Tag: พิจารณาทุกข์

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,280 views 0

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

ลดเนื้อกินผัก ลดชนิดอาหาร : ไม่ติดมากก็เลิกไปได้เลย

ผู้ที่ลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก เมื่อปฏิบัติตามกระบวนการลด ละ เลิก ด้วยการพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่างๆ จากการกินเนื้อสัตว์จนสามารถลดการกินเนื้อสัตว์ได้ สามารถกินผักได้เพิ่มขึ้น สามารถละเนื้อสัตว์ได้เป็นช่วงเวลาที่นานมากขึ้น และเมื่อได้ลดละเนื้อสัตว์กินแต่ผักมาสักระยะหนึ่งจนเกิดความรู้สึกว่า แม้จะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ก็ไม่มีความทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ หรือความอยากกินใดๆ ก็ให้ลองตัดเนื้อสัตว์ชนิดนั้นออกไปได้

ยกตัวอย่างเช่น เราลด ละ เลิกเนื้อวัว เราไม่กินเนื้อวัวแล้ว ไม่ได้กินก็ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุกข์ใจอะไร เราก็ลองเลิกเนื้อวัวแบบตัดขาดจากชีวิตได้เลย ถ้าเลิกแล้วยังรู้สึกสบายดีก็ให้เลิกไปได้เลย

แต่ถ้าเลิกแล้วยังมีความรู้สึกคิดถึง ยังเห็นเมนูเนื้อวัวแล้วน้ำลายไหล อยากกินเนื้อวัวชิ้นนั้นๆ ก็ให้พิจารณาผลเสียไปเรื่อยๆ ความอยากกินนั้นจะลดลงเอง จนมั่นใจได้ว่าแม้จะมีเนื้อสเต็กราคาแพงมาอยู่ตรงหน้า ให้กินฟรีๆเลยนะ ฉันก็จะสั่งอย่างอื่นมากินโดยไม่ได้สนใจสเต็กเนื้อชิ้นนั้นเลย ปล่อยมันวางอยู่ข้างหน้าอย่างนั้นแหละ แต่ไม่กิน ไม่รู้สึกรำคาญ ไม่กระวนกระวาย ไม่รัก ไม่ชัง ไม่รู้สึกดึงดูด ไม่รู้สึกว่าผลักไส รู้สึกแค่ว่ามันก็เป็นของมันอย่างนั้น แล้วเราก็กินผักต่อไปได้ปกติ เลิกกินก็ไม่คิดฟุ้งซ่าน เพราะมั่นใจว่าที่ทำนั้นดีแล้ว

เมื่อเราเลิกเนื้อวัวได้ เราก็มาเลิกเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย ไข่ นมสัตว์ น้ำผึ้ง ฯลฯ โดยใช้กระบวนการลด ละ เลิก ตามลำดับเหมือนเดิม แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็งก็อาจจะสามารถเลิกพร้อมกันได้หลายชนิดก็ได้ ทั้งนี้ผู้ลดเนื้อกินผัก ควรประมาณกำลังของตัวเองให้เหมาะสม ไม่ให้หย่อนจนไม่เจริญ ไม่ให้ตึงจนทรมาน

ลดชนิดอาหาร…

เมื่อเลิกเนื้อสัตว์ที่มีลักษณะเป็นชิ้นๆได้แล้ว เราก็จะมาลดอาหารที่ไม่มีรูปลักษณะของเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่น น้ำซุป น้ำมันหอยในผัดผัก น้ำปลาในน้ำแกง เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเรากินก๋วยเตี๋ยว ใส่เส้นกับผัก แต่ยังมีน้ำซุปที่มีกระดูกสัตว์เป็นส่วนประกอบอยู่ เราก็พิจารณาว่าการมีกระดูกสัตว์ก็ยังมีส่วนเบียดเบียนเขาอยู่ ยังเกิดทุกข์โทษภัยอยู่ เราก็จะลด ลงมาเป็นการสั่งก๋วยเตี๋ยวแห้ง คือให้เขาลวกเส้นกับผักให้เท่านั้น ถ้าทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบากจิตใจมากไปนัก ก็ลองเลิกกินแบบเดิมๆ หันมากินก๋วยเตี๋ยวแห้งใส่แต่เส้นกับผักดู ส่วนเขาจะมีสิ่งอื่นในประกอบให้อย่างไรก็ต้องพิจารณาไปเป็นครั้งๆเป็นรายๆไป ตามแต่สูตรของแต่ละร้าน เช่น ถ้าเขามีถั่วเราก็ขอรับ แต่ถ้าเขาเสนอกากหมูเราไม่รับ เป็นต้น

เมื่อเราพัฒนาการลด ละ เลิก ในรายละเอียดของชนิดอาหารนั้นๆได้แล้ว ก็ให้พัฒนาต่อเป็นการลด ละ เลิกชนิดอาหารนั้นๆต่อกันเลย

ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราชอบกินผักทอด ขนมทอด เราก็ลดปริมาณการกินลงมา จนสามารถละได้เป็นช่วงเวลานาน ก็ให้ทดลองเลิกของทอดนั้นๆไปเลย เช่นเลิกกินผักทอด เห็ดทอด เมนูชุบแป้งทอดทั้งหลาย โดยการพิจารณาโทษของการกินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป อาจจะทำให้อ้วน ทำให้มีโรคมาก ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรงเต็มที่ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ไม่กินเมนูทอดก็ไม่เป็นไร ไม่อยากกินเมนูทอดแล้วเพราะไม่ดีต่อสุขภาพ แม้จะมีมาวางอยู่ตรงหน้าก็ไม่กินเป็นอันดับแรก ไม่กระวนกระวายใจหากไม่ได้กิน ก็ให้เลิกกินของทอดไปได้เลย

แล้วค่อยลดชนิดอาหารอื่นๆ ที่มีรสจัดมาก มีการปรุงแต่งมาก มีราคาแพง หากินยาก มีขั้นตอนการทำยาก ฯลฯไปตามกำลังที่พอจะทำไหว

สุดท้ายแล้วเราก็จะลดเนื้อกินผักกันจนสามารถกินข้าวกับผักสดหรือผักต้มได้ น้ำพริกไม่ต้องมีก็ได้ ถ้าขาดธาตุอาหารใดก็ต้มกินเพิ่มได้ เช่น โปรตีนก็ใช้ถั่วต้ม ส่วนคาร์โบไฮเดรตเราได้จากข้าวอยู่แล้ว วิตามินได้จากผักนานาชนิดและข้าวกล้อง ที่เราเลือกกินให้เหมาะกับความสมดุลแข็งแรงของร่างกาย ส่วนไขมันถ้าขาดเราก็ใส่ในกระบวนการผัดก็ได้ จะกินพวกธัญพืชที่มีน้ำมันเช่น เมล็ดทานตะวัน แทนก็ได้ หรือจะกินเข้าไปตรงๆเลยก็ได้ โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่าย มีอยู่ทั่วไป ราคาไม่แพง และไม่มีโทษ คือปลอดสารเคมี ไม่ทำให้ป่วย ไม่ทำให้เสียสุขภาพ

ทั้งนี้เพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมายคือการไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนชีวิตตนเองด้วยอาหารที่ทำลายสุขภาพ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความผาสุกในชีวิตอย่างยั่งยืน

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

July 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,865 views 0

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

เมตตา เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบายและอบอุ่นไปทั้งใจเมื่อได้รับ มีคุณค่ามากมายเมื่อเมตตาได้งอกงามและเจริญในจิตใจ ชาวมังสวิรัติมักจะใช้เมตตาเป็นตัวนำในการพาตัวเองไปสู่ชีวิตมังสวิรัติ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ลด ละ เลิก การเบียดเบียนได้

เมตตากับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัติ

เมตตา สำหรับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้น การที่เราจะพัฒนาเมตตาได้นั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสัตว์ที่มาเป็นอาหารของเรานั้น เกิดมาทำไม ใช้ชีวิตแบบใด และจากโลกนี้ไปอย่างไร มีสื่อมากมายที่ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตเหล่านั้น หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยรับรู้ข้อมูล แต่เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกสงสาร เห็นใจ สลด หดหู่ ฯลฯ ใจที่มีเมตตาจะเริ่มเจริญงอกงามขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อรู้สึกสงสารแล้วก็เริ่มอยากจะช่วยเหลือ เริ่มที่จะรู้สึกว่าไม่อยากเบียดเบียน จึงเริ่มสนใจเข้าสู่การกินมังสวิรัติ อันคือ “ความกรุณา

ผู้คนมากมาย ที่รับรู้ความโหดร้าย ความทรมานในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตเมตตา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดกรุณา คือลงมือทำเพื่อลดการเบียดเบียน เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองมาสู่การ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ มาลดเนื้อกินผัก การจะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้น จำเป็นต้องมีเมตตาและกรุณาที่มีกำลังมากพอที่จะไปตัดความอยากเสพเนื้อสัตว์

ความอยากเสพ คือ ความหลงติด หลงยึด หลงผิดไปว่า ถ้าฉันได้สิ่งนี้มาฉันจะมีความสุข ถ้าฉันได้กินฉันจะอร่อย ทั้งหมดนี้คือ “ กิเลส ” ที่สร้างความสุขลวง สร้างรสอร่อยขึ้นมา การออกจากสภาพติดยึดเหล่านี้ต้องใช้เมตตาและกรุณา คือความรักความเห็นใจต่อสัตว์โลก และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเบียดเบียนชีวิตของเขา และยังใช้ความเกลียดสิ่งที่ชั่ว อันคือความโหดร้าย ทารุณ การเบียดเบียนต่างๆ เข้ามาเสริมความยึดดีในจิตใจเพื่อการออกจากนรกของการเสพ

การจะก้าวเข้าสู่ชีวิตนักมังสวิรัติได้ จำเป็นต้องใช้ “ความพยายาม ” มากกว่าการเจริญเมตตาและกรุณา คือต้องพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย จากการไปเสพเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งพิจารณาประโยชน์จากการเลิกเสพเนื้อสัตว์ ในด้านสุขภาพ การเงิน เวลา สังคม กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และพิจารณาหลักธรรมข้ออื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ ความเป็นทุกข์จากการเสพหรือไม่ได้เสพเนื้อสัตว์ ความไม่มีตัวตนแก่นสารสาระแท้ใดๆในการเสพเนื้อสัตว์ ก็จะสามารถทำให้ผู้กินมังสวิรัติมือใหม่ พัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุขและยั่งยืนได้

เมื่อพัฒนาจนเต็มที่จะพบว่า แม้จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีความสุขจากการเสพเหมือนเดิม ความอร่อยจากเนื้อสัตว์ที่เคยมีจะหายไป เหลือแต่ความอร่อยจากรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่จะได้ความสุขจากการไม่เสพขึ้นมาแทน  นักมังสวิรัติที่ไม่สามารถลด ละ เลิก ความอยากเสพ หรือ กามสุขลิกะ อันคือความสุดโต่งไปในด้านของการเสพ (กิเลสในมุมเสพวัตถุ) จะไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ยั่งยืน แม้จะกินมานาน 30-40 ปี ก็มีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อยู่ เพราะความอยากยังไม่ตาย กิเลสที่มีจะแค่ถูกกดข่ม ถูกลืมไป แต่กิเลสจะแอบพัฒนาตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ และส่งผลออกมาในภายหลัง ในลักษณะที่เรียกว่า “ตบะแตก

ดังนั้นจำนวนปีหรือช่วงเวลาที่ลด ละ เลิก ได้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าเราจะออกจาก ความอยากเสพได้ หากเรามุ่งเป้าหมายว่าจะเมตตาสัตว์โลก ลดการเบียดเบียน ความอยากเสพเป็นรากของกิเลสที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเป็นตัวอย่างของนักมังสวิรัติที่ไม่ดี ปากก็บอกคนอื่นว่ากินมังสวิรัติ แต่แล้วเวลาเผลอก็แอบไปกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ก็กดข่มจนสุดท้ายก็ตบะแตกไปกินเนื้อสัตว์ จึงเกิดมีคำถามจากผู้คนทั่วไปว่ากินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร? กินแล้วทรมานจากความอยากแล้วมันดีอย่างไร? แล้วชาวมังสวิรัติจะตอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ลดความอยากยังไม่ได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน และค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง ” ดังนั้นนักมังสวิรัติ พึงระวังไว้ด้วยว่าเรานี่แหละคือตัวอย่างของคนกินมังสวิรัติ แม้เราจะไม่ได้บอกใครว่ากินมังสวิรัติดีอย่างไร แต่เขาจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตวิถีชีวิตของเรา คือ การสอนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากสอน

 

เมตตาสำหรับนักมังสวิรัติ

ชาวมังสวิรัติที่สามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด แม้จะต้องไปอยู่ที่ต่างถิ่น ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถรักษาศีลไว้ได้ไม่ขาด มีศิลปะในการเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ หรือผู้ผ่านด่านความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว มีเมตตากรุณากับเหล่าสัตว์ผู้ที่เคยเป็นอาหาร มีความสุขแม้ว่าจะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เหมือนอย่างเคย

แต่ก็มักจะมาติดนรกอีกตัวคือ ความยึดดี ถือดี …เมื่อเมตตาไม่ได้เจริญครอบคลุมไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนที่เขายังไม่เข้าใจถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการเบียดเบียนชีวิตอื่น ก็มักจะไปเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าจิตใจไม่ดี ไม่เมตตา ไม่กรุณา ต่างๆนาๆ จนทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์

ลักษณะอาการ คือ เมื่อเห็นคนกินมังสวิรัติก็จะยินดี ดีใจ มีจิตมุทิตากับเขาได้โดยมีแต่ความสุข แต่เมื่อเห็นคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่เห็นคนที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ กลับไม่สามารถที่จะทำใจให้ยินดีกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ได้ จึงยินร้าย ขุ่นมัว ไม่พอใจ เพ่งโทษ ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็อาจจะมีคำพูด ลีลาท่าทาง หรือการสื่อสารที่แสดงอาการไม่พอใจออกมา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนติดดี ยึดดี ถือดี เป็น “นรกของคนดี” เป็นคนดีที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะมีแต่ความกดดัน จึงเป็นคนดีที่ไม่มีใครต้องการ สะสมแต่ “อัตตา” พอกพูนจนเกิดความทุกข์ทั้งตนเองและคนอื่น

เราใช้ อัตตา หรือการยึดดี ถือดี ในการก้าวข้าม ความอยากเสพเนื้อสัตว์มา แต่ในตอนสุดท้ายก็ต้องทำลายอัตตา คือความยึดดี ถือดี เหล่านั้นทิ้งด้วย “ อุเบกขา ” หรือการปล่อยวาง

เมื่อเรามีอัตตา เราจะอยากเสพดีจากคนอื่น คือ แต่ก่อนเราเคยอยากเสพเนื้อสัตว์ แต่พอหลุดจากการเสพเนื้อสัตว์ เราก็มาติดดี หลงว่าต้องเลิกเสพเนื้อสัตว์จึงจะดี จึงกลายเป็นอยากให้คนอื่นทำดีอย่างเรา ทำอย่างที่ใจเราคิด ทำอย่างที่เราทำได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ใครทำผิดกฎ ใครมาว่าคนกินมังสวิรัติ เราก็ทุกข์ ทั้งหมดนี่เป็นอาการอยากเสพสิ่งที่ดีจากคนอื่น เกิดดีสมใจจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีสมใจก็เป็นทุกข์

ถ้ามาถึงตรงนี้ต้อง พิจารณาความจริง ตามความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง “ความยึดมั่นถือมั่น”  คือ ให้เมตตาขยายไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส การที่เขายังเสพติดเนื้อสัตว์เพราะเขายังมีกิเลส เหมือนอย่างที่เราเคยมีเมื่อก่อน เขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้กิเลสอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ให้เข้าใจว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่สัตว์เหล่านั้นถูกฆ่าเพื่อกินก็เป็นกรรมที่พวกเขาทำมาเอง ถ้าพวกเขาไม่เคยเบียดเบียนก็ไม่มีทางที่จะถูกเบียดเบียน เราไปห้ามกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน ”ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้ทำมา สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่เขาทำมาแล้วทั้งนั้น” เป็นสัจจะที่ใช้พิจารณาความจริงได้ตลอดกาล

หากชาวมังสวิรัติมีโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมังสวิรัติ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ไม่ต้องใส่ความโกรธ ใส่การเปรียบเทียบ ใส่การยกตนข่มคนอื่น ใส่ความยึดดีถือดีลงไป เพราะแม้เราจะเป็นกินมังสวิรัติได้อย่างบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถเมตตาคนอื่นได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะปล่อยคำพูดที่เหน็บแนม ดูถูก เหยียดหยัน ประณาม กดดัน ฯลฯ ซึ่งก็คงยากที่จะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มได้ เพราะการสื่อสารที่มีอัตตาปน ผู้รับฟังจะสามารถรู้สึกได้ เช่น ไม่ระรื่นหู ไม่สบายใจที่จะฟัง ฟังแล้วอึดอัด กดดัน ฯลฯ แม้โดยรวมจะดูเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คำพูดสวยหรู เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเหตุทำให้การสื่อสารเหล่านั้นไร้ประสิทธิผลคือ เขาก็พูดดีนะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับฟัง

เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุปัจจัยของการเกิดสิ่งต่างๆด้วยปัญญาแล้ว จึงจะสามารถปล่อยวางความอยากเสพและความยึดดี ถือดี ทั้งหมดได้ กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สื่อสารด้วยเมตตา ไม่มีอัตตาปน มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย มีมุทิตาจิตได้ในทุกๆสถานการณ์ เมื่อได้ทำดีอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลอาจจะไม่เกิดดีตามที่ทำก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างด้วยใจที่เป็นสุข

คำว่า “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “วางเฉย” ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการนำเสนอประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกินมังสวิรัติแก่เพื่อนมนุษย์ แต่หมายถึง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ว่าดีต้องเกิด เกิดดีจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีแล้วทุกข์ งานเผยแพร่ข้อมูลมังสวิรัตินั้นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ในงานนั้นหายไป เพราะชาวมังสวิรัติได้กำจัดอัตตา คือความยึดดี ถือดี อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสสิ้นไปแล้ว

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ค้ำจุนโลก

ดังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมวิหาร ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งความผาสุกที่ควรสร้าง พัฒนา ขยายขอบเขตให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป