ มีเนื้อสัตว์ชั้นดี เราก็จะเสียดายโอกาสที่จะไม่ได้กินเนื้อเหล่านั้น และเราก็มักจะมองว่าเป็นสิทธิ์ของเราที่จะได้กิน ถ้าไม่กินจะเสียดาย เสียโอกาส

หรือแม้กระทั่งเราไปกินอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีเนื้อสัตว์เป็นหลักมีผักเป็นรอง เรากลับรู้สึกเสียดาย เมื่อคิดที่จะกินแต่ผัก เสียดายเงินส่วนต่างที่ต้องจ่ายไปกับเนื้อสัตว์ เสียดายสิทธิ์เหล่านั้นๆ ทั้งๆที่จริงแล้ว ไม่มีใครมีสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่มีความจริงข้อใดเคยบอกไว้ว่าโลหะหรือกระดาษเหล่านี้จะนำมาแลกชีวิตได้ ไม่เคยมีสัตว์ตัวไหนยินดีที่จะตายเพื่อแลกกับของที่ไม่มีค่าสำหรับมัน หรือที่มนุษย์อย่างเราเรียกกันว่า เงิน

เราใช้เงินในการเข้าไปมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของวัตถุสิ่งของต่างๆ รวมถึงชีวิตสัตว์จนเคยชิน ทั้งที่จริงแล้วเรื่องทุกอย่าง หรือสิทธิ์ในการครอบครอง เราอุปโลกน์ขึ้นมาเองทั้งนั้น ไม่มีวัตถุสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตใดเป็นของเราเลย แม้แต่ชีวิตของเราเอง ก็ยังไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง เรายังถูกขับเคลื่อนด้วยความอยาก คือกิเลสเป็นตัวบงการอีกทีหนึ่ง

ดังนั้นการจะหลุดจากวงจรการเบียดเบียนผู้อื่นและตัวเองก็จงอย่าเสียดายกิเลสเหล่านั้น ยอมปล่อยยอมคลายให้กิเลสนั้นจางคลายจากเรา พรากมันไปอย่างช้าๆ จนจากกันตลอดกาล

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

July 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,148 views 0

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง

บทความนี้จะเหมาะกับชาวมังสวิรัติผู้เลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว อยากพัฒนาขึ้นในขั้นต่อไปเพื่อลดการเบียดเบียนผู้อื่นลง ซึ่งอาจจะทำได้ยากสำหรับผู้หัดกินมังสวิรัติ แต่ก็สามารถที่จะทำได้หากมีเจตนาที่จะลดการเบียดเบียนอย่างตั้งมั่น

เมื่อชาวมังสวิรัติมีพัฒนาการ ในการลด ละ เลิกมาได้ถึงระดับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา อาหารทะเลและอื่นๆ ที่เป็นรูปแบบเนื้อสัตว์ที่ต้องพรากชีวิตมา ถึงจะได้กินก็ยังคงรู้สึกว่ามีความสุขอย่างปกติ ไม่มีการพลั้งเผลออยากกลับไปกินเนื้อเป็นชิ้นๆอีก เราก็จะมาลดการเบียดเบียนในขั้นต่อไปคือ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ

การกิน หรือใช้ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ ไม่ได้เกี่ยวกับการฆ่าโดยตรง แต่ก็มีผลโดยอ้อมซึ่งอาจจะมีผลไปถึงการฆ่าก็เป็นได้ และยังเป็นการเบียดเบียนซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ความลำบากมากมายต่อชีวิตสัตว์

เราอาจจะคิดไปว่า เราไม่ได้ฆ่า เราก็ไม่บาป แต่การคิดเช่นนั้นเป็นการคิดที่ยังไม่รอบคอบเท่าใดนัก เพราะว่าการที่เราไปกักขัง แย่งเอาของรักของเขา คือการเบียดเบียนเมื่อมีการเบียดเบียนก็ทำให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อชีวิตเราเอง เพราะการเบียดเบียนผู้อื่นทำให้เรามีโรคมาก มีอายุสั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้นำสิ่งนั้นมาเอง แต่ก็มีส่วนในการบริโภคสิ่งที่เบียดเบียน แล้ววิบากกรรมนี้จะไปไหนเสีย เราก็ได้รับไปเต็มๆพร้อมกับตอนที่เราคิดจะเสพนั่นเอง

นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง เบียดเบียนอย่างไร

จะลองยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพของการเบียดเบียนเหล่านี้ เช่น นม  นมในที่นี้จะเป็นนมจากสัตว์ จะขอยกตัวอย่างเป็นนมวัว

นมวัว เราต้องเลี้ยงวัว กักขังวัว ให้อยู่ในเขตที่เรากำหนดไว้ อาจจะเน่าเหม็น ร้อน อับชื้น แม้จะมีอาหารมาป้อนให้ แต่ก็ต้องถูกรีดนมด้วย เหมือนพนักงานบริษัทที่ถูกให้อยู่แต่ในออฟฟิศ นอนในออฟฟิศ มีอาหารให้ แต่ไม่ให้ออกไปไหน ทำงานตั้งแต่เด็กจนแก่อยู่ในนั้น ยิ่งเราบริโภค นมวัว มากขึ้นเท่าไหร่ รูปแบบการเบียดเบียนจะยิ่งหลากหลาย ยิ่งมากขึ้นไปตามละดับ เพราะผู้ผลิตก็ต้องหาวิธี ที่จะทำให้ได้มาซึ่งน้ำนมมากๆ แต่ใช้ต้นทุนน้อยลง สุดท้ายภาระก็จะตกไปที่วัวนั่นเอง เราสามารถหาสิ่งทดแทนนมวัวได้ เช่น นมถั่วเหลือง นมจากพืชต่างๆ เพื่อลดการเบียดเบียนวัว แพะ ฯลฯ และลดผลกระทบอีกมากมายในอุตสาหกรรมการผลิตนมจากสัตว์

เนย คือ ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมาจากนม ไม่ว่าจะเนยเหลว หรือเนยแข็งจำพวกชีส ในกระบวนการสร้างเนยไม่ได้เป็นการเบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ก็ยังมีที่มาจากนม ซึ่งหากเรายังต้องการใช้เนย ก็สามารถใช้เนยเทียม เช่น มาการีน ทดแทนได้ แน่นอนว่า กลิ่น รส อาจจะต่างไปบ้าง และแน่นอนเหมือนกันว่าผลของการเบียดเบียนก็ต่างไปด้วย

ไข่ จะยกตัวอย่างเป็นไข่ไก่ เวลาเรานึกถึงไข่ไก่ ภาพก็อาจจะออกมาเป็นภาพของไก่ที่เดินเล่นอยู่ในสวนหลังบ้าน กินอยู่อย่างธรรมชาติและออกไข่อย่างธรรมชาติ อย่างมากก็มีกรงใหญ่ๆกันไว้ไม่ให้ไก่ได้รับอันตรายจากหมาหรืองู เป็นภาพการเลี้ยงไก่ที่เห็นโดยทั่วไปในชนบท

แต่การผลิตไข่ไก่ เพื่อคนจำนวนมากใช้วิธีดังกล่าวไม่ได้ ฟาร์มไก่เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ในปัจจุบัน แม้จะมีมาตรฐานมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับไก่ที่ถูกขังอยู่ในช่องแคบๆ ทำได้แค่กินหัวอาหาร และน้ำ แล้วออกไข่ เป็นงานประจำที่น่าเบื่อ ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องทำงานอยู่แค่โต๊ะคอมพิวเตอร์ตรงหน้า ทำได้อย่างมากแค่ลุกขึ้นยืน แต่บิดขี้เกียจไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่ มีอาหารให้กิน ขับถ่ายลงบ่อข้างล่าง และนอนตรงนั้น ทำอย่างนี้ไปตั้งแต่เกิดจนแก่ พอแก่เกษียณอายุงานแล้วเขาก็ไม่ได้ปล่อยไปแบบดีๆ  เหมือนกับไก่ไข่ที่หมดศักยภาพในการออกไข่ ความตายจะไปไหนเสีย เพราะถ้าเลี้ยงไว้ก็จะเปลืองอาหาร เขาก็จะเปลี่ยนไก่ตัวนั้นเป็นสินทรัพย์ นั่นคือเอาไปฆ่าแล้วขายให้เรากินนั่นเอง

การที่เรายังกินไข่ไก่ เราก็ยังมีส่วนกักขัง ทรมาน จนถึงมีผลต่อการฆ่า ครบองค์ประกอบแบบนี้ไม่ต้องห่วงอีกเหมือนกันว่าจะต้องรับกรรมไหม โดนเต็มๆแน่นอน และแม้ว่าเราจะบอกว่าเราบริโภคไข่ออแกนิค เป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงอย่างธรรมชาติ ให้อาการตามธรรมชาติ ไม่ใช่หัวอาหารที่สังเคราะห์มา เราก็ยังต้องรับส่วนแห่งบาปอันคือการเบียดเบียนนั้นอยู่ มีไก่ตัวไหนที่ไข่แล้วไม่ไปกกไข่บ้าง โดยสัญญาติญาณแล้วไก่ก็จะรับรู้ได้ว่าเมื่อไข่แล้วก็ต้องไปกกไข่ การไปกกไข่คือความรับผิดชอบ ความรัก ความห่วงใยของแม่ไก่ การที่เราไปนำไข่ออกมาก็เหมือนไปแย่งชิงของรักของไก่มา ไก่มันไม่รู้หรอกว่าไข่ฟองนั้นจะฟักหรือไม่ฟัก มันรู้แค่ว่าไข่ออกมาแล้วมันต้องกก มันทำตามธรรมชาติของไก่ ไม่ได้ทำตามความคิดของคนที่ว่าไก่ต้องไข่ให้เรากิน ดังนั้นการไปแย่งชิงของรักของเขา ของที่เขาไม่ยินดีให้ จะไม่ถือเป็นการผิดศีลข้อ ๒ คือการลักขโมย หรือเอาของที่ผู้อื่นไม่ยินดีให้ได้อย่างไร

เราไม่จำเป็นต้องหาสิ่งทดแทนไข่ไก่ เพราะไม่ว่าจะเป็นไข่เป็ด ไข่นกอะไรก็ตาม ก็ถือเป็นการแย่งชิง เบียดเบียนเช่นกัน เราสามารถหาธาตุอาหารทดแทนได้จากธัญพืช แน่นอนว่าอาจจะไม่เหมือน ไม่ครบถ้วน แต่จริงๆแล้วชีวิตเราไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทุกอย่าง เราก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เพราะการไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อย ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการได้รับธาตุอาหารมากแต่ก็มีโรคมาก

น้ำผึ้ง วัตถุดิบที่ถูกใช้อย่างมากในอาหารจำพวกของหวาน หรือแม้แต่การเสริมความงาม การที่จะได้น้ำผึ้งมา ก็จะแบ่งง่ายๆ เป็นสองแหล่ง หนึ่งคือไปแย่งชิงจากธรรมชาติมา สองคือสร้างธรรมชาติจำลองมาแล้วให้ผึ้งทำงานสร้างรังในที่ของเรา สุดท้ายก็เก็บค่าเช่าเป็นรังผึ้งที่เขาสร้าง อาจจะลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ว่า เราทำงานเอาเงินทั้งหมดมาซื้อบ้าน ค่อยๆแต่งบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งต่อเติมจนยิ่งใหญ่ สวยงามน่าอยู่ สะดวกสบาย เมื่อวันที่ใกล้จะผ่อนบ้านหมดก็เกิดวิกฤตทางการเงิน สุดท้ายก็โดนธนาคารมายึดบ้านไป เรื่องนี้ก็คงจะคล้ายๆกับเรื่องของผึ้งที่สร้างรังจนยิ่งใหญ่ สุดท้ายก็โดนคนมาพราก มาขโมยเอาไป ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าการลักขโมย การเบียดเบียนนั้นไม่ผิด

ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นการเบียดเบียนที่น้อยกว่าการเสพเนื้อสัตว์โดยตรง อาจจะหลุดจากแนวคิดมังสวิรัติไปบ้าง แต่จุดประสงค์ของเราคือการลดการเบียดเบียน ซึ่งคงต้องพัฒนาให้เบียดเบียนน้อยลงเรื่อยๆจนถึงวันหนึ่งที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด แต่กลับสร้างประโยชน์ ช่วยคนอื่น ช่วยอนุเคราะห์โลก เป็นประโยชน์ สร้างความสุขแก่โลกนี้ได้มากที่สุด

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

July 15, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,990 views 0

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

จนถึงตอนนี้ก็ครบ 1 เดือนกันแล้วกับ Veggie Kitchen ในเฟสบุค ในตอนแรกนั้นก็ไม่ได้คิดจะตั้งเพจนี้ขึ้นมา เริ่มมาจากลงรูปเมนูอาหารมังสวิรัติในหน้าของตัวเองก่อน ทำไปทำมามันก็เริ่มจะเยอะ และเริ่มคิดได้ว่ามันน่าจะเอามาทำประโยชน์อะไรได้มากกว่าแค่โชว์รูปอาหารมังสวิรัติที่ทำเอง รวมกับมีงานออกแบบส่วนหนึ่งที่เคยทำค้างคาไว้อยู่แล้ว เลยผสมทุกอย่างออกมาลงตัว เป็นอย่างที่เห็นนี่เอง

Veggie Kitchen เหมาะกับใครบ้าง?

  1. ผู้เริ่มต้นเรียนรู้และหัดกินมังสวิรัติ หัดลดเนื้อกินผัก แสวงหาข้อมูลทางเลือกในการพึ่งตนเองเพื่อจะได้มาซึ่งอาหารมังสวิรัติ และหาวิธีปรับตัวเมื่อต้องกินมังสวิรัติกับสังคมเดิม
  2. ผู้ที่กินมังสวิรัติมาสักระยะหนึ่งแต่ยังตกหล่น พร่องอยู่เป็นประจำ ที่บ้านที่ทำงานก็กินได้ แต่พอไปในสถานที่ไม่คุ้น เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมาย ก็กลับไปกินเนื้อสัตว์ทุกที
  3. ผู้ที่กินมังสวิรัติได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ยังมีความทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เห็นเขาฆ่าสัตว์ เห็นเขาทรมานสัตว์ ยังไม่สามารถปล่อยวางความยึดดี ถือดีได้
  4. ผู้ที่กินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และอยู่กับสังคมที่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีความสุข สามารถเข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการออกจากนรกของการเสพติดเนื้อสัตว์และการยึดดีให้กับเพื่อนๆ

วัตถุประสงค์ของ Veggie Kitchen

  • เพื่อให้ผู้กินมังสวิรัติ ได้มีทางเลือกที่มากกว่าการทำอาหารเอง หรือหาซื้ออาหารจากร้านมังสวิรัติ
  • เพื่อให้ผู้กินมังสวิรัติได้เห็นความหลากหลายในวิธีการหากินอาหารมังสวิรัติ
  • เพื่อลดการเบียดเบียนชีวิตอื่นด้วยการเสพ เช่น การกินเนื้อสัตว์ การไปแย่งชิงของรักของสัตว์อื่น
  • เพื่อลดการเบียดเบียนตัวเอง โดยการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ถือดี เสพดี ทำให้อึดอัดจนเกิดความทุกข์
  • เพื่อการกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนและมีความสุขจากการไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ยึดดีถือดี
  • เพื่อสุขภาพที่ดี เพราะการไม่เบียดเบียน ทำให้มีอายุยืน และมีโรคน้อย
  • เพื่อลดความอยากในการกิน คือ กิเลส อันเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาทั้งปวง
  • เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการ ร่วมเรียนรู้ วิธีปฏิบัติ แบ่งปันประสบการณ์ในการกินมังสวิรัติ

วิถีทางปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนของ Veggie Kitchen

วิธีที่เราจะใช้เป็นหลักในการกินมังสวิรัติ คือ การ ลด ละ เลิก การบริโภคเนื้อสัตว์ให้เหมาะสมกับพื้นฐานของแต่ละบุคคล ติดมากก็ให้ลดบ้าง ติดปานกลางก็ให้ละบ้าง ติดน้อยก็ให้ตั้งใจเลิกไปเลย และเรายังใช้การ ลดละเลิก ในลดการเบียดเบียนชีวิตอื่นและตนเองในส่วนอื่นๆของการกินและการใช้อีกด้วย