Tag: ปัญญา
กินเจแล้วดี กินทั้งปี กินทั้งชาติไปเลย
กินเจแล้วดี กินทั้งปี กินทั้งชาติไปเลย
และแล้วก็วนมาถึงเทศกาลกินเจกันอีกครั้ง ในหนึ่งปีก็จะมีโอกาสเพียงช่วงสั้นๆที่จะได้มีโอกาสถือศีลกินเจ คนที่คิดจะลดเนื้อกินผัก คิดจะกินมังสวิรัติก็สามารถใช้โอกาสนี้ในการหากินอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ได้ง่ายขึ้น แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถที่จะกินเจต่อไปได้มากกว่ากรอบของเทศกาล มากกว่าประเพณีนิยม มากกว่าที่เคยทำมา คือกินเจต่อไปอีกเดือน อีกไตรมาส อีกปี หรือกินไปเรื่อยๆทั้งชีวิตเลย
ขึ้นชื่อว่าถือศีลกินเจ นั้นก็เป็นเรื่องดี แต่ทำไมคนเราถึงต้องกำหนดช่วงเวลาที่จะทำดีไว้เพียงครู่เดียว หนึ่งปีกินเจไม่กี่วัน แต่วันที่เหลืออื่นๆเรากลับกินเนื้อสัตว์ จะว่าไปมันก็ดี แต่จะว่าดีมันก็ไม่ดีเสียทีเดียว เพราะดีที่ยังไม่ดีพร้อม ก็ถือว่ายังไม่ดีอยู่ดีนั่นเอง
ในช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากจะมีการกินอาหารที่ละเว้นเนื้อสัตว์ ของฉุน ของมึนเมา ก็ยังมีการถือศีล นุ่งขาวห่มขาว เข้าวัด สวดมนต์ ฯลฯ อีกด้วย ซึ่งถ้าเราไม่ได้สนใจในประเพณีนิยมมากนัก ก็อาจจะเลือกปฏิบัติเฉพาะในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับเรามากที่สุด
เช่น ในช่วงเทศกาลกินเจนี้ ก็จะมีอาหารเจขายกันทั่วบ้านทั่วเมือง เป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนที่กำลังคิดจะลดเนื้อกินผัก ได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เริ่มลดเนื้อกินผัก หรือกินได้ในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่จะสามารถหาอาหารที่เหมาะสมได้ง่าย ซึ่งเหมาะกับมือใหม่หัดลดเนื้อกินผัก ที่ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ฝึกฝนตัวเองในช่วงนี้
ในช่วงนี้ แม้ว่าจะไปสั่งอาหารที่ร้านไหน ก็จะเข้าใจกันได้ง่าย เพียงแค่บอกว่าเรากินเจ ก็จะรู้กันในหมู่ร้านอาหาร บ้างก็ยินดีต้อนรับ บ้างก็ไม่รับทำอาหารเจ ก็ต้องเลือกดูว่าร้านไหนเขายินดี ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถเข้าไปสั่งได้ทุกร้านนะ
กินเจ กับ ตรุษจีน
ยังคงเป็นประเด็นกับประเพณีนิยมของชาวไทยเชื้อสายจีนที่สร้างความสับสนในสังคมว่า ที่ทำในเทศกาลตรุษจีนมันดีจริงหรือ เทศกาลหนึ่งก็ละเว้นเนื้อสัตว์ อีกเทศกาลก็ฆ่าสัตว์ ซื้อสัตว์ตายมาบูชาเทพเจ้าบรรพบุรุษผีสางเทวดานางไม้ ฯลฯ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้คนหมู่มากที่ไม่ได้เข้าใจข้อปฏิบัติและประเพณีนิยมเหล่านั้น
ในเมื่อการถือศีลกินเจละเว้นชีวิตสัตว์มันดี แล้วทำไมถึงยังสนับสนุนในการบูชาด้วยสัตว์ตายอยู่ ถ้าจะไปถามก็มักจะได้คำตอบประมาณว่าเป็นประเพณีเขาปฏิบัติตามกันมา เขาว่าดี คนเขาถือ ฯลฯ
ในเมื่อการละเว้นชีวิตสัตว์นั้นดี เข้าใจว่าเป็นการทำบุญบูชา แล้วทำไมเทศกาลตรุษจีนกลับทำบาปบูชาด้วยชีวิตสัตว์อยู่อีก ตกลงว่าอย่างไหนดี อย่างไหนเป็นกุศลกันแน่ ละเว้นชีวิตสัตว์ หรือฆ่าสัตว์
ผู้มัวเมาในสิ่งลวงมักจะแยกกุศล อกุศลไม่ออก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร ทำโดยที่ไม่มีปัญญาพิจารณาว่าสิ่งใดดีสิ่งใดชั่ว ไม่พิจารณาไปถึงแก่นสารสาระที่แท้ของกิจกรรมที่ทำ ไม่รู้บุญ ไม่รู้บาป รู้แค่เขาทำมา ก็ทำตามเขาไป หลงมัวเมาในประเพณีนิยม หลงในโลกธรรม หลงยึดเป็นอัตตา
จริงอยู่ว่าตรุษจีนนั้นเป็นเทศกาลสากลของชาวจีนทั่วโลกทำมาอย่างยาวนาน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่คนหมู่มากทำนั้นจะดีเสมอไป การฆ่าสัตว์การเบียดเบียนสัตว์เป็นสิ่งไม่ดีอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลใดมีน้ำหนักพอที่จะทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีเลย ดังจะเห็นได้ว่ามีลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนยุคใหม่บางส่วน เริ่มจะใช้ผักผลไม้บูชาในวันเทศกาลตรุษจีนบ้างแล้ว แม้ว่าเขาจะยังหลงไปตามประเพณีนิยม แต่ก็ยังสามารถลดการเบียดเบียนลงได้ ทั้งยังไม่เป็นที่ครหาของคนหมู่มาก
เราหลงผิดกันมานานนับพันปีแล้ว ทำบาปบูชาหวังจะได้บุญ ได้กุศล ได้สิ่งดี เป็นความยินดีบนชีวิต บนกองเลือด บนความทรมาน บนความเจ็บปวด บนความเศร้าหมอง สิ่งนั้นดีจริงอย่างนั้นหรือ บรรพบุรุษจะยินดีที่เราทำบาปจริงหรือ ถ้าเราไปทำร้ายสัตว์ ไปทุบตีสัตว์พ่อแม่ยังดุด่าว่าเราใจอำมหิตเลยใช่ไหม ทีนี้เราไปส่งเสริมการฆ่าสัตว์ ไปซื้อสัตว์ตายมาบูชาท่าน เราหวังจริงๆหรือว่าท่านจะยินดีต่อสิ่งนั้น
การกินเจของชาวไทยเชื้อสายจีนนี่แหละ ที่จะสามารถเปลี่ยนโลกได้ เปลี่ยนโลกที่เบียดเบียนกันและกันมาเป็นโลกที่เมตตาต่อกัน แม้ว่าการกินเจจะมีอยู่แค่ในกลุ่มคนไทย แต่สิ่งนั้นเกิดเพราะคนไทยเรามีจิตใจที่เมตตา มีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องอาศัย เทศกาลละเว้นชีวิตสัตว์ถือศีลจึงได้เกิดขึ้นมา
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนทุกคนที่จะล้างบาปของบรรพบุรุษ ชี้นำกุศล ทำลายอกุศล สลายม่านหมอกแห่งความมัวเมาในประเพณีที่ไม่รู้ว่าบุญบาปอยู่ตรงไหน กุศลอกุศลเป็นอย่างไร ให้เกิดความชัดเจนว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนชั่ว ด้วยการปฏิบัติที่ตัวเอง เริ่มจากตัวเอง กินเจต่อเนื่องให้ได้ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีไปจนตลอดชีวิต
เพราะเมื่อสิ่งนั้นดี เหล่าคนผู้มีปัญญาย่อมยึดอาศัยสิ่งที่ดีเพื่อให้เกิดสิ่งดี เกิดความสุข เกิดความเจริญในชีวิต และละเว้นสิ่งที่ชั่ว เว้นขาดจากการเบียดเบียน ที่จะนำมาซึ่งบาป อกุศล ทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ต่อชีวิต
กินมังสวิรัติ อยู่ในสังคมยาก?
กินมังสวิรัติ อยู่ในสังคมยาก?
การเข้าสังคมเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาหนึ่งของผู้ที่เริ่มต้นกินมังสวิรัติ ถึงแม้ว่าบางคนจะกินมานานแล้วก็อาจจะยังไม่สามารถผ่านพ้นปัญหานี้ได้
เมื่อเราสามารถละเว้นการกินเนื้อสัตว์ หันมากินผักได้สักพักแล้ว จะเริ่มมีปฏิกิริยาจากสังคมรอบข้าง ทั้งในด้านคำชมและด้านทักท้วงนินทา เขาอาจจะชมเรามากมายว่าเป็นคนดี ดูดี สุขภาพดี สดใส ฯลฯ แต่ก็มักจะมีคำท้วงติงหรือนินทาเข้ามาพร้อมๆกัน เช่น ลำบากไปไหม ยุ่งยากไหม ผอมไปนะ โทรมไปนะ มันจะเกินไปนะ และอีกมากมายที่เราก็น่าจะเจอด้วยตัวเอง
ทั้งคำติชม สรรเสริญนินทาเหล่านั้น ล้วนเป็นพลังจากสิ่งรอบข้างที่เข้ามาสร้างความหวั่นไหวในจิตใจของเรา ถ้าเขาชมเราแล้วเราดีใจ ใจฟู เราก็ยังติดคำชมอยู่ ซึ่งทำให้ในขณะเดียวกันเมื่อเขาท้วงติงหรือพูดไม่ถูกใจเราก็อาจจะทำให้เราไขว้เขว หรือโกรธ ไม่พอใจเขาก็ได้
การหันมากินมังสวิรัติ ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดทางด้านร่างกายและสังคมไม่มากก็น้อย การกินมังสวิรัตินั้นไม่ได้ทำให้อยู่ในสังคมยาก แต่ความจริงคือมันยากที่จะสู้กับความอยากของตัวเองที่จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะในระหว่างที่เรายังข้ามไม่พ้นสะพานไปสู่ชีวิตมังสวิรัตินี้ ก็จะมีบางสิ่งคอยดึง ฉุดรั้งเราไว้ให้อยู่ฝั่งเนื้อสัตว์ ให้กลับไปกิน ไปเสพเนื้อสัตว์ ให้เรารู้สึกว่าการกินมังสวิรัตินั้นยากลำบาก ทรมานกาย ลำบากในการเข้าสังคม
ในความจริงแล้ว การกินมังสวิรัติ นั้นไม่ได้ทำให้สังคมลำบากเลย ถ้าเรากินอย่างมีปัญญารู้จักเอาตัวรอด ไม่สร้างปัญหาให้คนอื่น สังคมเขามีแต่จะยินดีกับเราด้วยที่เราละเว้นเนื้อสัตว์ เราทำเรื่องดี ใครเขาก็เห็นดีด้วยอยากส่งเสริมอยากสนับสนุน
มีแต่จิตใจของเราเองนั่นแหละที่คิดไปเองว่ามันจะลำบากใจ สร้างความลำบากให้กับคนอื่น ปรับตัวในสังคมยาก ใช้ชีวิตยาก เพราะเราไม่ได้ศึกษาหาวิธีการกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนและมีความสุข ไม่มีเพื่อนร่วมลดเนื้อกินผัก ไม่มีผู้รู้คอยแนะนำการใช้ชีวิตมังสวิรัติอย่างมีความสุข มีแต่ความรู้ว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ดี แต่ไม่รู้ว่าจะกินมังสวิรัติอย่างไรให้ยั่งยืน
ดังนั้นผู้ที่คิดจะกินมังสวิรัติจึงต้องคอยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการกินมังสวิรัติ การใช้ชีวิต การเอาตัวรอดในสังคม การอยู่ในสังคมอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จนกระทั่งสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีความสุข โดยที่ตัวเองก็สามารถละเว้นเนื้อกินแต่พืชผักได้อย่างไม่มีตกหล่น
ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน
ลดการเบียดเบียนเพื่อการพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน
เมื่อเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมังสวิรัติ มาลดเนื้อกินผัก ด้วยสาเหตุใดก็ตาม เราจะต้องเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เมนูอาหารที่เปลี่ยนไป วิธีคิดที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป หรือกระทั่งสังคมที่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนก็ไม่ได้หมายถึงการสูญเสียสิ่งที่เคยมี แต่เป็นแค่ช่วงเวลาที่สิ่งใหม่ (คือ การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผัก) กับสิ่งเก่า( คือ วิธีชีวิตเดิมของเรา) กำลังปรับตัวเข้าหากัน เพื่อจะพัฒนาเป็นชีวิตใหม่ที่มีความผาสุกยิ่งขึ้น
แต่การเรียนรู้ที่จะ ลด ละ เลิก สู่ชีวิตมังสวิรัติ หรือลดเนื้อกินผัก นั้นไม่ได้ง่ายขนาดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในทันที เพราะการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น อาจจะกลายเป็นความเบียดเบียนตัวเราเองก็ได้
การเบียดเบียนในช่วงที่ยังพยายามลด ละ เลิกเนื้อสัตว์
เราเลือกที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น ด้วยการไม่ส่งเสริมให้ฆ่า โดยการลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ หรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แต่เมื่อทำได้สักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะพบว่า ชีวิตเริ่มจะลำบาก รู้สึกว่าทรมาน รู้สึกว่าอยากกินเนื้อสัตว์ รู้สึกว่าเข้าสังคมยาก รู้สึกว่าไม่มีความสุข ในสภาพจิตใจเช่นนี้ จะเริ่มเข้าข่าย“ การเบียดเบียนตัวเอง“ หากเรายังฝืนทนกับความอยากที่เกินกำลังที่เราสามารถต้านทานไว้ได้ ซึ่งเราก็อาจจะทนได้ในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็จะมีอาการตบะแตก หรือเลิกล้ม เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์ เข็ดขยาดกับความทรมาน ที่ต้องอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งที่ความอยากเสพนั้นไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย
การเบียดเบียนตัวเองมักจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีความตั้งใจเกินกำลัง ที่เราทำได้จริงเช่น เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งๆที่ยังอยากกินมากยังติดอยู่มาก หรือเลิกกินน้ำปลา น้ำซุป น้ำมันหอย ไข่ เนย ฯลฯ ทั้งๆที่ยังไม่เรียนรู้ที่จะหาทางเลือกอื่นๆ ให้เรากินได้ ทำให้รู้สึกกดดันตัวเอง หาอะไรกินยาก แม้ว่าเราจะทำได้ ก็ทำได้แค่ระดับฝืนทน กดข่ม ยิ่งอดทนยิ่งทรมาน
ข้อเสียของการกินมังสวิรัติอย่างฝืนทน กดข่มนั้น คือความไม่สดใส ไม่ผ่องใส เครียด ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความสุข ฯลฯ เราควรที่จะกินมังสวิรัติด้วยการเห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงเห็นเป็นเรื่องดีที่คนนิยม การกินอย่างเข้าใจและมีปัญญาจะช่วยให้เกิดความยินดี พอใจ เต็มใจในการกินมังสวิรัติซึ่งเป็นพื้นฐานสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืน
หากขาดความยินดี เต็มใจ พอใจ ที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็อาจจะสามารถกินได้สักระยะหนึ่ง แต่ก็มักจะล้มเลิกได้ง่าย แม้จะกินไปได้เป็นปี หลายปี แต่ถ้าไม่ได้เห็นและเข้าใจประโยชน์แท้ของการกินมังสวิรัติก็อาจจะทำให้ไม่มีแรงใจ ไม่มีกำลังใจมากพอที่จะทำให้สมบูรณ์ได้
และเมื่อล้มเลิกก็จะมีคำถามมากมายจากคนอื่นและในจิตใจของตัวเองว่า กินมังสวิรัติแล้วดีจริงหรือ, ดีแล้วเลิกทำไม ,กินเนื้อสัตว์ไม่ดีแล้วกลับไปกินอีกทำไม เราจะตอบเขาหรือตอบตัวเองไม่ได้เลย หรือแม้จะตอบได้ก็ไม่ชัดเจนเพราะเราเองก็ไม่รู้ประโยชน์แท้ๆในการกินมังสวิรัติเหมือนกัน เพราะคนที่รู้ประโยชน์แท้จะสามารถตัดเนื้อสัตว์ได้อย่างยั่งยืน เพราะมีปัญญาจึงเลิกกินเนื้อสัตว์นั้น ในทางกลับกันเมื่อเราไม่รู้ประโยชน์แท้เราจึงไม่สามารถกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนได้ เราจึงต้องใช้การพิจารณาหาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ และโทษของการกินเนื้อสัตว์ ให้มากและบ่อยยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเสริมความยินดี เต็มใจ พอใจ ให้เรามีแรงมีกำลังในการกินมังสวิรัติมากขึ้นนั่นเอง
การปฏิบัติสู่ชีวิตมังสวิรัติ จะต้องค่อยๆปฏิบัติไปตามพื้นฐานของแต่ละคน ถ้าติดเนื้อสัตว์มากก็ให้ลด ติดบ้างก็ให้ละ ติดน้อยก็ให้เลิก โดยให้สังเกตตัวเองว่า ถ้าลองเลิกกินเนื้อสัตว์แล้วเราจะทรมานจากความอยากเสพมากแค่ไหน ถ้าพอทนได้ก็ให้ตัดใจเลิกไปเลย แต่ถ้าโหยหา หงุดหงิด หิวกระหาย อยากกลับไปเสพ จนเริ่มเครียดมาก ทุกข์มากก็อย่ามัวไปยึดมั่นถือมั่นจนเบียดเบียนตัวเองเลย ให้วางความยึดดี วางความเป็นคนดีลงไปบ้าง แล้วกลับไปเสพเนื้อสัตว์บ้างเพื่อให้หายทรมาน แล้วค่อยกลับมาตั้งใจเริ่มปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาสู้กันใหม่อีกที
เมื่อเรากินมังสวิรัติอย่างไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่เบียดเบียนตัวเองด้วย นั่นจึงเป็นหนทางสู่การกินมังสวิรัติ การลดเนื้อกินผักได้อย่างมีความสุข ทำให้สามารถพัฒนาการ ลด ละ เลิก การเบียดเบียนไปตามลำดับเพื่อพัฒนาสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนต่อไป
การเบียดเบียนในช่วงที่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาดแล้ว
เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว เราก็สามารถที่จะเลิกการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ที่กินมังสวิรัติมาได้ถึงขั้นนี้ ก็จะมีความรู้ความเข้าใจในการกินมังสวิรัติมากขึ้นด้วย ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการกินมังสวิรัติ ซึ่งก็จะเริ่มทำหน้าที่ เผยแพร่คุณค่า ความดีงามของการกินอาหารมังสวิรัติ ไม่ว่าจะในสังคมขนาดเล็ก เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือในสังคมใหญ่ต่างๆ
นั่นก็เพราะเมื่อเราได้รับสิ่งดี ค้นพบสิ่งดี เราก็มักอยากจะให้คนที่เรารัก เราห่วงใย รวมถึงเพื่อนมนุษย์อีกหลายคนได้รับสิ่งที่ดี ได้รับความสุข ความสบายใจอย่างเราบ้าง เราจึงเริ่มเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งอาจจะไปกดดัน บีบคั้น ทำให้ผู้อื่นลำบากใจ “กลายเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในมุมของการยึดดี ถือดี“ เพราะเราอยากเสพเหตุการณ์ที่ว่า ทุกคนจะสามารถหันมากินมังสวิรัติได้เหมือนเรา ทำดีได้เหมือนเรา โลกจะดีเมื่อทุกคนทำได้เหมือนเรา หากว่าพวกเขาเหล่านั้นได้รับความรู้ความเข้าใจจากเรา ซึ่งการที่ผู้กินมังสวิรัติเข้าใจและกระทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ทำแล้วเป็นความดีเป็นกุศล แต่บางครั้งก็มักจะเกินเลยข้ามเส้นที่เป็นกุศลไปเป็นอกุศล คือเริ่มทำให้เขาลำบากใจเข้าแล้ว
ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนไม่สามารถที่จะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติได้โดยใช้องค์ความรู้เดียวกัน หรือเท่ากันเสมอไป เพราะแต่ลดคนมีความยึดติดมากน้อยไม่เท่ากัน เราอาจจะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งสามารถเข้าใจเราได้ดี แต่คนอีกกลุ่มหรือกระทั่งคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเราได้เลย เรามักจะเข้าใจว่าเราทำได้ง่ายๆ ทำไมคนอื่นทำไม่ได้เหมือนเรา เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าการเผยแพร่ของเราติดขัด ไม่ประสบความสำเร็จ คนนั้นคิดไม่เหมือนเรา คนนี้ทำไม่เหมือนเรา เรายึดมั่นถือมั่นว่าการกินมังสวิรัติต้องปฏิบัติแบบเราถึงจะถูก เราจึงเลิกพูดกับคนบางกลุ่มด้วยอาการอึดอัด กดดันตัวเอง ยึดดี ถือดี คิดเอาเองว่าเขาไม่เข้าใจ เราเลยไม่ยินดีที่เขาไม่ปฏิบัติตาม ไม่ยินดีที่เขาคิดไม่เหมือนเรา ในตอนนี้เราก็เริ่มจะเข้าไปในขีดของ “การเบียดเบียนตัวเองในมุมของการยึดดี ถือดีแล้ว”
เพราะใจจริงของเราก็อยากจะสอน อยากจะบอก อยากจะแนะนำสิ่งดีให้เขานั่นแหละ แต่เมื่อทำไม่ได้ เราก็ไม่ได้ปล่อยวางความดีเหล่านั้น แต่กลับยังยึดว่าต้องเกิดดีตามที่ตนมุ่งหมาย เอาความผิดพลาดมาคิด เอามาตีตัวเอง หรือไม่ก็เพ่งโทษคนอื่นไปด้วย ตรงนี้เองเป็นเหตุที่ทำให้คนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างดี ยังเกิดความทุกข์ในใจอยู่มาก
เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าเราเองก็เรียนรู้มาแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่ง เราจึงมีปัญญาแค่ในมุมที่เราเรียนรู้มา ซึ่งก็มีอย่างจำกัด ไม่สามารถที่จะนำไปใช้แนะนำให้กับคนที่มีกิเลสมากมายหลากหลายได้ทั้งหมด การปล่อยวางความยึดดีถือดี เมื่อเขาเหล่านั้นไม่เอาดี เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เมื่อผลดีไม่เกิดเราก็ไม่ต้องไปยึดดีปล่อยให้เป็นไปตามบาปบุญของเขา เพราะเราได้ทำดีที่สุด คือการแนะนำ อธิบาย บอกกล่าวไปตามความรู้ที่เรามีแล้วเขาจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ จะเห็นดีหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของเขา
เมื่อเราเรียนรู้ที่จะแนะนำ ให้ความรู้เกี่ยวกับกินมังสวิรัติได้อย่างไม่ยึดดีถือดี เราก็จะสามารถเรียนรู้ความอยากที่แตกต่างในแต่ละบุคคลด้วย เพราะเมื่อเราไม่ยึดว่าสิ่งที่เราบอกนั้นจะต้องเกิดดีขึ้นจริง เราจะมีพื้นที่ในใจว่างเผื่อไว้ให้เราใส่ความรู้ใหม่ที่จะเข้ามา เหมือนแก้วน้ำ ที่มีน้ำไม่เต็มแก้วก็จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ด้วย เราจะเรียนรู้ว่าคนแบบนี้มีความอยากแบบไหน แล้วต่อไปจะต้องหาความรู้แบบใดไปบอก ไปแนะนำเขา เขาถึงจะเข้าใจได้ง่ายตอบคำถามในใจของเขาได้ โดยที่เรามุ่งความสำเร็จองค์รวมมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นเอาความรู้เดิมหรือความรู้แรกที่เราใช้ผ่านการกินมังสวิรัติมาใช้กับทุกคน
และเมื่อเราผ่านการเบียดเบียนทั้งในมุมการเสพเนื้อสัตว์และการเสพดีทั้งหมดแล้ว เราก็จะพบกับความผาสุกที่แท้จริง ยั่งยืน มีความรู้ มีปัญญาเข้าใจคนอื่น ทำให้คำพูด คำแนะนำ คำสอนของเรามีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
เมตตา เป็นคำที่หลายคนคุ้นเคย เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบายและอบอุ่นไปทั้งใจเมื่อได้รับ มีคุณค่ามากมายเมื่อเมตตาได้งอกงามและเจริญในจิตใจ ชาวมังสวิรัติมักจะใช้เมตตาเป็นตัวนำในการพาตัวเองไปสู่ชีวิตมังสวิรัติ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ลด ละ เลิก การเบียดเบียนได้
เมตตากับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัติ
เมตตา สำหรับผู้เริ่มต้นกินมังสวิรัตินั้น การที่เราจะพัฒนาเมตตาได้นั้น เราควรจะเรียนรู้ว่าสัตว์ที่มาเป็นอาหารของเรานั้น เกิดมาทำไม ใช้ชีวิตแบบใด และจากโลกนี้ไปอย่างไร มีสื่อมากมายที่ทำให้เราเห็นความจริงของชีวิตเหล่านั้น หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นภาพ ไม่เคยรับรู้ข้อมูล แต่เมื่อได้รู้แล้วก็รู้สึกสงสาร เห็นใจ สลด หดหู่ ฯลฯ ใจที่มีเมตตาจะเริ่มเจริญงอกงามขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อรู้สึกสงสารแล้วก็เริ่มอยากจะช่วยเหลือ เริ่มที่จะรู้สึกว่าไม่อยากเบียดเบียน จึงเริ่มสนใจเข้าสู่การกินมังสวิรัติ อันคือ “ความกรุณา“
ผู้คนมากมาย ที่รับรู้ความโหดร้าย ความทรมานในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ แม้จะมีจิตเมตตา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดกรุณา คือลงมือทำเพื่อลดการเบียดเบียน เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองมาสู่การ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ มาลดเนื้อกินผัก การจะช่วยลดการเบียดเบียนเหล่านั้น จำเป็นต้องมีเมตตาและกรุณาที่มีกำลังมากพอที่จะไปตัดความอยากเสพเนื้อสัตว์
ความอยากเสพ คือ ความหลงติด หลงยึด หลงผิดไปว่า ถ้าฉันได้สิ่งนี้มาฉันจะมีความสุข ถ้าฉันได้กินฉันจะอร่อย ทั้งหมดนี้คือ “ กิเลส ” ที่สร้างความสุขลวง สร้างรสอร่อยขึ้นมา การออกจากสภาพติดยึดเหล่านี้ต้องใช้เมตตาและกรุณา คือความรักความเห็นใจต่อสัตว์โลก และลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยลดการเบียดเบียนชีวิตของเขา และยังใช้ความเกลียดสิ่งที่ชั่ว อันคือความโหดร้าย ทารุณ การเบียดเบียนต่างๆ เข้ามาเสริมความยึดดีในจิตใจเพื่อการออกจากนรกของการเสพ
การจะก้าวเข้าสู่ชีวิตนักมังสวิรัติได้ จำเป็นต้องใช้ “ความพยายาม ” มากกว่าการเจริญเมตตาและกรุณา คือต้องพิจารณาทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย จากการไปเสพเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งพิจารณาประโยชน์จากการเลิกเสพเนื้อสัตว์ ในด้านสุขภาพ การเงิน เวลา สังคม กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และพิจารณาหลักธรรมข้ออื่นๆประกอบไปด้วย เช่น ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงของอาการอยากเสพเนื้อสัตว์ ความเป็นทุกข์จากการเสพหรือไม่ได้เสพเนื้อสัตว์ ความไม่มีตัวตนแก่นสารสาระแท้ใดๆในการเสพเนื้อสัตว์ ก็จะสามารถทำให้ผู้กินมังสวิรัติมือใหม่ พัฒนาไปเป็นผู้ที่สามารถกินมังสวิรัติอย่างเป็นสุขและยั่งยืนได้
เมื่อพัฒนาจนเต็มที่จะพบว่า แม้จะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่มีความสุขจากการเสพเหมือนเดิม ความอร่อยจากเนื้อสัตว์ที่เคยมีจะหายไป เหลือแต่ความอร่อยจากรสชาติที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่จะได้ความสุขจากการไม่เสพขึ้นมาแทน นักมังสวิรัติที่ไม่สามารถลด ละ เลิก ความอยากเสพ หรือ กามสุขลิกะ อันคือความสุดโต่งไปในด้านของการเสพ (กิเลสในมุมเสพวัตถุ) จะไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ยั่งยืน แม้จะกินมานาน 30-40 ปี ก็มีโอกาสกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้อยู่ เพราะความอยากยังไม่ตาย กิเลสที่มีจะแค่ถูกกดข่ม ถูกลืมไป แต่กิเลสจะแอบพัฒนาตัวเองอยู่อย่างเงียบๆ และส่งผลออกมาในภายหลัง ในลักษณะที่เรียกว่า “ตบะแตก”
ดังนั้นจำนวนปีหรือช่วงเวลาที่ลด ละ เลิก ได้ ไม่ใช่ตัวยืนยันว่าเราจะออกจาก ความอยากเสพได้ หากเรามุ่งเป้าหมายว่าจะเมตตาสัตว์โลก ลดการเบียดเบียน ความอยากเสพเป็นรากของกิเลสที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป ไม่อย่างนั้นแล้วเราก็จะเป็นตัวอย่างของนักมังสวิรัติที่ไม่ดี ปากก็บอกคนอื่นว่ากินมังสวิรัติ แต่แล้วเวลาเผลอก็แอบไปกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ก็กดข่มจนสุดท้ายก็ตบะแตกไปกินเนื้อสัตว์ จึงเกิดมีคำถามจากผู้คนทั่วไปว่ากินมังสวิรัติแล้วดีอย่างไร? กินแล้วทรมานจากความอยากแล้วมันดีอย่างไร? แล้วชาวมังสวิรัติจะตอบเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ยังทำไม่ได้ ลดความอยากยังไม่ได้เลย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน และค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง ” ดังนั้นนักมังสวิรัติ พึงระวังไว้ด้วยว่าเรานี่แหละคือตัวอย่างของคนกินมังสวิรัติ แม้เราจะไม่ได้บอกใครว่ากินมังสวิรัติดีอย่างไร แต่เขาจะเรียนรู้ได้เองจากการสังเกตวิถีชีวิตของเรา คือ การสอนโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากสอน
เมตตาสำหรับนักมังสวิรัติ
ชาวมังสวิรัติที่สามารถกินมังสวิรัติได้ตลอด แม้จะต้องไปอยู่ที่ต่างถิ่น ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถรักษาศีลไว้ได้ไม่ขาด มีศิลปะในการเลี่ยงกินเนื้อสัตว์ หรือผู้ผ่านด่านความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว มีเมตตากรุณากับเหล่าสัตว์ผู้ที่เคยเป็นอาหาร มีความสุขแม้ว่าจะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เหมือนอย่างเคย
แต่ก็มักจะมาติดนรกอีกตัวคือ ความยึดดี ถือดี …เมื่อเมตตาไม่ได้เจริญครอบคลุมไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส คนที่เขายังไม่เข้าใจถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของการเบียดเบียนชีวิตอื่น ก็มักจะไปเพ่งโทษคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ ว่าจิตใจไม่ดี ไม่เมตตา ไม่กรุณา ต่างๆนาๆ จนทำให้ตัวเองเกิดความทุกข์
ลักษณะอาการ คือ เมื่อเห็นคนกินมังสวิรัติก็จะยินดี ดีใจ มีจิตมุทิตากับเขาได้โดยมีแต่ความสุข แต่เมื่อเห็นคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ หรือแม้แต่เห็นคนที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ กลับไม่สามารถที่จะทำใจให้ยินดีกับสิ่งที่เห็นหรือรับรู้ได้ จึงยินร้าย ขุ่นมัว ไม่พอใจ เพ่งโทษ ถ้าอาการหนักขึ้นมาก็อาจจะมีคำพูด ลีลาท่าทาง หรือการสื่อสารที่แสดงอาการไม่พอใจออกมา ทั้งหมดนี้เป็นอาการของคนติดดี ยึดดี ถือดี เป็น “นรกของคนดี” เป็นคนดีที่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ เพราะมีแต่ความกดดัน จึงเป็นคนดีที่ไม่มีใครต้องการ สะสมแต่ “อัตตา” พอกพูนจนเกิดความทุกข์ทั้งตนเองและคนอื่น
เราใช้ อัตตา หรือการยึดดี ถือดี ในการก้าวข้าม ความอยากเสพเนื้อสัตว์มา แต่ในตอนสุดท้ายก็ต้องทำลายอัตตา คือความยึดดี ถือดี เหล่านั้นทิ้งด้วย “ อุเบกขา ” หรือการปล่อยวาง
เมื่อเรามีอัตตา เราจะอยากเสพดีจากคนอื่น คือ แต่ก่อนเราเคยอยากเสพเนื้อสัตว์ แต่พอหลุดจากการเสพเนื้อสัตว์ เราก็มาติดดี หลงว่าต้องเลิกเสพเนื้อสัตว์จึงจะดี จึงกลายเป็นอยากให้คนอื่นทำดีอย่างเรา ทำอย่างที่ใจเราคิด ทำอย่างที่เราทำได้ พอเขาทำไม่ได้อย่างใจเรา เราก็ทุกข์ ใครทำผิดกฎ ใครมาว่าคนกินมังสวิรัติ เราก็ทุกข์ ทั้งหมดนี่เป็นอาการอยากเสพสิ่งที่ดีจากคนอื่น เกิดดีสมใจจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีสมใจก็เป็นทุกข์
ถ้ามาถึงตรงนี้ต้อง พิจารณาความจริง ตามความเป็นจริง เพื่อปล่อยวาง “ความยึดมั่นถือมั่น” คือ ให้เมตตาขยายไปถึงเพื่อนมนุษย์ที่ยังมีกิเลส การที่เขายังเสพติดเนื้อสัตว์เพราะเขายังมีกิเลส เหมือนอย่างที่เราเคยมีเมื่อก่อน เขาจำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้กิเลสอีกนานจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ให้เข้าใจว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม การที่สัตว์เหล่านั้นถูกฆ่าเพื่อกินก็เป็นกรรมที่พวกเขาทำมาเอง ถ้าพวกเขาไม่เคยเบียดเบียนก็ไม่มีทางที่จะถูกเบียดเบียน เราไปห้ามกรรมเหล่านั้นไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของใครของมัน ”ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาได้รับโดยที่เขาไม่ได้ทำมา สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่เขาทำมาแล้วทั้งนั้น” เป็นสัจจะที่ใช้พิจารณาความจริงได้ตลอดกาล
หากชาวมังสวิรัติมีโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตมังสวิรัติ เราทำได้เพียงแค่ให้ข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ไม่ต้องใส่ความโกรธ ใส่การเปรียบเทียบ ใส่การยกตนข่มคนอื่น ใส่ความยึดดีถือดีลงไป เพราะแม้เราจะเป็นกินมังสวิรัติได้อย่างบริสุทธิ์ แต่ถ้ายังไม่สามารถเมตตาคนอื่นได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะปล่อยคำพูดที่เหน็บแนม ดูถูก เหยียดหยัน ประณาม กดดัน ฯลฯ ซึ่งก็คงยากที่จะสร้างชาวมังสวิรัติเพิ่มได้ เพราะการสื่อสารที่มีอัตตาปน ผู้รับฟังจะสามารถรู้สึกได้ เช่น ไม่ระรื่นหู ไม่สบายใจที่จะฟัง ฟังแล้วอึดอัด กดดัน ฯลฯ แม้โดยรวมจะดูเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คำพูดสวยหรู เข้าถึงคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเหตุทำให้การสื่อสารเหล่านั้นไร้ประสิทธิผลคือ เขาก็พูดดีนะ แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับฟัง
เมื่อเราพิจารณาตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุปัจจัยของการเกิดสิ่งต่างๆด้วยปัญญาแล้ว จึงจะสามารถปล่อยวางความอยากเสพและความยึดดี ถือดี ทั้งหมดได้ กลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สื่อสารด้วยเมตตา ไม่มีอัตตาปน มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย มีมุทิตาจิตได้ในทุกๆสถานการณ์ เมื่อได้ทำดีอย่างเต็มที่แล้ว แต่ผลอาจจะไม่เกิดดีตามที่ทำก็สามารถปล่อยวางทุกอย่างด้วยใจที่เป็นสุข
คำว่า “ปล่อยวาง” ไม่ใช่ “วางเฉย” ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ในการนำเสนอประสบการณ์หรือข้อมูลเกี่ยวกับการกินมังสวิรัติแก่เพื่อนมนุษย์ แต่หมายถึง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ว่าดีต้องเกิด เกิดดีจึงจะเป็นสุข ไม่เกิดดีแล้วทุกข์ งานเผยแพร่ข้อมูลมังสวิรัตินั้นยังทำอยู่เหมือนเดิม แต่ความทุกข์ในงานนั้นหายไป เพราะชาวมังสวิรัติได้กำจัดอัตตา คือความยึดดี ถือดี อันเป็นรากเหง้าแห่งกิเลสสิ้นไปแล้ว
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ค้ำจุนโลก
ดังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาไปให้ถึงที่สุดแห่งพรหมวิหาร ๔ อันเป็นที่ตั้งแห่งความผาสุกที่ควรสร้าง พัฒนา ขยายขอบเขตให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป
ประสบการณ์กินมังสวิรัติ ที่ร้านอาหารญี่ปุ่น และการตอบคำถามเรื่องมังสวิรัติกับสังคม
วันก่อนมีนัดรวมญาติ เขาก็นัดเลี้ยงกันที่ร้านอาหารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ชาวมังสวิรัติอย่างเราก็ไปด้วย เพราะการเข้าสังคมเป็นเรื่องสำคัญแต่การปรับตัวอยู่ในสังคมให้เกือบจะกลมกลืนสำคัญกว่า สำหรับครั้งนี้ พอจะมีเมนูในใจจากที่เคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง
ไปถึงร้านก่อนญาติสักหน่อย จองโต๊ะไว้ก่อน ใช้เวลาสำรวจเมนูอาหารสักพัก เวลาสั่งจะได้คล่อง ทบทวนให้ดีว่าจะกินอะไร เท่าไหร่ ถึงจะอิ่มพอดี ไม่หิวโหย ไม่ลำบากตัวเองจนต้องไปหากินเพิ่ม หรือกินอิ่มเกินไปจนเดินไม่ได้
เมนูแรกๆที่สั่งเลยคือหน่อไม้ฝรั่งผัด เมนูแบบบ้านๆ ใครคิดไม่ออกว่าจะกินอะไร ก็สั่งมากินก็ได้ ไม่ต่างกับผัดกินเองที่บ้านเท่าไหร่ ส่วนข้าว กับเครื่องเคียงนั้น ให้น้องที่สั่งอาหารอื่นๆที่สามารถรับเพิ่มเป็นชุด เอาชุดเครื่องเคียงมาด้วย ก็จะมีข้าว เต้าหู้ ซุปมิโซะ กิมจิ อะไรอีกสักอย่างสองอย่างนี่แหละ ของพวกนี้กินได้และทำให้อิ่มได้ด้วย
พอเริ่มมีคนมา มีคนช่วยกิน เราก็จะสั่งเพิ่ม ให้ญาติๆได้ลองชิมกันดูด้วย เมนูซ้ายบน คือ สเต็กเต้าหู้ กินง่ายราคาไม่แพงจำได้ว่าไม่ถึงร้อย มีเต้าหู้ เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง และต้นหอมหั่นโรยพองาม
ด้านขวาบนเป็น เต้าหู้ห่อข้าว (อินาริซูชิ) ร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะมีขาย เมนูนี้เอาไว้เวลาหิวๆ อัดข้าวเข้าไป อิ่มไวดี จิ้มโชยุกับวาซาบิ ได้ตามที่ชอบ
ซ้ายล่างจะเป็นสลัดเห็ด มีเห็ดประมาณ 3 ชนิด กับผักสลัด เอามากินรองท้อง หรือเพื่อเพิ่มผักในมื้อนั้นๆ ก็ดีเหมือนกัน ในกรณีที่เราสั่งกินแต่ข้าว แล้วเกรงว่าจะมีแต่คาร์โบไฮเดรต จานนี้ก็อร่อย กินง่าย จะสลัดใส่อะไรก็เหมือนๆกัน ทุกอย่างจะถูกกลบด้วยรสของน้ำสลัดหมดเลยจานนี้น่าจะแพงสุดในเมนูมังสวิรัติที่สั่งมาในรอบนี้ ราวๆ ร้อยห้าสิบบาท
ขวาล่างจะเป็น ไข่หวานย่าง สำหรับคนที่ยังกินไข่อยู่ เมนูนี้เป็นอะไรที่กินง่าย หลายๆคนชอบ เพราะหวาน… กินกับข้าวก็ได้ กินเล่นก็ได้ ไม่แพงอีกเหมือนกัน เมนูเกี่ยวกับไข่หวานยังมีอีก เช่น ข้าวปั้นหน้าไข่หวาน
ด้านซ้ายบน เป็นยำสาหร่าย ใครชอบก็สามารถสั่งมาเป็นถ้วยๆ ราคาพอๆกับสเต็กเต้าหู้เลย แต่ถ้าชอบรูปแบบซูชิ ก็สามารถสั่ง ข้าวปั้นหน้ายำสาหร่าย แบบในรูปด้านขวาบนได้ มีขิงดองเป็นเครื่องเคียงแก้เลี่ยนได้เหมือนกัน สองคำก็ประมาณเกือบครึ่งร้อย
ถ้าเราไม่อยากกินข้าว หรือเบื่อข้าวปั้น เราก็สามารถเปลี่ยนมากินโซบะได้ อย่างในรูปด้านซ้ายล่างจะเป็นโซบะเย็น ที่เอาเส้นไปจุ่มน้ำซอสที่ผสมไปด้วย ต้นหอม วาซาบิ และใครชอบไข่นกกระทาก็ใส่ไปด้วยได้ เมนูนี้จำได้ว่า 100 บาท ถ้าสั่งมากินเดี่ยวๆก็ง่ายดี นั่งคุยกันไป กินโซบะไป เพลินกันไป
ส่วนขวาล่างนั้นคือเรือที่เต็มไปด้วยปลาดิบ อันนี้เอามาให้ศึกษากันว่า เราจะทำอย่างไรให้กลมกลืน ให้คนอื่นไม่ลำบากใจ ในกรณีที่ได้สังเกตและทดลอง เราสามารถกินยำสาหร่ายได้ กินหัวไชเท้าและแครอทฝอยๆได้ กินผักประดับได้ รสชาติจะคล้ายๆ สะระแหน่ เราสามารถมีส่วนร่วมไปได้โดยไม่ต้องไปกินแบบเขา แค่เรากินแบบของเราไปก็พอ
4 เมนูด้านบนนี้ไปกินอีกที ที่ร้านเดิม แต่มีเมนูใหม่ ลำดับแรกด้านซ้ายบนคือ เส้นชิราตากิผัด (80 บาท ) มีเส้นอารมณ์ประมาณเส้นบุก ผัดกับเห็ด และพริกหวาน ได้เยอะเหมือนกัน ราคาก็ไม่แพง
ขวาบนคือ ข้าวห่อสาหร่ายเต้าหู้ใส่ผัก ( 150 บาท ) แต่ละคำชิ้นใหญ่พอสมควร เป็นข้าวห่อสาหร่ายที่ชาวมังสวิรัติกินได้อย่างสบายใจเพราะมีแต่ผัก ราคาอาจจะสูงไปนิดเมื่อเทียบกับวัตถุดิบ แต่ถ้าคิดอะไรไม่ออกลองสั่งมากินเล่นก็ได้ น่าจะทำให้อิ่มได้เลย
ซ้ายล่าง คือ เห็ดออรินจิผัด ราวๆ 80-90 บาท จำไม่ได้ สั่งมากินขำๆได้ รู้สึกจะผัดน้ำมันหอย ก็แล้วแต่ใครจะพิจารณา แต่เมนูเห็ดแบบนี้ผัดกินเองที่บ้านก็อร่อยไม่แพ้กันเลยทีเดียว มานอกสถานที่เราก็มาลองของเขาบ้าง
ขวาล่าง คือ เต้าหู้ผัดเห็ด ( 110 บาท ) เป็นเต้าหู้อ่อน ที่เอาไปทอด? จนผิวแข็งๆ ทำให้กรอบพอดี ผัดกับเห็ดสองถึงสามชนิด ไม่แน่ใจ ใส่พริกหวานด้วย รสไม่จัดนัก กินกับข้าวน่าจะดี
มีเมนูอาหารที่ชาวมังสวิรัติสามารถกินได้ ที่ไม่ได้สั่งมาอีกเหมือนกัน เช่นพวก ชาบูเห็ด เทมปุระผัก ฯลฯ ใครมีโอกาสก็ลองกันได้…
การตอบคำถามเรื่องมังสวิรัติกับสังคม
ชาวมังสวิรัติต้องหัดมองประโยชน์ของสิ่งต่างๆให้เห็น หาทางออกของสถานการณ์ต่างๆให้ได้ เมื่อพบปะผู้คนที่หลากหลาย จะมีคำถามมากมายว่าทำไมเราถึงกินมังสวิรัติ,จะขาดสารอาหารไหม,จะแข็งแรงไหม,จะมีแรงทำงานไหม ฯลฯ คำตอบของเราสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนคนที่กินมังสวิรัติได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกพูดสิ่งไหน
ถ้าเราเลือกจะพูดในสิ่งดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ ขยายความในส่วนที่เขาสงสัย ให้เหมาะกับพื้นฐานความรู้ของเขา เขาก็อาจจะเห็นข้อดีของการกินมังสวิรัติ หรือจนกระทั่งสนใจมากินมังสวิรัติกับเราเลยก็ได้
แต่ถ้าเราเลือกพูดในเชิงไม่ดี การพูดข่มคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ การที่เรายังติดว่าต้องทำดี เรายังมีอัตตา ยังไม่เข้าใจว่าจริงๆ เขาเหล่านั้นยังไม่ได้รู้ทุกข์ โทษ ภัย ของการเบียดเบียน เขาไม่รู้ผลเสียของการมีกิเลสนี้ว่าเป็นอย่างไร เราก็อาจจะรีบไปยัดความรู้ บีบคั้น กดดัน พยายามให้เขาหันมา เห็นดี เห็นควร หรือมากินมังสวิรัติกับเรา ทั้งๆที่เขายังไม่มีความสนใจ ความรู้ ความเข้าใจ และยังไม่เต็มใจที่จะทดลองกินมังสวิรัติ ถ้าเรายังฝืนพูดไป ก็อาจจะทำให้คนที่ฟังเข็ดขยาดกับมังสวิรัติก็ได้ เพราะฟังทีไรก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนชั่ว
จริงอยู่ที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งไม่ดี แต่คนเราก็มักจะยอมรับมันไม่ได้ เพราะกิเลสนั้นหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาเหล่านั้นไปแล้ว การจะไปบอกว่ามันไม่ดี ไปดึงเขาออกมาทันทีนั้น ไม่สามารถที่จะทำได้ เราต้องค่อยๆทยอยให้ข้อมูล ที่ย่อย บด ละเอียด คัดสรร อย่างดีแล้วให้กับเขา เหมือนการป้อนอาหารให้เด็กอ่อน ก็ต้องบดเอาสิ่งที่มีคุณค่าพร้อมทั้งทำให้กินง่ายรวมไปในเวลาเดียวกันป้อนให้กับเขาแล้ววันหนึ่งที่เขาเห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติอย่างเต็มที่ เขาจะสนใจที่จะหันมากินเอง
การพูดของเราสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามได้มากมาย ในขณะเดียวกันก็สามารถทำลายสิ่งที่งดงามลงไปได้ในพริบตา การพิจารณาเลือกพูดสิ่งใด เลือกใช้ความรู้ใดๆ มาพูดจำเป็นต้องมีสติและปัญญาเป็นแก่นและสอดร้อยไปด้วยเมตตาในทุกๆคำพูดของเรา
อาหารมังสวิรัติ หากินยาก?
หนึ่งในปัญหาของผู้ที่หัดลดเนื้อ กินผัก หรืออยากลองกินอาหารมังสวิรัติ มักจะคิดว่าอาหารมังสวิรัตินั้นหากินยาก ต้องทำความลำบากแก่ผู้อื่น มีปัญหากับการเข้ากลุ่มสังคม ฯลฯ
จริงๆแล้วอาหารมังสวิรัตินั้นไม่ได้หากินยากเลย มีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่นร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหารตามสั่งต่างๆ เราก็จะสามารถสั่งอาหารที่ “ลดเนื้อ กินผัก” แทนได้ โดยการแทนที่วัตถุดิบ คือ ไม่กินเนื้อแต่ขอผักเพิ่ม เส้นเพิ่ม หรือสั่งผัดกะเพราแต่ใช้วัตถุดิบอื่นเช่น ดอกกะหล่ำ เห็ด ข้าวโพดอ่อนฯลฯ
มีเมนูประจำวันมากมายที่เราสามารถประยุกต์ได้ เช่น ข้าวผัดผัก สุกี้ผัก ผัดผักตามที่ชอบ ฯลฯ เรียกว่าถ้ามีร้านอาหารตามสั่ง ก็หากินอาหารมังสวิรัติได้ทุกวัน แม้ว่าพ่อครัวแม่ครัวจะใช้เครื่องปรุงที่ยังไม่ละเว้นชีวิตสัตว์บ้าง ก็ไม่เป็นไร เพราะเรากินมังสวิรัติด้วยเจตนาที่จะละเว้นเนื้อสัตว์ แล้วเราก็จะลดการกินเนื้อให้อยู่ในขีดที่สบาย เท่าที่สามารถทำได้ พ่อครัวแม่ครัวยินดีทำให้ ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็จะยินดีทำให้ เพราะผักมักจะมีต้นทุนต่ำกว่าในปริมาณของอาหารที่เท่ากัน นั่นหมายความว่าถ้าเรากินมังสวิรัติในราคาเท่าเดิม พ่อค้าแม่ค้ามักจะได้กำไรมากกว่าเดิม แต่ในส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ที่เคยเจอมา เขามักจะคิดราคาถูกกว่าปกติ
การเริ่มต้นกินมังสวิรัติในช่วงแรกๆนั้น ควรจะต้องหาความรู้ หาเมนูใหม่กันพอสมควร จะเป็นการค้นหาจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต หรือการพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนก็ได้ เพราะการที่เราค้นคว้าเมนูมังสวิรัตินั้น จะทำให้เราคิดออกว่า วันนี้จะกินอะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งจะทำให้เราสามารถมองหาอาหารที่ลดเนื้อกินผักได้ง่าย ถ้าเราไม่คิดจะค้นหาเมนูมังสวิรัติ ก็มักจะเจอปัญหาว่า หากินยาก ไม่รู้จะกินอะไร คิดไม่ออก ว่าแล้วก็กลับไปกินเนื้อเหมือนเดิมเพราะความเคยชิน หรือกิเลสนั่นเอง
เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เป็น โดยไม่ลดประโยชน์ของตัวเอง คือการลดเนื้อสัตว์และหันมากินผักทดแทนให้มากขึ้น หลายท่านอาจจะเจอกับสภาพที่ไม่เกื้อหนุนให้กินมังสวิรัติ แต่ถ้าเรายังมีใจที่จะ ลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ เราก็ควรจะแสวงหาช่องทาง วิธีการ เพื่อที่จะทำให้ตัวเองกินมังสวิรัติได้อย่างเป็นสุข เช่น กินมังสวิรัติในเมื้อเย็น , กินมังสวิรัติในวันพระ , กินมังสวิรัติในวันหยุด เป็นตัวอย่างการละเว้นเป็นมื้อหรือเป็นวัน
ต้องยอมรับว่าการกินมังสวิรัตินั้นจะทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างยากลำบากในช่วงแรกที่มีการปรับตัว จำเป็นต้องใช้ปัญญา และสมาธิอย่างมากในการจะคงสภาพการกินมังสวิรัติให้ต่อเนื่อง เพราะเราใช้ชีวิตทวนกระแสกับสังคม เขากินเนื้อเราไม่กิน เขาไม่ค่อยกินผัก แต่เรากินเป็นหลัก ดังนั้นการยอมรับแต่แรกว่ามันยาก จะทำให้เราทำใจยอมรับความลำบากที่จะเกิดในระหว่างฝึกหัดกินมังสวิรัติได้ หลังจากยอมรับได้ แล้วเราตั้งใจ จนกระทั่งเข้าใจ เรียนรู้วิธีการกินมังสวิรัติในชีวิตประจำวัน เราจะกลายเป็นคนที่กินมังสวิรัติอย่างปกติ ไม่ลำบากใจ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องลำบากหา ไม่ต้องทุกข์เพราะกินมังสวิรัติ ไปที่ไหนก็หากินได้ มีปัญญารู้ว่าเวลาไหนควรจะกินมังสวิรัติ เวลาไหนควรจะละเว้น หรืออนุโลมไว้บ้าง
เราเรียนรู้ ตั้งแต่มีความรู้สึกว่า “อาหารมังสวิรัติหากินยาก” จนกระทั่งวันหนึ่งกลายเป็น “อาหารมังสวิรัติหากินง่าย” กลายเป็นผู้แบ่งปันความรู้ แนวทาง เมนูอาหาร ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างสอดคล้อง ปนแต่ไม่เปื้อน เป็นผู้ไม่เบียดเบียน มีสุขภาพดี มีความสุขใจ
ึความคิดเห็นล่าสุด