Tag: ลดเนื้อกินผัก

แกงเขียวหวาน

July 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,531 views 0

แกงเขียวหวาน

แกงเขียวหวาน : เดินเข้าไปร้านข้าวราดแกง กะว่าจะไปซื้อแกงเขียวหวาน ดูๆแล้วใกล้หมดพอดี เห็นมะเขือลอยละล่องอยู่บนน้ำแกง

เลยถามแม่ค้าไปว่า “ แกงเขียวหวานเอาแต่มะเขือได้ไหมครับ

แม่ค้าก็ตอบว่า : ได้สิ เมื่อกี้เพิ่งมีคน สั่งแกงเขียวหวาน เอาแต่เนื้อ ไม่เอามะเขือเลย

เรา : ก็ชดเชยกันไปเนาะ , ผมไม่กินเนื้อสัตว์พอดีเลย …แต่ก็ยังอยากกินแกงเขียวหวาน

แม่ค้า : แกงเขียวหวานร้านป้าอร่อย เราใช้กะทิสด


ทั้งหมดนี่แม่ค้าคิดแค่ 20 บาท แบ่งกินได้สองมื้อเลย อิ่มแบบลดเนื้อกินผัก แล้วยังประหยัดเงินอีก ขอบคุณครับ

จะสังเกตได้ว่า แม่ค้าไม่ได้สนใจหรอกว่าเราจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ เขาสนใจแค่ว่าอาหารของเขาอร่อย ถูกปากคนกินหรือไม่เท่านั้นเอง ดังนั้นการที่เราไปซื้ออาหารแล้วไม่เอาเนื้อสัตว์ มันก็คงไม่ได้ทำให้เขาลำบากใจสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาได้รับคือคำชม เช่น ร้านป้าอร่อย ,ชอบแกงเขียวหวานร้านป้า ถ้าเราพูดจาดี จะสั่งแบบไหนลดเนื้อ ไม่ตักเนื้อ ฯลฯ แม่ค้าก็มีความสุขที่ได้ขายให้เราอยู่ดี

…..แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแม่ค้าจะเป็นแบบนี้ทุกคนนะ

บะหมี่น้ำ

July 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,610 views 0

บะหมี่น้ำ

บะหมี่น้ำ : จำได้เหมือนว่าชามนี้เป็นชามแรกที่ลองสั่งบะหมี่ผักในร้านบะหมี่ เป็นร้านบะหมี่ปู ตอนนั้นก็หิวๆ คิดอะไรไม่ออกก็เข้าไปร้าน บอกว่าต้องการบะหมี่ใส่แต่ผัก

ป้าแม่ค้าก็ผงกหน้ารับ นั่งรอสักพักแล้วก็มาเสริฟที่โต๊ะ รอดไปอีกมื้อ~

บะหมี่น้ำ-ในปั้ม

บะหมี่ ในปั้ม : ชามนี้สั่งกินระหว่างเดินทางแถวๆสระบุรี ในปั้มเราก็สามารถลดเนื้อกินผักด้วยบะหมี่ได้ บอกเขาไปเลยว่า เอาแต่บะหมี่ใส่ผักได้ไหม ~

บะหมี่แห้ง

บะหมี่ แห้ง : สำหรับคนกังวลใจเรื่องน้ำซุปที่มีซากสัตว์ปน ก็เคยลองกินมาเหมือนกัน แต่เขาก็ให้น้ำซุปมาให้เราเติมพอขลุกขลิก จะเติมก็ได้ไม่เติมก็ได้ เพราะหลักๆเราได้ลดเนื้อกินผักมากขึ้นแล้ว

บะหมี่ต้มยำ

บะหมี่ ต้มยำ : ซื้อจากรถเข็นบะหมี่เกี๊ยวแถวบ้าน ซื้อสัก 2-3 ครั้งสนิทกันแล้ว สั่งแบบเดิมได้ง่าย เขาก็จะตักฟักให้ด้วย เรื่องเครื่องปรุงยกไว้ก่อน กินบะหมี่ผักได้ก็เก่งละ 

บะหมี่-ก๋วยเตี๊ยวต้มยำสุโขทัย

บะหมี่ ต้มยำสุโขทัย : ชามนี้กินในฟู๊ดเซ็นเตอร์ หลังจากสื่อสารได้ลงตัวก็ได้บะหมี่ที่ไม่ได้ใส่เนื้อสัตว์เป็นก้อนๆมา น้ำปลาไม่ใส่ก็บอกเขาได้นะ เพราะเขาจะใส่เครื่องปรุงทีละลำดับ

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

July 22, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,042 views 0

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

เมื่อเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมังสวิรัติ มาลดเนื้อกินผัก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เมนูอาหารที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือกระทั่งสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนก็ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมี แต่เป็นแค่ช่วงเวลาที่สิ่งใหม่ (คือ การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผัก) กับสิ่งเก่า( คือ วิธีชีวิตเดิมของเรา) กำลังปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะพัฒนาเป็นชีวิตใหม่ที่มีความผาสุกยิ่งขึ้น

แต่การเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก สู่ชีวิตมังสวิรัติ หรือลดเนื้อกินผัก นั้นไม่ได้ง่ายขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น อาจจะกลายเป็นความเบียดเบียนตัวเราเองก็ได้

การเบียดเบียนในช่วงที่ยังพยายามลด ละ เลิกเนื้อสัตว์

เราเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ด้วยการไม่ส่งเสริมให้ฆ่า โดยการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ หรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่เมื่อทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะพบว่า ชีวิตเริ่มจะลำบาก รู้สึกว่าทรมาน รู้สึกว่าอยากกินเนื้อสัตว์ รู้สึกว่าเข้าสังคมยาก รู้สึกว่าไม่มีความสุข ในสภาพจิตใจเช่นนี้ จะเริ่มเข้าข่ายการเบียดเบียนตัวเอง“ หากเรายังฝืนทนกับความอยากที่เกินกำลังที่เราสามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งเราก็อาจจะทนได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีอาการตบะแตก หรือเลิกล้ม เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ เข็ดขยาดกับความทรมาน ที่ต้องอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งที่ความอยากเสพนั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

การเบียดเบียนตัวเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความตั้งใจเกินกำลัง ที่เราทำได้จริงเช่น เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งๆที่ยังอยากกินมากยังติดอยู่มาก หรือเลิกกินน้ำปลา น้ำซุป น้ำมันหอย ไข่ เนย ฯลฯ ทั้งๆที่ยังไม่เรียนรู้ที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ให้เรากินได้ ทำให้รู้สึกกดดันตัวเอง หาอะไรกินยาก แม้ว่าเราจะทำได้ ก็ทำได้แค่ระดับฝืนทน กดข่ม ยิ่งอดทนยิ่งทรมาน

ข้อเสียของการกินมังสวิรัติอย่างฝืนทน กดข่มนั้น คือความไม่สดใส ไม่ผ่องใส เครียด ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความสุข ฯลฯ เราควรที่จะกินมังสวิรัติด้วยการเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเห็นเป็นเรื่องดีที่คนนิยม การกินอย่างเข้าใจและมีปัญญาจะช่วยให้เกิดความยินดี พอใจ เต็มใจในการกินมังสวิรัติซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืน

หากขาดความยินดี เต็มใจ พอใจ ที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็อาจจะสามารถกินได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็มักจะล้มเลิกได้ง่าย แม้จะกินไปได้เป็นปี หลายปี แต่ถ้าไม่ได้เห็นและเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติก็อาจจะทำให้ไม่มีแรงใจ ไม่มีกำลังใจมากพอที่จะทำให้สมบูรณ์ได้

และเมื่อล้มเลิกก็จะมีคำถามมากมายจากคนอื่นและในจิตใจของตัวเองว่า กินมังสวิรัติแล้วดีจริงหรือ, ดีแล้วเลิกทำไม ,กินเนื้อสัตว์ไม่ดีแล้วกลับไปกินอีกทำไม เราจะตอบเขาหรือตอบตัวเองไม่ได้เลย หรือแม้จะตอบได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะเราเองก็ไม่รู้ประโยชน์แท้ๆในการกินมังสวิรัติเหมือนกัน เพราะคนที่รู้ประโยชน์แท้จะสามารถตัดเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืน  เพราะมีปัญญาจึงเลิกกินเนื้อสัตว์นั้น ในทางกลับกันเมื่อเราไม่รู้ประโยชน์แท้เราจึงไม่สามารถกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนได้ เราจึงต้องใช้การพิจารณาหาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์ ให้มากและบ่อยยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมความยินดี เต็มใจ พอใจ ให้เรามีแรงมีกำลังในการกินมังสวิรัติมากขึ้นนั่นเอง

การปฏิบัติสู่ชีวิตมังสวิรัติ จะต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าติดเนื้อสัตว์มากก็ให้ลด ติดบ้างก็ให้ละ ติดน้อยก็ให้เลิก โดยให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าลองเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเราจะทรมานจากความอยากเสพมากแค่ไหน ถ้าพอทนได้ก็ให้ตัดใจเลิกไปเลย แต่ถ้าโหยหา หงุดหงิด หิวกระหาย อยากกลับไปเสพ จนเริ่มเครียดมาก ทุกข์มากก็อย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นจนเบียดเบียนตัวเองเลย ให้วางความยึดดี วางความเป็นคนดีลงไปบ้าง แล้วกลับไปเสพเนื้อสัตว์บ้างเพื่อให้หายทรมาน แล้วค่อยกลับมาตั้งใจเริ่มปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาสู้กันใหม่อีกที

เมื่อเรากินมังสวิรัติอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นหนทางสู่การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผักได้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถพัฒนาการ ลด ละ เลิก การเบียดเบียนไปตามลำดับเพื่อพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป

การเบียดเบียนในช่วงที่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาดแล้ว

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลิกการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่กินมังสวิรัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการกินมังสวิรัติมากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกินมังสวิรัติ ซึ่งก็จะเริ่มทำหน้าที่ เผยแพร่คุณค่า ความดีงามของการกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะในสังคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือในสังคมใหญ่ต่างๆ

นั่นก็เพราะเมื่อเราได้รับสิ่งดี ค้นพบสิ่งดี เราก็มักอยากจะให้คนที่เรารัก เราห่วงใย รวมถึงเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนได้รับสิ่งที่ดี ได้รับความสุข ความสบายใจอย่างเราบ้าง เราจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งอาจจะไปกดดัน บีบคั้น ทำให้ผู้อื่นลำบากใจ “กลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในมุมของการยึดดี ถือดี“ เพราะเราอยากเสพเหตุการณ์ที่ว่า ทุกคนจะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้เหมือนเรา ทำดีได้เหมือนเรา โลกจะดีเมื่อทุกคนทำได้เหมือนเรา หากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้ความเข้าใจจากเรา ซึ่งการที่ผู้กินมังสวิรัติเข้าใจและกระทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเป็นความดีเป็นกุศล แต่บางครั้งก็มักจะเกินเลยข้ามเส้นที่เป็นกุศลไปเป็นอกุศล คือเริ่มทำให้เขาลำบากใจเข้าแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติได้โดยใช้องค์ความรู้เดียวกัน หรือเท่ากันเสมอไป เพราะแต่ลดคนมีความยึดติดมากน้อยไม่เท่ากัน เราอาจจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใจเราได้ดี แต่คนอีกกลุ่มหรือกระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเราได้เลย เรามักจะเข้าใจว่าเราทำได้ง่ายๆ ทำไมคนอื่นทำไม่ได้เหมือนเรา เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการเผยแพร่ของเราติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จ คนนั้นคิดไม่เหมือนเรา คนนี้ทำไม่เหมือนเรา เรายึดมั่นถือมั่นว่าการกินมังสวิรัติต้องปฏิบัติแบบเราถึงจะถูก เราจึงเลิกพูดกับคนบางกลุ่มด้วยอาการอึดอัด กดดันตัวเอง ยึดดี ถือดี คิดเอาเองว่าเขาไม่เข้าใจ เราเลยไม่ยินดีที่เขาไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยินดีที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ในตอนนี้เราก็เริ่มจะเข้าไปในขีดของ “การเบียดเบียนตัวเองในมุมของการยึดดี ถือดีแล้ว

เพราะใจจริงของเราก็อยากจะสอน อยากจะบอก อยากจะแนะนำสิ่งดีให้เขานั่นแหละ แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ปล่อยวางความดีเหล่านั้น แต่กลับยังยึดว่าต้องเกิดดีตามที่ตนมุ่งหมาย เอาความผิดพลาดมาคิด เอามาตีตัวเอง หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่นไปด้วย ตรงนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้คนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างดี ยังเกิดความทุกข์ในใจอยู่มาก

เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราเองก็เรียนรู้มาแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง เราจึงมีปัญญาแค่ในมุมที่เราเรียนรู้มา ซึ่งก็มีอย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะนำไปใช้แนะนำให้กับคนที่มีกิเลสมากมายหลากหลายได้ทั้งหมด การปล่อยวางความยึดดีถือดี เมื่อเขาเหล่านั้นไม่เอาดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อผลดีไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปยึดดีปล่อยให้เป็นไปตามบาปบุญของเขา เพราะเราได้ทำดีที่สุด คือการแนะนำ อธิบาย บอกกล่าวไปตามความรู้ที่เรามีแล้วเขาจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะเห็นดีหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของเขา

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับกินมังสวิรัติได้อย่างไม่ยึดดีถือดี เราก็จะสามารถเรียนรู้ความอยากที่แตกต่างในแต่ละบุคคลด้วย เพราะเมื่อเราไม่ยึดว่าสิ่งที่เราบอกนั้นจะต้องเกิดดีขึ้นจริง เราจะมีพื้นที่ในใจว่างเผื่อไว้ให้เราใส่ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา เหมือนแก้วน้ำ ที่มีน้ำไม่เต็มแก้วก็จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ด้วย เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบนี้มีความอยากแบบไหน แล้วต่อไปจะต้องหาความรู้แบบใดไปบอก ไปแนะนำเขา เขาถึงจะเข้าใจได้ง่ายตอบคำถามในใจของเขาได้ โดยที่เรามุ่งความสำเร็จองค์รวมมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาความรู้เดิมหรือความรู้แรกที่เราใช้ผ่านการกินมังสวิรัติมาใช้กับทุกคน

และเมื่อเราผ่านการเบียดเบียนทั้งในมุมการเสพเนื้อสัตว์และการเสพดีทั้งหมดแล้ว เราก็จะพบกับความผาสุกที่แท้จริง ยั่งยืน มีความรู้ มีปัญญาเข้าใจคนอื่น ทำให้คำพูด คำแนะนำ คำสอนของเรามีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

July 15, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,887 views 0

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

Veggie Kitchen ( 1 month anniversary) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเรา

จนถึงตอนนี้ก็ครบ 1 เดือนกันแล้วกับ Veggie Kitchen ในเฟสบุค ในตอนแรกนั้นก็ไม่ได้คิดจะตั้งเพจนี้ขึ้นมา เริ่มมาจากลงรูปเมนูอาหารมังสวิรัติในหน้าของตัวเองก่อน ทำไปทำมามันก็เริ่มจะเยอะ และเริ่มคิดได้ว่ามันน่าจะเอามาทำประโยชน์อะไรได้มากกว่าแค่โชว์รูปอาหารมังสวิรัติที่ทำเอง รวมกับมีงานออกแบบส่วนหนึ่งที่เคยทำค้างคาไว้อยู่แล้ว เลยผสมทุกอย่างออกมาลงตัว เป็นอย่างที่เห็นนี่เอง

Veggie Kitchen เหมาะกับใครบ้าง?

  1. ผู้เริ่มต้นเรียนรู้และหัดกินมังสวิรัติ หัดลดเนื้อกินผัก แสวงหาข้อมูลทางเลือกในการพึ่งตนเองเพื่อจะได้มาซึ่งอาหารมังสวิรัติ และหาวิธีปรับตัวเมื่อต้องกินมังสวิรัติกับสังคมเดิม
  2. ผู้ที่กินมังสวิรัติมาสักระยะหนึ่งแต่ยังตกหล่น พร่องอยู่เป็นประจำ ที่บ้านที่ทำงานก็กินได้ แต่พอไปในสถานที่ไม่คุ้น เหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมาย ก็กลับไปกินเนื้อสัตว์ทุกที
  3. ผู้ที่กินมังสวิรัติได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ยังมีความทุกข์เมื่อเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เห็นเขาฆ่าสัตว์ เห็นเขาทรมานสัตว์ ยังไม่สามารถปล่อยวางความยึดดี ถือดีได้
  4. ผู้ที่กินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และอยู่กับสังคมที่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีความสุข สามารถเข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการออกจากนรกของการเสพติดเนื้อสัตว์และการยึดดีให้กับเพื่อนๆ

วัตถุประสงค์ของ Veggie Kitchen

  • เพื่อให้ผู้กินมังสวิรัติ ได้มีทางเลือกที่มากกว่าการทำอาหารเอง หรือหาซื้ออาหารจากร้านมังสวิรัติ
  • เพื่อให้ผู้กินมังสวิรัติได้เห็นความหลากหลายในวิธีการหากินอาหารมังสวิรัติ
  • เพื่อลดการเบียดเบียนชีวิตอื่นด้วยการเสพ เช่น การกินเนื้อสัตว์ การไปแย่งชิงของรักของสัตว์อื่น
  • เพื่อลดการเบียดเบียนตัวเอง โดยการทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ถือดี เสพดี ทำให้อึดอัดจนเกิดความทุกข์
  • เพื่อการกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนและมีความสุขจากการไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ยึดดีถือดี
  • เพื่อสุขภาพที่ดี เพราะการไม่เบียดเบียน ทำให้มีอายุยืน และมีโรคน้อย
  • เพื่อลดความอยากในการกิน คือ กิเลส อันเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาทั้งปวง
  • เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการ ร่วมเรียนรู้ วิธีปฏิบัติ แบ่งปันประสบการณ์ในการกินมังสวิรัติ

วิถีทางปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนของ Veggie Kitchen

วิธีที่เราจะใช้เป็นหลักในการกินมังสวิรัติ คือ การ ลด ละ เลิก การบริโภคเนื้อสัตว์ให้เหมาะสมกับพื้นฐานของแต่ละบุคคล ติดมากก็ให้ลดบ้าง ติดปานกลางก็ให้ละบ้าง ติดน้อยก็ให้ตั้งใจเลิกไปเลย และเรายังใช้การ ลดละเลิก ในลดการเบียดเบียนชีวิตอื่นและตนเองในส่วนอื่นๆของการกินและการใช้อีกด้วย

วิธีสั่งอาหารมังสวิรัติ ตามร้านอาหารทั่วไป

July 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 9,525 views 0

วิธีสั่งอาหารมังสวิรัติ ตามร้านอาหารทั่วไป

วิธีสั่งอาหารมังสวิรัติ ตามร้านอาหารทั่วไป

กรณีร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านอื่นๆในศูนย์อาหารทั่วไป

สำหรับคนที่หัดกิน หรือหาทางกินมังสวิรัติในช่วงเริ่มต้น อาจจะลำบากสักนิดในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าโชคดีก็อาจจะมีแหล่งหรือร้าน ขายอาหารมังสวิรัติ-เจ ใกล้ๆที่อยู่ ที่ทำงาน ก็สามารถที่จะดำรงชีวิตมังสวิรัติได้ไม่ยากไม่ลำบาก

ในความเป็นจริงแล้ว ร้านอาหารมังสวิรัตินั้นไม่ได้มีมากนัก อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับความสะดวก ที่เอื้อให้ตัวเองได้กินมังสวิรัติง่ายๆ และยังมีข้อจำกัดหลายๆอย่างในการทำอาหารเอง ซึ่งในบทความเนื้อเราจะมาแบ่งปันเกี่ยวกับการหาทางลดเนื้อกินผักให้ได้ แม้ในสภาวะที่มีตัวเลือกน้อย

ร้านอาหารที่เรามักจะพบได้บ่อยคือร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง หรือไม่ก็ร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งถ้าเราสั่งอาหารแบบปกติก็คงจะไม่มีอะไร แต่เรากำลังจะสั่งอาหารที่แปลก ซึ่งอาจจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่คุ้นเคยรู้สึกลำบากใจ ดังนั้นความนอบน้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราควรใช้ การวอนขอ , ขอร้อง, ขอความกรุณา ให้เขาช่วยทำให้เรา

เช่น ร้านข้าวแกง เราอาจจะบอกเขาประมาณว่า “ จะสะดวกไหมถ้าจะช่วยตักแต่ผักให้ ” , “อยากได้แค่ผัก พอจะตักให้ได้ไหม ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ” ตัวอย่างที่เคยใช้จริงกับแกงมัสมั่น ในศูนย์อาหารแห่งหนึ่ง คือ “แกงมัสมั่นนี่ถ้าจะเอาแต่มันฝรั่ง พอจะขายให้ได้หรือไม่ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ “ สุดท้ายเขาก็ตักมาให้ด้วยความยินดี

ร้านอาหารตามสั่ง เช่น “เอากะเพราใส่เห็ดนะ ใส่แต่เห็ดกับใบกะเพราหรือผัก*อื่นๆ* พอจะทำให้ได้ไหม” จากที่เคยพบมา อาจจะเจอปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ตรงนี้เราต้องมีตัวเลือกสำรองไว้เสนอให้เขาทำให้ เช่น ถ้าเห็ดหมด เราก็ถามว่า “ถ้าเป็นกะเพราดอกกะหล่ำ พอจะได้ไหม” เป็นต้น

ร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็อาจจะบอกเขาว่า “ เอาแค่เส้นกับผัก พอจะได้ไหม ใส่แค่เส้นกับผักนั่นแหละ “ เคยเจอกรณีเขากังวลว่าจะคิดเงินไม่ถูก เราก็บอกเขาว่า “ ใส่แค่เส้นกับผักนั่นแหละ คิดเงินตามปกติก็ได้นะ” ส่วนใหญ่ร้านก๋วยเตี๋ยวจะสื่อสารไม่ค่อยยากเท่าไรนัก

ในส่วนของร้านอาหารอื่นๆ เช่น ร้านราดหน้า ร้านส้มตำ ฯลฯ ให้ทำในแนวทางเดียวกัน คือ ให้เราลอง โยนหินถามทาง ดูก่อนว่า เขาพอจะสะดวกทำให้เราหรือไม่ เขาสบายใจที่จะทำให้เราหรือไม่ เขายินดีที่จะทำให้เราหรือไม่ โดยให้เราแสดงท่าทีที่นอบน้อมให้มากที่สุด เพราะเราเองเป็นคนที่ทำให้เขาลำบาก ผิดไปจากกระบวนการที่เขาเคยทำ เป็นการรบกวนเขา ดังนั้นความนอบน้อมจึงเป็นคุณสมบัติที่ชาวมังสวิรัติควรจะมีหรือพัฒนาให้มากขึ้น หากจะต้องการลดเนื้อกินผักในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

จะสังเกตได้ว่า เราจะไม่ไปใช้การ “สั่ง” บังคับ หรือการกดดันใดๆ กับพ่อค้าแม่ค้า เราเพียงแค่ไปขอความเห็นใจ ให้เขาช่วยให้เราได้กินมังสวิรัติหรือลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุดตามความเหมาะสม เขาจะยินดีทำหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ถ้าเขายินดีเราก็ได้กิน  ถ้าเขาไม่ยินดี เราก็ไปกินร้านอื่น หรือถ้าไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็ให้เขาทำเท่าที่เขาสะดวก เราก็กินแบบ “มังเขี่ย” ของเราไป หรือถ้ามีวิธีที่ดีกว่านั้นก็ทำไป

ชาวมังสวิรัติควรจะทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีความรู้สึกที่ดีกับผู้ที่กินมังสวิรัติ หากเราไปสั่งทุกอย่างตามใจเรา เช่น น้ำมันหอยไม่ใส่ น้ำปลาไปไม่ใส่ ใส่เกลือแทน กระเทียมไม่ใส่ ปรุงรสอ่อนๆ ไอ้นั้น ไอ้นี่ เยอะไปหมดตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน โดยที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ยินดีทำ เราอาจจะได้กินมังสวิรัติหนึ่งมื้อ รักษาความสมบูรณ์ของศีลไปได้อีกวัน แต่อาจจะสร้างคนที่เกลียดคนกินมังสวิรัติเพิ่มขึ้นมาแทนก็ได้

นั่นหมายความว่าแทนที่จะสร้างคนที่กินมังสวิรัติมาช่วยลดเนื้อกินผัก กลับสร้างศัตรูหรือผู้เสื่อมศรัทธาในนิสัยเรื่องมาก ยุ่งยากของคนกินมังสวิรัติ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะขายอาหารแลกเงิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปสั่งให้เขาทำทุกอย่างตามใจเราได้เสมอไป ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป ไม่จำเป็นด้วยว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องเห็นดีเห็นด้วยตามเรา การกินมังสวิรัติไม่ได้หมายความว่าเราจะดูเป็นคนดี น่าเคารพ น่าช่วยเหลือขนาดนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับความร่วมมือทุกอย่าง การปฏิบัติตัวให้ดี เพื่อให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อคนที่กินมังสวิรัติทั้งหมด เป็นเรื่องที่สมควรทำ

เราต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า การกินมังสวิรัติคนเดียวได้อย่างสมบูรณ์นั้น แม้จะสมบูรณ์แบบเพียงใดก็อาจจะไม่ได้มีผลต่อการเบียดเบียนองค์รวมเลย แต่การที่จะสร้างคนที่หัดกินมังสวิรัติเพิ่มขึ้นมาทีละคนต่างหากที่จะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้นได้ หากเราเป็นผู้นอบน้อม ถือศีลกินมังฯ อย่างเคร่งครัด และพร้อมจะปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ให้เสียประโยชน์ตนเอง (คือ ยังสามารถกินลดเนื้อสัตว์กินผักได้ทุกสถานการณ์) และ ยังสามารถรักษาใจคนอื่นไว้ได้ด้วย (คือ คนรอบข้าง ผู้ร่วมโต๊ะ พ่อครัวแม่ครัว ฯลฯ ไม่ลำบากใจที่ต้องกินร่วมกับเรา หรือทำอาหารให้เรา) วันหนึ่งก็จะมีคนศรัทธาตามที่เราปฏิบัติ จนนำมาสู่ความสนใจในการกินมังสวิรัติของเขาเหล่านั้นด้วย