Tag: วิบากกรรม
เคร่ง หรือ เครียด
เคร่ง หรือ เครียด
การที่คนเราจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยกินเนื้อ มาเรียนรู้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ ก็เป็นความคิดที่ผิดแปลกไปจากสังคมส่วนใหญ่ในทุกวันนี้อยู่แล้ว โดยส่วนมากก็มักจะถูกมองว่าเป็นคนใจบุญ เคร่งศีล หรือเคร่งเครียด ก็ว่ากันไปตามแต่ใครจะแสดงท่าทีอย่างไรออกมา
ในสภาพความเป็นจริงนั้น ผู้ที่สามารถลดเนื้อกินผักได้บ้างแล้ว เขาจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ เคร่ง ” คือเคร่งครัดในวินัย ในศีล ในตบะที่ตัวเองถือ คือจะมีข้อจำกัดหลายๆอย่างที่จะไม่กลับไปเสพเนื้อสัตว์ให้ตัวเองได้เป็นทุกข์ ไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้ามันเริ่มจะเข้าสู่ความลำบากจนเริ่มที่จะ “ เครียด ” ก็อาจจะวนกลับไปกินเพื่อลดความเครียดนั้นบ้าง
เคร่ง…
คำว่า เคร่ง นั้น เป็นลักษณะของการ เคร่งในตัวเอง เอาจริงเอาจัง กวดขันในวินัยของตัวเอง เช่น พระที่เคร่งศีล คือ ท่านก็มีวินัย กวดขันในตัวของท่าน ตั้งใจตั้งมั่นในตัวเอง มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกสิ่งไม่ดี ลด ละ เลิกสิ่งที่เบียดเบียนเท่าที่จะทำได้อย่างไม่ลดละความพยายาม แม้จะต้องแพ้กิเลสตัวเองกลับไปเสพบ้าง แต่ก็จะตั้งหลักกลับมาสู้กับความอยากนั้นๆต่อไป อย่างไม่ลดละ
ซึ่งตรงข้ามกับความเหลาะแหละ ความหละหลวม ความประมาท คือผู้ที่ไม่เคร่ง ก็จะไม่ใส่ใจ ไม่เอาจริงเอาจัง กินเนื้อบ้าง กินผักบ้าง ไม่จริงจัง พอใครถามก็มักจะบอกว่าไม่เคร่ง เป็นต้น
ผู้ที่ไม่เคร่งนั้น คือผู้ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ในการลดเนื้อกินผักเท่าใดนัก และยังไม่เห็นทุกข์ โทษ ภัย จากการเบียดเบียนจนกระทั่งทุกข์ที่เกิดจากวิบากกรรมของกิเลสเหล่านั้น ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ประมาท เพราะไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ทำให้ชีวิตต้องได้รับวิบากกรรมจากการที่ยังเบียดเบียนอยู่ คือ มีโรคมาก อายุสั้น เป็นอยู่ไม่ผาสุก
เครียด…
ส่วนคำว่า เครียด นั้น เป็นลักษณะของความจริงจังจนเกินพอดี อาจจะมีผลแค่ภายในจิตใจตัวเอง คือ เคร่งจนเครียด จนเป็นทุกข์ เช่น เราตั้งใจจะลดเนื้อสัตว์ใหญ่คือเนื้อวัว และด้วยความที่เราชอบสเต็กมาก เรากินมาตลอด แต่หลังจากตั้งใจมาลดเนื้อกินผักแล้ว เราก็เลี่ยงมาตลอด จนกระทั่งความอยากที่อยู่ในใจมันถึงขีดจำกัด เราไม่มีพลังทนความอยากกินเนื้อวัวอีกต่อไป แต่เราก็ยังจะฝืนทน ก็จะทำให้เกิดความเครียด ความทุกข์ ความหดหู่ กระวนกระวายใจ ทรมาน เริ่มรู้สึกว่าทุกข์จากการอดเนื้อวัวนั้นจะมากกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเข้าไปทุกที สุดท้ายเมื่อวางความยึดมั่นถือมั่นไม่เป็น วางความยึดดีไม่เป็น ก็จะตบะแตก กลับไปกินเนื้อวัว โดยอาจไม่คิดที่จะกลับไปลดเนื้ออีกเลย เพราะขยาดกับความทรมานจากทุกข์ที่ได้รับเมื่อนึกถึงช่วงเวลาที่ต้องอดกลั้น ไม่ได้กิน
เมื่อเรามาลดเนื้อกินผักในช่วงเริ่มต้นนั้น เรามักจะใช้อุดมคติเป็นตัวตั้ง คือ เราไปเห็นเขาฆ่าสัตว์ เห็นความโหดร้ายในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เห็นความทรมาน เห็นความทุกข์จากโรคภัยที่เกิดจากเนื้อสัตว์ กระทั่งว่าเห็นความทุกข์ที่เกิดจากกิเลส พอเห็นดังนั้นก็คิดอยากจะเลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นไปเลย แต่แม้จะคิดได้เช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหลุดออกจากนรก คือความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ทันที อย่างที่ใจคิดฝัน
ผู้สนใจหันมาลดเนื้อกินผัก ต้องประมาณกำลังของตัวเองว่าเราจะสามารถลดได้ในระดับไหน ที่รู้สึกว่าตนเองพอทำไหว คือไม่ให้หย่อนจนไม่เจริญ และไม่ให้ตึงจนกระทั่งทำไม่ได้ ลำบาก ทรมานมากเกินไป เมื่อตั้งระดับในการลด ละ เลิกได้พอสมควรแล้วก็ให้ดำเนินชีวิตไปตามเป้าหมาย โดยพยายามประคองไม่ให้เครียดจนเกินไปนัก และเมื่อรู้สึกว่าสามารถเลิกกินสัตว์ใหญ่ได้แล้วก็ไม่รอช้า ปรับเข้ามาสู่การลดเนื้อสัตว์เล็กต่อ จนกระทั่งเลิกกินเนื้อสัตว์ เก่งขึ้นไปอีกก็กินจืด ลดมื้อของอาหารลง ลดชนิดของอาหารลง ตามลำดับ
เคร่งจนพากันเครียด…
บางครั้งความเคร่งหรือความเครียดก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวเราเท่านั้น ผู้ที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ บางท่านเมื่อทำได้บ้างแล้วก็จะมีความมั่นใจจึงมีความเคร่งในตัวเอง และยังเผื่อแผ่ความเคร่งของตัวเองไปเคร่งกับคนรอบข้างอีกด้วย
เช่น แม่บ้านไปเรียนรู้เรื่องมังสวิรัติมาเกิดปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อ และตัวเองก็มีกำลังในการตัดเนื้อสัตว์อยู่ด้วยเพราะไม่ได้ติดในรสชาติ หรือรสอะไร ก็กลับมาทำอาหารมังสวิรัติให้ที่บ้านกิน ทีนี้พ่อบ้านและลูกๆ ยังมีกิเลส อยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เขายังไม่ได้เห็นประโยชน์ในการออกจากเนื้อสัตว์ และไม่ได้เห็นทุกข์จากการยังกินเนื้อสัตว์ เขาจึงไม่เข้าใจว่ามังสวิรัติมีประโยชน์อย่างไร
แรกๆก็พอจะทนกันไปได้ด้วยความเกรงใจและเห็นดีกับแม่บ้านอยู่บ้าง เพราะแม่บ้านก็บอกว่าทำดี ทำบุญ ฯลฯ แต่ด้วยความอยากในจิตใจก็ทำให้เกิดความกดดัน ความเครียดขึ้นมา เพราะจริงๆก็ไม่ได้ชอบกินผักและยังอยากกินเนื้อทุกวัน เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์ให้เสพเหมือนเดิม ก็จะทำให้เกิดทุกข์ จนกระทั่งอาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจกันขึ้นมาก็ได้
ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเรามีความเคร่ง ก็ควรจะเคร่งคลุมอยู่ภายในตัวเองเท่านั้น ไม่ควรไปเคร่งกับคนอื่น เพราะถ้าเขาเห็นว่าดี เขาก็จะกินเอง ไม่ต้องไปบังคับหรือกดดันอะไรเลย เราก็กินของเราไป เคร่งของเราไปคนเดียว เครียดไปคนเดียว อย่าให้ความติดดี ยึดดี ถือดี ไปทำร้ายคนอื่น
เช่น เราเป็นคนทำอาหารหรือซื้ออาหารให้ครอบครัวกิน เราก็ยังทำหรือซื้อให้เขากินตามที่เขาชอบเหมือนเดิม แต่เราก็ทำหรือซื้อในแบบที่เรากินมาต่างหาก เราก็ได้นั่งร่วมโต๊ะกันเหมือนเดิม ครอบครัวก็ยังเป็นสุขอยู่เหมือนเดิม และยังได้ลดเนื้อกินผักอยู่เหมือนเดิม เพราะปากใครก็ปากใคร ท้องใครก็ท้องใคร กรรมใครก็กรรมใคร ก็แล้วแต่เขาจะเลือกเอง ถ้าเขาเห็นว่ามีประโยชน์ เขาก็จะบอกเองว่าอยากกินแบบเรา ให้เราทำอาหารมังสวิรัติให้ ให้เราแนะนำความรู้ให้ เป็นต้น
ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง
ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง
บทความนี้จะเหมาะกับชาวมังสวิรัติผู้เลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว อยากพัฒนาขึ้นในขั้นต่อไปเพื่อลดการเบียดเบียนผู้อื่นลง ซึ่งอาจจะทำได้ยากสำหรับผู้หัดกินมังสวิรัติ แต่ก็สามารถที่จะทำได้หากมีเจตนาที่จะลดการเบียดเบียนอย่างตั้งมั่น
เมื่อชาวมังสวิรัติมีพัฒนาการ ในการลด ละ เลิกมาได้ถึงระดับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา อาหารทะเลและอื่นๆ ที่เป็นรูปแบบเนื้อสัตว์ที่ต้องพรากชีวิตมา ถึงจะได้กินก็ยังคงรู้สึกว่ามีความสุขอย่างปกติ ไม่มีการพลั้งเผลออยากกลับไปกินเนื้อเป็นชิ้นๆอีก เราก็จะมาลดการเบียดเบียนในขั้นต่อไปคือ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ
การกิน หรือใช้ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ ไม่ได้เกี่ยวกับการฆ่าโดยตรง แต่ก็มีผลโดยอ้อมซึ่งอาจจะมีผลไปถึงการฆ่าก็เป็นได้ และยังเป็นการเบียดเบียนซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ความลำบากมากมายต่อชีวิตสัตว์
เราอาจจะคิดไปว่า เราไม่ได้ฆ่า เราก็ไม่บาป แต่การคิดเช่นนั้นเป็นการคิดที่ยังไม่รอบคอบเท่าใดนัก เพราะว่าการที่เราไปกักขัง แย่งเอาของรักของเขา คือการเบียดเบียนเมื่อมีการเบียดเบียนก็ทำให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อชีวิตเราเอง เพราะการเบียดเบียนผู้อื่นทำให้เรามีโรคมาก มีอายุสั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้นำสิ่งนั้นมาเอง แต่ก็มีส่วนในการบริโภคสิ่งที่เบียดเบียน แล้ววิบากกรรมนี้จะไปไหนเสีย เราก็ได้รับไปเต็มๆพร้อมกับตอนที่เราคิดจะเสพนั่นเอง
นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง เบียดเบียนอย่างไร
จะลองยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพของการเบียดเบียนเหล่านี้ เช่น นม นมในที่นี้จะเป็นนมจากสัตว์ จะขอยกตัวอย่างเป็นนมวัว
นมวัว เราต้องเลี้ยงวัว กักขังวัว ให้อยู่ในเขตที่เรากำหนดไว้ อาจจะเน่าเหม็น ร้อน อับชื้น แม้จะมีอาหารมาป้อนให้ แต่ก็ต้องถูกรีดนมด้วย เหมือนพนักงานบริษัทที่ถูกให้อยู่แต่ในออฟฟิศ นอนในออฟฟิศ มีอาหารให้ แต่ไม่ให้ออกไปไหน ทำงานตั้งแต่เด็กจนแก่อยู่ในนั้น ยิ่งเราบริโภค นมวัว มากขึ้นเท่าไหร่ รูปแบบการเบียดเบียนจะยิ่งหลากหลาย ยิ่งมากขึ้นไปตามละดับ เพราะผู้ผลิตก็ต้องหาวิธี ที่จะทำให้ได้มาซึ่งน้ำนมมากๆ แต่ใช้ต้นทุนน้อยลง สุดท้ายภาระก็จะตกไปที่วัวนั่นเอง เราสามารถหาสิ่งทดแทนนมวัวได้ เช่น นมถั่วเหลือง นมจากพืชต่างๆ เพื่อลดการเบียดเบียนวัว แพะ ฯลฯ และลดผลกระทบอีกมากมายในอุตสาหกรรมการผลิตนมจากสัตว์
เนย คือ ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมาจากนม ไม่ว่าจะเนยเหลว หรือเนยแข็งจำพวกชีส ในกระบวนการสร้างเนยไม่ได้เป็นการเบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ก็ยังมีที่มาจากนม ซึ่งหากเรายังต้องการใช้เนย ก็สามารถใช้เนยเทียม เช่น มาการีน ทดแทนได้ แน่นอนว่า กลิ่น รส อาจจะต่างไปบ้าง และแน่นอนเหมือนกันว่าผลของการเบียดเบียนก็ต่างไปด้วย
ไข่ จะยกตัวอย่างเป็นไข่ไก่ เวลาเรานึกถึงไข่ไก่ ภาพก็อาจจะออกมาเป็นภาพของไก่ที่เดินเล่นอยู่ในสวนหลังบ้าน กินอยู่อย่างธรรมชาติและออกไข่อย่างธรรมชาติ อย่างมากก็มีกรงใหญ่ๆกันไว้ไม่ให้ไก่ได้รับอันตรายจากหมาหรืองู เป็นภาพการเลี้ยงไก่ที่เห็นโดยทั่วไปในชนบท
แต่การผลิตไข่ไก่ เพื่อคนจำนวนมากใช้วิธีดังกล่าวไม่ได้ ฟาร์มไก่เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ในปัจจุบัน แม้จะมีมาตรฐานมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับไก่ที่ถูกขังอยู่ในช่องแคบๆ ทำได้แค่กินหัวอาหาร และน้ำ แล้วออกไข่ เป็นงานประจำที่น่าเบื่อ ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องทำงานอยู่แค่โต๊ะคอมพิวเตอร์ตรงหน้า ทำได้อย่างมากแค่ลุกขึ้นยืน แต่บิดขี้เกียจไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่ มีอาหารให้กิน ขับถ่ายลงบ่อข้างล่าง และนอนตรงนั้น ทำอย่างนี้ไปตั้งแต่เกิดจนแก่ พอแก่เกษียณอายุงานแล้วเขาก็ไม่ได้ปล่อยไปแบบดีๆ เหมือนกับไก่ไข่ที่หมดศักยภาพในการออกไข่ ความตายจะไปไหนเสีย เพราะถ้าเลี้ยงไว้ก็จะเปลืองอาหาร เขาก็จะเปลี่ยนไก่ตัวนั้นเป็นสินทรัพย์ นั่นคือเอาไปฆ่าแล้วขายให้เรากินนั่นเอง
การที่เรายังกินไข่ไก่ เราก็ยังมีส่วนกักขัง ทรมาน จนถึงมีผลต่อการฆ่า ครบองค์ประกอบแบบนี้ไม่ต้องห่วงอีกเหมือนกันว่าจะต้องรับกรรมไหม โดนเต็มๆแน่นอน และแม้ว่าเราจะบอกว่าเราบริโภคไข่ออแกนิค เป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงอย่างธรรมชาติ ให้อาการตามธรรมชาติ ไม่ใช่หัวอาหารที่สังเคราะห์มา เราก็ยังต้องรับส่วนแห่งบาปอันคือการเบียดเบียนนั้นอยู่ มีไก่ตัวไหนที่ไข่แล้วไม่ไปกกไข่บ้าง โดยสัญญาติญาณแล้วไก่ก็จะรับรู้ได้ว่าเมื่อไข่แล้วก็ต้องไปกกไข่ การไปกกไข่คือความรับผิดชอบ ความรัก ความห่วงใยของแม่ไก่ การที่เราไปนำไข่ออกมาก็เหมือนไปแย่งชิงของรักของไก่มา ไก่มันไม่รู้หรอกว่าไข่ฟองนั้นจะฟักหรือไม่ฟัก มันรู้แค่ว่าไข่ออกมาแล้วมันต้องกก มันทำตามธรรมชาติของไก่ ไม่ได้ทำตามความคิดของคนที่ว่าไก่ต้องไข่ให้เรากิน ดังนั้นการไปแย่งชิงของรักของเขา ของที่เขาไม่ยินดีให้ จะไม่ถือเป็นการผิดศีลข้อ ๒ คือการลักขโมย หรือเอาของที่ผู้อื่นไม่ยินดีให้ได้อย่างไร
เราไม่จำเป็นต้องหาสิ่งทดแทนไข่ไก่ เพราะไม่ว่าจะเป็นไข่เป็ด ไข่นกอะไรก็ตาม ก็ถือเป็นการแย่งชิง เบียดเบียนเช่นกัน เราสามารถหาธาตุอาหารทดแทนได้จากธัญพืช แน่นอนว่าอาจจะไม่เหมือน ไม่ครบถ้วน แต่จริงๆแล้วชีวิตเราไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทุกอย่าง เราก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เพราะการไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อย ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการได้รับธาตุอาหารมากแต่ก็มีโรคมาก
น้ำผึ้ง วัตถุดิบที่ถูกใช้อย่างมากในอาหารจำพวกของหวาน หรือแม้แต่การเสริมความงาม การที่จะได้น้ำผึ้งมา ก็จะแบ่งง่ายๆ เป็นสองแหล่ง หนึ่งคือไปแย่งชิงจากธรรมชาติมา สองคือสร้างธรรมชาติจำลองมาแล้วให้ผึ้งทำงานสร้างรังในที่ของเรา สุดท้ายก็เก็บค่าเช่าเป็นรังผึ้งที่เขาสร้าง อาจจะลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ว่า เราทำงานเอาเงินทั้งหมดมาซื้อบ้าน ค่อยๆแต่งบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งต่อเติมจนยิ่งใหญ่ สวยงามน่าอยู่ สะดวกสบาย เมื่อวันที่ใกล้จะผ่อนบ้านหมดก็เกิดวิกฤตทางการเงิน สุดท้ายก็โดนธนาคารมายึดบ้านไป เรื่องนี้ก็คงจะคล้ายๆกับเรื่องของผึ้งที่สร้างรังจนยิ่งใหญ่ สุดท้ายก็โดนคนมาพราก มาขโมยเอาไป ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าการลักขโมย การเบียดเบียนนั้นไม่ผิด
ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นการเบียดเบียนที่น้อยกว่าการเสพเนื้อสัตว์โดยตรง อาจจะหลุดจากแนวคิดมังสวิรัติไปบ้าง แต่จุดประสงค์ของเราคือการลดการเบียดเบียน ซึ่งคงต้องพัฒนาให้เบียดเบียนน้อยลงเรื่อยๆจนถึงวันหนึ่งที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด แต่กลับสร้างประโยชน์ ช่วยคนอื่น ช่วยอนุเคราะห์โลก เป็นประโยชน์ สร้างความสุขแก่โลกนี้ได้มากที่สุด
มังเขี่ย
การใช้ชีวิตมังสวิรัติในสังคมปัจจุบันนั้น เราอาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการกินมังสวิรัติสักเท่าไรนัก คงมีหลายครั้งที่เราต้องเข้าไปร่วมโต๊ะอาหารกับผู้ที่ไม่ได้กินมังสวิรัติ จะทำอย่างไรให้เรากินมังสวิรัติได้อย่างสบายใจ ไม่เบียดเบียนทั้งตัวเอง ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ ไม่ทำให้คนอื่นลำบากใจ
มังเขี่ย คือกลยุทธ์หนึ่งในการกินมังสวิรัติ เมื่อเราต้องกินอาหารร่วมโต๊ะกับผู้คนที่หลากหลาย ก็ย่อมมีอาหารที่หลากหลายตามไปด้วยมีทั้งเนื้อสัตว์ทั้งผักปนเปกันไป เมื่อเห็นเช่นนั้น เราจึงใช้การกินมังสวิรัติแบบเขี่ย คือเขี่ยเอาเนื้อสัตว์ออกไป และเขี่ยผักเข้ามา เมื่อเรามีจิตใจที่ตั้งมั่นในการกินมังสวิรัติ เราย่อมไม่หวั่นไหวต่อเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า ยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์และพยายามเอาตัวรอดโดยการกินแต่ผัก
และแม้ว่าอาหารที่เราสั่งนั้นจะมีเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบร่วม เราก็สามารถเขี่ยเนื้อออกไป โดยยกให้เพื่อนร่วมโต๊ะที่ยังกินเนื้ออยู่ หรือจะเลือกละเว้นไว้ก็ได้ ถ้าให้ดีที่สุดก็เลือกที่จะสั่งอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ และถึงแม้เราว่าจะไม่กินเนื้อเหล่านั้น สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นอาหารของใครสักคนแน่ๆ ถึงไม่ใช่ใครสักคนก็อาจจะเป็นสัตว์สักตัว หรือไม่ก็กลายเป็นอาหารจุลินทรีย์ไป ถึงกระนั้นก็ตาม เราก็ยังยินดี ที่เราจะไม่ไปเสพผลของการเบียดเบียน ซึ่งจะกลับกลายมาเป็นวิบากกรรมของเราเองในวันใดวันหนึ่ง
มังเขี่ย ในอีกนัยหนึ่ง คือการเขี่ยเนื้อออกไปจากชีวิต และเขี่ยผักเข้ามาในชีวิต เราเลิกที่จะต้อนรับเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ไปโดยลำดับ เริ่มเรียนรู้การทดแทนอาหารต่างๆด้วยพืชผัก จนกระทั่งเราสามารถที่จะดำรงชีวิตด้วยพืชผักได้อย่างลงตัว มีความสุขกาย เบากาย มีกำลัง มีความยินดีในการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์และการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นโดยไม่มีความโหยหา คิดถึง ในเนื้อสัตว์ที่เคยยึดติดอีกต่อไป
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มังเขี่ยนั้นไม่ได้ทำได้ง่ายอย่างใจคิด ทุกครั้งที่เราจะเขี่ยเนื้อออกไป เขี่ยผักเข้ามา เราต้องสู้กับกิเลสที่เราผูกมานานแสนนาน เรากินเนื้อสัตว์มาทั้งชีวิต โตขึ้นมาก็เพราะกินเนื้อสัตว์ ความทรงจำในชีวิตมีแต่เนื้อสัตว์ หิวทีไรก็นึกถึงแต่เนื้อสัตว์ ดังนั้นในทุกๆคำที่เราจะเขี่ยผักเข้ามาแทนที่เนื้อ เราต้องสู้กับกิเลสของเราอย่างแน่นอน จะแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็ไม่เป็นไร ให้เราตั้งใจพิจารณาโทษของการกินเนื้อ ความทุกข์ โรค ภัยที่เกิดกับร่างกายของเรา กรรมชั่วที่เราจะได้รับจากการมีส่วนเบียดเบียนในชีวิตอื่น จนกระทั่งวันหนึ่งเราเข้าใจถ่องแท้แล้วว่าการกินมังสวิรัตินี่แหละดีที่สุด วันนั้นเราจึงจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องโหยหาเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์อีกต่อไป
คนที่กินมังสวิรัติหลายๆคน ต่างก็เคยเป็นคนที่กินเนื้อสัตว์ เคยเสพติดความอร่อยจากเนื้อสัตว์ ชีวิตประจำวันมีแต่อาหารที่ประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ แต่ทำไมวันนี้พวกเขาเหล่านั้นกลับเลือกที่จะเขี่ยเนื้อสัตว์ออกจากชีวิต และหันมาเขี่ยผักเข้าปากแทน มันน่าสนใจไหม ว่าทำไมเขาถึงยอมทิ้งสิ่งที่เคยคิดว่าดี คิดว่าสุขเหล่านั้น หรือเป็นเพราะว่า พวกเขาเจอสิ่งที่ดีกว่า?
ึความคิดเห็นล่าสุด