Tag: ชาวมังสวิรัติ
แบ่งปันประสบการณ์ ลดเนื้อกินผัก ร้านสเต็ก
แบ่งปันประสบการณ์ ลดเนื้อกินผัก ร้านสเต็ก
เมื่อวานก่อนก็เพิ่งจะโพสเมนูอาหารเกี่ยวกับการหากินผักลดเนื้อกันที่ร้านสเต็ก แล้วเมื่อวันหยุดที่ผ่านมา ครอบครัวก็พากันไปกินข้าวกลางวัน กันที่ร้านสเต็กราคาประหยัด ซึ่งในปัจจุบันมีร้านสเต็กแบบนี้อยู่มากมายและราคาก็ไม่แพง ดังนั้นการที่ครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก จะชวนกันไปกินสเต็กก็เลยกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำ
แน่นอนว่าชาวมังสวิรัติส่วนใหญ่ก็มักจะเบือนหน้าหนีร้านสเต็กซึ่งมีทีเด็ดเป็นเนื้อสัตว์ แต่ด้วยความที่ญาติมิตรสหายของเรา เขาเหล่านั้นยังไม่สามารถเข้าใจและหันมากินมังสวิรัติได้อย่างเรา เราจึงต้องอนุโลมไปกินกับเขาบ้าง เพื่อประโยชน์อื่นๆที่มากกว่า เช่นในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ในด้านสังคม หน้าที่การงาน ฯลฯ
การอนุโลมหรือไปกินกับเขานี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปกินเนื้อกับเขา แต่หมายถึงว่าเราจะไปกินร่วมมื้อนี้กับเขาเท่านั้น เราร่วมโต๊ะ แต่เราไม่ได้ร่วมกินกับเขา ชาวมังสวิรัติจึงต้องศึกษาและหาเมนูผักกันไว้ เพื่อเอาตัวรอดจากดงเนื้อสัตว์นี้ไปให้ได้ โดยที่ยังมีความสุขกับการกินผักท่ามกลาง กลิ่นเนื้อสัตว์ที่ตัวเองเคยยึด เคยหลงติด หลงเสพ หรือแม้แต่เกลียดชังกลิ่นเนื้อสัตว์ก็ตาม
การศึกษาเมนูอาหารไว้บ้าง จะได้ไม่ต้องมีข้ออ้างให้กับตัวเองว่า ไม่อยากเรื่องมาก,ไม่รู้จะกินอะไร,อาหารมังฯหากินยาก ฯลฯ การสั่งอาหารที่ไม่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ สั่งแต่อาหารที่มีผัก อย่างมั่นใจ แสดงให้เพื่อนร่วมโต๊ะได้เห็นว่าชาวมังสวิรัติอย่างเราสามารถเอาตัวรอดได้ทุกสถานการณ์ จะทำให้คนรอบข้างไม่รู้สึกลำบากใจ และยินดีที่จะกินร่วมกับเรา เพราะเราเอาตัวรอดเองได้ ไม่เป็นภาระ ไม่จำเป็นต้องเอาใจเรา
และการกระทำเหล่านี้จะยิ่งยืนยันคุณค่าของการกินมังสวิรัติให้เขาเห็นว่าเป็นสิ่งดี สิ่งเยี่ยม ไม่ใช่ว่ารวมญาติทีหนึ่งก็กินเนื้อทีหนึ่ง นัดเลี้ยงเพื่อนทีหนึ่งก็ไปกินเนื้อกับเขาอีกทีหนึ่ง …อันนี้มันก็ทำได้ แต่มันจะไม่ขลัง เวลาไปบอกใครว่ามังสวิรัติดี มันจะพูดไม่เต็มปาก ถึงจะพูดอย่างมั่นใจเขาก็ไม่เชื่อ เพราะเราไม่ได้กระทำอย่างที่พูดได้จริง
เกริ่นกันมานาน มาเข้าเรื่องกันเลย เมื่อมาถึงร้านเราก็ต้องศึกษาเมนูอาหาร พยายามมองหาเมนู ที่พอจะกินได้และทำให้อิ่มท้อง ในราคาที่เหมาะสม และคุณค่าที่คู่ควร …
เมนูชามแรกคือ ซุปเห็ด ชามนี้ไม่ได้สั่งมาเอง แต่พี่เป็นคนสั่ง เราเลยได้กินด้วย ตอนแรกก็มองข้ามซุปเห็ดไปเลย จริงๆพวกซุปแป้งพวกนี้แหละ ทำให้อิ่มท้องได้ดีนัก เพราะมีทั้งแป้งและไขมัน บางทีคิดว่าจะเอามากินรองท้อง กินไปกินมาก็อิ่มได้เหมือนกันนะ
ชามที่สองคือ มันบด เป็นอาหารกินเล่น กินง่ายๆ ตัวน้ำเกรวี่ก็คงจะไม่เรียกว่ามังสวิรัติ แต่ถ้าเราลองคิดดูว่า เราลดเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ เหลือแค่มันบดได้ มันจะสามารถลดการเบียดเบียนได้ขนาดไหน แล้วถ้าทุกคนกินมันบดแทนสเต็กได้ จะรักษาชีวิตสัตว์ได้ขนาดไหน นี่แค่ขั้นลดนะ ใครยังไม่เก่งก็ลดให้ได้ก่อน เก่งๆ ค่อยละ ค่อยเลิก กันไปตามลำดับ
จานต่อมาเป็น ขนมปังกระเทียมหน้าชีส คือร้านนี้เขามีแต่เมนูนี้ ขนมปังกระเทียมปกติที่ไม่มีชีส ไม่ได้เขียนไว้ เลยลองสั่งมาก่อน เมนูนี้ก็พาอิ่มได้เหมือนกัน ขนมปังนี่ก็ให้พลังงานได้ไว แถมยังมีชีสอีก ใครยังกินชีสอยู่ก็กินไป ใครไม่กินก็บอกเขาว่า…ขอไม่เอาได้ไหม? ถามเขาก่อน ถ้าเขายินดีทำให้เราก็รับ ถ้าเขาไม่ยินดีเราก็ไปสั่งอย่างอื่น
มาถึงชามที่ 4 เมนูสิ้นคิดของชาวมังสวิรัติเวลาไปร้านอาหารฝรั่งแล้วไม่รู้จะสั่งอะไร ถ้ามันหมดหนทาง หมดปัญญาแล้วจริงๆ เราจะเลือกสั่งแต่ มันฝรั่งทอด หรือ เฟรนช์ฟรายด์ มากินประชดชีวิตก็ได้ ให้มันรู้ไปว่าแม้จะมีแต่แป้งและไขมัน ฉันก็จะขอละเว้นเนื้อสัตว์ … แต่โลกมันก็คงไม่โหดร้ายขนาดนั้น ลองถามร้านเขาดูก็ได้ เขาอาจจะเสนอเมนูอะไรดีๆให้เราบ้างละนะ
ชามที่ 5 คือ สลัดผัก แม้จะกินในร้านอาหาร แต่สลัดชามนี้ราคาไม่แพงเลย ดีไม่ดีจะถูกกว่าซื้อสลัดตามตลาดนัดเสียอีก สลัดที่ไม่ใส่เนื้อสัตว์เลย ก็มักจะมีราคาถูกที่สุด นอกจะเราจะได้ละเว้นเนื้อสัตว์แล้ว เรายังละเว้นการจ่ายเงินที่มากเกินความจำเป็น ให้กับสิ่งที่เราไม่อยากกินอีกด้วย นั่นทำให้เราเกิดความประหยัดมากขึ้น
การกินแต่ผักก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่ต้องไปสน ไปกังวล ไปลำบากใจว่า เนื้อสัตว์ที่ประกอบมาในจานสลัดนั้น ไม่อร่อย ไม่สด ไม่กรอบ ไม่ดี อะไรก็ว่าไป พอเรากินแต่ผัก ชีวิตจะมีเรื่องให้คิดน้อยลงทันที
เมนูสุดท้าย คือ สปาเก็ตตี้ซอสเห็ด เป็นเมนูที่ดูจริงจังแม้ว่าพลังงานที่ได้นั้นอาจจะดูน้อยกว่า มันฝรั่งทอดซึ่งเป็นของกินเล่น สปาเก็ตตี้ก็จะมีแป้งเป็นหลัก มีไขมัน และโปรตีนจากเห็ดอีกนิดหน่อย แต่เราอย่าไปคิดมากเวลากินอาหารร่วมกับญาติมิตรสหาย แค่ไม่กินขนมปังเปล่าๆ หรือข้าวเปล่าก็ดีแล้ว เรื่องสารอาหารขอให้ลืมๆไปก่อน เอาไว้ไปกินเติมเองหลังมื้อนั้นๆ หรือไปทดแทนในมื้ออื่น ร่างกายขาดสารอาหารที่เราคิดว่าจำเป็นสักวันสองวันไม่เป็นอะไรหรอกนะ
…หมดแล้ว เมนูเท่าที่คิดได้ … ชาวมังสวิรัติ สั่งกินแค่สลัดผักกับสปาเก็ตตี้สักจานก็น่าจะอิ่มกันในราคาที่พอเหมาะแล้ว ส่วนของกินเล่นอื่นๆจะสั่งมาเติมกันไปบ้างก็ได้ ก็แล้วแต่ว่าใครจะอยากกินอะไรแค่นี้เราก็สามารถลดเนื้อกินผักในการกินอาหารมื้อหนึ่งที่ร้านสเต็กกันได้แล้ว
ลดการเบียดเบียน ของดัดแปลง แปรรูป สังเคราะห์กลิ่นรส
ลดการเบียดเบียน ของดัดแปลง แปรรูป สังเคราะห์กลิ่นรส
เมื่อชาวมังสวิรัติ สามารถลด ละ เลิก การกินเนื้อสัตว์ที่เป็นรูปเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ เช่น เนื้อสเต็ก เนื้อสัตว์ปิ้งย่าง หรือเป็นชิ้นของเนื้อสัตว์ที่ประกอบในเมนูอาหารต่างๆได้แล้ว เราก็จะเขยิบมาในขั้นต่อไปคือการ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ที่ไม่อยู่ในรูปลักษณะเดิม แต่ถูกแปรรูป เปลี่ยนรูปไป จนเหลือแค่ กลิ่น รส ความทรงจำแค่ สิ่งนี้คือผลผลิตของเนื้อสัตว์
การลด ละ เลิก ชนิดของการเบียดเบียนเป็นลำดับชั้นจากง่ายไปสู่ยาก และละเอียดขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ผู้กินมังสวิรัติไม่เครียดจนเกินไป เพราะแต่ละคนมีทุนมาไม่เท่ากัน มีกิเลสไม่เท่ากัน ดังนั้นเราควรจะประมาณตัวเองให้พอเหมาะกับการลด ละ เลิก ไม่ให้ตึงเครียดจนเกินไป และไม่หย่อนจนไม่เจริญ
ของดัดแปลง แปรรูปเช่น ลูกชิ้น ขนมที่ปรุงแต่งรส กลิ่น แคบหมู หนังปลากรอบ กะปิ ปลาร้า น้ำปลา น้ำมันหอย ผงปรุงรสที่มีส่วนประกอบของปลาและกุ้ง ฯลฯ อาหารจำพวกนี้ รูปของเนื้อสัตว์ที่ชัดเจนจะถูกกำจัดออกไปหมดแล้ว กลายเป็นรูปอื่นที่เราเห็นแล้วไม่ชวนให้นึกถึงการเบียดเบียน
เช่น ขนมที่ปรุงแต่งรส อาจจะเป็นรสของปลาหมึก อาจจะมีส่วนผสมของปลาหมึกด้วย แต่เวลาที่เรากินเราจะไม่รู้สึกมากเพราะ รูปของอาหารอาจจะเป็นมันฝรั่งทอดมีเฉพาะรสและกลิ่นเท่านั้นที่เป็นปลาหมึก จึงไม่ได้ชัดเจนเท่าการกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ
แคบหมู เป็นของกินเล่นที่กินกับอาหารไทยหลายๆอย่าง เช่นส้มตำ แคบหมูไม่ได้ถูกมองเป็นเนื้อสัตว์โดยตรง หรือถูกใช้เป็นเมนูอาหารใดโดยตรง แต่ถูกใช้ในรูปแบบของกินเล่น ของที่มีประกอบร่วมไปในเมนูอาหารอื่น ดังนั้นอาจจะทำให้ถูกมองข้ามไปได้ง่าย
กะปิ เป็นส่วนประกอบหลัก ของน้ำพริกหลายชนิด พริกแกงหลายชนิดจะมีกะปิผสมอยู่ ถ้าเราไปซื้อกะปิมันก็ไม่เหลือรูปของเนื้อสัตว์อยู่แล้ว และกะปิยังอยู่ในอาหารประจำวันของเราในหลายๆเมนูอีกด้วย แท้จริงแล้วส่วนประกอบหลักของมันทำมาจากกุ้งตัวเล็ก หลายชีวิตรวมกัน
น้ำปลา เกิดจากการหมักปลา น้ำปลาที่เห็นในครัวก็ไม่เหลือรูปของปลาแล้ว มีแต่น้ำใสๆ สีเข้มๆ ถ้าให้บอกว่าทำจากปลาอะไรก็คงนึกหน้ามันไม่ออกถ้าเขาไม่บอกเรามา
ผงปรุงรสที่มีเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบ เช่น ปลาป่น เนื้อป่น กระดูกสัตว์ป่น ฯลฯ วัตถุดิบพวกนี้มักจะถูกมองข้ามไป แต่ถ้าหากเราใช้เวลาค่อยๆตรวจสอบดู เวลาซื้อ ลองดูส่วนผสมจะพบว่ามีส่วนของเนื้อสัตว์เป็นองค์ประกอบร่วม
วัตถุดิบเหล่านี้ แม้จะกินเข้าไปก็แทบจะไม่รู้สึกว่ากินเนื้อสัตว์ เพราะถูกลดรูปให้เหลือแต่กลิ่น รส เท่านั้น การจะ ลด ละ เลิก วัตถุดิบเหล่านี้ถือว่าละเอียดและยากกว่าการลดเนื้อเป็นชิ้นๆ ชาวมังสวิรัติที่หัดกินใหม่ๆ ควรจะเลิกเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆให้ได้ก่อน แล้วค่อยเขยิบฐานขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา ลด ละ เลิก ในขั้นละเอียดกว่า
เราจะเน้นการกินมังสวิรัติที่ยั่งยืน โดยลดความอยากในการกินเนื้อสัตว์และลดการเบียดเบียนชีวิตเป็นหลัก โดยมีแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน โดยไม่ให้ทรมานตนเองมากจนเกินไป หรือหย่อนยานจนไม่เจริญ ดังนั้นการที่คิดว่าจะต้องเลิกทุกอย่างในทันทีที่คิดจะกินมังสวิรัตินั้น เรามองว่าไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่นำไปสู่ความเจริญ แต่จะกลายเป็นความกดดัน อึดอัด ลำบากกาย ทรมานตัวเอง จนสุดท้ายตบะแตก กลับไปกินเนื้อนั่นแหละแม้จะอดทน กดข่มได้ทั้งชาติ ก็ไม่มีความสุข ไม่เบิกบาน ไม่ใช่ผลที่เราหมายไว้
การปฏิบัติอย่างกดข่มนั้นมีปลายทางแค่ทางตันเท่านั้นสุดท้ายก็ต้องกลับมากินเมื่อทนไม่ไหว เราจึงเน้นการพิจารณาประโยชน์ในการเลิกกินเนื้อสัตว์ เพิ่มทางเลือก สิ่งทดแทน ให้ความรู้ เพื่อนำไปสู่การลด ละ เลิก เนื้อสัตว์โดยมีความสุข ความสบายใจ แม้ว่าจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์หรือจะเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ก็ตาม
ลองจินตนาการดูสิ…ว่าถ้าคนทั้งโลกเลิกกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆเหล่านั้นแล้วจะดีขนาดไหน ไม่ต้องลดถึงขนาดขั้นละเอียดแบบนี้ทุกคนหรอก แค่เลิกกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆ ก็จะค่อยๆ ลดการเบียดเบียนที่จะเกิดขึ้นแล้ว เพราะวัตถุดิบที่ถูกแปรรูปเหล่านี้ เป็นผลพวงจากการที่เรายังกินเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆนั่นแหละ
เราไม่ได้กินเนื้อสัตว์เพราะเราอยากกินมัน สังเกตได้ว่าแม้บางคนจะรับรู้ความโหดร้ายของกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ แต่เขาก็ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ความเมตตากับความอยากมันคนละตัว แม้จะเมตตามากแค่ไหนก็ไม่สามารถเอาไปตัด ไปลบ ไปทำลายความอยากได้โดยตรง เขากินเนื้อสัตว์เพราะมันมีรสอร่อยเกิดในวิญญาณของเขา ต้นเหตุจริงๆ มาจากกิเลสของเขา ถ้าไม่ทำลายความอยาก ไม่ดับที่เหตุ ไม่ทำลายกิเลสนั้น ก็ไม่มีทางที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
ประสบการณ์ลดเนื้อกินผัก มังสวิรัตินอกบ้านในร้านอาหารครอบครัว
ประสบการณ์ลดเนื้อกินผัก มังสวิรัตินอกบ้านในร้านอาหารครอบครัว
มีโอกาสได้กินนอกบ้านเนื่องจากวันรวมญาติ การที่ชาวมังสวิรัติจะต้องมากินในสถานที่ต่างถิ่นก็มักจะมาจากเหตุปัจจัยด้านสังคมเป็นส่วนประกอบหนึ่ง เมื่อเราออกจากที่มั่นของเราแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเลิกการลดเนื้อกินผักตามวิถีของเราไปด้วย เรายังไม่จำเป็นต้องอนุโลมหรือกินเนื้อสัตว์ไปกับเขาถ้าเรายังพอมีทางเลือก
ทางเลือกหรือทางรอดนั้นเราจำเป็นต้องศึกษาและไขว่คว้ามาเอง การศึกษาในกรณีนี้คือ รู้ว่าจะต้องไปกินที่ไหน ร้านนั้นเขามีอะไรขายบ้าง มีเมนูอะไรที่เราพอจะกินได้บ้าง ส่วนการไขว่คว้านั้นจะใช้เมื่อเข้าสู่ภาวะหาอะไรกินยากลำบาก อาจจะต้องไปถามไปยังร้านว่าพอจะทำเมนูที่เราต้องการให้ได้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ทางร้านก็สามารถที่จะทำได้ ถ้าเราไม่ไปร้านอาหารที่เฉพาะเจาะจง ที่เน้นไปทางขายเนื้อสัตว์มากไปนัก
ร้านนี้มีทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง ถ้าเอาแบบง่ายๆ ไม่คิดมาก ไม่ลำบากมาก สั่งง่าย กินง่าย อิ่มง่าย ก็สามารถสั่งผัดผักมากินกับข้าวได้ ถือว่าผ่านไปง่ายๆ สำหรับการกินมังสวิรัติในงานเลี้ยงรวมญาติครั้งนี้
แต่ถ้ามื้อนี้ผู้มีอุปการคุณยินดีที่จะเลี้ยงอาหารเรา แล้วบอกว่าให้เรากินเต็มที่ เราก็ควรจะ …..กินเท่าที่เราเคยกินนั่นแหละ คือสั่งผัดผักกับข้าวมากินก็ได้ … แต่ด้วยผู้เขียนคิดว่าถ้ากินแบบนั้นมันก็เหมือนกินที่บ้าน มากินในวันรวมญาติทั้งทีเดี๋ยวจะไม่มีอะไรเอามาแบ่งปันให้อ่านกันก็เลยจัดมาหลายเมนู…
เมนูแรก ปอเปี๊ยะทอดไส้ผัก อันนี้น้าสั่งมาไว้ให้ เพราะเห็นว่าเรากินมังสวิรัติ …เห็นไหมว่า เมื่อเราได้ประกาศบอกคนในครอบครัวไปแล้วว่าเรากินมังสวิรัติ จากที่เราเคยหาเมนูคนเดียวก็มีคนมาช่วยดูว่าเราจะกินอะไรได้บ้าง ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้กินกับเราก็ตาม
ปอเปี๊ยะทอดไส้ผักนี่ก็ไม่มีอะไรมาก มีแป้งห่อ ผัก คือวุ้นเส้น เห็ด แครอท น่าจะประมาณนี้ จำไม่ค่อยได้เหมือนกัน แต่คนกินมังสวิรัติก็สบายใจได้เพราะยังไงก็มีแต่ผัก เราอาจจะสั่งมาคู่กับผัดผักอีกสักเมนู ข้าวด้วยอีกจาน ก็ถือว่าพอดี พออิ่ม และดูไม่น้อยจนเหมือนหาอะไรกินลำบากมากเกินไป จนพลอยทำให้คนอื่นกังวลใจกับการกินของเรา
แต่พอดีว่าไม่ได้สั่งผัดผักมากินกับข้าว ก็เลยสั่ง ซีซาร์สลัด ปกติซีซาร์สลัดนี่เขาใส่เนื้อสัตว์จำพวกเบคอนรึเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่พอดีไปบอกกับทางร้านก่อนที่จะสั่งว่า “เราไม่กินเนื้อสัตว์ ช่วยแนะนำเมนูให้หน่อยได้ไหม” ทางร้านแนะนำสปาเก็ตตี้ซอสมะเขือเทศ และเราก็ได้สั่งเมนูนี้มาเพิ่ม ประมาณว่าอยากกินผัก ก็กินกันง่ายๆ รสชาติมาตรฐาน กินผักไปก่อนที่ของหนักๆ จะมา ก็ดีนะย่อยง่าย
ผักโขมอบชีส เป็นเมนูที่สั่งต่อมา ใครที่ยังกินมังสวิรัติใหม่ๆ ก็สั่งมากินเล่นได้เลย ถือว่าเป็นเมนูเอาตัวรอดได้ดีประมาณหนึ่งเมื่ออยู่ในร้านอาหารฝรั่ง เพราะไปที่ไหนเขาก็มี ร้านพิซซ่าทั่วไปก็มี
ว่าแล้วก็มีถึงจานหลัก คือ สปาเก็ตตี้ ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ จะเป็นซอสมะเขือเทศล้วนๆ ก็อร่อยดี อร่อยแบบมีคุณค่า ไม่ลำบากใจที่จะต้องสั่งเมนูที่มีเนื้อสัตว์ คิดว่าร้านอาหารฝรั่งส่วนใหญ่ก็น่าจะมีเมนูนี้อยู่เหมือนกัน ซึ่งราคาก็มักจะถูกที่สุดในบรรดาเมนูพาสต้าที่เรียงรายกันอยู่ ถูกและดีจริงๆ
ในระหว่างที่กินอยู่ ญาติๆ ก็จะทยอย จัดหรือแนะนำผักต่างๆมาให้ เป็นผักสลัดประดับจานบ้าง ผักต้มที่มากับเสต็กบ้าง เช่น มันบด บร็อคโคลี่ แครอท คงเพราะว่าเขาเห็นเรากินมังสวิรัติ เขาก็เห็นดีด้วยจึงมีเมตตากรุณาช่วยเหลือเรา อาจจะเพราะกลัวเราจะไม่อิ่มด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งเราก็ยินดีที่จะรับไว้ ยิ่งเป็นผักประดับจานที่เหลือๆ เราก็ยิ่งยินดี เพราะว่าจะได้ไม่เสียของ ยังไงเราก็กินอยู่แล้ว แม้จะไม่มีน้ำสลัดราด เราก็กินผักเปล่าๆ ด้วยความเคยชิน นั่นแหละนะ
เกือบจะอิ่มแล้ว แต่พอดีมีเมนูที่อยากลองกินดูอีกจานนั่นคือ ปอเปี๊ยะผักโขมชีส เป็นอีกเมนูหนึ่งที่สั่งมากินเล่นๆได้ดี ของทอดนี่รสชาติจะเปลี่ยนไปตามน้ำจิ้มเป็นส่วนใหญ่ ไส้ในเป็นองค์ประกอบย่อยๆ ที่ช่วยหนุนรสสัมผัสอีกทีหนึ่ง พระเอกจริงๆคือผิวกรอบๆของแป้งห่อนั่นเอง (กินทีไรมันก็เด่นสุดทุกที)
สรุปว่าหลังจากที่ทุกคนในครอบครัวรู้ว่าเรากินมังสวิรัติ ก็จะทำให้การดำเนินตามวิถีลดเนื้อกินผักของเรา เป็นไปได้อย่างสะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น ร้านอาหารที่มีอาหารขายหลากหลายแบบนี้ เช่น ร้านข้าวต้ม ภัตตาคาร ร้านอาหารทั่วๆไป สามารถหาเมนูมังสวิรัติกินได้ง่าย เพราะมีเมนูผักให้เลือกหลากหลาย ปรับเปลี่ยนได้ตามที่เราต้องการ จะเพิ่มผักลดเนื้ออย่างไรก็สามารถบอกเขาได้เลย
เนื้อสัตว์ พืชผัก ความรู้สึกหลังจากกินมังสวิรัติแล้ว
ความแตกต่างระหว่างกินเนื้อกับกินผัก
หลายๆคนที่หันมาลองกินมังสวิรัติคงจะรับรู้ด้วยตัวเองว่า เมื่อเราเปลี่ยนมากินมังสวิรัติการรับรู้ที่เคยมีก็เปลี่ยนไป ทั้งๆที่เนื้อสัตว์กับผักยังมีรสชาติและคุณค่าเหมือนอย่างที่มันเคยเป็นไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นตัวเราเองที่เปลี่ยนไป เราจะมาแบ่งปันความความรู้สึกระหว่างการกินเนื้อสัตว์กับผักในสามช่วงเวลาคือ 1. ยังไม่กินมังสวิรัติ 2. กินมังสวิรัติได้เป็นประจำ 3.กินมังสวิรัติได้อย่างเป็นสุข… ลองมาอ่านกัน
1.เมื่อสมัยยังไม่กินมังสวิรัติ
ชาวมังสวิรัติส่วนใหญ่นั้นก็เคยเป็นผู้บริโภคเนื้อสัตว์กันมาทั้งนั้น สมัยยังกินเนื้อสัตว์อยู่ ก็รู้สึกว่ามันอร่อย เลือกหาร้านอาหารที่ขายเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ มีความหลากหลาย มีชื่อเสียง พืชผักนี่แทบจะไม่อยู่ในสายตา แม้จะอยู่ในจานก็ไม่เคยสนใจ เรามักจะกินเนื้อสัตว์ก่อนเสมอ ส่วนผักจะเหลือทิ้งไว้ก็ไม่มีใครใส่ใจ เนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีในทุกมื้ออาหาร ขาดไปเมื่อไหร่เหมือนชีวิตช่างดูอับจน ต้องมากินแต่ผัก ส่วนผักจะมีหรือไม่มีก็ได้เห็นคุณค่าเป็นเพียงแค่วิตามินส่วนเสริม ไม่ได้จำเป็นอะไรนัก มองไปยังคนที่กินมังสวิรัติว่า อยู่กันได้ยังไง ใช้ชีวิตมังสวิรัติกันไปได้อย่างไร กินเนื้อมีความสุขจะตาย จะเลิกกินไปทำไม
ในช่วงนี้เราจะลำเอียงไปทางเนื้อสัตว์ เพราะเราชอบ เราอยากกินเนื้อสัตว์ จากความเคยชิน รสอร่อยที่เราติดยึด กินเนื้อจะอร่อย กินผักก็เฉยๆ ก็แค่พืชผัก ในตอนนี้ เนื้อสัตว์จะเป็นพระเอก พืชผักจะเป็นตัวประกอบ
2. เมื่อเรียนรู้และสามารถกินมังสวิรัติได้เป็นประจำ
วันหนึ่งคนทั่วไปที่เคยหลงติด หลงเข้าใจไปว่าเนื้อสัตว์อร่อยมีคุณค่าจำเป็นต่อชีวิต ก็ได้รับความรู้ใหม่ คือโทษจากการกินเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การเบียดเบียน กระทั่งเรื่องของกิเลสและกรรม หรือความรู้อื่นๆ ก็ทำให้เขาตัดสินใจ ลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ จนสามารถปฏิบัติได้อย่างดีเยี่ยม กินมังสวิรัติได้เป็นเวลานานและติดต่อกัน โดยไม่กลับไปแตะต้องเนื้อสัตว์เลย พบกับความสุขที่ไม่ต้องไปกินเนื้อสัตว์แล้ว มองไปยังคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ว่า กินเนื้อสัตว์กันไปได้อย่างไร มันทั้งเบียดเบียน และทำให้เสียสุขภาพ ฯลฯ
ในช่วงการเปลี่ยนแปลงจากการกินเนื้อสัตว์มาสู่มังสวิรัตินี้ เราจะเริ่มลำเอียงไปทางพืชผัก น้ำหนักที่เคยเอียงไปทางด้านเนื้อสัตว์จะค่อยๆลดลงและพืชผักจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราชอบพืชผักด้วยที่มันมีประโยชน์ ไม่เบียดเบียน และเราเกลียดการกินเนื้อสัตว์ ไม่อยากกินเนื้อสัตว์ เพราะมันเบียดเบียนกินพืชผักจะอร่อย กินเนื้อสัตว์จะไม่อร่อย ในตอนนี้ พืชผักจะเป็นพระเอก เนื้อสัตว์จะเป็นผู้ร้าย
3. เมื่อเรากินมังสวิรัติได้อย่างเป็นสุข
เมื่อเรากินมังสวิรัติเป็นประจำ และสามารถลด ละ เลิก ความยึดดี ถือดี ถือตัวถือตน ความติดดีในการกินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็จะสามารถมองเนื้อสัตว์และพืชผัก เป็นอย่างที่มันเป็นตามความเป็นจริง โดยไม่มีความลำเอียงไปในด้านรักเนื้อสัตว์ไม่สนพืชผัก หรือรักพืชผักเกลียดเนื้อสัตว์เพราะเข้าใจเหตุปัจจัยที่ส่งผลแก่กันและกัน ในคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และสัตว์ที่ต้องตายไปเพื่อคนที่กินเนื้อสัตว์
เราจะเลือกกินแต่สิ่งที่มีคุณค่าแท้ต่อร่างกายและจิตใจ จะเข้าใจถึงโทษและประโยชน์โดยปราศจากความลำเอียง ความรักชอบ เกลียดชังใดๆ เป็นเสมือนตราชั่งที่ตั้งไว้เสมอกันไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่เมื่อวางเนื้อสัตว์กับผักลงไปในแต่ละฝั่งแล้ว ตราชั่งจะเอียงไปในด้านที่มีคุณค่าที่มากกว่า ซึ่งเป็นคุณค่าต่อตนเอง ต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น ต่อสังคมและโลก
ในช่วงนี้เราไม่ได้ลำเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เราเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์แท้ เราจึงกินอร่อยด้วยคุณค่า ไม่ใช่ด้วยความอยากหรือไม่อยาก ในตอนนี้ ผักจะเป็นตัวเลือกแรก และเนื้อสัตว์จะเป็นตัวเลือกสุดท้ายหรืออาจจะไม่ใช่ตัวเลือกเลยก็ได้ แล้วแต่ว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ เป็นกุศลสูงสุดในขณะนั้น
เมื่อกินมังสวิรัติอย่างมั่นคงมาได้แล้ว ทดลองกลับไปกินเนื้อ จะรู้สึกถึงความแตกต่างชัดเจนขึ้นโดยจะให้คุณค่าในทางมังสวิรัติมากกว่า เพราะการกินผัก จะทำให้ร่างกายเบา สบาย ย่อยง่าย ขับถ่ายง่าย ต่างจากตอนกินเนื้อ ซึ่งทำให้รู้สึกอึดอัด แน่น ท้องตึง ย่อยยาก รวมถึงขับถ่ายยาก ผู้กินสามารถใช้ร่างกายของตัวเองเป็นห้องทดลองได้ เราจะได้รู้ข้อดีของการกินมังสวิรัติ และข้อเสียของการกินเนื้อสัตว์ด้วยร่างกายของเราเองโดยไม่มีความลำเอียงไปในด้านใดด้านหนึ่ง แต่รับรู้ด้วยร่างกายตามที่มันเป็นจริงๆ ไม่ใช่แค่ได้ยินได้ฟังเขามา
อ่านมาจนถึงตรงนี้ แล้วคุณล่ะ รู้สึกอย่างไรกับเนื้อสัตว์ รู้สึกอย่างไรกับผักหรือการกินมังสวิรัติ ? กินแล้วมีความสุขอยู่ไหม? เห็นคนกินเนื้อแล้วยังอยากกินกับเขาอยู่ไหม? หรือรู้สึกไม่ชอบ ยังชัง ยังรู้สึกไม่ดีที่เขายังกินเนื้อบ้างไหม? เลือกแบ่งปันประสบการณ์กันได้ตามสะดวกเลย
ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง
ลดการเบียดเบียน ลดนม ไข่ เนย น้ำผึ้ง
บทความนี้จะเหมาะกับชาวมังสวิรัติผู้เลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว อยากพัฒนาขึ้นในขั้นต่อไปเพื่อลดการเบียดเบียนผู้อื่นลง ซึ่งอาจจะทำได้ยากสำหรับผู้หัดกินมังสวิรัติ แต่ก็สามารถที่จะทำได้หากมีเจตนาที่จะลดการเบียดเบียนอย่างตั้งมั่น
เมื่อชาวมังสวิรัติมีพัฒนาการ ในการลด ละ เลิกมาได้ถึงระดับการไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา อาหารทะเลและอื่นๆ ที่เป็นรูปแบบเนื้อสัตว์ที่ต้องพรากชีวิตมา ถึงจะได้กินก็ยังคงรู้สึกว่ามีความสุขอย่างปกติ ไม่มีการพลั้งเผลออยากกลับไปกินเนื้อเป็นชิ้นๆอีก เราก็จะมาลดการเบียดเบียนในขั้นต่อไปคือ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ
การกิน หรือใช้ นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง ฯลฯ ไม่ได้เกี่ยวกับการฆ่าโดยตรง แต่ก็มีผลโดยอ้อมซึ่งอาจจะมีผลไปถึงการฆ่าก็เป็นได้ และยังเป็นการเบียดเบียนซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ความลำบากมากมายต่อชีวิตสัตว์
เราอาจจะคิดไปว่า เราไม่ได้ฆ่า เราก็ไม่บาป แต่การคิดเช่นนั้นเป็นการคิดที่ยังไม่รอบคอบเท่าใดนัก เพราะว่าการที่เราไปกักขัง แย่งเอาของรักของเขา คือการเบียดเบียนเมื่อมีการเบียดเบียนก็ทำให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อชีวิตเราเอง เพราะการเบียดเบียนผู้อื่นทำให้เรามีโรคมาก มีอายุสั้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้นำสิ่งนั้นมาเอง แต่ก็มีส่วนในการบริโภคสิ่งที่เบียดเบียน แล้ววิบากกรรมนี้จะไปไหนเสีย เราก็ได้รับไปเต็มๆพร้อมกับตอนที่เราคิดจะเสพนั่นเอง
นม ไข่ เนย น้ำผึ้ง เบียดเบียนอย่างไร
จะลองยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพของการเบียดเบียนเหล่านี้ เช่น นม นมในที่นี้จะเป็นนมจากสัตว์ จะขอยกตัวอย่างเป็นนมวัว
นมวัว เราต้องเลี้ยงวัว กักขังวัว ให้อยู่ในเขตที่เรากำหนดไว้ อาจจะเน่าเหม็น ร้อน อับชื้น แม้จะมีอาหารมาป้อนให้ แต่ก็ต้องถูกรีดนมด้วย เหมือนพนักงานบริษัทที่ถูกให้อยู่แต่ในออฟฟิศ นอนในออฟฟิศ มีอาหารให้ แต่ไม่ให้ออกไปไหน ทำงานตั้งแต่เด็กจนแก่อยู่ในนั้น ยิ่งเราบริโภค นมวัว มากขึ้นเท่าไหร่ รูปแบบการเบียดเบียนจะยิ่งหลากหลาย ยิ่งมากขึ้นไปตามละดับ เพราะผู้ผลิตก็ต้องหาวิธี ที่จะทำให้ได้มาซึ่งน้ำนมมากๆ แต่ใช้ต้นทุนน้อยลง สุดท้ายภาระก็จะตกไปที่วัวนั่นเอง เราสามารถหาสิ่งทดแทนนมวัวได้ เช่น นมถั่วเหลือง นมจากพืชต่างๆ เพื่อลดการเบียดเบียนวัว แพะ ฯลฯ และลดผลกระทบอีกมากมายในอุตสาหกรรมการผลิตนมจากสัตว์
เนย คือ ผลิตภัณฑ์ ที่สร้างมาจากนม ไม่ว่าจะเนยเหลว หรือเนยแข็งจำพวกชีส ในกระบวนการสร้างเนยไม่ได้เป็นการเบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ก็ยังมีที่มาจากนม ซึ่งหากเรายังต้องการใช้เนย ก็สามารถใช้เนยเทียม เช่น มาการีน ทดแทนได้ แน่นอนว่า กลิ่น รส อาจจะต่างไปบ้าง และแน่นอนเหมือนกันว่าผลของการเบียดเบียนก็ต่างไปด้วย
ไข่ จะยกตัวอย่างเป็นไข่ไก่ เวลาเรานึกถึงไข่ไก่ ภาพก็อาจจะออกมาเป็นภาพของไก่ที่เดินเล่นอยู่ในสวนหลังบ้าน กินอยู่อย่างธรรมชาติและออกไข่อย่างธรรมชาติ อย่างมากก็มีกรงใหญ่ๆกันไว้ไม่ให้ไก่ได้รับอันตรายจากหมาหรืองู เป็นภาพการเลี้ยงไก่ที่เห็นโดยทั่วไปในชนบท
แต่การผลิตไข่ไก่ เพื่อคนจำนวนมากใช้วิธีดังกล่าวไม่ได้ ฟาร์มไก่เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ในปัจจุบัน แม้จะมีมาตรฐานมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับไก่ที่ถูกขังอยู่ในช่องแคบๆ ทำได้แค่กินหัวอาหาร และน้ำ แล้วออกไข่ เป็นงานประจำที่น่าเบื่อ ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องทำงานอยู่แค่โต๊ะคอมพิวเตอร์ตรงหน้า ทำได้อย่างมากแค่ลุกขึ้นยืน แต่บิดขี้เกียจไม่ได้เพราะไม่มีพื้นที่ มีอาหารให้กิน ขับถ่ายลงบ่อข้างล่าง และนอนตรงนั้น ทำอย่างนี้ไปตั้งแต่เกิดจนแก่ พอแก่เกษียณอายุงานแล้วเขาก็ไม่ได้ปล่อยไปแบบดีๆ เหมือนกับไก่ไข่ที่หมดศักยภาพในการออกไข่ ความตายจะไปไหนเสีย เพราะถ้าเลี้ยงไว้ก็จะเปลืองอาหาร เขาก็จะเปลี่ยนไก่ตัวนั้นเป็นสินทรัพย์ นั่นคือเอาไปฆ่าแล้วขายให้เรากินนั่นเอง
การที่เรายังกินไข่ไก่ เราก็ยังมีส่วนกักขัง ทรมาน จนถึงมีผลต่อการฆ่า ครบองค์ประกอบแบบนี้ไม่ต้องห่วงอีกเหมือนกันว่าจะต้องรับกรรมไหม โดนเต็มๆแน่นอน และแม้ว่าเราจะบอกว่าเราบริโภคไข่ออแกนิค เป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงอย่างธรรมชาติ ให้อาการตามธรรมชาติ ไม่ใช่หัวอาหารที่สังเคราะห์มา เราก็ยังต้องรับส่วนแห่งบาปอันคือการเบียดเบียนนั้นอยู่ มีไก่ตัวไหนที่ไข่แล้วไม่ไปกกไข่บ้าง โดยสัญญาติญาณแล้วไก่ก็จะรับรู้ได้ว่าเมื่อไข่แล้วก็ต้องไปกกไข่ การไปกกไข่คือความรับผิดชอบ ความรัก ความห่วงใยของแม่ไก่ การที่เราไปนำไข่ออกมาก็เหมือนไปแย่งชิงของรักของไก่มา ไก่มันไม่รู้หรอกว่าไข่ฟองนั้นจะฟักหรือไม่ฟัก มันรู้แค่ว่าไข่ออกมาแล้วมันต้องกก มันทำตามธรรมชาติของไก่ ไม่ได้ทำตามความคิดของคนที่ว่าไก่ต้องไข่ให้เรากิน ดังนั้นการไปแย่งชิงของรักของเขา ของที่เขาไม่ยินดีให้ จะไม่ถือเป็นการผิดศีลข้อ ๒ คือการลักขโมย หรือเอาของที่ผู้อื่นไม่ยินดีให้ได้อย่างไร
เราไม่จำเป็นต้องหาสิ่งทดแทนไข่ไก่ เพราะไม่ว่าจะเป็นไข่เป็ด ไข่นกอะไรก็ตาม ก็ถือเป็นการแย่งชิง เบียดเบียนเช่นกัน เราสามารถหาธาตุอาหารทดแทนได้จากธัญพืช แน่นอนว่าอาจจะไม่เหมือน ไม่ครบถ้วน แต่จริงๆแล้วชีวิตเราไม่จำเป็นต้องได้รับสารอาหารทุกอย่าง เราก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้ เพราะการไม่เบียดเบียนทำให้มีโรคน้อย ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการได้รับธาตุอาหารมากแต่ก็มีโรคมาก
น้ำผึ้ง วัตถุดิบที่ถูกใช้อย่างมากในอาหารจำพวกของหวาน หรือแม้แต่การเสริมความงาม การที่จะได้น้ำผึ้งมา ก็จะแบ่งง่ายๆ เป็นสองแหล่ง หนึ่งคือไปแย่งชิงจากธรรมชาติมา สองคือสร้างธรรมชาติจำลองมาแล้วให้ผึ้งทำงานสร้างรังในที่ของเรา สุดท้ายก็เก็บค่าเช่าเป็นรังผึ้งที่เขาสร้าง อาจจะลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ว่า เราทำงานเอาเงินทั้งหมดมาซื้อบ้าน ค่อยๆแต่งบ้าน ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งต่อเติมจนยิ่งใหญ่ สวยงามน่าอยู่ สะดวกสบาย เมื่อวันที่ใกล้จะผ่อนบ้านหมดก็เกิดวิกฤตทางการเงิน สุดท้ายก็โดนธนาคารมายึดบ้านไป เรื่องนี้ก็คงจะคล้ายๆกับเรื่องของผึ้งที่สร้างรังจนยิ่งใหญ่ สุดท้ายก็โดนคนมาพราก มาขโมยเอาไป ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าการลักขโมย การเบียดเบียนนั้นไม่ผิด
ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นการเบียดเบียนที่น้อยกว่าการเสพเนื้อสัตว์โดยตรง อาจจะหลุดจากแนวคิดมังสวิรัติไปบ้าง แต่จุดประสงค์ของเราคือการลดการเบียดเบียน ซึ่งคงต้องพัฒนาให้เบียดเบียนน้อยลงเรื่อยๆจนถึงวันหนึ่งที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เบียดเบียนโลกน้อยที่สุด แต่กลับสร้างประโยชน์ ช่วยคนอื่น ช่วยอนุเคราะห์โลก เป็นประโยชน์ สร้างความสุขแก่โลกนี้ได้มากที่สุด
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
เมตตา เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบายและอบอุ่นไปทั้งใจเมื่อได้รับ มีคุณค่ามากมายเมื่อเมตตาได้งอกงามและเจริญในจิตใจ ชาวมังสวิรัติมักจะใช้เมตตาเป็นตัวนำในการพาตัวเองไปสู่ชีวิตมังสวิรัติ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ลด ละ เลิก การเบียดเบียนได้
เมตตากับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัติ
เมตตา สำหรับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้น การที่เราจะพัฒนาเมตตาได้นั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสัตว์ที่มาเป็นอาหารของเรานั้น เกิดมาทำไม ใช้ชีวิตแบบใด และจากโลกนี้ไปอย่างไร มีสื่อมากมายที่ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตเหล่านั้น หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยรับรู้ข้อมูล แต่เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกสงสาร เห็นใจ สลด หดหู่ ฯลฯ ใจที่มีเมตตาจะเริ่มเจริญงอกงามขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อรู้สึกสงสารแล้วก็เริ่มอยากจะช่วยเหลือ เริ่มที่จะรู้สึกว่าไม่อยากเบียดเบียน จึงเริ่มสนใจเข้าสู่การกินมังสวิรัติ อันคือ “ความกรุณา“
ผู้คนมากมาย ที่รับรู้ความโหดร้าย ความทรมานในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตเมตตา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดกรุณา คือลงมือทำเพื่อลดการเบียดเบียน เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองมาสู่การ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ มาลดเนื้อกินผัก การจะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้น จำเป็นต้องมีเมตตาและกรุณาที่มีกำลังมากพอที่จะไปตัดความอยากเสพเนื้อสัตว์
ความอยากเสพ คือ ความหลงติด หลงยึด หลงผิดไปว่า ถ้าฉันได้สิ่งนี้มาฉันจะมีความสุข ถ้าฉันได้กินฉันจะอร่อย ทั้งหมดนี้คือ “ กิเลส ” ที่สร้างความสุขลวง สร้างรสอร่อยขึ้นมา การออกจากสภาพติดยึดเหล่านี้ต้องใช้เมตตาและกรุณา คือความรักความเห็นใจต่อสัตว์โลก และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเบียดเบียนชีวิตของเขา และยังใช้ความเกลียดสิ่งที่ชั่ว อันคือความโหดร้าย ทารุณ การเบียดเบียนต่างๆ เข้ามาเสริมความยึดดีในจิตใจเพื่อการออกจากนรกของการเสพ
การจะก้าวเข้าสู่ชีวิตนักมังสวิรัติได้ จำเป็นต้องใช้ “ความพยายาม ” มากกว่าการเจริญเมตตาและกรุณา คือต้องพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย จากการไปเสพเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งพิจารณาประโยชน์จากการเลิกเสพเนื้อสัตว์ ในด้านสุขภาพ การเงิน เวลา สังคม กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และพิจารณาหลักธรรมข้ออื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ ความเป็นทุกข์จากการเสพหรือไม่ได้เสพเนื้อสัตว์ ความไม่มีตัวตนแก่นสารสาระแท้ใดๆในการเสพเนื้อสัตว์ ก็จะสามารถทำให้ผู้กินมังสวิรัติมือใหม่ พัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุขและยั่งยืนได้
เมื่อพัฒนาจนเต็มที่จะพบว่า แม้จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีความสุขจากการเสพเหมือนเดิม ความอร่อยจากเนื้อสัตว์ที่เคยมีจะหายไป เหลือแต่ความอร่อยจากรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่จะได้ความสุขจากการไม่เสพขึ้นมาแทน นักมังสวิรัติที่ไม่สามารถลด ละ เลิก ความอยากเสพ หรือ กามสุขลิกะ อันคือความสุดโต่งไปในด้านของการเสพ (กิเลสในมุมเสพวัตถุ) จะไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ยั่งยืน แม้จะกินมานาน 30-40 ปี ก็มีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อยู่ เพราะความอยากยังไม่ตาย กิเลสที่มีจะแค่ถูกกดข่ม ถูกลืมไป แต่กิเลสจะแอบพัฒนาตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ และส่งผลออกมาในภายหลัง ในลักษณะที่เรียกว่า “ตบะแตก”
ดังนั้นจำนวนปีหรือช่วงเวลาที่ลด ละ เลิก ได้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าเราจะออกจาก ความอยากเสพได้ หากเรามุ่งเป้าหมายว่าจะเมตตาสัตว์โลก ลดการเบียดเบียน ความอยากเสพเป็นรากของกิเลสที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเป็นตัวอย่างของนักมังสวิรัติที่ไม่ดี ปากก็บอกคนอื่นว่ากินมังสวิรัติ แต่แล้วเวลาเผลอก็แอบไปกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ก็กดข่มจนสุดท้ายก็ตบะแตกไปกินเนื้อสัตว์ จึงเกิดมีคำถามจากผู้คนทั่วไปว่ากินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร? กินแล้วทรมานจากความอยากแล้วมันดีอย่างไร? แล้วชาวมังสวิรัติจะตอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ลดความอยากยังไม่ได้เลย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน และค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง ” ดังนั้นนักมังสวิรัติ พึงระวังไว้ด้วยว่าเรานี่แหละคือตัวอย่างของคนกินมังสวิรัติ แม้เราจะไม่ได้บอกใครว่ากินมังสวิรัติดีอย่างไร แต่เขาจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตวิถีชีวิตของเรา คือ การสอนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากสอน
เมตตาสำหรับนักมังสวิรัติ
ชาวมังสวิรัติที่สามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด แม้จะต้องไปอยู่ที่ต่างถิ่น ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถรักษาศีลไว้ได้ไม่ขาด มีศิลปะในการเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ หรือผู้ผ่านด่านความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว มีเมตตากรุณากับเหล่าสัตว์ผู้ที่เคยเป็นอาหาร มีความสุขแม้ว่าจะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เหมือนอย่างเคย
แต่ก็มักจะมาติดนรกอีกตัวคือ ความยึดดี ถือดี …เมื่อเมตตาไม่ได้เจริญครอบคลุมไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนที่เขายังไม่เข้าใจถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการเบียดเบียนชีวิตอื่น ก็มักจะไปเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าจิตใจไม่ดี ไม่เมตตา ไม่กรุณา ต่างๆนาๆ จนทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์
ลักษณะอาการ คือ เมื่อเห็นคนกินมังสวิรัติก็จะยินดี ดีใจ มีจิตมุทิตากับเขาได้โดยมีแต่ความสุข แต่เมื่อเห็นคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่เห็นคนที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ กลับไม่สามารถที่จะทำใจให้ยินดีกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ได้ จึงยินร้าย ขุ่นมัว ไม่พอใจ เพ่งโทษ ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็อาจจะมีคำพูด ลีลาท่าทาง หรือการสื่อสารที่แสดงอาการไม่พอใจออกมา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนติดดี ยึดดี ถือดี เป็น “นรกของคนดี” เป็นคนดีที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะมีแต่ความกดดัน จึงเป็นคนดีที่ไม่มีใครต้องการ สะสมแต่ “อัตตา” พอกพูนจนเกิดความทุกข์ทั้งตนเองและคนอื่น
เราใช้ อัตตา หรือการยึดดี ถือดี ในการก้าวข้าม ความอยากเสพเนื้อสัตว์มา แต่ในตอนสุดท้ายก็ต้องทำลายอัตตา คือความยึดดี ถือดี เหล่านั้นทิ้งด้วย “ อุเบกขา ” หรือการปล่อยวาง
เมื่อเรามีอัตตา เราจะอยากเสพดีจากคนอื่น คือ แต่ก่อนเราเคยอยากเสพเนื้อสัตว์ แต่พอหลุดจากการเสพเนื้อสัตว์ เราก็มาติดดี หลงว่าต้องเลิกเสพเนื้อสัตว์จึงจะดี จึงกลายเป็นอยากให้คนอื่นทำดีอย่างเรา ทำอย่างที่ใจเราคิด ทำอย่างที่เราทำได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ใครทำผิดกฎ ใครมาว่าคนกินมังสวิรัติ เราก็ทุกข์ ทั้งหมดนี่เป็นอาการอยากเสพสิ่งที่ดีจากคนอื่น เกิดดีสมใจจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีสมใจก็เป็นทุกข์
ถ้ามาถึงตรงนี้ต้อง พิจารณาความจริง ตามความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง “ความยึดมั่นถือมั่น” คือ ให้เมตตาขยายไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส การที่เขายังเสพติดเนื้อสัตว์เพราะเขายังมีกิเลส เหมือนอย่างที่เราเคยมีเมื่อก่อน เขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้กิเลสอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ให้เข้าใจว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่สัตว์เหล่านั้นถูกฆ่าเพื่อกินก็เป็นกรรมที่พวกเขาทำมาเอง ถ้าพวกเขาไม่เคยเบียดเบียนก็ไม่มีทางที่จะถูกเบียดเบียน เราไปห้ามกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน ”ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้ทำมา สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่เขาทำมาแล้วทั้งนั้น” เป็นสัจจะที่ใช้พิจารณาความจริงได้ตลอดกาล
หากชาวมังสวิรัติมีโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมังสวิรัติ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ไม่ต้องใส่ความโกรธ ใส่การเปรียบเทียบ ใส่การยกตนข่มคนอื่น ใส่ความยึดดีถือดีลงไป เพราะแม้เราจะเป็นกินมังสวิรัติได้อย่างบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถเมตตาคนอื่นได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะปล่อยคำพูดที่เหน็บแนม ดูถูก เหยียดหยัน ประณาม กดดัน ฯลฯ ซึ่งก็คงยากที่จะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มได้ เพราะการสื่อสารที่มีอัตตาปน ผู้รับฟังจะสามารถรู้สึกได้ เช่น ไม่ระรื่นหู ไม่สบายใจที่จะฟัง ฟังแล้วอึดอัด กดดัน ฯลฯ แม้โดยรวมจะดูเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คำพูดสวยหรู เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเหตุทำให้การสื่อสารเหล่านั้นไร้ประสิทธิผลคือ เขาก็พูดดีนะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับฟัง
เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุปัจจัยของการเกิดสิ่งต่างๆด้วยปัญญาแล้ว จึงจะสามารถปล่อยวางความอยากเสพและความยึดดี ถือดี ทั้งหมดได้ กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สื่อสารด้วยเมตตา ไม่มีอัตตาปน มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย มีมุทิตาจิตได้ในทุกๆสถานการณ์ เมื่อได้ทำดีอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลอาจจะไม่เกิดดีตามที่ทำก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างด้วยใจที่เป็นสุข
คำว่า “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “วางเฉย” ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการนำเสนอประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกินมังสวิรัติแก่เพื่อนมนุษย์ แต่หมายถึง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ว่าดีต้องเกิด เกิดดีจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีแล้วทุกข์ งานเผยแพร่ข้อมูลมังสวิรัตินั้นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ในงานนั้นหายไป เพราะชาวมังสวิรัติได้กำจัดอัตตา คือความยึดดี ถือดี อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสสิ้นไปแล้ว
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ค้ำจุนโลก
ดังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมวิหาร ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งความผาสุกที่ควรสร้าง พัฒนา ขยายขอบเขตให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป
วิธีสั่งอาหารมังสวิรัติ ตามร้านอาหารทั่วไป
วิธีสั่งอาหารมังสวิรัติ ตามร้านอาหารทั่วไป
กรณีร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านอื่นๆในศูนย์อาหารทั่วไป
สำหรับคนที่หัดกิน หรือหาทางกินมังสวิรัติในช่วงเริ่มต้น อาจจะลำบากสักนิดในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าโชคดีก็อาจจะมีแหล่งหรือร้าน ขายอาหารมังสวิรัติ-เจ ใกล้ๆที่อยู่ ที่ทำงาน ก็สามารถที่จะดำรงชีวิตมังสวิรัติได้ไม่ยากไม่ลำบาก
ในความเป็นจริงแล้ว ร้านอาหารมังสวิรัตินั้นไม่ได้มีมากนัก อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับความสะดวก ที่เอื้อให้ตัวเองได้กินมังสวิรัติง่ายๆ และยังมีข้อจำกัดหลายๆอย่างในการทำอาหารเอง ซึ่งในบทความเนื้อเราจะมาแบ่งปันเกี่ยวกับการหาทางลดเนื้อกินผักให้ได้ แม้ในสภาวะที่มีตัวเลือกน้อย
ร้านอาหารที่เรามักจะพบได้บ่อยคือร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง หรือไม่ก็ร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งถ้าเราสั่งอาหารแบบปกติก็คงจะไม่มีอะไร แต่เรากำลังจะสั่งอาหารที่แปลก ซึ่งอาจจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่คุ้นเคยรู้สึกลำบากใจ ดังนั้นความนอบน้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เราควรใช้ การวอนขอ , ขอร้อง, ขอความกรุณา ให้เขาช่วยทำให้เรา
เช่น ร้านข้าวแกง เราอาจจะบอกเขาประมาณว่า “ จะสะดวกไหมถ้าจะช่วยตักแต่ผักให้ ” , “อยากได้แค่ผัก พอจะตักให้ได้ไหม ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ” ตัวอย่างที่เคยใช้จริงกับแกงมัสมั่น ในศูนย์อาหารแห่งหนึ่ง คือ “แกงมัสมั่นนี่ถ้าจะเอาแต่มันฝรั่ง พอจะขายให้ได้หรือไม่ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ “ สุดท้ายเขาก็ตักมาให้ด้วยความยินดี
ร้านอาหารตามสั่ง เช่น “เอากะเพราใส่เห็ดนะ ใส่แต่เห็ดกับใบกะเพราหรือผัก*อื่นๆ* พอจะทำให้ได้ไหม” จากที่เคยพบมา อาจจะเจอปัญหาเรื่องวัตถุดิบ ตรงนี้เราต้องมีตัวเลือกสำรองไว้เสนอให้เขาทำให้ เช่น ถ้าเห็ดหมด เราก็ถามว่า “ถ้าเป็นกะเพราดอกกะหล่ำ พอจะได้ไหม” เป็นต้น
ร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็อาจจะบอกเขาว่า “ เอาแค่เส้นกับผัก พอจะได้ไหม ใส่แค่เส้นกับผักนั่นแหละ “ เคยเจอกรณีเขากังวลว่าจะคิดเงินไม่ถูก เราก็บอกเขาว่า “ ใส่แค่เส้นกับผักนั่นแหละ คิดเงินตามปกติก็ได้นะ” ส่วนใหญ่ร้านก๋วยเตี๋ยวจะสื่อสารไม่ค่อยยากเท่าไรนัก
ในส่วนของร้านอาหารอื่นๆ เช่น ร้านราดหน้า ร้านส้มตำ ฯลฯ ให้ทำในแนวทางเดียวกัน คือ ให้เราลอง โยนหินถามทาง ดูก่อนว่า เขาพอจะสะดวกทำให้เราหรือไม่ เขาสบายใจที่จะทำให้เราหรือไม่ เขายินดีที่จะทำให้เราหรือไม่ โดยให้เราแสดงท่าทีที่นอบน้อมให้มากที่สุด เพราะเราเองเป็นคนที่ทำให้เขาลำบาก ผิดไปจากกระบวนการที่เขาเคยทำ เป็นการรบกวนเขา ดังนั้นความนอบน้อมจึงเป็นคุณสมบัติที่ชาวมังสวิรัติควรจะมีหรือพัฒนาให้มากขึ้น หากจะต้องการลดเนื้อกินผักในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย
จะสังเกตได้ว่า เราจะไม่ไปใช้การ “สั่ง” บังคับ หรือการกดดันใดๆ กับพ่อค้าแม่ค้า เราเพียงแค่ไปขอความเห็นใจ ให้เขาช่วยให้เราได้กินมังสวิรัติหรือลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุดตามความเหมาะสม เขาจะยินดีทำหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ถ้าเขายินดีเราก็ได้กิน ถ้าเขาไม่ยินดี เราก็ไปกินร้านอื่น หรือถ้าไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็ให้เขาทำเท่าที่เขาสะดวก เราก็กินแบบ “มังเขี่ย” ของเราไป หรือถ้ามีวิธีที่ดีกว่านั้นก็ทำไป
ชาวมังสวิรัติควรจะทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีความรู้สึกที่ดีกับผู้ที่กินมังสวิรัติ หากเราไปสั่งทุกอย่างตามใจเรา เช่น น้ำมันหอยไม่ใส่ น้ำปลาไปไม่ใส่ ใส่เกลือแทน กระเทียมไม่ใส่ ปรุงรสอ่อนๆ ไอ้นั้น ไอ้นี่ เยอะไปหมดตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน โดยที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ยินดีทำ เราอาจจะได้กินมังสวิรัติหนึ่งมื้อ รักษาความสมบูรณ์ของศีลไปได้อีกวัน แต่อาจจะสร้างคนที่เกลียดคนกินมังสวิรัติเพิ่มขึ้นมาแทนก็ได้
นั่นหมายความว่าแทนที่จะสร้างคนที่กินมังสวิรัติมาช่วยลดเนื้อกินผัก กลับสร้างศัตรูหรือผู้เสื่อมศรัทธาในนิสัยเรื่องมาก ยุ่งยากของคนกินมังสวิรัติ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะขายอาหารแลกเงิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปสั่งให้เขาทำทุกอย่างตามใจเราได้เสมอไป ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องที่ดีเสมอไป ไม่จำเป็นด้วยว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องเห็นดีเห็นด้วยตามเรา การกินมังสวิรัติไม่ได้หมายความว่าเราจะดูเป็นคนดี น่าเคารพ น่าช่วยเหลือขนาดนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับความร่วมมือทุกอย่าง การปฏิบัติตัวให้ดี เพื่อให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อคนที่กินมังสวิรัติทั้งหมด เป็นเรื่องที่สมควรทำ
เราต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า การกินมังสวิรัติคนเดียวได้อย่างสมบูรณ์นั้น แม้จะสมบูรณ์แบบเพียงใดก็อาจจะไม่ได้มีผลต่อการเบียดเบียนองค์รวมเลย แต่การที่จะสร้างคนที่หัดกินมังสวิรัติเพิ่มขึ้นมาทีละคนต่างหากที่จะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้นได้ หากเราเป็นผู้นอบน้อม ถือศีลกินมังฯ อย่างเคร่งครัด และพร้อมจะปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยไม่ให้เสียประโยชน์ตนเอง (คือ ยังสามารถกินลดเนื้อสัตว์กินผักได้ทุกสถานการณ์) และ ยังสามารถรักษาใจคนอื่นไว้ได้ด้วย (คือ คนรอบข้าง ผู้ร่วมโต๊ะ พ่อครัวแม่ครัว ฯลฯ ไม่ลำบากใจที่ต้องกินร่วมกับเรา หรือทำอาหารให้เรา) วันหนึ่งก็จะมีคนศรัทธาตามที่เราปฏิบัติ จนนำมาสู่ความสนใจในการกินมังสวิรัติของเขาเหล่านั้นด้วย
ึความคิดเห็นล่าสุด