Tag: กิเลส

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

September 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,127 views 0

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

กินมังสวิรัติหลายคนดีกว่ากินคนเดียว

ขึ้นชื่อว่าการลดเนื้อกินผักก็เป็นความคิดที่ค่อนข้างทวนกระแสโลกอยู่แล้ว การกินมังสวิรัติ กินเจ ในทุกวันนี้ เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่คิดจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างที่เขาเหล่านั้นคิดว่าเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น

การสวนกระแสโลก คือไม่ไปกินเนื้อสัตว์ตามเขา ไม่เสพสุขจากเนื้อสัตว์ตามเขา ก็ถือว่าเป็นการท้าทายต่อกิเลส สวนกระแสกิเลส ที่เราต้องใช้ทั้งกำลังใจในการหักห้าม ขัดขืนกับพลังแห่งความอยาก และใช้พลังปัญญาพิจารณาผลเสียของการกินเนื้อสัตว์ และพิจารณาผลดีของการกินผัก พิจารณาไปซ้ำๆ จนกว่าจะเกิดความเข้าใจ จนกว่าจะเกิดศรัทธา เชื่อมั่นในคุณค่าแห่งการลดเนื้อกินผัก

การสวนกระแสกิเลสนั้นยากยิ่งกว่าการเดินทวนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ดังนั้นการเดินคนเดียวอาจจะยากเกินไปสำหรับการเดินผ่ากระแสความอยากกินเนื้อสัตว์ที่หนักหน่วงรุนแรงและยังฝังรากลึกแน่นหนาในจิตใจ

คนที่หัดลดเนื้อกินผักจึงควรหาเพื่อน ครอบครัว หรือกลุ่มสังคมที่พากันกินมังสวิรัติ คอยแบ่งปันแนวคิด แบ่งปันเมนูอาหาร แบ่งปันวิธีการปรับตัว ร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ทำให้เราสามารถที่จะลดเนื้อกินผักได้อย่างยาวนานและยั่งยืนจนกระทั้งสามารถกินได้อย่างสมบูรณ์

เราอาจจะเริ่มจากเพื่อนสักคน ลองชวนกันกินสัก 1 วันในหนึ่งสัปดาห์ก่อน แล้วมาคุยกันว่าดีอย่างไร มีเมนูอาหารอะไรที่กินได้ อาหารแบบไหนที่พอจะกินไหว ร้านแบบไหนที่ควรไป ถ้าอยู่ในงานเลี้ยงต้องทำตัวอย่างไร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะทำให้เกิดปัญญาใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งจะเป็นทั้งเพื่อนผู้หาทางออกร่วมกัน เพื่อนผู้ตรวจสอบกัน เพื่อนผู้ที่พากันเจริญ

แต่ถ้ามีเราอยู่คนเดียว และสังคมรอบข้างต่างไม่เอาด้วย ก็ไม่เป็นไร เพราะสมัยนี้มีชุมชนออนไลน์มากมายที่จับกลุ่มกันส่งเสริมการกินมังสวิรัติ กินเจ เราก็เพียงแค่เข้ากลุ่มเหล่านั้น คอยอ่าน ถาม เรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ในกลุ่มที่มีความคิดเห็นไปในทาง ลด ละ เลิกการเบียดเบียนเหมือนกัน ก็จะสามารถพาตัวเราให้เจริญได้เช่นกัน

และถ้าได้รู้จักกับผู้ที่ลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุข หรือผู้ที่รู้วิธีการที่จะสามารถเข้าสู่ชีวิตมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืนก็จะดีที่สุด เพราะสามารถที่จะศึกษาเรียนรู้กระบวนการ วิธี เคล็ดลับ ข้อปฏิบัติสู่การลดเนื้อสัตว์ ลดความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งไม่ใช่วิธีเพียงแค่กดข่มให้ความอยากผ่านพ้นไปเพียงวันข้ามวัน แต่เป็นวิธีที่จะลดความอยากได้อย่างยั่งยืน

ส่วนการฉายเดี่ยวกินคนเดียวนั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะพลังของกิเลสมักจะหาเหตุผลมาเกลี้ยกล่อมให้เราล้มเลิกอยู่เสมอ พลังของการกดข่ม อดทน ฝืนทนนั้นจะสามารถทนได้ในระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายก็จะตบะแตก พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า “มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นในการบรรลุธรรม” การบรรลุธรรมนั้นก็หมายถึงการที่เราสามารถเข้าถึงการลดเนื้อกินผัก การกินมังสวิรัติ ได้อย่างมีความสุข มีความสบายใจ มีปัญญานั่นเอง

เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่าการรวมหมู่รวมกลุ่มจะทำให้เราเก่งขึ้น เจริญขึ้น เราก็ควรจะหาเพื่อนร่วมทาง ที่พร้อมจะพัฒนาไปสู่สิ่งดีๆร่วมกัน ไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ยอมให้ตรวจสอบกันได้ ยอมให้วิจารณ์กันได้ ยอมให้สั่งสอนกันได้ ก็จะพากันเจริญอย่างแน่นอน

เคร่ง หรือ เครียด

September 10, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,892 views 0

เคร่ง หรือ เครียด

เคร่ง หรือ เครียด

การที่คนเราจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยกินเนื้อ มาเรียนรู้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ ก็เป็นความคิดที่ผิดแปลกไปจากสังคมส่วนใหญ่ในทุกวันนี้อยู่แล้ว โดยส่วนมากก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนใจบุญ เคร่งศีล หรือเคร่งเครียด ก็ว่ากันไปตามแต่ใครจะแสดงท่าทีอย่างไรออกมา

ในสภาพความเป็นจริงนั้น ผู้ที่สามารถลดเนื้อกินผักได้บ้างแล้ว เขาจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ เคร่ง ” คือเคร่งครัดในวินัย ในศีล ในตบะที่ตัวเองถือ คือจะมีข้อจำกัดหลายๆอย่างที่จะไม่กลับไปเสพเนื้อสัตว์ให้ตัวเองได้เป็นทุกข์ ไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้ามันเริ่มจะเข้าสู่ความลำบากจนเริ่มที่จะ “ เครียด ” ก็อาจจะวนกลับไปกินเพื่อลดความเครียดนั้นบ้าง

เคร่ง…

คำว่า เคร่ง นั้น เป็นลักษณะของการ เคร่งในตัวเอง เอาจริงเอาจัง กวดขันในวินัยของตัวเอง เช่น พระที่เคร่งศีล คือ ท่านก็มีวินัย กวดขันในตัวของท่าน ตั้งใจตั้งมั่นในตัวเอง มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกสิ่งไม่ดี ลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนเท่าที่จะทำได้อย่างไม่ลดละความพยายาม แม้จะต้องแพ้กิเลสตัวเองกลับไปเสพบ้าง แต่ก็จะตั้งหลักกลับมาสู้กับความอยากนั้นๆต่อไป อย่างไม่ลดละ

ซึ่งตรงข้ามกับความเหลาะแหละ ความหละหลวม ความประมาท คือผู้ที่ไม่เคร่ง ก็จะไม่ใส่ใจ ไม่เอาจริงเอาจัง กินเนื้อบ้าง กินผักบ้าง ไม่จริงจัง พอใครถามก็มักจะบอกว่าไม่เคร่ง เป็นต้น

ผู้ที่ไม่เคร่งนั้น คือผู้ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ในการลดเนื้อกินผักเท่าใดนัก และยังไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการเบียดเบียนจนกระทั่งทุกข์ที่เกิดจากวิบากกรรมของกิเลสเหล่านั้น ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ประมาท เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ทำให้ชีวิตต้องได้รับวิบากกรรมจากการที่ยังเบียดเบียนอยู่ คือ มีโรคมาก อายุสั้น เป็นอยู่ไม่ผาสุก

เครียด…

ส่วนคำว่า เครียด นั้น เป็นลักษณะของความจริงจังจนเกินพอดี อาจจะมีผลแค่ภายในจิตใจตัวเอง คือ เคร่งจนเครียด จนเป็นทุกข์ เช่น เราตั้งใจจะลดเนื้อสัตว์ใหญ่คือเนื้อวัว และด้วยความที่เราชอบสเต็กมาก เรากินมาตลอด แต่หลังจากตั้งใจมาลดเนื้อกินผักแล้ว เราก็เลี่ยงมาตลอด จนกระทั่งความอยากที่อยู่ในใจมันถึงขีดจำกัด เราไม่มีพลังทนความอยากกินเนื้อวัวอีกต่อไป แต่เราก็ยังจะฝืนทน ก็จะทำให้เกิดความเครียด ความทุกข์ ความหดหู่ กระวนกระวายใจ ทรมาน เริ่มรู้สึกว่าทุกข์จากการอดเนื้อวัวนั้นจะมากกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเข้าไปทุกที สุดท้ายเมื่อวางความยึดมั่นถือมั่นไม่เป็น วางความยึดดีไม่เป็น ก็จะตบะแตก กลับไปกินเนื้อวัว โดยอาจไม่คิดที่จะกลับไปลดเนื้ออีกเลย เพราะขยาดกับความทรมานจากทุกข์ที่ได้รับเมื่อนึกถึงช่วงเวลาที่ต้องอดกลั้น ไม่ได้กิน

เมื่อเรามาลดเนื้อกินผักในช่วงเริ่มต้นนั้น เรามักจะใช้อุดมคติเป็นตัวตั้ง คือ เราไปเห็นเขาฆ่าสัตว์ เห็นความโหดร้ายในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เห็นความทรมาน เห็นความทุกข์จากโรคภัยที่เกิดจากเนื้อสัตว์ กระทั่งว่าเห็นความทุกข์ที่เกิดจากกิเลส พอเห็นดังนั้นก็คิดอยากจะเลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นไปเลย แต่แม้จะคิดได้เช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหลุดออกจากนรก คือความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ทันที อย่างที่ใจคิดฝัน

ผู้สนใจหันมาลดเนื้อกินผัก ต้องประมาณกำลังของตัวเองว่าเราจะสามารถลดได้ในระดับไหน ที่รู้สึกว่าตนเองพอทำไหว คือไม่ให้หย่อนจนไม่เจริญ และไม่ให้ตึงจนกระทั่งทำไม่ได้ ลำบาก ทรมานมากเกินไป เมื่อตั้งระดับในการลด ละ เลิกได้พอสมควรแล้วก็ให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมาย โดยพยายามประคองไม่ให้เครียดจนเกินไปนัก และเมื่อรู้สึกว่าสามารถเลิกกินสัตว์ใหญ่ได้แล้วก็ไม่รอช้า ปรับเข้ามาสู่การลดเนื้อสัตว์เล็กต่อ จนกระทั่งเลิกกินเนื้อสัตว์ เก่งขึ้นไปอีกก็กินจืด ลดมื้อของอาหารลง ลดชนิดของอาหารลง ตามลำดับ

เคร่งจนพากันเครียด…

บางครั้งความเคร่งหรือความเครียดก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวเราเท่านั้น ผู้ที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ บางท่านเมื่อทำได้บ้างแล้วก็จะมีความมั่นใจจึงมีความเคร่งในตัวเอง และยังเผื่อแผ่ความเคร่งของตัวเองไปเคร่งกับคนรอบข้างอีกด้วย

เช่น แม่บ้านไปเรียนรู้เรื่องมังสวิรัติมาเกิดปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อ และตัวเองก็มีกำลังในการตัดเนื้อสัตว์อยู่ด้วยเพราะไม่ได้ติดในรสชาติ หรือรสอะไร ก็กลับมาทำอาหารมังสวิรัติให้ที่บ้านกิน ทีนี้พ่อบ้านและลูกๆ ยังมีกิเลส อยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เขายังไม่ได้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อสัตว์ และไม่ได้เห็นทุกข์จากการยังกินเนื้อสัตว์ เขาจึงไม่เข้าใจว่ามังสวิรัติมีประโยชน์อย่างไร

แรกๆก็พอจะทนกันไปได้ด้วยความเกรงใจและเห็นดีกับแม่บ้านอยู่บ้าง เพราะแม่บ้านก็บอกว่าทำดี ทำบุญ ฯลฯ แต่ด้วยความอยากในจิตใจก็ทำให้เกิดความกดดัน ความเครียดขึ้นมา เพราะจริงๆก็ไม่ได้ชอบกินผักและยังอยากกินเนื้อทุกวัน เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์ให้เสพเหมือนเดิม ก็จะทำให้เกิดทุกข์ จนกระทั่งอาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจกันขึ้นมาก็ได้

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเรามีความเคร่ง ก็ควรจะเคร่งคลุมอยู่ภายในตัวเองเท่านั้น ไม่ควรไปเคร่งกับคนอื่น เพราะถ้าเขาเห็นว่าดี เขาก็จะกินเอง ไม่ต้องไปบังคับหรือกดดันอะไรเลย เราก็กินของเราไป เคร่งของเราไปคนเดียว เครียดไปคนเดียว อย่าให้ความติดดี ยึดดี ถือดี ไปทำร้ายคนอื่น

เช่น เราเป็นคนทำอาหารหรือซื้ออาหารให้ครอบครัวกิน เราก็ยังทำหรือซื้อให้เขากินตามที่เขาชอบเหมือนเดิม แต่เราก็ทำหรือซื้อในแบบที่เรากินมาต่างหาก เราก็ได้นั่งร่วมโต๊ะกันเหมือนเดิม ครอบครัวก็ยังเป็นสุขอยู่เหมือนเดิม และยังได้ลดเนื้อกินผักอยู่เหมือนเดิม เพราะปากใครก็ปากใคร ท้องใครก็ท้องใคร กรรมใครก็กรรมใคร ก็แล้วแต่เขาจะเลือกเอง ถ้าเขาเห็นว่ามีประโยชน์ เขาก็จะบอกเองว่าอยากกินแบบเรา ให้เราทำอาหารมังสวิรัติให้ ให้เราแนะนำความรู้ให้ เป็นต้น

กินตามกิเลส ทำบาปไม่รู้ตัว

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,986 views 0

กินตามกิเลส ทำบาปไม่รู้ตัว
กินตามกิเลส ทำบาปไม่รู้ตัว

กินตามกิเลส คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,462 views 0

กินตามกิเลส คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

กินตามกิเลส คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

September 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,569 views 0

 อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

อย่าเสียดาย (ภาคปฏิบัติ ณ ร้านก๋วยเตี๋ยว)

อย่างที่เราได้เรียนรู้กันแล้วว่า ความเสียดายนั้น ทำให้เราไม่สามารถที่จะลดเนื้อกินผักได้อย่างราบรื่น เมื่อมีความเสียดายเกิดขึ้น ด้วยเหตุแห่งความอยากนั้น ก็จะทำให้เราวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้จะพยายามหนีออกมาเท่าไหร่ แต่เมื่อใจยังเสียดายชิ้นเนื้อที่อยู่ตรงหน้า ก็ยากจะผ่านแบบทดสอบนี้ไปได้

ในตอนนี้จะขอเล่าไปถึงเรื่องราวของคนที่ใช้ชีวิตในเมืองคนหนึ่ง ในสมัยที่เธอยังหัดกินมังสวิรัติใหม่ๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นในตอนเที่ยงวันหนึ่ง ณ ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง ด้วยความที่เธอตั้งใจจะลดเนื้อกินผัก แต่ก็ยังไม่ข้ามพ้นด่านของความเกรงใจ จึงกังวลใจไปเองว่า ถ้าสั่งแต่เส้นกับผักทางร้านจะไม่ได้กำไร จึงสั่งก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นมา

ในชามก๋วยเตี๋ยวมีลูกชิ้นอยู่ 6 ลูก เธอแบ่งลูกชิ้นให้กับเพื่อนร่วมโต๊ะ เพราะตั้งใจจะ “ลด” การเสพเนื้อสัตว์ โดยแบ่งออกไปให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่ยังกินเนื้อสัตว์ 4 ลูก จึงเหลือในชามของเธอเอง 2 ลูก

ในขณะนั้นเอง ด้วยเหตุที่เธอได้ศึกษาศาสนาพุทธมาบ้าง ฟังธรรมบ้าง ทบทวนธรรมบ้าง ตรึกตรองใคร่ครวญธรรมบ้าง จึงได้เกิดระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “ บาปแม้น้อยนิด อย่าทำเสียเลยดีกว่า ” เมื่อนึกได้ดังนั้นแล้ว ใจจึงเกิด หิริ คือความละอายต่อบาป และ โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาปนั้น

เมื่อเกิดความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เวรภัย ของการครองความอยากหรือกิเลสนั้นอยู่ ก็ได้มีความคิดขึ้นว่า แบ่งลูกชิ้นให้เพื่อนหมดเลยเสียดีกว่า ว่าแล้วเธอก็ได้สละลูกชิ้นทั้งหมดให้เพื่อนไป จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาจากฐานของการ ”ลด” มาเป็นฐานของการ “ละ” ซึ่งเกิดได้จากการที่เธอนำเอาธรรมะเข้ามาพิจารณาร่วมในชีวิตประจำวันด้วย จึงทำให้การกินมังสวิรัติพัฒนาและเจริญขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

และเมื่อตกเย็น เธอก็ได้ไปซื้อของที่ตลาดสด ตั้งใจไว้ว่าจะซื้อแค่ถั่วลันเตา แต่พอซื้อแม่ค้าก็แถมเห็ดให้ด้วย เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นถึงอานิสงส์ของการสละลูกชิ้นได้อย่างชัดเจน เมื่อสละกิเลส คือความอยากกินลูกชิ้นนั้นออกจากใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับลูกชิ้นกลับมาเสมอไป อาจจะเป็นเห็ดก็ได้ อาจจะเป็นรอยยิ้มก็ได้ อาจจะเป็นความรู้สึกดีๆก็ได้ อาจจะเป็นอะไรก็ได้ เพราะผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตยคาดเดาไม่ได้ แต่เรื่องที่รู้ได้แน่ชัดคือ เธอข้ามผ่านด่านของกิเลสไปอีกขั้น เจริญขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเราข้ามพ้นความเสียดายเนื้อสัตว์เหล่านั้น ก็จะมีสิ่งที่ดีกว่าอยู่ข้างหน้าเสมอ อย่างน้อยๆก็จะไม่ต้องเจอกับความทุกข์ใจที่ต้องแบกความอยาก ความเสียดายเหล่านั้นเอาไว้อีกต่อไป เพียงแค่นั้นก็สุขมากพอที่จะยอมทิ้งความเสียดายเหล่านั้นแล้ว

อย่าเสียดาย

August 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,760 views 0

อย่าเสียดาย

อย่าเสียดาย

เมื่อเราเริ่มต้นหัดกินมังสวิรัติ ในระหว่างขั้นตอนของการ ลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ เราก็มักจะเจอเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องกลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่บ่อยครั้ง

จนบางครั้ง ความอยากกินกับความเสียดายนั้นกลายเป็นความรู้สึกที่ปนกันจนแยกไม่ออก ว่าเราหยิบเนื้อสัตว์ชิ้นนั้นกินเพราะเราอยากกินหรือเราเสียดายกันแน่

ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นเป้าหมายปลายทางที่เราจะทำลายทิ้ง แต่มักถูกบดบังด้วยความเสียดาย ดังนั้นเพื่อการทำให้ทุกอย่างชัดเจน “จงอย่าเสียดาย” แม้ว่าเนื้อชิ้นนั้นจะต้องถูกทิ้งลงถังขยะไป

ในความเป็นจริงแล้ว ความเสียดายมีภาพใหญ่กว่าการละเว้นชิ้นเนื้อที่เหลืออยู่ในจาน แต่บางครั้งเราอาจจะเสียดายโอกาสที่จะได้กิน เช่นเวลามีคนเลี้ยงอาหารดีๆ มีเนื้อสัตว์ชั้นดี เราก็จะเสียดายโอกาสที่จะไม่ได้กินเนื้อเหล่านั้น และเราก็มักจะมองว่าเป็นสิทธิ์ของเราที่จะได้กิน ถ้าไม่กินจะเสียดาย เสียโอกาส

หรือแม้กระทั่งเราไปกินอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีเนื้อสัตว์เป็นหลักมีผักเป็นรอง เรากลับรู้สึกเสียดาย เมื่อคิดที่จะกินแต่ผัก เสียดายเงินส่วนต่างที่ต้องจ่ายไปกับเนื้อสัตว์ เสียดายสิทธิ์เหล่านั้นๆ ทั้งๆที่จริงแล้ว ไม่มีใครมีสิทธิ์ในการกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่มีความจริงข้อใดเคยบอกไว้ว่าโลหะหรือกระดาษเหล่านี้จะนำมาแลกชีวิตได้ ไม่เคยมีสัตว์ตัวไหนยินดีที่จะตายเพื่อแลกกับของที่ไม่มีค่าสำหรับมัน หรือที่มนุษย์อย่างเราเรียกกันว่า เงิน

เราใช้เงินในการเข้าไปมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของวัตถุสิ่งของต่างๆ รวมถึงชีวิตสัตว์จนเคยชิน ทั้งที่จริงแล้วเรื่องทุกอย่าง หรือสิทธิ์ในการครอบครอง เราอุปโลกน์ขึ้นมาเองทั้งนั้น ไม่มีวัตถุสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตใดเป็นของเราเลย แม้แต่ชีวิตของเราเอง ก็ยังไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง เรายังถูกขับเคลื่อนด้วยความอยาก คือกิเลสเป็นตัวบงการอีกทีหนึ่ง

ดังนั้นการจะหลุดจากวงจรการเบียดเบียนผู้อื่นและตัวเองก็จงอย่าเสียดายกิเลสเหล่านั้น ยอมปล่อยยอมคลายให้กิเลสนั้นจางคลายจากเรา พรากมันไปอย่างช้าๆ จนจากกันตลอดกาล

ลดการเบียดเบียน ของดัดแปลง แปรรูป สังเคราะห์กลิ่นรส

August 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,763 views 0

ลดการเบียดเบียน ของดัดแปลง แปรรูป สังเคราะห์กลิ่นรส

ลดการเบียดเบียน ของดัดแปลง แปรรูป สังเคราะห์กลิ่นรส

เมื่อชาวมังสวิรัติ สามารถลด ละ เลิก การกินเนื้อสัตว์ที่เป็นรูปเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ เช่น เนื้อสเต็ก เนื้อสัตว์ปิ้งย่าง หรือเป็นชิ้นของเนื้อสัตว์ที่ประกอบในเมนูอาหารต่างๆได้แล้ว เราก็จะเขยิบมาในขั้นต่อไปคือการ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ที่ไม่อยู่ในรูปลักษณะเดิม แต่ถูกแปรรูป เปลี่ยนรูปไป จนเหลือแค่ กลิ่น รส ความทรงจำแค่ สิ่งนี้คือผลผลิตของเนื้อสัตว์

การลด ละ เลิก ชนิดของการเบียดเบียนเป็นลำดับชั้นจากง่ายไปสู่ยาก และละเอียดขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ผู้กินมังสวิรัติไม่เครียดจนเกินไป เพราะแต่ละคนมีทุนมาไม่เท่ากัน มีกิเลสไม่เท่ากัน ดังนั้นเราควรจะประมาณตัวเองให้พอเหมาะกับการลด ละ เลิก ไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไป และไม่หย่อนจนไม่เจริญ

ของดัดแปลง แปรรูปเช่น ลูกชิ้น ขนมที่ปรุงแต่งรส กลิ่น แคบหมู  หนังปลากรอบ กะปิ ปลาร้า น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรสที่มีส่วนประกอบของปลาและกุ้ง  ฯลฯ อาหารจำพวกนี้ รูปของเนื้อสัตว์ที่ชัดเจนจะถูกกำจัดออกไปหมดแล้ว กลายเป็นรูปอื่นที่เราเห็นแล้วไม่ชวนให้นึกถึงการเบียดเบียน

เช่น ขนมที่ปรุงแต่งรส อาจจะเป็นรสของปลาหมึก อาจจะมีส่วนผสมของปลาหมึกด้วย แต่เวลาที่เรากินเราจะไม่รู้สึกมากเพราะ รูปของอาหารอาจจะเป็นมันฝรั่งทอดมีเฉพาะรสและกลิ่นเท่านั้นที่เป็นปลาหมึก จึงไม่ได้ชัดเจนเท่าการกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ

แคบหมู เป็นของกินเล่นที่กินกับอาหารไทยหลายๆอย่าง เช่นส้มตำ แคบหมูไม่ได้ถูกมองเป็นเนื้อสัตว์โดยตรง หรือถูกใช้เป็นเมนูอาหารใดโดยตรง แต่ถูกใช้ในรูปแบบของกินเล่น ของที่มีประกอบร่วมไปในเมนูอาหารอื่น ดังนั้นอาจจะทำให้ถูกมองข้ามไปได้ง่าย

กะปิ เป็นส่วนประกอบหลัก ของน้ำพริกหลายชนิด พริกแกงหลายชนิดจะมีกะปิผสมอยู่ ถ้าเราไปซื้อกะปิมันก็ไม่เหลือรูปของเนื้อสัตว์อยู่แล้ว และกะปิยังอยู่ในอาหารประจำวันของเราในหลายๆเมนูอีกด้วย แท้จริงแล้วส่วนประกอบหลักของมันทำมาจากกุ้งตัวเล็ก หลายชีวิตรวมกัน

น้ำปลา เกิดจากการหมักปลา น้ำปลาที่เห็นในครัวก็ไม่เหลือรูปของปลาแล้ว มีแต่น้ำใสๆ สีเข้มๆ ถ้าให้บอกว่าทำจากปลาอะไรก็คงนึกหน้ามันไม่ออกถ้าเขาไม่บอกเรามา

ผงปรุงรสที่มีเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบ เช่น ปลาป่น เนื้อป่น กระดูกสัตว์ป่น ฯลฯ วัตถุดิบพวกนี้มักจะถูกมองข้ามไป แต่ถ้าหากเราใช้เวลาค่อยๆตรวจสอบดู เวลาซื้อ ลองดูส่วนผสมจะพบว่ามีส่วนของเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบร่วม

วัตถุดิบเหล่านี้ แม้จะกินเข้าไปก็แทบจะไม่รู้สึกว่ากินเนื้อสัตว์ เพราะถูกลดรูปให้เหลือแต่กลิ่น รส เท่านั้น การจะ ลด ละ เลิก วัตถุดิบเหล่านี้ถือว่าละเอียดและยากกว่าการลดเนื้อเป็นชิ้นๆ ชาวมังสวิรัติที่หัดกินใหม่ๆ ควรจะเลิกเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆให้ได้ก่อน แล้วค่อยเขยิบฐานขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา ลด ละ เลิก ในขั้นละเอียดกว่า

เราจะเน้นการกินมังสวิรัติที่ยั่งยืน โดยลดความอยากในการกินเนื้อสัตว์และลดการเบียดเบียนชีวิตเป็นหลัก โดยมีแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน โดยไม่ให้ทรมานตนเองมากจนเกินไป หรือหย่อนยานจนไม่เจริญ ดังนั้นการที่คิดว่าจะต้องเลิกทุกอย่างในทันทีที่คิดจะกินมังสวิรัตินั้น เรามองว่าไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่นำไปสู่ความเจริญ แต่จะกลายเป็นความกดดัน อึดอัด ลำบากกาย ทรมานตัวเอง จนสุดท้ายตบะแตก กลับไปกินเนื้อนั่นแหละแม้จะอดทน กดข่มได้ทั้งชาติ ก็ไม่มีความสุข ไม่เบิกบาน ไม่ใช่ผลที่เราหมายไว้

การปฏิบัติอย่างกดข่มนั้นมีปลายทางแค่ทางตันเท่านั้นสุดท้ายก็ต้องกลับมากินเมื่อทนไม่ไหว เราจึงเน้นการพิจารณาประโยชน์ในการเลิกกินเนื้อสัตว์ เพิ่มทางเลือก สิ่งทดแทน ให้ความรู้ เพื่อนำไปสู่การลด ละ เลิก เนื้อสัตว์โดยมีความสุข ความสบายใจ แม้ว่าจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์หรือจะเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ก็ตาม

ลองจินตนาการดูสิ…ว่าถ้าคนทั้งโลกเลิกกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆเหล่านั้นแล้วจะดีขนาดไหน ไม่ต้องลดถึงขนาดขั้นละเอียดแบบนี้ทุกคนหรอก แค่เลิกกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ ก็จะค่อยๆ ลดการเบียดเบียนที่จะเกิดขึ้นแล้ว เพราะวัตถุดิบที่ถูกแปรรูปเหล่านี้ เป็นผลพวงจากการที่เรายังกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆนั่นแหละ

เราไม่ได้กินเนื้อสัตว์เพราะเราอยากกินมัน สังเกตได้ว่าแม้บางคนจะรับรู้ความโหดร้ายของกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ แต่เขาก็ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ความเมตตากับความอยากมันคนละตัว แม้จะเมตตามากแค่ไหนก็ไม่สามารถเอาไปตัด ไปลบ ไปทำลายความอยากได้โดยตรง เขากินเนื้อสัตว์เพราะมันมีรสอร่อยเกิดในวิญญาณของเขา ต้นเหตุจริงๆ มาจากกิเลสของเขา ถ้าไม่ทำลายความอยาก ไม่ดับที่เหตุ ไม่ทำลายกิเลสนั้น ก็ไม่มีทางที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน